02 149 5555 ถึง 60

 

เรียนรู้-รับมือสู้โควิด-19 ดูแลรักษาตัวช่วงวิกฤติ!

เรียนรู้-รับมือสู้โควิด-19 ดูแลรักษาตัวช่วงวิกฤติ!

สถานการณ์โควิด-19 ระบาดระลอก 3 ในประเทศไทยรอบนี้ต้องยอมรับมาถึงช่วงที่ค่อนข้างวิกฤติ ทำเอาปั่นป่วนไปทั่วประเทศ เจ้าเชื้อโรคมรณะ สายพันธุ์อังกฤษ (B117) ยังคงอาละวาดเล่นงานประชาชนชาวไทยมาอย่างต่อเนื่อง ยอดตั้งแต่วันที่ 1-27 เม.ย. 64 ยังไต่ระดับสูงขึ้นเรื่อย ๆ

พฤหัสบดีที่ 29 เมษายน 2564 เวลา 07.00 น.

สถานการณ์โควิด-19 ระบาดระลอก 3 ในประเทศไทยรอบนี้ต้องยอมรับมาถึงช่วงที่ค่อนข้างวิกฤติ ทำเอาปั่นป่วนไปทั่วประเทศ เจ้าเชื้อโรคมรณะ สายพันธุ์อังกฤษ (B117) ยังคงอาละวาดเล่นงานประชาชนชาวไทยมาอย่างต่อเนื่อง ยอดตั้งแต่วันที่ 1-27 เม.ย. 64 ยังไต่ระดับสูงขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็น ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ (สะสม 30,824 ราย) โดยยอดติดเชื้อรายใหม่แตะระดับกว่า 2 พันคนมา 5 วันติด ๆ ตั้งแต่วันที่ 23 เม.ย. ส่วน ผู้เสียชีวิต วันที่ 27 เม.ย. วันเดียวพุ่งทุบสถิติ 15 ราย (รวมสะสม 69 ราย)

นอกจากนี้ยังเสนอให้ยกระดับ “6 จังหวัด” เป็นพื้นที่สีแดงเข้ม ควบคุมสูงสุด ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ชลบุรี นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ

ในพื้นที่ 6 จังหวัดที่ถูกเสนอให้เป็นสีแดงเข้มนั้น ยังคงมีการเพิ่มทั้ง โรงพยาบาลสนาม และ ฮอสพิเทล (Hospitel) ดัดแปลงห้องพักโรงแรมมาทำเป็นหอพักผู้ป่วยเฉพาะกิจ โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร เร่งจัดเตรียมใช้พื้นที่ ยิมเนเซียมอาคารนิมิบุตร ใกล้สี่แยกปทุมวัน ถือว่าอยู่ใจกลางเมือง จัดทำเป็น ศูนย์แรกรับ เพื่อคอยช่วยประสานรองรับผู้ติดเชื้อตกค้าง ก่อนจะกระจายส่งไปรักษาตามโรงพยาบาล เนื่องจากยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังเพิ่มสูงอย่างต่อเนื่อง

ทีมข่าว 1/4 Special Report ช่วงนี้พยายามนำเสนอข้อมูลหลากหลายแง่มุมเกี่ยวกับโควิดมานำเสนอ ไม่ว่าจะเป็นแนวทางการปฏิบัติหากจำเป็นต้องกักตัวเองอยู่บ้าน รวมไปถึงพยายามนำข้อมูลของผู้ป่วยบางท่านที่อนุเคราะห์ให้สัมภาษณ์ถ่ายทอดประสบการณ์ของตัวเองที่เอาตัวรอดจากโควิด เพื่อเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั่วไป

เปิดใจกักตัว 14 วันในรพ.สนาม

ล่าสุดมีโอกาสพูดคุยกับกลุ่มผู้ติดเชื้อใน จ.เชียงใหม่ ที่กักตัวในโรงพยาบาลสนาม จนครบ 14 วันแล้วไม่มีอาการอะไรจึงได้รับอนุญาตให้เริ่มทยอยกลับบ้านบ้างแล้ว นายหรั่ง (นามสมมุติ) ติดเชื้อโควิดแต่ไม่แสดงอาการถูกส่งไปพักรักษาตัวอยู่ โรงพยาบาลสนามแห่งที่ 1 จ.เชียงใหม่ ตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย. และทางเจ้าหน้าที่อนุญาตให้กลับบ้านได้ เมื่อวันที่ 25 เม.ย.ที่ผ่านมา ให้สัมภาษณ์ว่า น่าจะติดเชื้อมาจากในสถานบันเทิงที่เป็นข่าว แต่ตนก็ไม่มีอาการอะไรและก็ไม่มีโรคประจำตัวถูกแยกมาอยู่ รพ.สนาม แห่งที่ 1 กิจวัตรตลอด 14 วัน ตื่นเช้าต้องวัดความดัน วัดอุณหภูมิด้วยตัวเอง แล้วรายงานผลให้เจ้าหน้าที่ทางระบบไลน์ ถ้าใครมีไข้ ตัวร้อนก็จะมีเจ้าหน้าที่นำยาแก้ไข้มาให้ตามอาการ หากมีเสมหะไอก็ให้ยาลดเสมหะแก้ไอมาให้ ผมกินยาลดไข้อย่างเดียวแค่ 3 วันแรกก็หาย จากนั้นอีก 11 วันไม่ได้กินยาอะไรเลย อาการปกติทุกอย่าง ลิ้นรับรส หายใจสะดวก ทุกอย่างปกติหมด พอครบกักตัว 14 วันทางเจ้าหน้าที่ก็มาแจ้งให้กลับบ้านได้ พร้อมแจกเอกสารการปฏิบัติตัวตอนอยู่บ้านให้

“ไม่มีการตรวจเชื้อซ้ำใด ๆ สอบถามเจ้าหน้าที่อธิบายทำนองว่าเชื้ออยู่ในร่างกายเรามันจะตายไปเอง กลายเป็นซากเชื้อ ไม่มีผลใด ๆ ต่อร่างกาย และไม่สามารถจะไปแพร่ระบาดให้คนอื่น ๆ ได้ ถือว่าปลอดเชื้อแต่ยังต้องปฏิบัติตัวตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัดเหมือนเดิมคือสวมใส่หน้ากากทุกครั้ง ล้างมือบ่อย ๆ”

ด้าน น.ส.แนน ให้ข้อมูลว่า เข้ามาอยู่ รพ.สนาม จ.เชียงใหม่ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 11 เม.ย. ติดเชื้อช่วงแรก ๆ ก็มีอาการเป็นไข้บ้าง มีความดันเล็กน้อย เจ้าหน้าที่ประจำ รพ.สนาม จะให้ทุกคนแอดไลน์เพื่อติดต่อสื่อสารกันทางโทรศัพท์มือถือ จะดูแลเป็นโซน ๆ โดยทุกคนต้องวัดอุณหภูมิ วัดความดัน ส่งอาการประจำวันให้เจ้าหน้าที่ ใครมีอาการป่วยอะไรเจ้าหน้าที่จะจ่ายยาให้ตามอาการ ส่วนตนมีไข้ ความดันเล็กน้อย ก็กินยาแค่ 5 วันก็หาย หลังจากนั้นก็ไม่ได้กินยาอะไรอีกเลย กระทั่งวันจันทร์ที่ 26 เม.ย.ก็ได้รับอนุญาตให้กลับบ้านได้ ตอนแรกงง ๆ เหมือนกันเพราะคิดว่าก่อนออกจะต้องผ่านการตรวจเชื้อโควิดแบบตอนเข้ามา แต่ก็ไม่ได้ตรวจอะไร เจ้าหน้าที่แจ้งว่า ร่างกายเราตรวจยังไงก็จะเจอ “ซากเชื้อ” ซึ่งเป็นเชื้อที่ตายแล้วไม่มีอันตรายใด ๆ ที่สำคัญคือไม่สามารถแพร่เชื้อใด ๆ ไปสู่คนอื่นได้อีก เจ้าหน้าที่จึงแจกเอกสารแนวทางปฏิบัติตัวที่บ้าน ยังเน้นย้ำดูแลรักษาตัวเอง ออกกำลังกาย กินอาหารที่เป็นประโยชน์ ต้องรองกันตัวเองทุกครั้งเวลาออกนอกบ้าน สวมหน้ากากทุกครั้ง

แนะการดูแลสุขภาพรับมือโควิด

ขณะเดียวกัน ทีมข่าว 1/4 Special Report ได้สัมภาษณ์ พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ถึงแนวทางในการดูแลรักษาสุขภาพของตัวเอง ในช่วงวิกฤติโควิดระลอก 3 ที่ค่อนข้างระบาดรวดเร็วจนมีผู้ติดเชื้อจำนวนมากในขณะนี้ กล่าวว่า ในช่วงที่เรายังไม่มีอาการติดเชื้อโควิด-19 นั้น สิ่งสำคัญก็คือต้องดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ออกกำลังกายเป็นประจำ กินอาหารให้ครบถ้วน 5 หมู่ พักผ่อนให้เพียงพอซึ่งเป็นหลักทั่วไปในการดูแลร่างกาย แต่บางคนก็อาจไปซื้ออาหารเสริมมากินส่งเสริมสุขภาพในส่วนที่ตัวเองขาด เช่น วิตามีนซี, ฟ้าทะลายโจร หรือสมุนไพรไทยต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้ทำให้ร่างกายป้องกันไวรัสอาการป่วยได้ แต่ยังไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ทางวิทยาศาสตร์ว่าจะลดอาการป่วย แถมกินมากเกินไปก็ไม่เป็นผลดีต่อร่างกาย เช่น วิตามินซี กินเยอะ ๆ มันส่งผลทำให้ไตทำงานหนักมากขึ้น

“ยกตัวอย่างน้ำมะนาว ที่คนชอบไปแชร์ว่ารักษาอาการป่วยหลายโรคได้ แต่ข้อมูลเชิงประจักษ์ก็ยืนยันว่าไม่จริง น้ำมะนาวไม่สามารถรักษาโรคต่าง ๆ ได้ แต่ในน้ำมะนาวมีวิตามินซี ซึ่งก็ไปช่วยให้ร่างกายเราที่ขาดสารอาหารได้ส่วนนี้มากกว่า”

อีกเรื่องที่ตอนนี้คนไทยพูดกันอย่างมากคือ สมุนไพร “ฟ้าทะลายโจร” เพื่อเสริมภูมิคุ้มกัน จริงอยู่ที่สารเคมีบางอย่างในฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์ยับยั้งไวรัส นอกจากนี้ยังสามารถลดอาการป่วยไข้ได้ แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ว่า ป้องกันโควิด-19 ได้ คือในห้องทดลองอาจจะพบว่าลดไข้ได้ แต่พอมาใช้กับกลไกในร่างกายมนุษย์นั้น คนเราแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนกินแล้วหาย บางคนกินแล้วไม่หายจึงไม่สามารถใช้เหมารวมได้หมดกับทุกคน แถมที่เราคิดว่ากินฟ้าทะลายโจรแล้วจะปลอดภัยนั้น หากกินมากไป อวัยวะอื่น ๆ ที่สำคัญต่อตัวเราก็อาจจะรับไม่ไหว ดังนั้นต้องดูความปลอดภัยในร่างกายทุกอวัยวะด้วย

“ฟ้าทะลายโจรก็เหมือนยาพาราเซตามอลแต่มีฤทธิ์ครอบคลุมกว่า ตามหลักแล้วไม่ควรกินเกิน 60 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งคนทั่วไปก็ไม่รู้ว่ามันต้องกินเท่าไรเพราะฟ้าทะลายโจรปัจจุบันผลิตออกมาหลากหลายรูปแบบ ดังนั้นขอให้ทำตามคำแนะนำของฉลากข้างขวด มีข้อห้ามการใช้กับผู้ป่วยโรคตับ โรคไต ผู้หญิงตั้งครรภ์ ให้นมบุตรก็อย่าไปกิน และข้อควรระวังที่สำคัญไม่ควรกินติดต่อกันเกิน 5 วัน ไม่อย่างนั้นร่างกายจะมีปัญหา”

อย่ากินวิตามิน-อาหารเสริมมากเกินไป

พญ.อัมพร อธิบายด้วยว่า ในช่วงที่เรายังไม่มีอาการติดเชื้อโควิด-19 นั้น ยาที่เราต้องมีติดไว้อยู่เสมอคือ ยาสามัญประจำบ้าน เช่น ยาแก้ไข ยาแก้ไอ ลดน้ำมูก ฯลฯ ซึ่งเวลาเราป่วย ยาเหล่านี้จะช่วยบรรเทาอาการให้เราได้สบายใจ ลดอาการได้พักผ่อนเต็มที่ แต่ต้องจำไว้เสมอว่ากินมากไปก็ไม่ดีต่ออวัยวะในร่างกาย เช่น ยาพาราเซตามอลนั้นไม่การันตีว่ากินแล้วจะหายไข้เสมอไป จุดนี้เราจะมียาสมุนไพรเพื่อช่วยลดไข้แก้หวัดได้ แต่ถ้าอาการยังไม่ดีขึ้น กินแล้ว

ไม่หายก็ขอให้ไปพบแพทย์จะดีกว่า หรือถ้าอยู่ใน กลุ่มผู้มีความเสี่ยงสูง ก็อย่ารีรอไปโรงพยาบาลตรวจโควิด-19 จะดีกว่ามานั่งกินยาอยู่ที่บ้าน

ทั้งนี้อยากบอกกับผู้ป่วยโควิด-19 ว่าเมื่อติดเชื้อแล้ว แพทย์จะเตรียมยาไว้ให้เอง โดยดูจากประวัติคนไข้ โรคประจำตัว แพทย์จะประชุมการรักษาว่าจะให้ยาชนิดใดกับผู้ป่วยบ้าง ซึ่งเขาก็จะต้องเลือกยาซึ่งดีที่สุดแก่คนไข้ ดังนั้นไม่จำเป็นต้องกังวล หากมีโรคแทรกซ้อนเยอะ ถ้ากินฟ้าทะลายโจรอาจไม่เป็นผลดีก็จะให้ยาตัวอื่นเพื่อไม่ให้อวัยวะอื่น ๆ เกิดอันตราย หากเชื้อลงปอด ก็ต้องทำการรักษาอย่างอื่นจึงขอให้มั่นใจว่าถ้าอยู่ในความดูแลของแพทย์แล้ว ไม่ต้องกังวลเรื่องยารักษา

ส่วนคนที่หายป่วยโควิด-19 มาแล้ว สิ่งสำคัญก็คือต้องพักผ่อนเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายอย่างมาก ควรกินอาหารให้เพียงพอ บางคนเจอเชื้อลงปอดก็ยังต้องใส่ท่อช่วยหายใจอยู่ และผู้หายป่วยส่วนใหญ่นั้นจะขาดสารอาหาร โปรตีนในร่างกายหายก็ต้องกินอาหารที่ย่อยง่ายเพราะจะมีอาการกินอะไรไม่ลง จึงขอให้เน้นพวกข้าวต้ม โจ๊ก เน้นผักผลไม้ก็เหมือนกับคนหายป่วยทั่วไป

อย่างไรก็ดีขอย้ำว่าอย่าไปดิ้นรน หาอาหารเสริมพวกวิตามินมารับประทานในช่วงนี้ เน้นอาหารที่มีคุณค่าจะดีที่สุด ฟังสัญชาตญาณในร่างกาย ช่วงแรกที่เรากินไม่ลง นั่นก็เพราะว่าร่างกายยังปรับตัวไม่ได้ ระบบการย่อยอาหารยังทำงานไม่ปกติ จนเมื่อร่างกายของเราปรับตัวได้ดีขึ้น เราก็จะอยากกินนั่นกินนี่เอง ถ้าไปกินวิตามินอาหารเสริมเยอะ ๆ อัดเข้าไปในร่างกายมันจะเกิดปัญหาตามมาเป็นผลเสียต่อตัวเราได้....

29 April 2564

ที่มา เดลินิวส์

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 2105

 

Preset Colors