02 149 5555 ถึง 60

 

สธ.ย้ำวัคซีน 2 ตัวในมือกันเชื้อกลายพันธุ์ได้ เดินหน้าฉีด

สธ.ย้ำวัคซีน 2 ตัวในมือกันเชื้อกลายพันธุ์ได้ เดินหน้าฉีด

"หมอทวี" ย้ำวัคซีน 2 ตัวในมือไทย ป้องกันเชื้อกลายพันธุ์ได้ เดินหน้าฉีดสร้างภูมิคุ้มกันตัวเอง-ประเทศ ยังไม่ไฟเขียวคนท้องฉีด แต่หากจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์

เมื่อวันที่ 29 เม.ย. ที่กระทรวงสาธารณสุข รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ นายกสมาคมโรคติดเชื้อเด็กแห่งประเทศไทย และผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ กล่าวถึงการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ว่า วัคซีนป้องกันโควิด-19 ใช้เวลาเพียง 10 เดือน ในการพัฒนา และเป็นการอนุมัติให้ใช้ในภาวะฉุกเฉิน ที่จะต้องเฝ้าระวังมากกว่าปกติ เช่น สังเกตอาการ 30 นาทีหลังฉีดทันที และรายงานผลในช่วงวันที่ 1, 3, 7 และ 30 วันหลังฉีด แม้วันนี้ผู้ติดเชื้อลดลงเหลือ 1,800 ราย หรือจะเหลือ 180 ราย หรือ 18 ราย แต่การฉีดวัคซีนยังต้องดำเนินต่อไป เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ประชาชนต่อสู้กับโรคนี้ที่ยังต้องต่อสู้อีกยาวนานมาก

นพ.ทวี กล่าวว่า ตอนนี้ประเทศไทยมีวัคซีน 2 ชนิด คือ ซิโนแวค กับ แอสตราเซเนกา ส่วนตัวอื่นๆ กำลังจะเข้ามา แต่ต้องผ่านการพิจารณาจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยคณะผู้เชี่ยวชาญมากกว่า 10 คน อย่างไรก็ตาม 2 ตัวที่ใช้อยู่ตอนนี้ฉีดไปแล้วสะสม 1.3 ล้านโด๊ส หรือ 1.7% ของประชากร ซึ่งในแง่ประสิทธิภาพของซิโนแวค หลังฉีดเข็มแรกแล้ว 14 วันป้องกันเชื้อได้เกือบ 50% เมื่อฉีดครบ 2 เข็มป้องกันได้กว่า 60% ขณะที่แอสตราฯ หลังฉีดเข็มแรก ครบ 3 สัปดาห์ จะเริ่มป้องกันโรคได้ 71% หลังจากนั้นก็จะค่อยๆ ลดลง

"วัคซีน 2 ชนิดที่ประเทศฉีดขณะนี้ ไม่ต่างกันมาก อยู่ในเกณฑ์ที่ทั่วโลกยอมรับ มีประสิทธิภาพที่ดี สำหรับคำถามว่าจะลองรับเชื้อกลายพันธุ์ได้หรือไม่ วัคซีนซิโนแวค ประเทศจีนศึกษาวิจัยนำน้ำเหลืองของผู้ที่ฉีดวัคซีนซิโนแวค วัคซีนซิโนฟาร์ม และน้ำเหลืองของผู้ป่วยที่หายแล้ว มาจัดการกับไวรัส ซึ่งสามารถทำได้ระดับหนึ่ง แต่ต้องยอมรับว่าไม่ดีเทียบเท่ากับเชื้อดั้งเดิม ส่วนวัคซีนแอสตราฯ กับสายพันธุ์อังกฤษที่ระบาดเยอะในบ้านเรา ก็สู้กับเชื้อได้ประมาณเกือบ 70% แต่ถ้าสายพันธุ์ดั้งเดิมสู้ได้ถึง 81% จึงสรุปได้ว่าวัคซีนที่เรามีอยู่ในมือ ยังรับมือเชื้อกลายพันธุ์ได้แต่อาจไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยเท่ากับสายพันธุ์ดั้งเดิม" รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าว

รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าวว่า ทั่วโลกขณะนี้ มีวัคซีนที่ทดสอบในคนระยะที่ 3 สำเร็จและกำลังจดทะเบียน ประมาณ 13 - 15 ตัว ทุกตัวมีผลในการป้องกันการเสียชีวิต ป้องกันอาการรุนแรงของโรค ลดการนอนไอซียู และการใส่ท่อช่วยหายใจได้เกือบ 100% ซึ่งนี่เป็นหัวใจของวัคซีนที่ต้องการต่อสู้กับความรุนแรงของโรค เพราะผู้ป่วยในไอซียู 1 รายจะต้องใช้ทรัพยากรทั้งบุคคล ยา เวชภัณฑ์มหาศาล ฉะนั้นในจำนวนผู้ป่วยมากๆ นี้ที่กังวลคือผู้ป่วยไอซียู แต่ขณะนี้เรายังรับมือได้อยู่

นพ.ทวี กล่าวต่อว่า ส่วนประเด็นความปลอดภัยของวัคซีน พบว่า วัคซีนซิโนแวคมีผลข้างเคียงน้อยกว่าวัคซีนแอสตราฯ โดยซิโนแวคพบอาการปวด บวม แดง ร้อน ปวดร่างกายหลังฉีด ประมาณ 20-30% แต่จะหายไปภายใน 2 วัน ส่วนกรณีกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ พบอาการหลังฉีดวัคซีนคล้ายอัมพฤกษ์ชั่วคราว จากการวิเคราะห์พบว่า เป็นผลข้างเคียงจากความวิตกกังวล ซึ่งอาการหายภายใน 3 วัน ส่วนวัคซีนแอสตราฯ มีผลข้างเคียงปวดศีรษะ ปวดร่างกาย แดง ร้อน 40-50% แต่หายภายใน 48 ชั่วโมง ส่วนกรณีรับวัคซีนแล้วลิ่มเลือดอุดตันที่พบในต่างประเทศ เกิดขึ้นได้ 4 ใน 1 ล้านโด๊ส อย่างไรก็ตาม ในยามปกติแล้วโรคลิ่มเลือดอุดตันนั้นพบได้น้อยในคนทวีปเอเชีย ส่วนใหญ่พบในคนฝรั่ง อย่างไรก็ตาม กรณีที่ต่างประเทศรับวัคซีนแอสตราฯ พบลิ่มเลือดอุดตัน 4 ใน 1 ล้านโด๊ส แต่หากติดเชื้อโควิด-19 มีโอกาสเกิดลิ่มเลือดอุดตันได้ 125,000 ต่อ 1 ล้านคนที่ป่วย ซึ่งสูงกว่าการเกิดจากวัคซีนเป็นร้อยเท่า

"ดังนั้นวัคซีนสามารถฉีดได้ทุกตัว เพื่อป้องกันตัวเอง ป้องกันครอบครัวได้ เพราะการระบาดรอบนี้มีการติดเชื้อภายในครอบครัวเยอะทั้งเด็กและผู้สูงอายุ ทำให้เกิดการสูญเสียชีวิต และสุดท้ายคือป้องกันการระบาดได้ เพื่อให้เราค่อยๆ แง้มประตูเปิดประเทศ ทำให้เราค่อยๆ กลับมาใช้วิถีชีวิตได้ปกติ" นพ.ทวี กล่าว

นพ.ทวี กล่าวว่า สำหรับกรณีหญิงตั้งครรภ์นั้นมีรายงานว่า การตั้งครรภ์ในไตรมาสสุดท้าย ปกติท้องจะดันปอดทำให้การหายใจไม่ดีอยู่แล้ว อีกทั้งมีการศึกษาล่าสุดพบว่าคนตั้งครรภ์ติดโควิดมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าการตั้งครรภ์ที่ไม่ติดถึง 22 เท่า ดังนั้นจึงมาถึงประเด็นว่า ถ้าเช่นนั้นหญิงตั้งครรภ์จะฉีดวัคซีนได้หรือไม่ เรื่องนี้หญิงตั้งครรภ์ต้องหารือร่วมกับแพทย์ที่ทำการดูแลอยู่ หากมีความเสี่ยงสูงอาจจะต้องพิจารณาว่าจะต้องฉีด แต่สุดท้ายแล้วประชาชนต้องชั่งน้ำหนักว่าผลดีผลเสียเป็นอย่างไร เพราะขณะนี้ อเมริกามีข้อมูลมาแล้วว่าหญิงตั้งครรภ์ 35,000 คน ฉีดวัคซีนหลังจากชั่งน้ำหนักแล้วมีทั้งผลดีผลเสีย ทั้งนี้ วัคซีนอาจจะทำให้เกิดการคลอดก่อนกำหนดได้เล็กน้อย แต่ไม่มีผลต่อทารก

"ดังนั้น ขณะนี้หญิงตั้งครรภ์เรายังไม่ให้ฉีด แต่หากมีความเสี่ยงมากๆ อาจจะพิจารณาให้ฉีดได้แต่ต้องคุยกับแพทย์ก่อน" รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าว...

30 April 2564

ที่มา เดลินิวส์

Posted By Thongpet/sty

Views, 1082

 

Preset Colors