02 149 5555 ถึง 60

 

โควิด-19 ระลอกใหม่ในอินเดีย อะไรคือสิ่งที่คนไทยต้องกังวล

โควิด-19 ระลอกใหม่ในอินเดีย อะไรคือสิ่งที่คนไทยต้องกังวล

เทศกาล ‘กุมภเมลา’ ที่จัดนาน 48 วัน กลายเป็น super spreader แห่งใหม่ เพราะผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่ไม่สามารถเว้นระยะห่างทางสังคมได้ ซ้ำยังอาบน้ำร่วมกัน มีการสัมผัสร่างกายกันมากเกินไป มีผู้เข้าร่วมเทศกาลดังกล่าวราว 25 ล้านคน ควบคู่กับการฉีดวัคซีนที่ดำเนินไปอย่างล่าช้า ส่งผลให้การระบาดระลอกใหม่เริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง

หากรัฐบาลอินเดียและไทยยังไม่สามารถควบคุมการระบาดได้ การวางแผนทางเศรษฐกิจกับการลงทุนของทั้งสองประเทศ อาจต้องชะงักงันไปชั่วคราวเกินระยะเวลาที่กำหนดไว้

สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกแรกในประเทศอินเดีย กำลังอยู่ในช่วงฟื้นฟูเพื่อกลับสู่สภาวะปกติ ต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา รัฐบาลประกาศชัยชนะว่าสามารถควบคุมการระบาดได้ในระดับดีเยี่ยม เริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคติดต่อในหลายพื้นที่ ท่ามกลางเสียงเตือนของนักวิชาการ แพทย์ นักระบาดวิทยา ที่กังวลว่าการระบาดระลอกใหม่อาจเกิดขึ้นได้ หากรัฐบาลไม่เร่งฉีดวัคซีนให้กับประชาชน

รัฐบาลอินเดียไม่ตอบรับคำแนะนำดังกล่าว ก่อนมุ่งความสนใจไปยังการผลิตวัคซีนแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) เพื่อส่งออก ทั้งส่งให้กับโครงการ COVAX และประเทศคู่ค้าทั่วโลก ขณะที่การฉีดวัคซีนให้กับคนในประเทศยังคงดำเนินไปอย่างล่าช้า จนกระทั่งการระบาดระลอกสองเริ่มต้นขึ้น ทุกอย่างดูจะสายเกินแก้เสียแล้ว

เทศกาลกุมภเมลา การรวมตัวของผู้คนนับล้าน

กลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีข่าวการระบาดครั้งใหญ่ในอินเดียอีกครั้ง โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่ได้รับเชื้อหลังจากเข้าร่วมเทศกาล ‘กุมภเมลา’ ที่มีผู้คนหมุนเวียนร่วมงานมากกว่า 25 ล้านคน จนมีผู้ติดเชื้อพุ่งสูงถึงวันละแสนคนติดต่อกันหลายวัน

‘เทศกาลกุมภเมลา’ ถือเป็นพิธีกรรมทางศาสนาฮินดู ผู้ศรัทธาจะเดินทางมารวมตัวกัน ณ บริเวณที่มีชื่อเรียกว่า ‘สังคัม’ สถานที่ที่แม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ไหลมาบรรจบกัน ในเมืองอัลลาฮาบัด รัฐอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย โดยปกติเทศกาลนี้จะจัดเป็นเวลา 3 เดือน แต่ด้วยสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ระยะเวลาของเทศกาลกุมภเมลาปีนี้เหลือ 48 วัน

รัฐบาลพยายามใช้มาตรการด้านสาธารณสุขที่เข้มข้นขึ้น จัดเจ้าหน้าที่ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายก่อนเข้างาน ออกกฎข้อบังคับให้สวมหน้ากากอนามัย แต่ในภาคปฏิบัติจริง ประชาชนจำนวนมากต้องถอดหน้ากากอนามัยเพื่ออาบน้ำในแม่น้ำ ตามความเชื่อเรื่องการชำระล้างบาป การป้องกันการระบาดจึงควบคุมได้ยาก

21 เมษายน 2021 สำนักข่าว AFP และ Aljazera รายงานว่า สมเด็จพระราชาธิบดีคยาเนนทรา พีร พิกรม ชาห์ (Gyanendra Bir Bikram Shar) วัย 73 ปี และ สมเด็จพระราชินีโกมาล รัชยา ลักษมี เทวี ชาห์ (Komal Rajya Laxmi Devi Shah) วัย 70 ปี อดีตกษัตริย์และอดีตราชินีพระองค์สุดท้ายของเนปาล ติดเชื้อโควิด-19 หลังกลับจากเทศกาลกุมภเมลา

ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขอินเดียแถลงการณ์ว่า มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสม 15,616,130 ราย มีผู้เสียชีวิตสะสม 182,553 ราย คาดว่าจำนวนที่เพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันนี้เกิดขึ้นมาจากเทศกาลกุมภเมลา

ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพหลายรายเคยออกมาเตือนถึงการจัดเทศกาลกุมภเมลาในช่วงที่ประเทศกำลังเผชิญการระบาดครั้งใหญ่ว่า “เทศกาลนี้เสี่ยงจะเป็น super spreader เพราะผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่ไม่สามารถเว้นระยะห่างทางสังคมได้ และสัมผัสร่างกายกันมากเกินไป”

วันที่ 1 พฤษภาคม 2021 ผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็น 19,557,457 ผู้ติดเชื้อรายวันในอินเดียสูงถึง 392,488 ราย มีผู้เสียชีวิต 3,689 ราย กลายเป็นสถิติตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงรายวันที่สูงที่สุดในโลก

การจัดการโรคระบาดของรัฐบาลอินเดียที่ไม่ได้ประสิทธิภาพ

เมื่อเผชิญกับการระบาดระลอกสอง นักระบาดวิทยาและทีมแพทย์สันนิษฐานว่ามีประชาชนจำนวนมากติดเชื้อไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ชนิดคู่ (double mutant) ที่พบในอินเดียตั้งแต่ช่วงปลายปี 2020 ก่อนจะพบกับข้อมูลใหม่ว่ามีประชาชนจำนวนมากติดเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์ชนิดสามตำแหน่ง (triple mutant variant) ที่เรียกกันว่า ‘โควิดสายพันธุ์เบงกอล’ ที่อาจแพร่เชื้อได้รวดเร็วและรุนแรงกว่าโควิด-19 สายพันธุ์อื่น

ด้วยตัวเลขผู้ป่วยหลักแสนคนต่อวัน โรงพยาบาลทั่วประเทศเผชิญกับวิกฤติใหญ่ ประกอบกับการคาดคะเนว่าระบบสาธารณสุขอินเดียใกล้เข้าสู่จุดล่มสลาย โรงพยาบาลหลายแห่งขาดแคลนเตียงจนต้องแชร์ผู้ป่วย 2 คนต่อ 1 เตียง ขาดแคลนรถพยาบาล ขาดแคลนเจ้าหน้าที่ ขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล หรือชุด PPE (Personal Protective Equipment) ขาดแคลนออกซิเจน แม้กระทั่งตู้แช่ศพในหลายรัฐยังไม่เพียงพอ เพราะมีผู้เสียชีวิตวันละ 50-60 ราย แต่ตู้ว่างมีไม่ถึงหลักสิบ

ไม่ใช่แค่โรงพยาบาลและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ขาดแคลน วัตถุดิบในการผลิตวัคซีนที่จะต้องส่งมาจากสหรัฐอเมริกาก็หยุดชะงักเป็นเวลาหลายสัปดาห์ เนื่องจากประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน (Joe Biden) จำเป็นต้องเก็บวัคซีนอุปกรณ์การแพทย์ไว้ใช้ภายในประเทศ

รัฐบาลอินเดียและเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์พยายามกดดันกึ่งเจรจากับสหรัฐฯ สุดท้ายสหรัฐฯ ประกาศยกเลิกคำสั่งห้ามส่งออกวัตถุดิบสำหรับผลิตวัคซีน โดยประธานาธิบดีไบเดนทวีตข้อความว่า “ในการระบาดระลอกแรก อินเดียได้ช่วยเหลือสหรัฐอเมริกาเอาไว้ ตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่สหรัฐฯ จะต้องช่วยเหลืออินเดีย” ถึงอย่างนั้น การผลิตวัคซีนที่หยุดชะงักไปก็ส่งผลกระทบใหญ่ต่ออินเดียไปแล้ว

วันที่ 23 เมษายน 2021 รัฐบาลประกาศคำสั่งฉุกเฉิน ปิดกั้นข้อความวิจารณ์การทำงานของรัฐบาลและวิจารณ์นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี (Narendra Modi) กรณีความล้มเหลวจากการรับมือกับโรคระบาดในหลายแพลตฟอร์มทั้ง เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม รวมแล้วกว่า 500 บัญชี

ข้อความหรือภาพที่เข้าข่ายต้องปิดกั้นมีหลายแบบด้วยกัน อาทิ ข้อความวิจารณ์รัฐบาล การเรียกร้องให้นายกฯ ลาออก หรือข้อความกล่าวโทษกระทรวงสาธารณสุข การแชร์ภาพเผาศพจำนวนมาก ภาพความแออัดในโรงพยาบาล แฮชแท็ก #ModiMadeDisaster ฯลฯ

โฆษกของทวิตเตอร์ชี้แจงถึงการขอเข้าถึงข้อมูลของรัฐบาลอินเดีย เมื่อได้รับคำร้อง พนักงานจะตรวจสอบว่าข้อความบนทวิตเตอร์ผิดกฎของระบบและกฎหมายท้องถิ่นหรือไม่ หากพบว่าผิดจะนำข้อความเหล่านั้นออก แต่ถ้าไม่ผิดกฎ ระบบจะปิดกั้นการเข้าถึงภายในประเทศเท่านั้น โดยที่ทวิตเตอร์จะแจ้งเจ้าของบัญชีที่ว่าต้องระงับข้อความตามคำสั่งทางกฎหมาย

นักวิชาการต่างประเทศบางส่วนมองว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อแท้จริงอาจมากกว่าตัวเลขที่ทางการรายงานประมาณ 30 เท่า เพิ่มขึ้นราว 500 ล้านคน มีความเป็นไปได้สูงว่าจะมีผู้เสียชีวิตต่อวันราว 13,000 คน

บุคลากรทางการแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ในอินเดีย เคยกล่าวถึงตัวเลขที่เห็นกันว่า “อาจต่ำกว่าความเป็นจริงอย่างมีนัยสำคัญด้วยเหตุผลหลายประการ” เช่นเดียวกับสถาบันชี้วัดและประเมินผลด้านสุขภาพสหรัฐฯ ที่คาดการณ์จำนวนผู้เสียชีวิตรายวันของอินเดียจะยังคงเพิ่มสูงขึ้นจนถึงกลางเดือนพฤษภาคม

การระบาดในอินเดียอาจส่งผลต่อโลก

วันที่ 28 เมษายน 2021 โซเมีย สวามินาธาน (Soumya Swaminathan) หัวหน้าทีมวิทยาศาสตร์ขององค์การอนามัยโลก (WHO) มองว่าวิกฤติโรคระบาดในอินเดียจะส่งผลกระทบต่อประชาคมโลก

เธอกล่าวว่า “เนื่องจากไวรัสไม่รู้จักเขตพรมแดน ไม่เลือกสัญชาติ เพศ อายุ หรือการนับถือศาสนา แม้จะมีมาตรการการรับมืออย่างการปิดเส้นทางการเดินทางจากประเทศที่มีการติดเชื้อจำนวนมาก รวมถึงการตรวจหาเชื้อและกักตัวผู้เดินทาง ช่องโหว่ยังมีอยู่เสมอ สิ่งที่เกิดขึ้นในอินเดียอาจเกิดกับหลายประเทศหลังจากนี้ เราจะไม่มีวันปลอดภัย หากทุกคนยังไม่ปลอดภัย”

กรณีตัวอย่างการกระจายการระบาดที่ โซเมีย สวามินาธาน กล่าวถึง เห็นได้จากประเทศเนปาลที่มีพรมแดนติดกับอินเดียมากกว่า 2,000 กิโลเมตร ไม่นานมานี้ เนปาลยังไม่ประกาศปิดกั้นการเดินทางข้ามประเทศแบบเบ็ดเสร็จ คนในอินเดียยังคงข้ามไปได้ ทำให้ไวรัสกลายพันธุ์ข้ามไปยังเนปาลด้วยเช่นกัน

สวามินาธานยังกล่าวถึงความกังวลเกี่ยวกับไวรัสกลายพันธุ์เบงกอลและสายพันธุ์อื่นๆ หากการกลายพันธุ์ยังคงเกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ ในหลายพื้นที่ ประสิทธิภาพของวัคซีนป้องกันโควิด-19 อาจลดลง หรือใช้ไม่ได้กับไวรัสกลายพันธุ์บางชนิด

อินเดียเป็นประเทศที่มีฐานการผลิตวัคซีนใหญ่ที่สุดในโลก มีทั้งสถาบันเซรุ่มแห่งอินเดีย (Serum Institute of India: SII) ผู้ผลิตวัคซีน แอสตราเซเนกา และ โนวาแวค (Novavax), บริษัท เวชภัณฑ์ ภารัต ไบโอเทค (Bharat Biotech) ผู้ผลิตวัคซีน โคแวคซิน (Covaxin) และรับผลิตวัคซีน จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (Johnson & Johnson) รวมถึง บริษัท เฮเทอโร ไบโอฟาร์มา (Hetero Biopharma) กับ ด็อกเตอร์ เรดดี้ส์ แลบบอราทอรี่ส์ (Dr.Reddy’s Laboratories) ที่ผลิตวัคซีนสัญชาติรัสเซีย สปุคนิค วี (Sputnik V) หากอินเดียยังเผชิญกับยอดผู้ติดเชื้อที่สูงขึ้นแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ การผลิตวัคซีนทั้งหมดของงทุกบริษัทอาจล่าช้าและต้องใช้เวลามากขึ้น

ขณะนี้องค์การอนามัยโลกได้ส่งผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบาด 2,600 คนไปยังอินเดีย หลายประเทศทั้ง สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ไอร์แลนด์ ฝรั่งเศส จีน ไทย และเกาหลีใต้ พยายามเร่งจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ โรงพยาบาลสนามเคลื่อนที่ วัตถุดิบผลิตวัคซีน เครื่องผลิตออกซิเจน และถังออกซิเจน ส่งไปยังอินเดีย เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการ

ผลกระทบต่อไทยอาจไม่ใช่แค่เรื่องไวรัส

ก่อนหน้าการแถลงข่าวของตัวแทนองค์การอนามัยโลก วันที่ 24 เมษายน 2021 มีรายงานว่าเศรษฐีชาวอินเดียจำนวนมาก พยายามหนีโรคระบาดด้วยการเช่าเครื่องบินเหมาลำเดินทางออกนอกประเทศ ส่วนใหญ่เดินทางไปยังสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์

สำนักข่าว AFP สัมภาษณ์ผู้ให้บริการเช่าเหมาลำว่า ได้รับคำขอจากลูกค้าให้เดินทางไปยังดูไบ มีบางส่วนต้องการกำหนดเส้นทางไปยังประเทศไทยด้วย แต่การสัมภาษณ์ดังกล่าวไม่ได้ระบุว่าหลังลูกค้าสอบถามเส้นทางมาไทยแล้ว เครื่องบินลำดังกล่าวได้เดินทางมายังไทยตามความต้องการหรือไม่

นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงข่าวว่ากรณีการเช่าเหมาลำจากอินเดียมายังประเทศไทย ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด เช่นเดียวกับการยืนยันของ นาวาอากาศโท สุธีรวัฒน์ สุวรรณวัฒน์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ที่ตรวจสอบแล้วว่าไม่มีเครื่องบินเช่าเหมาลำมายังประเทศไทย

วันถัดมา มีรายงานจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองระบุว่า ระหว่างวันที่ 1-20 เมษายนที่ผ่านมา มีชาวอินเดียเข้าประเทศไทยจำนวน 602 คน โดยทั้งหมดทำตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด มีประกันโควิด-19 อยู่ในเกณฑ์ที่เดินทางข้ามประเทศได้ ทั้งหมดไม่ใช่นักท่องเที่ยว และผ่านการคัดกรองโรคโควิด-19 จากสถานทูตในประเทศต้นทางมาก่อนแล้ว

ไม่นานหลังประเด็นเรื่องเครื่องบินเหมาลำจบลง โซเชียลมีเดียเกิดการตั้งคำถามอีกครั้งจากการย้อนดูข้อมูลผู้ติดเชื้อไวรัสของเพจ ‘ศูนย์ข้อมูล COVID-19’ ที่ระบุว่ามีชาวอินเดีย 7 คน เดินทางมายังประเทศไทยในวันที่ 17 เมษายนที่ผ่านมา ก่อนถูกส่งตัวตรวจหาเชื้อไวรัสในวันที่ 21 เมษายน ผลออกมาว่าทั้งหมดติดเชื้อโควิด-19 แบบไม่แสดงอาการ จึงต้องส่งไปรักษาตัวในโรงพยาบาลในจังหวัดชลบุรี 1 คน และโรงพยาบาลในจังหวัดนนทบุรีอีก 7 คน

ผู้ใช้โซเชียลมีเดียจำนวนมากเข้าไปคอมเมนต์ถามในเพจ ศูนย์ข้อมูลฯ และเพจ Royal Thai Embassy, New Delhi จากนั้นไม่นาน สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศอินเดีย ออกประกาศระงับการออกหนังสือรับรองสถานภาพการพำนัก (COE) แก่บุคคลที่ไม่ได้มีสัญชาติไทย มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมเป็นต้นไป

นอกจากความกังวลเรื่องการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์เบงกอลที่ลุกลามไปทั่วโลก ประเทศไทยยังต้องพักแผนเรื่องการค้า การลงทุน และธุรกิจท่องเที่ยว ที่เคยตกลงกับอินเดียไว้ก่อนหน้านี้ โดยเดือนกันยายนที่ผ่านมา อัลปานา ดูเบ (Alpana Dubey) อุปทูต สถานเอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย เคยกล่าวถึงความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งของสองประเทศ เห็นควรกับการพยายามสร้างความร่วมมือด้านเศรษฐกิจหลังสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 เริ่มดีขึ้น ทั้งอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติและพลังงาน รวมถึงผลิตภัณฑ์ยา

อย่างไรก็ตาม รายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อในอินเดียเมื่อวันที่ 27 เมษายนที่ผ่านมา อยู่ที่ 362,902 ราย ทุบสถิติใหม่อีกครั้ง และมีผู้ติดเชื้อเกินสามแสนคนติดต่อกันแล้ว 7 วัน หากรัฐบาลอินเดียและไทยยังไม่สามารถควบคุมการระบาดได้ การวางแผนทางเศรษฐกิจทุกอย่างที่ว่ามานี้ อาจต้องชะงักงันไปชั่วคราว

3 May 2564

ที่มา ไทยรัฐ

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 1059

 

Preset Colors