02 149 5555 ถึง 60

 

มีผู้ป่วยหนักมากขึ้น ต้องไม่ให้สาธารณสุขล่ม

มีผู้ป่วยหนักมากขึ้น ต้องไม่ให้สาธารณสุขล่ม

สถานการณ์โควิด-19 ยังพบผู้ติดเชื้อต่อวันเป็นจำนวนมาก แม้ภาครัฐไม่ได้ประกาศล็อกดาวน์แต่ควรมองหาวิธีการ เพื่อป้องกันไม่ให้จำนวนผู้ป่วยหนักเพิ่มจำนวนมากจนเกินความสามารถของระบบสาธารณสุขล่ม

จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ต่อวันยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูง ถึงแม้ข้อมูลล่าสุดวันที่ 2 พ.ค.2564 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,940 ราย รวมแล้วประเทศไทยมีผู้ป่วยสะสม 68,984 ราย ในจำนวนดังกล่าวเป็นการติดเชื้อภายในประเทศ 65,659 ราย ในขณะที่จำนวนผู้รักษาอาการรวมอยู่ที่ 29,481 ราย รวมแล้วมีผู้เสียชีวิต 245 ราย ซึ่งการที่มีผู้ติดเชื้อในระดับสูงต่อเนื่องตลอดเดือน เม.ย.2564 ทำให้มีความกังวลเกี่ยวกับจำนวนเตียงที่จะรองรับผู้ป่วยที่เริ่มมีปัญหา ถึงแม้ว่าจะมีการเสริมเตียงจากโรงพยาบาลสนาม

ภาครัฐได้เปิดให้ประชาชนลงทะเบียนเพื่อรับการฉีดวัคซีนผ่านระบบ “หมอพร้อม” โดยข้อมูลถึงวันที่ 2 พ.ค.2564 มีผู้ลงทะเบียนรวม 430,588 ราย แบ่งเป็นการลงทะเบียนผ่านแอพพลิเคชั่น “ไลน์” 329,717 ราย และลงทะเบียนผ่านแอพพลิเคชั่น “หมอพร้อม” 100,871 ราย ถือว่าได้รับความสนใจระดับหนึ่งหลังจากภาครัฐได้เปิดให้ลงทะเบียนครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 พ.ค.2564 เพื่อดำเนินการฉีดวัคซีนให้คนไทยในเดือน มิ.ย.2564 ที่ไทยจะได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าล็อตใหญ่

ที่ผ่านมาการฉีดวัคซีนในประเทศมีความคืบหน้าไม่มากหลักจากได้รับวัคซีนซิโนแวค 2.5 ล้านโดส และได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 117,000 โดส นับตั้งแต่เริ่มฉีดวัคซีนถึงวันที่ 1 พ.ค.2564 ฉีดไปแล้ว 1.48 ล้านโดส แบ่งเป็นการฉีดเข็มที่ 1 จำนวน 1.09 ล้านโดส และการฉีดเข็มที่ 2 จำนวน 386,703 โดส ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าการฉีดวัคซีนจะเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันจากคนติดเชื้อ และถ้ามีจำนวนผู้ฉีดวัคซีนถึงระดับ 70% ของจำนวนประชากรจะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้ประเทศไทยได้

การฉีดวัคซีนจึงเป็นการแก้ปัญหาระยะยาวที่ทุกฝ่ายควรให้ความร่วมมือเหมือนที่ภาคเอกชนเสนอตัวช่วยสนับสนุนสถานที่ วัสดุอุปกรณ์และระบบในการฉีดวัคซีน แต่ปัญหาเฉพาะหน้าในขณะนี้ที่ทุกฝ่ายควรให้ความร่วมมือ คือ การเตรียมระบบสาธารณสุขเพิ่มมากขึ้นเพื่อรองรับจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เพราะถ้าจำนวนผู้ป่วยหนักเพิ่มสูงขึ้นจะทำให้ห้องไอซียูไม่เพียงพอ และอาจต้องปรับเตียงปกติในโรงพยาบาลให้เป็นห้องไอซียู

เมื่อภาครัฐไม่ได้ประกาศล็อกดาวน์ทั้งที่สถานการณ์การระบาดมีความรุนแรงมากกว่าการระบาดรอบที่ 1 ในช่วงต้นปี 2563 เพื่อให้เศรษฐกิจยังเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งทำให้ต้องมามองว่าจะมีวิธีการอย่างไรที่จะป้องกันไม่ให้มีจำนวนผู้ป่วยหนักเพิ่มจำนวนมากจนเกินความสามารถของระบบสาธารณสุข โดยภาครัฐอาจต้องให้ความสำคัญกับการเพิ่มเตียงนอกโรงพยาบาลเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้เตียงในโรงพยาบาลรองรับผู้ป่วยหนัก เช่น การเพิ่มเตียงจากฮอสพิเทลเพิ่มมากขึ้น เพื่อประคองระยะสั้นรอจนเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในประเทศไทย

3 May 2564

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 971

 

Preset Colors