02 149 5555 ถึง 60

 

ความอ้างว้างจาก Work from Home

ความอ้างว้างจาก Work from Home

การที่ต้อง "Work from Home" ติดอยู่ที่บ้านไม่ได้ออกไปไหน ทำให้เกิดภาวะ Social Isolation หรือความโดดเดี่ยวทางสังคมขึ้น ซึ่งส่งผลต่อระดับความพอใจในการทำงานที่ลดน้อยลง รวมถึงความสามารถในการทำงานด้วย

ปัจจุบันทุกคนคงจะคุ้นชินกับการต้องทำงานที่บ้าน หรือ Work from Home กันแล้ว หลายท่านอาจจะไม่ได้ทำงานแล้วแต่ก็เก็บตัวอยู่กับบ้านไม่ไปไหนเพราะเกรงกลัวในเรื่องของการติดเชื้อ ซึ่งดูจากความเป็นไปได้ต่างๆ แล้วการที่คนทำงานจะยังต้องเวิร์คฟรอมโฮมอยู่ คงจะต้องเป็นไปอย่างต่อเนื่องอีกระยะหนึ่งพอสมควร การเวิร์คฟรอมโฮมก็มีข้อดีอยู่หลายประการ แต่เมื่อต้องทำไปนานๆ เข้าก็จะเริ่มพบข้อเสียที่สำคัญประการหนึ่ง นั่นคือความโดดเดี่ยว อ้างว้าง จากที่ต้องทำงานที่บ้าน หรือที่ฝรั่งเรียกว่า Work from Home Loneliness

การที่ต้องเวิร์คฟรอมโฮมหรือติดอยู่ที่บ้านไม่ได้ออกไปไหน ทำให้เกิดภาวะหนึ่งที่เรียกว่า Social Isolation หรือความโดดเดี่ยวทางสังคมขึ้น ถึงแม้ว่าในบ้านอาจจะมีครอบครัวบุตรหลานอยู่กันพร้อมหน้า แต่ปฏิสัมพันธ์ที่เคยมีกับเพื่อนร่วมงานหรือในระหว่างการทำงานนั้นหายไป โดยเฉพาะปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่คนในครอบครัว ซึ่งนำความแตกต่างและหลากหลายมาสู่ชีวิตในแต่ละวัน

ต้องอย่าลืมว่ามนุษย์เป็นสัตว์สังคม ดังนั้น การได้พบเจอพูดคุยกับบุคคลอื่นจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ถึงแม้ท่านอาจจะไม่ได้เป็นเพื่อนหรือสนิทชิดชอบกับเพื่อนร่วมงานเท่าใด แต่ปฏิสัมพันธ์เล็กๆ น้อยๆ ในแต่ละวันไม่ว่าจะเป็นการทักทาย พูดคุย หรือนินทาบุคคลอื่นในที่ทำงาน ล้วนแล้วแต่พื้นฐานที่สำคัญของพฤติกรรมมนุษย์ และการขาดโอกาสในการปฏิสัมพันธ์เหล่านี้ไปก็นำไปสู่ภาวะ Work from Home Loneliness

จากช่วงการระบาดของโควิดในต่างประเทศ ทำให้เริ่มมีงานวิจัยเกี่ยวกับความเหงา ความอ้างว้างจากการเวิร์คฟรอมโฮมออกมามากขึ้น และทุกงานก็ชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่าเกินกว่าครึ่งของพนักงานองค์กรต่างๆ จะประสบกับภาวะความโดดเดี่ยว ความเหงาหรือความอ้างว้างทางสังคม ซึ่งส่งผลต่อระดับความพอใจในการทำงานที่ลดน้อยลง และที่สำคัญคือความเหงาความโดดเดี่ยวดังกล่าว ก็ส่งผลต่อความสามารถในการทำงานอีกด้วย

ถ้าเป็นสถานการณ์ปกติ การเวิร์คฟรอมโฮมนั้นยังมีโอกาสที่จะได้พบเจอเพื่อนร่วมงานตามห้องประชุม หรือพบเจอผู้อื่นตามร้านกาแฟ หรือ Co-working space บ้าง แต่ในภาวะที่ทุกคนต้องระมัดระวังตัวทำให้โอกาสได้พบเจอและมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่นยิ่งน้อยลงไป ถึงแม้เวิร์คฟรอมโฮมจะทำให้ได้ใช้เวลากับครอบครัวมากขึ้น แต่เมื่ออยู่ด้วยกันนานๆ หัวข้อสนทนาก็จะค่อยๆ น้อยลง แถมมีสถิติในต่างประเทศชี้ให้เห็นว่าสามีภรรยาที่เวิร์คฟรอมโฮม และต้องอยู่ด้วยกันนานๆ โอกาสในการทะเลาะ ทำร้ายร่างกาย และหย่าร้างกันก็สูงมากขึ้นด้วย

นอกจากจะมองปัญหาของความเหงาหรือโดดเดี่ยวเป็นปัญหาที่แต่ละบุคคลต้องเผชิญแล้ว ผู้บริหารก็ควรจะมองว่าปัญหาดังกล่าวก็เป็นปัญหาขององค์กรด้วยเช่นเดียวกัน เมื่อบุคลากรของท่านจะต้องเวิร์คฟรอมโฮมนานๆ โอกาสที่จะเกิดภาวะโดดเดี่ยวอ้างว้างก็จะมากยิ่งขึ้น และสุดท้ายส่งผลต่อสุขภาพจิต ขวัญกำลังใจ การขาดความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของทีมและความสามารถในการทำงานของบุคลากร

ผู้ที่เป็นเจ้านายจะต้องหมั่นติดต่อ พูดคุย และสอบถามข่าวคราวของลูกน้องอยู่เสมอ และที่สำคัญคือการที่เจ้านายจะดูแลจิตใจและบรรเทาความอ้างว้างของลูกน้องคือการต้องโทรศัพท์ไปพูดคุยเท่านั้น ซึ่งย้ำว่าโทรศัพท์เป็นหลัก เพราะถ้าผ่านช่องทางที่ใช้ประชุมออนไลน์ ก็มักจะทำให้ดูเป็นทางการ และต้องเพ่งสายตาเข้าไปในจอคอมพิวเตอร์เพื่อสังเกตสีหน้าท่าทางของอีกฝ่ายผ่านจอเล็กๆ ส่วนการอีเมลหรือส่งไลน์ไปก็ไม่ทำให้ลูกน้องสามารถจับกระแสความห่วงใยที่ออกมาพร้อมกับน้ำเสียงหรือคำพูดได้

องค์กรจะต้องมองปัญหาของ Work from Home Loneliness ของลูกน้องเป็นปัญหาในด้านการจูงใจพนักงาน เหมือนกับเมื่อคนหิวก็จะต้องกิน ดังนั้น เมื่อคนเหงาก็จะต้องมีปฏิสัมพันธ์กับคนในที่ทำงาน ขณะเดียวกันบรรดาพนักงานที่ต้องเวิร์คฟรอมโฮมก็ต้องหมั่นดูแลจิตใจตนเองด้วย และพยายามที่จะมองสถานการณ์ที่เลวร้ายให้เป็นบวก อีกทั้งมีเป้าหมายในการทำงานในแต่ละวันให้ชัดเจน

12 May 2564

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 2029

 

Preset Colors