02 149 5555 ถึง 60

 

กิจกรรมเชิงบวกดูแลตัวเอง WFH ช่วยเว้นระยะห่างอย่างมีคุณภาพ

กิจกรรมเชิงบวกดูแลตัวเอง WFH ช่วยเว้นระยะห่างอย่างมีคุณภาพ

ช่วงที่หลายคนต้องใช้เวลาช่วง Work from home สามารถแบ่งเวลาให้กับสมาชิกในครอบครัวได้ โดยใช้กิจกรรมเชิงบวก เพราะการทำงานเพียงอย่างเดียวอาจกระตุ้นความเครียดได้โดยไม่รู้ตัว ทั้งจากความกังวลเกี่ยวกับการระบาดของโรคโควิด-19 และการที่ไม่ได้ออกไปนอกบ้าน หรืออาจทำให้เกิดโรคออฟฟิศซินโดรมได้ จากการที่เราต้องนั่งทำงานอยู่บ้านเป็นเวลานานๆ เพื่อให้การขานรับนโยบายกักตัวช่วยชาติเป็นไปอย่างมีความสุข

ผศ.ดร.กบ.ศุภลักษณ์ เข็มทอง อาจารย์ประจำคณะกายภาพบำบัด ม.มหิดล และผู้เชี่ยวชาญด้านกิจกรรมบำบัดสังคม ให้คำแนะนำหนุ่มสาวออฟฟิศในการพลิกแพลงโอกาสนี้ เพื่อดูแลทั้งตัวเองและสมาชิกในครอบครัวในช่วงของการหยุดทำงานที่บ้าน ว่า “อันที่จริงแล้วหลักของกิจกรรมบำบัดในการดำเนินชีวิต ในสถานการณ์โควิด-19 ระบาดนั้น แนะนำว่าควรดำเนินชีวิตด้วยการคิดบวก ประกอบกับมีข้อมูลในการทำงานร่วมกันระหว่าง WHO หรือองค์การอนามัยโลก และสมาพันธ์นักกิจกรรมบำบัดโลก ที่ใช้ตัวย่อว่า “WFOT”

โดยได้ทำการจัดทำตาราง 4 วันใน 1 สัปดาห์ คือ วันจันทร์ พุธ ศุกร์ เสาร์ โดยให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวคิดสิ่งที่เป็นเรื่องบวก 1 เรื่องใน 4 วันที่กำหนด และสัปดาห์ต่อมาคือ วันอังคาร พฤหัส และวันอาทิตย์ คิดกิจกรรมที่เป็นบวกแบบที่ 2 (ไม่ซ้ำกับกิจกรรมแรก) ดังนั้นกิจกรรมคิดบวกที่ได้จากการวิจัยร่วมกันของ 2 องค์กร จะทำให้เวลาตลอด 24 ชั่วโมงของคนทุกเพศทุกวัยนั้นประกอบด้วย 4 กิจกรรมหลักของการดำเนินชีวิตในแต่ละวัน หรือตั้งแต่เช้าจดเย็นดังต่อไปนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและความสุข

“เริ่มจากกิจกรรมแรก คือ “การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ” ซึ่งตั้งไว้ที่ 7-8 ชั่วโมงต่อวัน และหากทุกเพศทุกวัยสามารถนอนหลับสนิทได้ถึง 8 ชั่วโมงก็จะยิ่งดีต่อสุขภาพ เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย แต่ไม่ควรนอนพักผ่อนน้อยกว่า 7 ชั่วโมงต่อวัน เราก็จะเหลือเวลาอีก 16 ชั่วโมงจากเวลา 24 ชั่วโมง เข้าสู่กิจกรรมที่สอง เราแนะนำให้แบ่งเวลา 6 ชั่วโมงจาก 16 ชั่วโมงที่เหลือจาก 24 ชั่วโมงนั้น ออกเป็นอีก “6 กิจกรรมในการดูแลสุขภาพของตัวเอง”

เช่น โดยการกำหนดให้ 3 ชั่วโมงแรกนั้นดูแลร่างกายอาบน้ำทำความสะอาดตัว ตลอดจนการดูแลสุขภาพของตัวเอง รวมถึงการกินอาหาร และอีก 3 ชั่วโมงที่เหลือ ให้ดูแลคนที่รักในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นปู่ย่าตายาย ลูกหลาน โดยโยงกับการดูแลสุขอนามัยของตัวเองที่ทำเมื่อ 3 ชั่วโมงที่ผ่านมา เช่น การกินอาหารอะไร หรือดูแลร่างกายอย่างไร ก็ให้ดูแลคนในครอบครัวอย่างนั้น เช่น หากเรากินอาหารเพื่อสุขภาพที่สอดคล้องกับ ม.มหิดล ในการวิจัยเกี่ยวกับการปรุงกระชายขาวเป็นอาหาร จะช่วยสร้างภูมิต้านทานให้ร่างกาย ป้องกันโรคโควิด-19 หรือติดตามได้ที่ช่องยูทูบอย่าง “มหิดลแชนเนล” (Mahidol Channel) ที่จะมีรายการอาหารเพื่อสุขภาพ หรืออาหารชนิดไหนที่กินแล้วอารมณ์ดีที่สามารถทำตามกันได้ที่บ้าน ก็แนะนำให้ดูแลสมาชิกในบ้านเช่นนั้น

ถัดมา กิจกรรมที่สามแนะนำให้แบ่งเวลาอีก 6 ชั่วโมง (จาก 10 ชั่วโมงที่เหลือจาก 16 ชั่วโมงข้างต้น) ไว้สำหรับทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการทำงานและการเรียนรู้ โดยจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการทำงานและการเรียนรู้ ให้จัดเป็นตารางสำหรับวันจันทร์ พุธ ศุกร์ อาทิตย์ โดยที่ช่วงเช้าในตลอดทั้ง 4 วันนั้นเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับการใช้ความคิดสร้างสรรค์ต่างๆ ส่วนช่วงบ่ายก็เป็นงานที่ทำประจำ เช่น งานที่เกี่ยวข้องกับการเดินเอกสาร หรืองานพิมพ์คอมพิวเตอร์ที่ไม่ต้องใช้ความคิดมากนัก

ส่วนกิจกรรมที่สี่นั้นเราจะเหลือเวลาอีกประมาณ 4 ชั่วโมง (จากเวลา 24 ชั่วโมงทั้งหมด) ซึ่งเป็นช่วงท้ายของแต่ละวัน ที่สามารถใช้เป็นกิจกรรมนันทนาการ ตั้งแต่การอ่านหนังสือใหม่ๆ การท่องโลกอินเทอร์เน็ต (แนะนำว่าไม่ควรเล่นโซเชียลเกินวันละ 3 ชั่วโมง ซึ่งถ้าเกินกว่านี้จะต้องพักเบรกตัวเองไปทำกิจกรรมอื่น แต่ถ้าเป็นการนั่งทำงานนั้น ทุกๆ 25 นาที ควรลุกเดิน เพื่อเปลี่ยนอิริยาบถ หรือหมั่นจิบน้ำ เพื่อให้รู้สึกปวดปัสสาวะ และลุกเดินไปเข้าห้องน้ำ เพื่อกระตุ้นการเคลื่อนไหวของร่างกาย และลดอาการปวดเมื่อยจากการที่ต้องทำงานเป็นเวลานานๆ ในแต่ละวัน) นอกจากนี้สามารถเลือกกิจกรรมที่ทำให้คุณรู้สึกผ่อนคลาย อาทิ การนั่งทำสมาธิเพื่อให้จิตใจจดจ่อ หรือการไหว้พระสวดมนต์ หรือเล่นเกม กระทั่งการร้องเพลงในช่วงที่ต้องเว้นระยะห่างทางสังคม”.

13 May 2564

ที่มา ไทยโพสต์

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 1126

 

Preset Colors