02 149 5555 ถึง 60

 

“สภาพจิตใจ” ของคนไทยในยุคโควิด-19

“สภาพจิตใจ” ของคนไทยในยุคโควิด-19

รศ. ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ 26 พฤษภาคม 2564 23:00 น. มองผ่านข้อมูล

รศ. ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์

สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

คนเราแต่ละช่วงวัยจะมีจุดหลัก ๆ ที่ทำให้จิตตก เครียด วิตกกังวล กลุ้มใจ กลัว เบื่อหน่าย หรือมีอารมณ์เชิงลบอื่น ๆ แตกต่างกัน เช่น วัยเด็กหรือวัยเรียนก็จะเป็นเรื่องการเรียน เรื่องการคบเพื่อน เรื่องการวางเป้าหมายในชีวิต ฯลฯ วัยทำงานก็จะเกี่ยวกับการทำงาน เรื่องเงินทองหรือหนี้สิน ส่วนวัยสูงอายุคงไม่พ้นเรื่องสุขภาพหรือโรคภัยไข้เจ็บ ลูกหลานไม่ดูแล เป็นต้น โดยทั่วไปแล้วอารมณ์ของคนเราจะเกิดขึ้นเมื่อมีสิ่งมากระตุ้นแล้วทำให้เกิดอารมณ์ตามมา ถ้าเป็นเรื่องดีก็เป็นอารมณ์เชิงบวกและถ้าเป็นเรื่องไม่ดีหรือร้าย ๆ ก็เป็นอารมณ์เชิงลบ แต่ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์อะไร ๆ ก็ตามแต่ มันจะค่อย ๆ หายไปและกลับเข้าสู่โหมดปกติในที่สุด ซึ่งแต่ละคนจะช้าหรือเร็วแตกต่างกันขึ้นกับความเข้มแข็งของจิตใจและการคิดได้

ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นเรื่องจิตใจของคนที่ “ช่วงวัย” เป็นตัวกำหนด !

ณ วันนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย พบการระบาดเป็นครั้งแรกตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 เป็นต้นมา และมาถึงวันนี้กินเวลานานกว่าปีแล้ว แต่ก็ยังไร้วี่แววว่าจะขจัดหรือบรรเทาการแพร่ระบาดโควิด-19 ให้ทุเลาลง สาเหตุหลัก ๆ ก็คงเป็นเพราะการบริหารจัดการความเสี่ยงของไทยที่มองข้ามเรื่องการจัดหาและการกระจาย “วัคซีนโควิด-19” ให้ทันท่วงทีทุกกลุ่มประชากร เพราะอาการหลง “ติดกับดักความสำเร็จ” จากการรับมือการระบาดระลอกแรกและระลอกที่ 2 ที่คาดว่าเอาอยู่

นี่ก็เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นโดยมิได้คาดคิด ! ซึ่งกลายเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้จิตใจหวั่นไหว สั่นคลอน !ยิ่งการระบาดระลอกที่ 3 สถานการณ์พลิกผันอย่างรวดเร็วเลยยิ่งทำให้จิตใจย่ำแย่ลงอีก เมื่อเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 มีการกลายพันธุ์และพบทุกสายพันธุ์แล้วในขณะนี้ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์อังกฤษ อินเดีย/เบงกอล และแอฟริกาใต้ และมากไปกว่านี้ก็คือ การพบคลัสเตอร์ใหม่ ๆ ที่ต้องเฝ้าระวังไม่ต่ำกว่า 36 คลัสเตอร์ทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด ลำพังปัญหาต่าง ๆ ที่คนไทยต้องเผชิญอยู่ก่อนแล้วก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ไม่ใช่น้อย ทั้งหนี้สิน ฝุ่น PM 2.5 ยาเสพติด รถติด ฯลฯ พอมาเจอกับโควิด-19 อัดซ้ำเข้าไปอีกก็ทำให้คนไทยหลายคน ๆ “มึน” เกิดอาการซึมเศร้าหรือบางคนรับมือไม่ไหวถึงกับลาโลกไปเลย

โจทย์ใหญ่ ณ วันนี้ คนไทยที่ยังรอดอยู่ทุกวันนี้จะรับมือหรือดูแลสภาพจิตใจในช่วงวิกฤตินี้กันอย่างไร? เพื่อให้รอดไปต่อในวันถัด ๆ ไปท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ที่คนไทยส่วนใหญ่อยู่ในอารมณ์

“อยากฉีดแล้ว” แต่ไม่มีของให้ฉีดสักที ระหว่าง “รอ” เพื่อ “รอด” คนไทยทุกกลุ่มวัยต้องฝึกและปฏิบัติตนช่วยเหลือตนเองกันไปก่อนเป็นการป้องกันไม่ให้อารมณ์เชิงลบมาทำร้ายเรามากขึ้น เช่น ออกกำลังกายให้ร่างกายแข็งแรงมีภูมิต้านทานโรค กินอาหารที่ดีมีประโยชน์ต่อสุขภาพ ไปเที่ยวทิพย์ ปรับวิธีคิดใหม่ เพราะ

คนไทยต่างก็เจอปัญหาและตกอยู่ในสภาพเหมือนกัน ๆ แล้วแต่จะแสวงหาทางออก

เพื่อเป็นการสะท้อนถึง “สภาพจิตใจของคนไทยในยุค “โควิด-19” สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิตจึงได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนในประเด็นดังกล่าว เช่น สภาพจิตใจ ณ วันนี้ สิ่งที่ทำให้

สภาพจิตใจย่ำแย่ วิธีการดูแลสุขภาพจิต ความช่วยเหลือที่ต้องการจากรัฐบาล/ภาคเอกชน และระดับความรุนแรงของสภาพจิตใจที่เป็นอยู่ ผลจะออกมาเช่นไร? วันอาทิตย์ที่จะถึงนี้ได้รู้กัน

แม้จะมีคำกล่าวที่พูดมาอย่างช้านานที่ว่า “จิตใจที่เข้มแข็ง ช่วยให้เกิดเรี่ยวแรงมหาศาล” แต่ภาวะโควิด-19 ที่ระบาดอย่างหนัก ณ วันนี้ มีผลโดยตรงไม่ใช่แค่สภาพของร่างกายเท่านั้นที่ดูอ่อนล้าลง จิตใจก็พลอยอ่อนแออย่างที่ไม่เคยเป็น

ผมว่าถ้าใจมันสู้ ... น่าจะรอดนะครับ สู้ สู้ สู้ !

27 May 2564

ที่มา สยามรัฐ

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 1550

 

Preset Colors