02 149 5555 ถึง 60

 

โรคกินไม่หยุด คืออะไร? อาการ สาเหตุ การรักษา เมื่อไหร่ที่ควรหาหมอ

โรคกินไม่หยุด คืออะไร? อาการ สาเหตุ การรักษา เมื่อไหร่ที่ควรหาหมอ

ทำความรู้จัก โรคกินไม่หยุด หรือ Binge Eating Disorder สังเกตอาการ ทำความเข้าใจสาเหตุ และแนวทางการรักษา

วันที่ 16 มิถุนายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นักร้องชื่อดัง “ไอซ์-ศรัณยู วินัยพานิช” เผยว่าตัวเองกำลังมีอาการป่วยจากภาวะไม่สามารถหยุดการกินได้ (Binge Eating Disorder) ซึ่งทำให้ไม่สามารถควบคุมการกินของตัวเองได้ กลายเป็นคนที่ต้องกินตลอดเวลา กระทั่งถูกทักเรื่องน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น ต้องทำทีบอกคนอื่นว่ากำลังลดน้ำหนัก แต่พอไม่มีใครเห็นจะกลับไปกินเยอะมาก สุดท้ายสะสมความรู้สึกผิดจนเกิดภาวะความเศร้า และตรวจพบไขมันชนิดไม่ดีในเส้นเลือด รวมถึงมีไขมักพอกตับ

สำหรับหลายคนที่สงสัยว่าตัวเองกำลังมีอาการเช่นเดียวกับ “ไอซ์ ศรัณยู” หรือไม่ “ประชาชาติธุรกิจ” รวมรวมข้อมูลเกี่ยวกับภาวะการกินผิดปกติดังกล่าวมาฝากกัน

โรคกินไม่หยุดคืออะไร?

ข้อมูลจากเว็บไซต์ พบแพทย์ ระบุว่า Binge Eating Disorder (BED) หรือโรคกินไม่หยุด เป็นชื่อที่ใช้เรียกโรคที่มีอาการรับประทานอาหารมากผิดปกติ โดยไม่สามารถควบคุมตนเองได้ ผู้ที่เป็นโรคนี้จะรับประทานอาหารในปริมาณมากแม้ไม่รู้สึกหิว โดยจะรับประทานจนอิ่มแน่นท้อง จนไม่สามารถรับประทานอาหารต่อได้ เมื่อรับประทานเสร็จแล้วจะรู้สึกรังเกียจหรือโกรธตัวเอง

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของโรคนี้ แต่คาดว่าเกิดจากหลายปัจจัย และโรคนี้สามารถเกิดได้กับคนทุกช่วงวัย ที่พบบ่อยสุด คือ วัยรุ่นตอนปลายหรือช่วงอายุ 20 ตอนต้น ซึ่งการรักษาและการบำบัดจะแตกต่างกันไปตามปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคขึ้น ทั้งนี้ การรับประทานอาหารปริมาณมากเกินความพอดีอยู่บ่อยครั้งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพผู้ป่วยทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

อาการของโรคกินไม่หยุด

รับประทานอาหารมากกว่าปกติ โดยไม่สามารถควบคุมตนเองให้หยุดรับประทานได้ แม้จะอิ่มหรือไม่รู้สึกหิวแล้ว

สามารถรับประทานอาหารปริมาณมาก ๆ อย่างรวดเร็วในระยะเวลาไม่นาน

ผู้ป่วยไม่มีพฤติกรรมที่จะลดความอ้วนอย่างแท้จริง

อาจออกกำลังกายอย่างหนัก ใช้ยาระบาย หรือล้วงคออ้วก ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้มักเป็นอาการของโรคคลั่งผอม (Anorexia) และโรคล้วงคอ (Bulimia)

อาจจะมีพฤติกรรมที่กักตุนอาหารไว้ในที่ต่าง ๆ ใกล้ตัว

สาเหตุ

ในปัจจุบันยังไม่พบสาเหตุที่แท้จริงของโรคนี้ แต่คาดว่ามีหลายปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดโรคกินไม่หยุด เช่น

เป็นโรคอ้วน โดยผู้ที่มีอาการของโรคกินไม่หยุดกว่าครึ่งหนึ่งมักมีโรคอ้วนเป็นโรคประจำตัว

จากการศึกษาพบว่าโรคนี้พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย แต่เพศชายก็อาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดได้เช่นกัน

มีพฤติกรรมการใช้สารเสพติดหรือดื่มแอลกฮอล์เป็นประจำ

ขาดความมั่นใจในรูปร่าง และมีความพึ่งพอใจในรูปร่างของตนเองต่ำ

เคยมีประวัติเสพติดการลดน้ำหนัก เครียดกับการลดน้ำหนัก หรือเคยล้มเหลวในการลดน้ำหนัก

เคยผ่านเหตุการณ์สะเทือนใจ อย่างการสูญเสียครอบครัว เคยประสบอุบัติเหตุ หรือถูกทำร้าย

คนในครอบครัวมีประวัติที่เกี่ยวข้องกับโรคการกินผิดปกติ

มีภาวะทางจิต อย่างภาวะซึมเศร้า โรคเครียด โรคไบโพลาร์ โรคกลัว (Phobias) และภาวะป่วยทางจิตหลังเหตุการณ์รุนแรง (Post-traumatic Stress Disorder)

สำหรับสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการรับประทานอาหารมากผิดปกติ เชื่อกันว่าเกิดจากภาวะไม่สมดุลของสารเคมีในสมอง อย่างเลปติน (Leptin) และเกรลิน (Ghrelin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนแห่งความหิวที่หลั่งออกมามากผิดปกติ จนส่งผลให้ร่างกายมีความอยากอาหาร นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยที่พบว่าความรู้สึกเครียด โกรธ เศร้า เบื่อหน่าย หรือความรู้สึกด้านลบก็สามารถกระตุ้นการหลั่งของสารเหล่านี้ได้

เมื่อไหร่ที่ควรพบแพทย์

ข้อมูลจากเว็บไซต์ Club of Thai Health ระบุว่า โรคกินไม่หยุดส่งผลกระทบต่อทั้งสุขภาพจิตและสุขภาพกายของผู้ป่วย ผู้ที่รู้สึกว่ามีปัญหากินมากเกินไปควรพบแพทย์ถึงแม้ว่าน้ำหนักจะอยู่ในเกณฑ์ปกติก็ตาม

แพทย์อาจทำการเช็คโรคอื่น ๆ ให้ด้วย เช่น โรคหัวใจ หรือ ปัญหาเกี่ยวกับถุงน้ำดี เพราะโรคเหล่านี้สามารถทำให้เกิดโรคกินไม่หยุดได้

ผู้ป่วยมักจะรู้สึกลำบากใจที่จะบอกคนอื่นว่าพวกเขาเป็นโรคกินไม่หยุด รวมไปถึงหมอด้วย อย่างไรก็ตาม การรักษาจะช่วยทั้งการควบคุมการกินไม่ได้และปัญหาทางอารมณ์ที่ซ่อนอยู่

ผู้ป่วยอาจมีความรู้สึกอับอายและแยกตัวออกจากคนอื่น การหาสาเหตุที่ซ่อนอยู่ เช่น โรควิตกกังวล และซึมเศร้า สามรถช่วยแก้ปัญหาได้

การรักษา

การใช้ยา

โรคกินไม่หยุดจัดว่าเป็นโรคทางจิตชนิดหนึ่ง ซึ่งแพทย์อาจสั่งจ่ายยาต้านเศร้าหรือยากันชัก ที่มักใช้รักษาโรคทางจิตชนิดอื่น ๆ เพื่อปรับสมดุลของสารเคมีในสมองและป้องกันอาการของโรค การใช้ยาเพื่อรักษาโรค BED นั้นค่อนข้างให้ผลรวดเร็วและได้ผลที่ชัดเจนกว่าการรักษาแบบอื่น แต่ค่อนข้างเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยา

การเข้ารับจิตบำบัด

จิตบำบัดเป็นการสร้างการรับรู้และเข้าใจในอาการของโรค จุดประสงค์หลักเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถควบคุมอารมณ์ด้านลบที่ส่งผลให้เกิดอาการของโรคได้ โดยจิตบำบัดที่ใช้รักษาโรคกินไม่หยุดแบ่งได้ 3 แบบ ดังนี้

Cognitive Behavioral Therapy (CBT) เป็นการบำบัดที่จะสอนให้ผู้ป่วยเข้าใจสาเหตุของอารมณ์และพฤติกรรมด้านลบที่ทำให้เกิดอาการ รวมทั้งเรียนรู้วิธีควบคุมที่จะช่วยลดความรุนแรงของความรู้สึกและพฤติกรรม

Interpersonal Psychotherapy (IPT) เป็นการบำบัดที่ช่วยรักษาอาการที่มีสาเหตุมาจากปัญหาความสัมพันธ์ของผู้ป่วยกับคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน คนรัก หรือครอบครัว อย่างความรุนแรง การหย่าร้าง หรือการเสียชีวิต ซึ่งส่งผลกระทบต่อจิตใจผู้ป่วยและทำให้เกิดโรคกินไม่หยุด โดยจิตบำบัดแบบ IPT จะช่วยให้คนไข้สามารถแก้ไขหรือปรับเปลี่ยนมุมมองต่อเหตุการณ์นั้น ๆ ได้

Dialectical Behavior Therapy (DBT) เป็นการบำบัดที่สร้าง 4 ทักษะ ซึ่งอาจช่วยบรรเทาอาการของโรคนี้ คือ การตระหนักรู้ในสาเหตุและอาการ ความอดทนต่อความรู้สึกด้านลบ การจัดการอารมณ์ และการพัฒนามนุษยสัมพันธ์

การลดน้ำหนัก

แพทย์และนักโภชนาการจะให้ความรู้เกี่ยวกับการลดน้ำหนักอย่างถูกต้อง ทั้งปริมาณ สารอาหาร และการออกกำลังกาย ซึ่งการลดน้ำหนักไม่เพียงแต่จะช่วยป้องกันกลับไปมีอาการของโรคซ้ำแล้ว ยังอาจช่วยให้คนไข้มีรูปร่างที่ดีขึ้นและมีความรู้สึกที่ดีต่อตนเองมากขึ้น

นอกจากนี้ แพทย์อาจแนะนำให้ปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์เพื่อส่งเสริมสุขภาพให้ดีขึ้น อย่างการนอนหลับให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังอย่างเหมาะสม และระบายความเครียดในรูปแบบต่าง ๆ อย่างถูกวิธี

ภาวะแทรกซ้อน

ปัญหาสุขภาพกาย เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ โรคกรดไหลย้อน ภาวะไขมันในเลือดสูง โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคมะเร็ง เป็นต้น

ปัญหาสุขภาพจิต อาการของโรคอาจส่งผลให้เกิดความรู้สึกแปลกแยก ไม่อยากเข้าสังคม ซึ่งเมื่ออารมณ์เหล่านี้รุนแรงขึ้น อาจเพิ่มความเสี่ยงในการใช้สารเสพติดหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไปจนถึงภาวะทางจิตชนิดอื่น ๆ อย่างภาวะซึมเศร้า โรควิตกกังวล และโรคไบโพลาร์

ปัญหาในชีวิตประจำวัน การรับประทานอาหารทีละมาก ๆ อาจส่งผลต่อบุคลิกภาพ ความมั่นใจในตนเอง รวมไปถึงการมีปฏิสัมพันธ์กันคนรอบข้าง

การป้องกัน

แพทย์ยังไม่มีวิธีป้องกันที่แน่นอน แต่สามารถลดความเสี่ยงของโรคด้วยการรักษาโรคที่อาจเป็นสาเหตุของ BED และปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต ดังนี้

นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

รับประทานอาหารที่มีประโยชน์

ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม

ทำกิจกรรมเพื่อผ่อนคลายความเครียดหรือความรู้สึกด้านลบอื่น ๆ

เข้ารับการบำบัดเพื่อเรียนรู้การจัดกับอารมณ์

ปรึกษาแพทย์เมื่อเกิดสัญญาณของโรค

แม้จะเป็นโรคที่ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่ก็ยังมีวิธีป้องกันและการรักษาที่เหมาะสม

17 June 2564

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 8896

 

Preset Colors