02 149 5555 ถึง 60

 

ปรับรับสังคมผู้สูงอายุ

ปรับรับสังคมผู้สูงอายุ

ในช่วงที่วิกฤติโควิด-19 ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ผลกระทบอย่างชัดเจนที่เห็นได้ชัดคือ ผู้ที่เสียชีวิตจากโรคระบาดครั้งนี้ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว และอีกกลุ่มคือผู้สูงอายุ เนื่องจากภูมิคุ้มกันต่างๆ นั้นจะมีน้อยกว่าคนที่มีร่างกายแข็งแรงหรือผู้ที่ยังมีอายุน้อย ที่ร่างกายยังมีกำลังเพียงพอจะสร้างภูมิเพื่อมาต่อสู้กับไวรัสได้

คนในสังคมส่วนใหญ่จึงเป็นห่วงว่าในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ หากบ้านไหนมีผู้สูงอายุอยู่ในบ้านก็จะยิ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด และอยู่ท่ามกลางความระมัดระวังอย่างมาก ยิ่งในประเทศไทยยุคปัจจุบัน หรือในปี 2564 นี้ได้ก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบแล้ว โดยมีการประมาณการว่ามีสัดส่วนผู้สูงอายุในช่วง 60 ปีขึ้นไปถึง 20% ของจำนวนประชากรทั้งหมด หรือไม่น้อยกว่า 13 ล้านคน

ประเด็นความกังวลในเรื่องนี้จึงถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยหรือหาทางแก้ไขกันอยู่ตลอดมา ไม่ใช่แค่การดูแลในช่วงวิกฤติโควิด-19 แต่ยังมีในแง่มุมอื่นๆ อีกด้วย ซึ่งจากการคาดการณ์ในปี 2583 ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุ 20 ล้านคน หรือ 1 ใน 3 ของคนไทยจะเป็นผู้สูงอายุ และผู้สูงอายุ 80 ปีขึ้นไปจะมีมากถึง 3.5 ล้านคน จึงเป็นตัวเลขที่สูงมาก และควรจะหาทางเข้าไปรับมือกับส่ววนี้ให้ได้โดยเร็ว

แต่การเพิ่มขึ้นของภาวะสังคมผู้สูงอายุ ก็ถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุเช่นเดียวกัน เป็นอีกมุมมองหนึ่งที่น่าสนใจและเป็นแนวทางให้แก่ผู้ดำเนินธุรกิจได้เป็นอย่างดี ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เล็งเห็นความสำคัญของการสร้างความแข็งแกร่งทางการแพทย์ในประเทศมาโดยตลอด จึงได้ขับเคลื่อนการให้การส่งเสริมการลงทุนเกี่ยวกับธุรกิจทางการแพทย์มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งภาคการผลิตและการบริการ เช่น การส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตยา ผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ การให้บริการสถานพยาบาลและบริการทางการแพทย์

ซึ่งกิจการเหล่านี้เกี่ยวเนื่องกับการดูแล รักษาบำบัด และฟื้นฟูผู้สูงอายุด้วยเช่นกัน และเพื่อเป็นการรองรับจำนวนผู้สูงอายุที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตอันใกล้ และกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในกิจการดูแลผู้สูงอายุอย่างครบวงจร เมื่อปลายปี 2563 บีโอไอได้เปิด 2 ประเภทกิจการใหม่สำหรับการดูแลผู้สูงอายุเป็นการเฉพาะ คือ 1.กิจการโรงพยาบาลผู้สูงอายุ โดยผู้ที่ได้รับการส่งเสริมจะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นเวลา 5 ปี และ 2.กิจการศูนย์ดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิง จะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นเวลา 3 ปี

ขณะที่เทคโนโลยีสุขภาพและการแพทย์เป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญที่จะถูกนำมาใช้ในการดูแล รักษาหรือฟื้นฟูสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้สูงอายุมีความต้องการผลิตภัณฑ์หรือบริการที่มีคุณลักษณะเฉพาะ ทั้งนี้ เทคโนโลยีสุขภาพและการแพทย์จะเกี่ยวข้องกับการพัฒนาซอฟต์แวร์ โดยปัจจุบันบีโอไอมีประเภทกิจการให้การส่งเสริมการลงทุน 3 กิจการ คือ 1.กิจการให้บริการเทคโนโลยีดิจิทัล รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นเวลา 5 ปี 2.กิจการซอฟต์แวร์ กลุ่มกิจการพัฒนาซอฟต์แวร์ และ/หรือดิจิทัล คอนเทนต์ รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นเวลา 8 ปี ไม่จำกัดวงเงิน

และ 3.กิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ที่แม้ว่าจะไม่มีสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล แต่ก็จะได้สิทธิประโยชน์อื่น เช่น การอนุญาตให้นำช่างฝีมือหรือผู้ชำนาญการเข้ามาทำงาน ซึ่งถือเป็นสิทธิประโยชน์ที่จะทำให้เกิดการดึงดูดโปรแกรมเมอร์เก่งๆ มาร่วมงานที่ประเทศไทย ทำให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้ที่จะนำไปสู่การพัฒนาด้านอื่นๆ รวมถึงการช่วยสร้างระบบนิเวศน์ด้านเศรษฐกิจดิจิทัลด้วย

อย่างไรก็ตาม การเติบโตของสังคมผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุมีโอกาสที่จะเติบโตขึ้นตาม บีโอไอพร้อมให้การส่งเสริมในกิจการที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้สูงอายุ เพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการทางการแพทย์ที่สะดวกและมีทางเลือกมากขึ้นสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งการส่งเสริมเหล่านี้เป็นหนึ่งในเป้าหมายของรัฐบาลที่ต้องการผลักดันไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (เมดิเคิลฮับ)

จะเห็นได้ว่า แนวโน้มของสังคมผู้สูงอายุที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น มีทั้งมุมมองที่ต้องแก้ไขและมุมมองที่เป็นโอกาสในการพัฒนา ทั้งหมดนี้จึงสามารถเป็นแนวทางที่สำคัญในการเตรียมความพร้อมของทุกภาคส่วนได้เป็นอย่างดี ซึ่งหากใครสามารถปรับตัวให้ทันกับเหตุการณ์ได้ก็จะสามารถตอบสนองความต้องการของสังคมได้อย่างแน่นอน.

22 June 2564

ที่มา ไทยโพสต์

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 1924

 

Preset Colors