02 149 5555 ถึง 60

 

ปลูกฝัง “ความเป็นเจ้าของสุขภาพ” สิทธิขั้นพื้นฐาน...ที่มนุษย์พึงได้รับ

ปลูกฝัง “ความเป็นเจ้าของสุขภาพ” สิทธิขั้นพื้นฐาน...ที่มนุษย์พึงได้รับ

วันที่ 23 มิถุนายนของทุกปี เป็น “วันบริการสาธารณะแห่งสหประชาชาติ” (United Nations Public Service Day) เพื่อให้ชาวโลกได้ตระหนักถึงความสำคัญของผู้ให้บริการประชาชน ซึ่ง "การมีสุขภาพดี เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนพึงได้รับ โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างในเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา การเมือง เศรษฐกิจ และสังคม" โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวิกฤติ COVID-19 งานบริการสาธารณสุขมูลฐาน (Primary Health Care) เพื่อการดูแลสุขภาพอนามัยโดยประชาชน เพื่อสุขภาพที่ดีของประชาชน ด้วยการสนับสนุนของรัฐ กำลังเป็นที่พึ่งที่สำคัญยิ่งของประชาชนในยามนี้

รศ.ดร.นพ.ภูดิท เตชาติวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ที่ผ่านมาเมื่อกล่าวถึงงานบริการด้านสาธารณสุขมูลฐาน ส่วนใหญ่จะนึกถึง "งานบริการชั้นสอง" ที่มีคุณภาพด้อยกว่าคุณภาพของงานบริการรักษาพยาบาลโดยทั่วไป ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ได้หมายถึงการให้บริการสุขภาพเบื้องต้นโดยภาคประชาชนสำหรับประเทศที่ด้อยพัฒนาเท่านั้น สาเหตุที่เข้าใจกันคลาดเคลื่อนนี้เกิดขึ้นเนื่องจากเรื่องสาธารณสุขมูลฐานในความเป็นจริงนั้นมีหลายแง่มุมที่เกี่ยวพันกัน ซึ่งโดยหลักการคือ ความต่อเนื่อง เชื่อมโยง และส่งต่อสู่บริการในระดับที่สูงขึ้นไป หรือบริการที่เกี่ยวข้องหากมีความจำเป็น เพื่อให้เกิดการเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพด้วยความเป็นธรรม ซึ่งจะทำให้เกิดระบบสุขภาพที่เข้มแข็ง โดยเป็นหลักการที่ทุกประเทศทั่วโลกควรต้องนำไปปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา หรือประเทศที่พัฒนาแล้ว

ประเทศไทยเราเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่มีผลงานโดดเด่นในการพัฒนาสาธารณสุขมูลฐาน และเป็นตัวอย่างให้กับองค์การอนามัยโลก (WHO) และนานาประเทศ นำไปเป็นต้นแบบในหลายประเด็น เช่น การพัฒนาสุขภาพภาคประชาชนโดยผ่านการทำงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) การสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การสร้างนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ โดยผ่านสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งในประเทศไทยมีหน่วยงานที่รับผิดชอบในเรื่องสาธารณสุขมูลฐานที่แตกต่างกัน โดยมีองค์กรหลักที่ สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการร่วมดำเนินงานสาธารณสุขมูลฐานของกระทรวงสาธารณสุข คือ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ซึ่งดูแลประชาชนเพื่อให้สามารถพึ่งตนเองด้านสุขภาพที่ยั่งยืนแบบมีส่วนร่วม โดยมีงาน อสม.เป็นส่วนสำคัญในการให้บริการด้านสาธารณสุขมูลฐานในชุมชน ซึ่งสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีส่วนสนับสนุนในการพัฒนาบทบาทของ อสม.ผ่านการจัดฝึกอบรม และการดำเนินงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนมีบทบาทในการเป็นกรรมการพัฒนาแผนยุทธศาสตร์ชาติในเรื่องของการพัฒนาการสาธารณสุขมูลฐานด้วย

นอกจากนี้ ในส่วนของสำนักสนับสนุนระบบสุขภาพปฐมภูมิ ที่เพิ่งได้รับการจัดตั้งโดยกระทรวงสาธารณสุขเมื่อปี พ.ศ.2562 ที่ผ่านมา เพื่อที่จะทำหน้าที่ดูแลประชาชนให้สามารถจัดการสุขภาพแบบพึ่งตนเองได้นั้น รศ.ดร.นพ.ภูดิท ยังได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอนุกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิ โดยมีบทบาทในการร่วมพิจารณาจัดทำร่างแผนพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิ (พ.ศ.2563- 2567) เพื่อพัฒนาแผนยุทธศาสตร์ต่างๆ ทั้งในเรื่องการจัดบริการ การพัฒนาระบบสารสนเทศ และการพัฒนาการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งได้ผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว

"เรื่องระบบสุขภาพและบริการสุขภาพนั้น ประเทศไทยสามารถทำได้ดีพอสมควรแล้ว แต่ควรต้องสร้างความเข้มแข็งในเรื่องของวิชาการ และการศึกษาเพื่อการพัฒนาสาธารณสุขมูลฐานที่ยั่งยืนด้วย โดยในช่วงวิกฤติ COVID-19 ที่ผ่านมา สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ริเริ่มวิจัยเป็นครั้งแรกของประเทศไทย เรื่อง "การพัฒนาบทบาทของ อสม. เพื่อมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน" ตลอดจนได้ริเริ่มพัฒนาหลักสูตร “เวชศาสตร์วิถีชีวิต” (Lifestyle Medicine) ขึ้น เพื่อผลักดันให้เกิดรูปแบบการบริการแบบใหม่ที่จะมุ่งปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง สู่การมีสุขภาพแข็งแรงเพียงพอที่จะต่อสู้กับโรคอุบัติใหม่ต่างๆ นอกจากนี้ยังได้ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ สำนักประสานงานสนับสนุนการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาวะรองรับสังคมสูงวัย (สปสว.) จัดทำรายการ "3 วัยไล่โควิด" เผยแพร่ทาง YouTube โดยใช้พลังปัญญาของผู้สูงวัยมาแนะนำแนวทางและนโยบายเพื่อสนับสนุนให้เกิดการดูแลตัวเองเพื่อให้ปลอดภัยในช่วงวิกฤติ COVID-19 ตลอดจนจัดอบรมระยะสั้นออนไลน์นานาชาติเพื่อรับมือกับปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ฯลฯ" รศ.ดร.นพ.ภูดิทกล่าว.

22 June 2564

ที่มา ไทยโพสต์

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 1013

 

Preset Colors