02 149 5555 ถึง 60

 

สถานการณ์เด็กกับโรคขาดธรรมชาติ : เด็กกับสังคมสูงวัยในสภาวะเปลี่ยนแปลง

สถานการณ์เด็กกับโรคขาดธรรมชาติ : เด็กกับสังคมสูงวัยในสภาวะเปลี่ยนแปลง

โดย ผศ.ดร.สาวิตรี ทยานศิลป์

หากจะพูดถึงเด็กกับผู้สูงอายุ ภาพความเกี่ยวข้องของคน 2 วัยนี้ก็คือ “ภาพปู่ย่าตายายเลี้ยงหลาน” จากสถิติด้านครอบครัวไทยล่าสุดปี 2561 พอที่จะแสดงตัวเลขคร่าว ๆ ให้เราเห็นว่าเด็กไทยมีโอกาสอยู่ร่วมกับผู้สูงอายุประมาณ 31.8% โดยในจำนวนนี้ 27.8% อยู่ในครอบครัว 3 รุ่นซึ่งแน่นอนว่าส่วนใหญ่เป็นปู่ย่าตายายที่รับหน้าที่ในการช่วยเลี้ยงดูหลาน จะมากจะน้อยก็แล้วแต่บริบทแต่ละครอบครัว อีกกลุ่มหนึ่งประมาณ 4% เด็กจะอยู่กับปู่ย่าตายายตามลำพังในครอบครัวข้ามรุ่น หรือครอบครัวแหว่งกลาง ซึ่งเด็กกลุ่มนี้จะเติบโตมาเป็นอย่างไรนั้น นับว่าปู่ย่าตายายเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญมากในยุคนี้

ที่ผ่านมา ด้วยความตระหนักถึงสถานการณ์สังคมสูงวัย ทำให้มีการพัฒนาและส่งเสริมผู้สูงอายุไทยในหลายๆเรื่อง ซึ่งผลจาการพัฒนาเหล่านั้น ทำให้จำนวนผู้สูงอายุในอนาคตที่จะเพิ่มมากขึ้นนั้น ไม่ใช่การเพิ่มแต่เพียงปริมาณ แต่เป็นการเพิ่มอย่างมีคุณภาพ ผู้สูงอายุในอนาคตจะเป็นผู้สูงอายุที่เป็นวัยให้พึ่งพา ไม่ใช่วัยพึ่งพิงอีกต่อไป ถือเป็นโอกาสดีที่จะใช้ศักยภาพของผู้สูงอายุมาสนับสนุนให้เด็กไทยเติบโตอย่างมีคุณภาพ คำถามคือแล้วการเลี้ยงดูของปู่ย่าตายายที่เลี้ยงหลานจะส่งผลต่อโรคขาดธรรมชาติของเด็กอย่างไรได้บ้าง อยากให้มองใน 2 ด้าน

ด้านแรกเป็นมุมมองของคนทั่วไปหรือมุมมองแรกที่ผู้คนมักมีคำตอบอยู่แล้วในใจ คือ การเลี้ยงดูของปู่ย่าตายายก็คงไม่ต่างจากพ่อแม่วัยทำงานที่อาจทำให้เด็กเป็นโรคขาดธรรมชาติ โดยการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเลี้ยงหลาน ซึ่งนอกจากประเด็นเรื่องการตามใจหลานแล้ว ตรงนี้เราต้องเข้าใจในสภาพร่างกายที่เสื่อมถอยของคนสูงวัย ทำให้คิดอะไรช้า ทำอะไรช้าลง หรือมีปัญหาสุขภาพ เป็นผลให้ตามหลานวัยเด็กที่มีความ active มีความกระตือรือร้นสูงไม่ทัน ตัวช่วยอย่าง ทีวี โทรศัพท์มือถือ เกมคอมพิวเตอร์ หรือสื่อดิจิตัลต่าง ๆ ก็จะทำให้ท่านได้มีช่วงเวลาที่จะได้พักบ้าง ก็จะทำให้เด็กเป็นโรคขาดธรรมชาติได้ อีกประเด็นหนึ่งจะเป็นเรื่องของ พื้นที่อยู่อาศัยในเมือง เมื่อบ้านอยู่ในเมือง พื้นที่สีเขียวพื้นที่ธรรมชาติก็จะน้อย ซึ่งผู้สุงอายุบางท่านอาจมีความยากลำบากในการพาหลานออกไปเล่น ไปเรียนรู้ ในพื้นที่ธรรมชาตินอกบ้าน ประกอบกับพื้นที่ธรรมชาติในเมืองก็ไม่ใช่จะหาได้ง่าย ๆ ในบ้านเรา การเล่นจึงมักเป็นการเล่นสนุกภายในบ้านในตึก ในคอนโด เด็กเหล่านี้ก็จึงมีโอกาสสัมผัสธรรมชาติได้น้อย

เปรียบเทียบการปฏิรูปการเมืองการปกครองญี่ปุ่น-ไทย (ตอนที่สิบหก): “สามขี้เมาคุยการเมือง”

UNGC Leaders Summit 2021 (ตอนที่ 4) ประเด็นร้อนด้านความยั่งยืนในเวทีโลก

แต่อีกด้านที่ตรงกันข้าม คือการที่เด็กถูกเลี้ยงดูโดยปู่ย่าตายาย กลับทำให้เด็กมีโอกาสสัมผัสธรรมชาติมากขึ้น ได้อยู่ ได้เล่น และเรียนรู้ท่ามกลางธรรมชาติหรือจากธรรมชาติมากกว่าอยู่กับพ่อแม่ ที่เป็นเช่นนี้เพราะธรรมชาติของคนสูงวัย จะเข้าหาธรรมชาติมากกว่าคนวัยทำงานอย่างพ่อแม่ ผู้สูงวัยจะชอบทำสวน ปลูกต้นไม้ ท่องเที่ยววัดที่สวย ๆ สงบ ๆ มีบรรยากาศร่มรื่น ท่องเที่ยวทะเลป่าเขาลำเนาไพร มีงานวิจัยพบว่าผู้สูงอายุไทยเป็นวัยที่ชอบเที่ยวและมักชอบเที่ยวชมธรรมชาติ ชมโบราณสถาน ชมวิถีชีวิต ชมวัฒนธรรมพื้นบ้าน และถ้ามีหลานที่ตนต้องดูแล ก็มักจะชวนหลานทำในสิ่งที่ตัวเองชอบด้วย เช่น ชวนหลานทำสวนปลูกต้นไม้ด้วยกัน พาหลานไปเที่ยวด้วยกัน ซึ่งงานวิจัยบอกว่าผู้สูงอายุไทยส่วนใหญ่อยากไปเที่ยวกับบุตรหลานเป็นอันดับแรก ๆ ซึ่งหลานก็จะได้สัมผัสชีวิตธรรมชาติไปพร้อม ๆ กับปู่ย่าตายาย ไม่ขาดธรรมชาติ

อีกประเด็นหนึ่ง เป็นเรื่องเกี่ยวกับลักษณะครอบครัวที่เด็กอาศัยอยู่ ปัจจุบันเราทราบกันดีว่าเด็กจำนวนหนึ่งไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อแม่ เพราะพ่อและแม่ต้องย้ายถิ่นเข้าสู่เมืองเพื่อทำงาน จึงไม่มีคนที่จะดูแลเด็ก หรือค่าครองชีพในเมืองที่สูงทำให้พ่อแม่มีความยากลำบากในการเลี้ยงดูลูก ทางออกสำหรับพ่อแม่กลุ่มนี้คือการส่งลูกให้ไปอยู่กับปู่ย่าตายาย จึงเกิดเป็นครอบครัวข้ามรุ่น / ครอบครัวแหว่งกลาง ซึ่งครอบครัวลักษณะนี้มีแนวโน้มเพิ่มจำนวนมากขึ้นมาโดยตลอด และน่าจะเพิ่มขึ้นต่อไปอีก โดยเฉพาะครอบครัวข้ามรุ่น / ครอบครัวแหว่งกลาง ในชนบทมีถึง 75% ถ้ามองเฉพาะในประเด็นการขาดธรรมชาติ เด็กกลุ่มนี้มีโอกาสขาดธรรมชาติได้น้อย เพราะเด็กกลุ่มนี้ได้อยู่อาศัยกับปู่ย่าตายายท่ามกลางธรรมชาติเพราะบ้านในชนบท มักจะแวดล้อมด้วยต้นไม้ใบหญ้า เรือกสวนไร่นา เด็ก ๆ มักจะได้รับอิสระให้วิ่งเล่นในท้องไร่ท้องนา ได้ปีนต้นไม้ ไต่หิน สำรวจป่าเขาลำเนาไพร แน่นอนว่าไม่น่าจะขาดธรรมชาติ เหตุผลเหล่านี้คือข้อดีที่สนับสนุนให้ปู่ย่าตายายเป็นกลไกสำคัญอีกกลไกหนึ่งในการช่วยป้องกันโรคขาดธรรมชาติในเด็ก

แต่การปล่อยให้ปู่ย่าตายายเลี้ยงดูหลานตามธรรมชาติและความถนัดของปู่ย่าตายายแต่เพียงอย่างเดียว ก็คงไม่เพียงพอที่จะพัฒนาเด็กอย่างครอบคลุมทุกด้าน งานวิจัยชี้ว่าการเลี้ยงดูโดยปู่ย่าตายายนั้น จะดีเรื่องการดูแลชีวิตความเป็นอยู่ การซึมซับหลักธรรมคำสอน ศิลปะ วัฒนธรรม วิถีไทย และธรรมชาติ แต่อาจจะได้น้อยในเรื่องการพัฒนาด้านสติปัญญา ซึ่งเรื่องนี้พ่อแม่ทำได้ดีกว่า แต่สำหรับเด็กซึ่งไม่มีพ่อแม่หรือพ่อแม่มีเวลาทำเรื่องนี้น้อย ปู่ย่าตายายซึ่งเป็นกลไกหล่อหลอมเด็กที่สำคัญลำดับที่ 2 จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งในการส่งเสริมพัฒนาการและความสามารถด้านต่างๆ ของเด็กด้วย เพื่อให้เด็กเติบโตอย่างมีความสุขและสมบูรณ์ทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และสติปัญญา

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ไม่ได้ต้องการสนับสนุนให้พ่อแม่ไม่เลี้ยงลูกเอง แล้วส่งลูกไปให้ปู่ย่าตายายเลี้ยง อย่างไรก็ตาม การอยู่กับพ่อแม่ยังเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับเด็ก แต่เมื่อพ่อแม่บางคนมีความยากลำบากหรือมีความจำเป็น การสนับสนุนให้ปู่ย่าตายายเป็นทางออกอันทรงประสิทธิภาพ จึงเป็นสิ่งที่ควรทำ สำหรับครอบครัว สมาชิกในครอบครัวต้องช่วยเหลือและสนับสนุนการทำหน้าที่เลี้ยงดูหลานของปู่ย่าตายาย มากบ้าง น้อยบ้าง ตามบริบทของครอบครัว และสำหรับภาครัฐ การสนับสนุนความเข้มแข็งของพ่อแม่ในการเลี้ยงดูลูกยังคงเป็นสิ่งที่ควรดำเนินการกันต่อไป แต่การส่งเสริมความเข้มแข็งของปู่ย่าตายายในการเลี้ยงดูหลานก็ควรทำควบคู่กันไปและควรเข้มข้นมากกว่าเดิม เพราะยังมีเด็กอีกกลุ่มหนึ่งที่เราต้องยอมรับว่าพ่อแม่มิใช่บุคคลที่สำคัญสำหรับเขา

แต่ปู่ย่าตายายต่างหากที่เป็นบุคคลสำคัญ และมีอิทธิพลในการหล่อหลอมความเป็นมนุษย์ ที่จะเป็นทรัพยากรสำคัญของประเทศชาติต่อไป ซึ่งนอกจะจะต้องพัฒนาเด็กแล้ว อาจต้องช่วยกันผลักดันให้เกิดโครงการที่จะพัฒนาคนสูงวัยให้หลุดจากภาพปู่ย่าตายายที่เลี้ยงหลานธรรมดา ๆ ดูแลแต่เรื่องการกินอยู่หลับนอนของเด็กเท่านั้น แต่ต้องเป็น “ปู่ย่าตายาย วัยเก๋า ที่ไม่เก่าเกม” คือเป็นปู่ย่าตายายที่ “รู้ดูแล” คือมีความรู้ในเรื่องการดูแลเด็กอย่างถูกต้องและสอดคล้องตามหลักพัฒนาการ และ “รู้พัฒนา” คือมีความสามารถที่จะเล่นกับเด็ก พร้อมส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาทักษะต่าง ๆ ของเด็กได้ดี และที่สำคัญสามารถผสมผสานความรู้เก่าจากประสบการณ์กับความรู้ใหม่ได้เป็นอย่างดี จนสามารถสนับสนุนการเลี้ยงดูเด็กของพ่อแม่หรือสามารถทดแทนพ่อแม่ได้อย่างสมบูรณ์ เพราะในอนาคตข้างหน้า กลุ่มผู้สูงวัยเหล่านี้จะเป็นขุมกำลังสำคัญ ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็ก ให้เด็ก ๆ ได้พึ่งพาต่อไป

28 June 2564

ที่มา โพสต์ทูเดย์

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 1770

 

Preset Colors