02 149 5555 ถึง 60

 

โรคอ้วน ฆาตกรเงียบใกล้ตัว ปัจจัยเสี่ยงโควิด-19

โรคอ้วน ฆาตกรเงียบใกล้ตัว ปัจจัยเสี่ยงโควิด-19

จากการรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในการแพร่ระบาดระลอกใหม่ ทางกระทรวงสาธารณาสุข เผยว่า “โรคอ้วน” เป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงของการเสียชีวิตในผู้ป่วยโควิดอย่างมีนัยสำคัญ และมีการศึกษาใน 160 ประเทศทั่วโลก พบว่าประเทศที่มีสัดส่วนประชากรที่มีน้ำหนักเกินมากกว่า 50% ของประชากรทั้งหมด จะมีอัตราผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 มากกว่าประเทศที่มีประชากรที่มีน้ำหนักเกินน้อยกว่า 50% ถึง 10 เท่า นอกจากนี้ ข้อมูลจากประเทศสหรัฐอเมริกาตั้งแต่เริ่มมีการระบาดจนถึงปลายปีที่แล้ว พบจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ที่ได้รับ การรักษาในโรงพยาบาล 900,000 คน มีผู้ป่วยที่เป็นโรคอ้วนสูงถึง 271,800 คน หรือคิดเป็น 30.2%

ในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีสถิติตัวเลขชี้ว่าประเทศไทยมีประชากรที่เป็นโรคอ้วนมากเป็นอันดับสอง รองจากประเทศมาเลเซีย โดยในปี พ.ศ.2553 ประเทศไทยมีจำนวนประชากรที่เป็นโรคอ้วน 27.9% และปี พ.ศ.2559 มีจำนวนสูงถึง 34.7% ซึ่งมีเพศหญิงที่เป็นโรคอ้วนคิดเป็น 38.3% เพศชาย 30.9% แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือเด็กและวัยรุ่นไทย เป็นโรคอ้วนมากขึ้นทุกปี

ปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดโรคอ้วนมีหลายสาเหตุ เช่น พันธุกรรม อายุ ฮอร์โมน โรคประจำตัวและยาที่รับประทาน พฤติกรรม การใช้ชีวิตประจำวัน วิถีชีวิต พฤติกรรมการรับประทานอาหาร การทำกิจกรรมทางกายต่างๆ ความเครียด การนอนหลับ คนรอบข้าง สังคม สิ่งแวดล้อม ความรู้ ประสบการณ์ และสื่อต่างๆ เป็นต้น

โดยปกติคนที่มีภาวะโรคอ้วนจะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) การมีปริมาณไขมันในร่างกายมากเกินไป ทำให้มีการอักเสบในร่างกายสูง ร่างกายเกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน น้ำตาลในเลือดสูง ภาวะดังกล่าวมีผลทำให้การทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายต่ำลง กระบวนการต่อสู้เชื้อโรคต่างๆ โดยเฉพาะเชื้อไวรัสโควิด-19 จะทำได้ไม่ดี เป็นผลทำให้ติดเชื้อได้ง่าย และรุนแรงกว่า นอกจากนี้ คนที่มีภาวะโรคอ้วน มักมีหน้าท้องใหญ่ เกิดการดันเบียดพื้นที่ปอด ผนังหน้าอกมักจะหนา จึงทำให้การทำงานของปอดขยายได้ไม่เต็มที่ หายใจได้สั้นลง อากาศไหลเวียนเข้าไปแลกเปลี่ยนออกซิเจนไม่เพียงพอ เกิดการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น และเมื่อมีการติดเชื้อโควิด-19 เข้าไป ยิ่งทำให้มีปัญหาในการแลกเปลี่ยนออกซิเจนยากขึ้น และส่งผลให้ตัวโรครุนแรงเร็วขึ้น การตอบสนองของร่างกายต่อการฉีดวัคซีนจะน้อยกว่า เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้ไม่ดีเท่าคนน้ำหนักตัวปกติ

สำหรับการมีภาวะโรคอ้วนพิจารณาได้จาก 1.ดัชนีมวลกาย หรือ Body Mass Index (BMI) เป็นเครื่องมือคัดกรองเพื่อระบุผู้ที่มีน้ำหนักเกิน หรือภาวะอ้วนและผู้ที่มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ 2.การวัดเส้นรอบเอว เพื่อสังเกตว่ามีภาวะอ้วนลงพุงหรือไม่ 3.วัดจากปริมาณไขมันในร่างกาย โดยเครื่องวัดที่เชื่อถือได้

สิ่งสำคัญที่ทุกคนควรปฏิบัติเพื่อหลีกเลี่ยงการเป็นโรคอ้วนและลดความเสี่ยงโรคโควิด-19 รวมถึงโรคอื่นๆ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ เช่น โปรตีนจากเนื้อปลา เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ถั่ว ไข่ หลีกเลี่ยงอาหารมัน ทอด และอาหารที่มีไขมันทรานส์ เลือกทานคาร์โบไฮเดรตที่มีดัชนีน้ำตาลต่ำ เช่น ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ธัญพืช รวมทั้งลดการทานอาหารที่มีดัชนีน้ำตาลสูง เช่น แป้งหรือขนมปังขาว ผลไม้หวาน และเพิ่มการทานอาหารที่มีวิตามินและเกลือแร่ที่สูง เลือกทานอาหารที่เพิ่มภูมิคุ้มกัน ต้านอนุมูลอิสระ และลดการอักเสบ ได้แก่ ส้ม กีวี่ มะละกอ แครอต แอปเปิล พริกแดง พริกหยวก ผักใบเขียว บร็อกโคลี กระเทียม ขิง ขมิ้น กระชายขาว ถั่วต่างๆ เป็นต้น

ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เช่น เด็กควรมีกิจกรรมทางกายอย่างน้อย 1 ชม./วัน ส่วนในผู้ใหญ่ควรมีกิจกรรมทางกายที่เหนื่อยระดับหนึ่งอย่างน้อยครั้งละ 30 นาที รวมแล้วควรมากกว่า 150 นาที/สัปดาห์

ลดความเครียด โดยหากิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลาย เช่น นั่งสมาธิ ฟังเพลง ปลูกต้นไม้ หรือฝึก deep breathing exercise ที่ช่วยผ่อนคลาย รวมทั้งยังช่วยให้ปอดแลกเปลี่ยนก๊าซได้ดีอีกด้วย

นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อย 8 ชั่วโมงต่อวัน และเข้านอนก่อน 22.00 น. เพราะเป็นสิ่งสำคัญมากในการเพิ่มภูมิคุ้มกัน และควบคุมน้ำหนัก เนื่องจากมีการศึกษาพบว่า ถ้าเรานอนดึก วันต่อไปเราจะหิวและทานอาหารมากขึ้นอย่างชัดเจน

หากทุกคนสามารถทำได้ตามนี้ จะทำให้โอกาสการติดเชื้อโควิด-19 น้อยลง หรือถ้าติดเชื้อก็จะมีอาการไม่รุนแรง หรือลดการเสียชีวิตได้

7 July 2564

ที่มา มติชนรายวัน

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 4278

 

Preset Colors