02 149 5555 ถึง 60

 

เสริมชุดตรวจโควิดเชิงรุก หา ผู้ติดเชื้อใหม่ เร็วขึ้น!

เสริมชุดตรวจโควิดเชิงรุก หา ผู้ติดเชื้อใหม่ เร็วขึ้น!

ท่ามกลางวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย ตอนนี้เริ่มถูกเรียกเป็น ระลอก 4 บ้างแล้ว เพราะจากมูลเหตุติดเชื้อใหม่รายวัน เกินกว่า 5 พันคนติดต่อกันมาตั้งแต่ต้นเดือนก.ค. จนใกล้หลักหมื่น

ท่ามกลางวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย ตอนนี้เริ่มถูกเรียกเป็น ระลอก 4 บ้างแล้ว เพราะจากมูลเหตุติดเชื้อใหม่รายวัน เกินกว่า 5 พันคนติดต่อกันมาตั้งแต่ต้นเดือนก.ค. จนใกล้หลักหมื่น อีกทั้งเชื้อที่ตรวจพบจากเชื้อกลายพันธุ์ อัลฟา(อังกฤษ B117 ) ขยับเป็น สายพันธุ์ เดลตา(อินเดีย B.1.617.2 ) ขยายวงไปเกือบทั่วประเทศ

วิกฤติความรุนแรงค่อนข้างหนักหนาสาหัสยิ่งกว่าทุกครั้ง ภาพข่าวที่เผยแพร่กันทุกสื่อ ประชาชนแห่กันเข้าไปเฝ้ารอเพื่อตรวจเชื้อโควิดฯ แต่ละจุดในพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร ถ้าไม่มานอนเฝ้ารอค้างคืนท่ามกลางสายฝนก็หมดสิทธิจะได้ตรวจ แต่ละจุดตรวจแม้บริการฟรี แต่ก็ได้เพียงวันละไม่กี่ร้อยคิว แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับหลายๆประเทศในฝั่งยุโรป และอเมริกาที่มีบริการ

จุดตรวจเชื้อฟรี แทบจะทุกพื้นที่ในรูปแบบง่ายดาย สะดวกรวดเร็ว จนแทบจะตรวจกันรายวัน เพื่อต้องการคัดกรองหาผู้ติดเชื้อให้ได้ตลอดเวลานั่นเอง

โควิดฯสแกนตรวจจาก “น้ำลาย”

สถานการณ์ล่าสุด ก่อนศบค.ตัดสินใจประกาศยกระดับมาตรการ “ล็อกดาวน์”พื้นที่เสี่ยง ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ขยับใกล้แตะหลักหมื่น โดยวันที่ 11 ก.ค. ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 9,538 ราย เสียชีวิต 86 ราย (ยอดติดเชื้อสะสม 336,371 ราย ยอดผู้เสียชีวิต 2,711 ราย ) ทางกระทรวงสาธารณสุขจึงเสนอ ศบค. เริ่มนำ ชุดตรวจโควิดแบบเร่งด่วน เข้าใช้งานตามสถานพยาบาลต่าง ๆ ทีมข่าว1/4 Special Report มีโอกาสเกาะติดการนำเสนอวิกฤติโควิดฯ มาหลากหลายแง่มุม ไม่เว้นแม้กระทั่งการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ของทีมวิจัยประเทศไทย เพื่อต่อสู้กับเจ้าเชื้อมหาภัย ทั้งความคืบหน้า วัคซีนไทย ไม่ว่าจะเป็นของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหิดล หรือล่าสุดชุดตรวจช่วยคัดกรองผู้ป่วยได้ผลเร็วขึ้นของจุฬาฯ

รศ.ดร.สัญชัย พยุงภร ภาควิชาชีวเคมี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ถึงรายละเอียดของชุดตรวจ COVID-19 SCAN ว่า เป็น ชุดน้ำยา สำหรับตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อ SARS-CoV-2 เชื้อ

ก่อโรคโควิด-19 แบบคัดกรอง โดยใช้ เทคโนโลยี CRISPR (กระบวนการหรือเทคนิคการแก้ไขดัดแปลงพันธุกรรมหรือยีน) ชุดตรวจมีความไวและประสิทธิภาพสูง ใกล้เคียงกับวิธีมาตรฐานในการตรวจวินิจฉัยการติดเชื้อก่อโรค และถือเป็นชุดตรวจด้วยหลักการ CRISPR ชุดแรกของประเทศไทย ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานและการประเมินของ (อย.)

ชุดตรวจ COVID-19 SCAN เป็นเครื่องมือแพทย์ สำหรับการตรวจแบบคัดกรองรายบุคคล ราคาไม่แพง ใช้เวลาตรวจน้อยกว่า 2 ชั่วโมง และมีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับวิธี real-time PCR ในขณะที่ชุดตรวจ COVID-19 SCAN ไม่จำเป็นต้องอาศัยเครื่องมือราคาแพง จึงเหมาะสำหรับการเพิ่มกำลังการตรวจคัดกรองในผู้มีความเสี่ยงติดเชื้อหรือ การตรวจเชิงรุก ได้ดียิ่งขึ้น เหมาะสำหรับการตรวจในสถานที่ห่างไกล โดยชุดตรวจนี้สามารถใช้กับตัวอย่างสารพันธุกรรมจาก ’น้ำลาย“ มีข้อดีคือสะดวก และเจ็บปวดน้อยกว่าการแยงจมูก ทำให้สามารถตรวจได้บ่อยครั้งมากขึ้น โดยขั้นตอนการตรวจจะนำสารพันธุกรรมที่ได้จากการสกัดแล้วจากตัวอย่างสิ่งส่งตรวจ มาเพิ่มจำนวนสารพันธุกรรมภายใต้อุณหภูมิเดียว จึงทำให้สามารถตรวจพบเชื้อที่มีปริมาณน้อยได้ใกล้เคียงกับวิธี PCR จากนั้นจึงตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อ หากตรวจออกมาเป็น ผลบวก จะถือว่าเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงสูง จำเป็นต้องยืนยันผลด้วยการตรวจแบบ PCR อีกครั้ง

ตรวจง่ายรู้ผลเร็ว–ราคาไม่แพง

รศ.ดร.สัญชัย กล่าวต่อว่า ถึงแม้การใช้งานชุดตรวจ COVID-19 SCAN ผู้ปฏิบัติงานจำเป็นต้องมีความชำนาญในการใช้งานเครื่องมือวิทยาศาสตร์ในห้องปฏิบัติการ แต่เป็นเครื่องมือพื้นฐานที่มีราคาไม่แพงจึงทำให้การจัดตั้งห้องปฏิบัติการตรวจสามารถทำได้แพร่หลาย และประชาชนสามารถเข้าถึงการตรวจมากขึ้น อย่างไรก็ดีเพื่อความถูกต้องและความน่าเชื่อถือในการแปลผล บุคคลทั่วไปไม่สามารถนำชุดน้ำยาไปตรวจด้วยตนเอง จำเป็นต้องมีห้องปฏิบัติการภายใต้ความควบคุมดูแลของบุคลากรทางการแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญ

ที่ผ่านมามีการนำชุดตรวจนี้ ไปใช้งานที่หน่วยโรคไต ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เพื่อตรวจคัดกรองโรคโควิด-19 ในบุคลากรทางการแพทย์ และผู้ป่วยโรคไตก่อนที่จะเข้ารับการฟอกไต รวมถึงกลุ่มงานทันตกรรม โรงพยาบาลสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ได้นำชุดตรวจ COVID-19 SCAN ไปใช้ประจำหน่วยทันตกรรม เพื่อตรวจคัดกรองโรคในบุคลากรทางการแพทย์ และผู้ป่วยก่อนที่จะเข้ารับการรักษาด้านทันตกรรม

การพัฒนาชุดตรวจ COVID-19 SCAN เกิดจากความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน ประกอบด้วย ศูนย์ชีววิทยาเชิงระบบ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, ภาคเอกชนบริษัท Sertis จํากัด, สำนักวิชาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมชีวโมเลกุล สถาบันวิทยสิริเมธี, ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ นอกจากนี้ได้มีประชาชนร่วมบริจาคช่วยกองทุนวิจัยสู้โควิด-19 เพื่อชุดตรวจและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ผ่านทางโครงการเทใจดอทคอม

นับเป็นอีกทางเลือกที่อาจเข้ามาช่วยเสริมในการแก้ปัญหาจุดตรวจคัดกรองให้ได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นทันต่อสถานการณ์วิกฤติ เพราะ ณ เวลานี้ นอกจากการตรวจเพื่อแยกผู้ติดเชื้อให้ได้เร็วมากยิ่งขึ้นแล้ว ยังต้องไปเจอด่านใหญ่ หาสถานที่รักษาตัวรองรับผู้ป่วยรายใหม่ในประเทศไทยที่กำลังจะขยับใกล้เป็นวันละหมื่นคนแล้ว

หนุนฝึกใช้สุนัขดมกลิ่น

เรียกว่าในยามภาวะวิกฤติเช่นนี้มีอะไรที่เป็นตัวช่วยเสริมได้ก็ต้องงัดออกมาใช้ให้หมด อย่างน้อยก็ให้ทันต่อสถานการณ์โดยอีกตัวช่วยที่น่าสนใจในการตรวจคัดกรองเชิงรุก ที่ผ่านการทดลองและทดสอบมาแล้วกว่า 7 เดือน การวิจัยโดยใช้ สุนัขดมไว เพื่อติดตามคัดกรองผู้ที่ป่วยโควิด–19 โดยทาง ศ.สพญ.ดร.เกวลี ฉัตรดรงค์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ว่า จากการวิจัยโดยใช้สุนัขดมไว มีข้อดีคือ ให้ผลฉับไว ผู้ป่วยเก็บสารคัดหลั่งเองได้ และใช้ได้ทีละมาก ๆ โดยผู้ที่ทำการตรวจไม่ต้องเจ็บตัว ผ่านการทดสอบมาแล้วกว่า 500 ราย เพื่อหากลุ่มเสี่ยง การฝึกสุนัขและวิจัยมาตั้งแต่เดือน ก.ย.2563 พบว่า มีความแม่นยำกว่า 96%

ทีมวิจัยยังได้ออกแบบพิเศษ “รถดมไว” เป็นรถเคลื่อนที่สามารถเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงได้ เพื่อการปฏิบัติงานที่ปลอดภัยและลงตัว มีเครื่องปรับอากาศให้ความเย็นแก่สุนัข นอกจากนี้ยังได้คำนึงถึงความปลอดภัยของทั้งเจ้าหน้าที่และสุนัขผู้ปฏิบัติงานบนรถ โดยได้สร้างระบบความดันลบในห้องเตรียมตัวอย่าง ระบบฆ่าเชื้อด้วยรังสี UV ในช่องรับส่งตัวอย่าง ห้องเตรียมตัวอย่างและห้องปฏิบัติงาน พร้อมทั้งระบบความปลอดภัยอื่น ๆ ภายในรถจะใช้สุนัขตรวจครั้งละ 2-3 ตัว และมีการผลัดเวรกัน ซึ่ง 1 วัน ตรวจคัดกรองได้ 100 -1,000 คน ปัจจุบันเตรียมขยายไปฝึกยัง สุนัขตำรวจ และ สุนัขทหาร ที่จะปฏิบัติหน้าที่ช่วยคัดกรองผู้ป่วยในพื้นที่สำคัญต่าง ๆ

อ.ดร.ชฎิล กุลสิงห์ อาจารย์ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในทีมวิจัยการตรวจเชื้อโควิด-19 ด้วยสุนัขดมกลิ่น กล่าวเสริมว่า สารเคมีระเหยง่าย ที่เก็บมาจากผิวหนังมนุษย์อาจมาจากแหล่งกำเนิดหลายแหล่ง ได้แก่ ต่อมใต้ผิวหนัง ที่จะมีต่อมสำคัญที่ผลิตสารระเหยง่าย เป็นกลิ่นตัวเฉพาะของมนุษย์ ส่วนต่อมอีกสองชนิดจะผลิตสารเคมีที่ไม่ระเหยง่ายเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งไม่มีผลต่อกลิ่นตัวโดยตรง สารพวกนี้จะถูกนำไปใช้ต่อโดยแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ใต้ผิวหนังมนุษย์ แล้วเปลี่ยนเป็นสารระเหยง่าย ให้กลิ่นไปปนอยู่กับกลิ่นตัวมนุษย์

ดังนั้นกลิ่นโดยรวมของตัวอย่างเหงื่อที่ดูดซับโดยแท่งสำลี แล้วเก็บมาให้สุนัขดม จะมีคุณสมบัติแตกต่างกันขึ้นกับชนิดและปริมาณของต่อมในแต่ละอวัยวะ การที่ผู้ป่วยโควิด-19 มีกระบวนการเผาผลาญในร่างกายที่แตกต่างออกไปจากก่อนที่จะได้รับเชื้อ ทำให้มีสารเคมีจากต่อมทั้งสามชนิดเปลี่ยนแปลงไปทั้งชนิดและปริมาณ จึงถูกตรวจจับโดยสุนัขที่ผ่านการฝึกดมกลิ่นมาแล้วโดยเฉพาะได้....

13 July 2564

ที่มา เดลินิวส์

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 1322

 

Preset Colors