02 149 5555 ถึง 60

 

แนะแนวทางดูแลจิตใจผู้สูญเสีย 3กลุ่มวัย

แนะแนวทางดูแลจิตใจผู้สูญเสีย 3กลุ่มวัย

กรมสุขภาพจิตเผยกลุ่มผู้สูญเสียปรึกษาสุขภาพจิตเพิ่มขึ้น แนะแนวดูแลจิตใจผู้สูญเสีย กลุ่มเด็กเล็ก-เด็กโต-ผู้ใหญ่

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 2 ส.ค. 2564 ในแถลงข่าว ประเด็น การดูแลสุขภาพจิต พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากการออกมาตรการล็อคดาวน์เพื่อควบคุมการระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งอีก 2 สัปดาห์ต้องร่วมมือกันอีกครั้งเพื่อผ่านสถานการณ์การระบาดเหมือนที่ร่วมกันผ่านมาในหลายระลอกของการระบาด ทั้งนี้สุขภาพจิตคนไทย มีความตึงเครียดขึ้นลงเป็นไปตามสถานการณ์การระบาด สาเหตุสำคัญคือการเรียนรู้การอยู่กับโรคโควิด แต่ขณะเดียวกันก็มีความกลัว โดยเฉพาะการระบาดระลอกนี้มีการระบาดวงกว้างมากขึ้น ความตึงเครียดสาเหตุอันดับแรกมาจากความกังวลว่าจะติดเชื้อ เพราะตระหนักได้ว่าโอกาสติดใกล้ตัวมากขึ้น 2. เป็นเรื่องการปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงในวิถีชีวิตใหม่ ซึ่งคุ้นเคยวิถีชีวิตนี้มาปีกว่าๆ ดังนั้นอีก 2 สัปดาห์ก็น่าจะเป็นอีกช่วงเวลาที่จะปรับตัวกับวิถีชีวิตใหม่อีกเพื่อให้เกิดความปลอดภัย สำหรับตัวเองและคนที่รัก

จากข้อมูลสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ภาพรวมช่วงที่ผ่านมาสายให้ข้อมูลค่อนข้างมาก ทำให้คนที่ต้องการรับคำปรึกษามีโอกาสน้อยลง ดังนั้นได้มีการขยับการให้ข้อมูลผ่านสายอื่นๆ และเปิดช่องทางให้ประชาชนได้เข้าถึงระบบการให้คำปรึกษาด่านสุขภาพจิตหลายช่องทาง อาทิ เฟสบุ๊ค “1323 สายด่วนสุขภาพจิตกับCOVID-19” แอพลิเคชั่นไลน์ @1323FORTHAI และ @mcattcovid เพื่อให้คำปรึกษากับผู้ดูแลผู้ป่วยที่ต้องถูกแยกกักด้วย ซึ่งทำให้หลายคนมีความกังวล เศร้า เครียด หรือแม้แต่คนที่บ้านก็รู้สึกเครียดเศร้าตาม

“ขณะนี้พบกลุ่มญาติผู้เสียชีวิตเริ่มเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงผู้ดูแลในสถานที่ดูแลต่างๆ ทำให้เกิดปัญหาเครียด ไม่สบายใจ กังวลกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น 64.7% มีอาการนอนไม่หลับ 23.5% หูแว่ว หวาดระแวง 5.9% อื่นๆ 5.9%”พญ.พรรณพิมลกล่าว

กลุ่มของญาติผู้สูญเสียนั้นมีอยู่ 2 กลุ่มที่ต้องให้การดูแลอย่างใกล้ชิด คือ 1. เด็กที่สูญเสียผู้ปกครอง และ 2. ผู้ใหญ่ที่สูญเสียคนในครอบครัว ทั้งนี้กรณีของเด็กจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ กรณีเด็กเล็ก เด็กอนุบาล ซึ่งยังแยกไม่ได้ระหว่างการมีชีวิตอยู่กับการเสียชีวิต บางครั้งจึงมีการพูดหรือปฏิบัติต่อคนที่จากไปแล้วเสมือนคนๆ นั้นยังไม่เสียชีวิต เช่น เรียกชื่อ คุยด้วย ชวนกินอาหาร อาจจะทำให้ญาติผู้ดูแลเกิดความสะเทือนใจ แต่ภาวะอารมณ์ของผู้ใหญ่จะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้เด็กผ่านช่วงเวลาเหล่านี้ไปได้ โดยขอให้ใช้คำอธิบายแบบง่ายๆ ให้เข้าใจว่าคนที่เสียชีวิตไปแล้วไม่สามารถทำอะไรบางอย่างที่เคยทำได้ แต่เราสามารถเก็บสิ่งของบางอย่างแทนความรู้สึกได้ เช่น การนอนกอดหมอน ซึ่งผู้ใหญ่สามารถทำร่วมกับเด็กได้

หากเป็นเด็กโต หรือวัยรุ่นจะเข้าใจแล้วว่าการเสียชีวิตหมายความว่าอย่างไร แต่ผู้ใหญ่ต้องให้โอกาสในการพูดคุย เพราะเด็กก็กังวลใจต่อการสูญเสียคนที่รัก โดยเฉพาะเด็กที่เริ่มโตจะเริ่มคิดถึงอนาคตตัวเอง และเริ่มคิดถึงผลกระทบจากการที่เขาเสียคนที่จะดูแลเขา หากตรงนี้มีผู้ใหญ่คนที่เขาเชื่อมั่น มีคนที่ยังพูดคุยให้เขาเข้าใจความรู้สึกของความสูญเสีย เขาจะผ่านสถานการณ์เหล่านี้ได้ดีขึ้น

“ฝากทุกคนช่วยดูแลเด็กที่ประสบความสูญเสีย อารมณ์ที่สงบของผู้ใหญ่จะช่วยได้มาก การพูดคุยกับเขา การให้โอกาสเด็กได้ระบายความรู้สึกในรูปแบบของเด็ก ซึ่งมีหลายรูปแบบและหลายกิจกรรม และถ้าอยู่กับเขาในเวลาเหล่านั้นเขาจะผ่านสถานการณ์ความสูญเสียได้ดีขึ้น และถ้าเป็นไปได้ หากอะไรที่น่าหวาดกลัวเกินไป หรือเด็กยังไม่พร้อมที่จะเข้าสู่เหตุการณ์ที่น่าหวาดกลัวสำหรับการสูญเสียก็อย่าผลักดันให้เด็กทำสิ่งนั้น” พญ.พรรณพิมล กล่าว

สำหรับผู้ใหญ่ พบว่าส่วนใหญ่คือสมาชิกในครอบครัวป่วยพร้อมกัน แต่บางคนเสียชีวิต บางคนยังอยู่ระหว่างการรักษา ทำให้เกิดสถานการณ์ที่อยากจะทำอะไรบางอย่างแต่ทำไม่ได้คือ 1. ไม่ได้ร่ำลาคนที่สูญเสีย 2. ความรู้สึกว่าไม่ได้ไปส่งเขาในวันที่จากไป เนื่องจากการจัดการเรื่องศพ อยากให้ทุกคนยึดมั่นว่าคนที่เสียชีวิตไปแล้วเขายังคงเป็นที่รักของเรา และเรายังสามารถทำกิจกรรมเพื่อรำลึกถึงเขา เช่น ถ้ายังป่วยอกจากรพ.ไม่ได้ ก็ส่งความรู้สึก จิตใจเพื่อส่งเขาได้ เขารับรู้ และเมื่อท่านหายดีกลับบ้านแล้ว ยังสามารถทำพิธีต่าง ๆให้ผู้เสียชีวิตได้

“แต่หากยังรู้สึกสูญเสีย เสียใจนานเกิน 3-6 เดือน หรือเห็นคนข้างกายไม่สามารถผ่านความสูญเสียนี้ไปได้โดยปกติ ให้ปรึกษามาที่สายด่วน 1323 ซึ่งจะมีทีมคอยรับฟังและให้คำปรึกษา ถ้าจำเป็นต้องไปดูแลที่ครอบครัว ก็ยินดีเข้าไปร่วมกันผ่านภาวะความสูญเสียนี้ไปให้ได้”พญ.พรรณพิมลกล่าว

3 August 2564

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 1663

 

Preset Colors