02 149 5555 ถึง 60

 

นักจิตวิทยาแนะ ล็อกดาวน์ดูแลใจอย่างไรให้ไม่เครียด

นักจิตวิทยาแนะ ล็อกดาวน์ดูแลใจอย่างไรให้ไม่เครียด

จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมามีผลกระทบต่อประชาชนเป็นวงกว้าง ทั้งในเรื่องเศรษฐกิจ การค้า การดำรงชีวิต ที่สำคัญ คือ ทางด้านจิตใจ

การกลับมาของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย ส่งผลต่ออารมณ์ ทั้งความกลัว ความวิตกกังวล รวมไปถึงสุขภาพจิตของคนในสังคม แต่เมื่อความกลัวเกิดขึ้นแล้ว เราต้องรู้จักความรู้สึกนี้ว่าเกิดขึ้นมากน้อยเพียงไร เมื่อเราตระหนักรู้แล้ว เราจะเตรียมรับมือกับความรู้สึก และสังเกตความรู้สึกที่เปลี่ยนแปลงอะไรได้บ้างในตัวเรา

การรับข่าวสาร จากการระบาดรอบนี้ อาจทำให้ผู้รับสารรู้สึกวิตกกังวล หรือตื่นกลัวมากขึ้น ให้คุณลองสังเกตตัวเองว่ารับข่าวสารมาในปริมาณที่พอดีหรือไม่ หรือมากจนเกินไปจนก่อให้เกิดความวิตกกังวล ความรู้สึกนี้จะสะสมมาโดยที่เราไม่รู้ จนบางครั้งจะโหมขึ้นมาในระยะที่เรารับมือไม่ไหว

นอกจากนี้ต้องให้ร่างกายได้พักผ่อน เพื่อจัดการความคิด ความรู้สึก ให้ลองสังเกตตัวเองว่ามีอะไรที่เราควบคุมได้ และควบคุมไม่ได้ในสถานการณ์แบบนี้ และเราทำอะไรได้ดีในปัจจุบัน

รับมือกับ Work from Home

ปัญหาที่นักจิตวิทยาพบในวัยทำงานเมื่อต้องกลับมา Work from Home ช่วงล็อกดาวน์โควิด คือ สภาวะเครียด เนื่องจากการพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ หรือมีปัจจัยเรื่องการทำงานที่ซ้อนทับกันจนทำให้เกิดความเครียด

คำแนะนำคือ ให้จัดตารางเวลางานให้เหมาะสมในแต่ละวัน เช่น ใน 1 วันมี 24 ชั่วโมง อาจจัดตารางเวลาเป็น 8 / 8 / 8 สำหรับนอนหลับ 8 ชั่วโมง ทำงาน 8 ชั่วโมง และใช้เวลากับกิจกรรมส่วนตัว 8 ชั่วโมง

การใช้ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) เพื่อให้แต่ละวันเป็นปกติและไม่ซ้อนทับกันเมื่อต้องอยู่บ้านตลอดเวลา อาจจะมีวิธีการพักผ่อนจากการทำงานที่แตกต่างกัน เช่น บางคนชอบดูหนัง ฟังเพลง ดูสื่อออนไลน์ เช่น สอนงานศิลปะ สอนทำอาหาร ก็เป็นสิ่งที่ดึงดูดจิตใจให้สดชื่นขึ้นได้

สำหรับคนที่ไม่เคยลองทำสิ่งใหม่ๆ ก็ลองออกกำลังกายง่ายๆ วันละ 30 นาที 3 ครั้งต่อสัปดาห์กิจกรรมเหล่านี้ช่วยลดความเครียดได้

สำรวจตัวเองเพื่อจัดการความเครียด

วิธีจัดการกับความเครียด คือการสำรวจความคิดและอารมณ์ของตัวเองว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เราเครียด และมีวิธีไหนที่เรารับมือกับมันได้บ้าง หรือมีใครที่จะคอยช่วยเหลือแก้ปัญหานี้ได้หรือไม่

เมื่อเกิดวิธีขึ้นมาแล้ว ก็ลองชั่งน้ำหนักผลดีผลเสีย เลือกวิธีที่จะช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ แต่หากทำแล้วไม่ดีขึ้น ก็ต้องทำใจยอมรับและประคับประคองตัวเองให้อยู่ในสภาวะที่ดี แล้วเริ่มต้นแก้ไขใหม่อีกครั้ง.

13 August 2564

ที่มา ไทยรัฐ

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 2096

 

Preset Colors