02 149 5555 ถึง 60

 

“ฆ่าตัวตาย” (Suicide) บาดแผลที่รอการ..เยียวยา

“ฆ่าตัวตาย” (Suicide) บาดแผลที่รอการ..เยียวยา

นอกจากผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ที่มีตัวเลขไล่เรียงจากหลักสิบไปจนถึงหลักร้อยและทะลุ 200 ในบางวันแล้ว ยังมี “ความตาย” อีกเรื่องหนึ่ง ที่ไม่ค่อยได้รับการเปิดเผยมากนัก แต่จำนวนตัวเลขก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆไม่แพ้กัน

ความตายที่ว่าก็คือ การฆ่าตัวตาย...!!

นพ.จุมภฏ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้ข้อมูลว่า รายงานสถานการณ์การฆ่าตัวตายทั่วโลกขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ทุกๆ 40 วินาที จะมีคน 1 คนที่เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย และการฆ่าตัวตายยังเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของวัยรุ่น อายุ 15-29 ปีมากที่สุด รองจากอุบัติเหตุบนท้องถนน แม้ว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา หลายประเทศทั่วโลกจะเพิ่มมาตรการ และนโยบายป้องกันการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นแล้วก็ตาม

คุณหมอจุมภฏ มองว่า การฆ่าตัวตายเป็นปัญหาใหญ่ไม่ต่างจากปัญหาสุขภาพอื่นๆ และต้องการการจัดการที่เป็นระบบ การให้ความรู้ การสื่อสารเชิงบวก และอีกหลายกลยุทธ์ที่ต้องถูกนำมาใช้ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้อย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่ลดจำนวนคนที่ฆ่าตัวตายเท่านั้น แต่ต้องเฝ้าระวังคนที่มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายด้วย และช่วยดูแลอย่างครบมิติ ทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และทางด้านจิตใจ

เรามีประสบการณ์จากวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 พบว่าอัตราการฆ่าตัวตายจะเพิ่มสูงในปี 2541 และปี 2542 คือ 8.12 และ 8.59 ต่อประชากรหนึ่งแสนคน จึงค่อยๆลดลงจากมาตรการการดูแลหลายๆอย่าง แสดงว่าผลกระทบทางจิตใจจากวิกฤติต่างๆจะมีผลต่อเนื่องอีกอย่างน้อย 2 ปี ถ้าเอามาเทียบเคียงกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในขณะนี้ เมื่อสถานการณ์การระบาดดีขึ้นแต่ผลกระทบทางด้านจิตใจจะต่อเนื่องอีก 1-2 ปีเป็นอย่างน้อย

มาถึงวิกฤติโควิด-19

คุณหมอจุมภฏ มองว่า ตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19 ตลอดปี 2563 อัตราการฆ่าตัวตายของคนไทยเพิ่มขึ้นจากปี 2562 คือจาก 6.64 (ประมาณ 4,400 ราย) เป็น 7.35 (ประมาณ 4,800 ราย) ต่อประชากร 1 แสนคน อย่างไรก็ตาม กรมสุขภาพจิตได้ดำเนินโครงการและกิจกรรมต่างๆ ทั้งมิติทางสังคม เศรษฐกิจและทางจิตใจร่วมกับหลายๆกระทรวง เพื่อค้นหาผู้มีความเสี่ยงและให้ความช่วยเหลือตามระบบ เพื่อลดอัตราการฆ่าตัวตายปี 2564 ไม่ให้เกิน 8 (ประมาณ 5,200 ราย) ต่อประชากร 1 แสนคน

และเมื่อลงลึกถึงสาเหตุและปัจจัยของปัญหา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้ข้อมูลว่า จากการวิเคราะห์ปัจจัยที่ทำให้คนตัดสินใจฆ่าตัวตาย ในสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจจะมาเป็นลำดับที่สองรองจากปัจจัยด้านความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ปัจจัยร่วมอื่นๆที่รองลงไปคือ การใช้สุรา ยาเสพติด มีโรคเรื้อรัง ยิ่งการระบาดยืดเยื้อยาวนาน จะทำให้มีจำนวนผู้เปราะบางทางเศรษฐกิจ สังคมและทางจิตใจมากขึ้นเรื่อยๆ คนกลุ่มนี้ล่ะที่ต้องการการดูแลในทุกมิติ เพื่อให้ผ่านพ้นในช่วงเวลานี้ไปให้ได้ และจุดประกายไฟในชีวิตให้พวกเขาอีกครั้ง

คุณหมอจุมภฏ บอกว่า คนที่จะฆ่าตัวตาย ส่วนใหญ่จะส่งสัญญาณถึงคนรอบข้าง ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง อยู่ที่ว่าเราพร้อมจะรับฟังสิ่งที่พวกเขากำลังจะบอกหรือไม่ เราทำให้พวกเขารู้ว่า เสียงแห่งความอ่อนล้า ความเศร้าในหัวใจของพวกเขามีคนได้ยินหรือไม่ และที่สำคัญ เราสามารถถอดรหัส (Decode) สิ่งที่คนเหล่านั้นต้องการสื่อถึงเราหรือไม่

“ผมคิดว่า สัญญาณเตือนที่ทำให้เรารู้ว่าคนคนนั้นเสี่ยงที่จะฆ่าตัวตายมีอยู่แล้ว เช่น ประสบปัญหาชีวิต โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างรุนแรง ตกงาน ล้มละลาย หรือสูญเสียคนที่รักกะทันหัน พูดจาด้วยน้ำเสียงวิตกกังวล หน้าตาหมองเศร้า มีอารมณ์แปรปรวน

จากที่เคยซึมเศร้าหรือหงุดหงิดมานาน ทำเป็นสบายใจอย่างผิดหูผิดตา เพราะอาจเป็นสัญญาณของคนที่ตัดสินใจแล้วว่าจะฆ่าตัวตาย จึงรู้สึกโล่งและสบายใจขึ้น ชอบพูดว่าอยากตายหรือไม่อยากมีชีวิตอยู่ หรือบางครั้งก็คือ เคยพยายามฆ่าตัวตายมาก่อน” คุณหมอจุมภฏอธิบายพร้อมกับให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ที่เคยพบ ส่วนใหญ่คนที่พูดว่าอยากตาย ไม่อยากอยู่ มีจำนวนหนึ่งที่ลงมือปลิดชีพตัวเองจริงๆ แต่ก็มีอีกไม่น้อยที่เมื่อมีคนรับฟัง ให้กำลังใจ ก็ล้มเลิกความคิดดังกล่าวและหันกลับมาเริ่มต้น เดินหน้า ที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป

สำหรับผู้ที่มีอารมณ์ซึมเศร้าจนมีความคิดอยากฆ่าตัวตาย รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้คำแนะนำว่า อารมณ์แบบนี้เกิดขึ้นได้กับทุกคน และอารมณ์คนเราเปลี่ยนแปลงได้เมื่อเวลาผ่านไป เรายังมีหลายๆสิ่งที่ต้องทำเพื่อตัวเราเองและคนที่เรารัก มีความคิดอยากฆ่าตัวตายได้แต่ต้องเตือนตัวเองไม่ให้ลงมือกระทำหรือยืดระยะเวลาการตัดสินใจไปอย่างน้อย 24 ชั่วโมง โดยการหันเหความสนใจไปในเรื่องอื่นที่ทำให้สบายใจ หาคนพูดคุยระบาย ที่สำคัญต้องไม่ใช้สุราหรือสารเสพติดใดๆเพราะยิ่งจะทำให้สภาพจิตใจแย่ลงไปกว่าเดิมจนตัดสินใจผิดพลาดได้

ถามว่า ถ้าเราได้รับสัญญาณอย่างที่ว่านี้ เราควรทำอย่างไร...

คุณหมอจุมภฏ บอกว่า อย่างแรกเลย คือ รับฟัง ฟังด้วยหัวใจ และแสดงออกถึงความเต็มใจที่จะช่วยเหลือเพื่อให้เขารู้สึกว่ายังมีคนที่พร้อมจะเข้าใจ ห่วงใย และเขาไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยวคนเดียวในโลก ตามด้วยการให้กำลังใจ ให้ความหวัง ให้เห็นว่าปัญหาที่เขามีอยู่นั้น แก้ไขและผ่านไปได้ รวมทั้งช่วยหาแหล่งสนับสนุนต่างๆเพื่อช่วยเหลือปัญหาที่เขาประสบอยู่

“ผมคิดว่า พอถึงเวลาหนึ่งที่เราเจอกับสัญญาณบางอย่างของคนรอบข้าง คนใกล้ตัว หรือแม้แต่คนในครอบครัว ถ้าเราตั้งสติและใช้ข้อมูลที่กรมสุขภาพจิตนำเสนอให้แบบนี้ เราจะสามารถรับมือกับปัญหาได้ ช่วยลดความสูญเสียจากการฆ่าตัวตายลงได้” คุณหมอจุมภฏทิ้งท้าย

ตราบใดที่มีพระอาทิตย์ขึ้นตอนเช้าทุกวัน ชีวิตก็ยังมีความหวังเสมอ...!

16 August 2564

ที่มา ไทยรัฐ

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 1765

 

Preset Colors