02 149 5555 ถึง 60

 

ต้องมี “ความเครียด” แค่ไหน ที่ถึงเวลาเราต้องพบจิตแพทย์

ต้องมี “ความเครียด” แค่ไหน ที่ถึงเวลาเราต้องพบจิตแพทย์

บางทีคนเรามี “ความเครียด” แบบไม่รู้ตัว มารู้ตัวก็เมื่อสายกลายเป็นผู้ป่วยที่ต้องได้รับการ“เยียวยา” ทำอย่างไรจะไม่ให้เกิดปัญหาสุขภาพแบบนั้น

ท่ามกลางสถานการณ์โรคโควิด-19 ที่ยังคงระบาดอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้หลายๆ คนเกิด “ความเครียด” มากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสงสัยว่าตัวเองติดเชื้อโรคโควิด-19 แล้วหรือไม่

เรื่องชีวิตความเป็นอยู่ที่ยากลำบากขึ้น จนไปถึงเรื่องเศรษฐกิจการเงินภายในครอบครัวที่ฝืดเคือง ซึ่ง “ความเครียด” นี้เองมักก่อให้เกิดอาการผิดปกติทั้งทางร่างกายและจิตใจ อาทิ ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ นอนไม่หลับ มึนงง สมาธิไม่ดี กระสับกระส่าย อารมณ์เศร้า เบื่อจนไม่อยากทำอะไรเลย

แต่อาการดังกล่าวเกิดขึ้นได้กับทุกคนที่มี “ความเครียด” จนเกิดคำถามว่า “เครียดขนาดไหน จึงควรปรึกษาจิตแพทย์”

ก่อนอื่นเราต้องรู้จักก่อนว่า “ความเครียด” คืออะไร “ความเครียด” คือปฏิกิริยาการตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้น จนเกิดสภาวะความไม่สมดุลของร่างกายและจิตใจ

โดยจะแสดงออกมาเป็นอาการไม่พึงประสงค์หรืออาการเจ็บป่วย ซึ่งหากคนที่มี “ความเครียด” สามารถรับมือกับสิ่งกระตุ้น หรือปัญหาต่างๆ ที่เข้ามาทำให้เครียดได้ ร่างกายและจิตใจก็จะกลับเข้าสู่สมดุล อาการทางร่างกายและจิตใจยังปกติ ซึ่งเช่นนี้จะยังไม่นับว่าเป็นโรค

หรือเรียกว่า“ปฏิกิริยาปกติจากความเครียด (normal reaction to stress)”แต่ถ้าหากรับมือกับสิ่งกระตุ้นได้ไม่ดีพอ ก็จะทำให้เกิดโรคทางจิตเวชที่พบบ่อย อันได้แก่ โรคเครียด และโรคซึมเศร้า ตามมาได้

โรคเครียดหรือโรคปรับตัวผิดปกติ (adjustment disorder)คือ โรคที่มีความผิดปกติทางอารมณ์หรือพฤติกรรม เช่น เศร้า วิตกกังวล ก้าวร้าวรุนแรง โดยเกิดขึ้นภายใน 3 เดือนหลังพบเจอกับสิ่งกระตุ้นหรือปัญหาที่ทำให้เครียด

ซึ่งความผิดปกติดังกล่าวส่งผลให้เกิดความทุกข์ทรมานอย่างมากในจิตใจ หรือส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิต ทั้งการทำงานหรือการเข้าสังคม

โรคซึมเศร้า (depressive disorder)คือ โรคที่มีความผิดปกติทางด้านอารมณ์ โดยมีอาการแสดง คือ เศร้า เบื่อไม่อยากทำอะไร นอนไม่หลับหรือนอนมากเกินไป เบื่ออาหารหรือกินอาหารมากเกินไป รู้สึกตนเองไร้ค่าหรือรู้สึกผิดมากเกินไป รู้สึกอ่อนเพลียไม่มีเรี่ยวแรง สมาธิไม่ดี ทำอะไรเชื่องช้าลงหรือมีท่าทีกระสับกระส่าย ไม่อยากมีชีวิตอยู่

โดยอาการจะเป็นนานติดต่อกัน 2 สัปดาห์ขึ้นไป และส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต หรืออาการเหล่านี้ทำให้รู้สึกทุกข์ทรมานอย่างมากในจิตใจ

อย่างไรก็ตามโรคซึมเศร้าก็สามารถเกิดขึ้นได้ แม้ว่าจะไม่มีสิ่งกระตุ้นให้เครียดก็ตามถ้าสำรวจตนเองแล้วพบว่ามีอาการที่เข้าได้กับโรคทั้งสองโรคดังกล่าว ควรรีบปรึกษาจิตแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างทันท่วงที

19 August 2564

ที่มา คม-ชัด-ลึก

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 2902

 

Preset Colors