02 149 5555 ถึง 60

 

สธ.-ศิริราช เปิดข้อมูลวัคซีนไขว้-บูสเตอร์ โดส ยันภูมิขึ้นสูง ต้านโควิดเดลต้าได้

สธ.-ศิริราช เปิดข้อมูลวัคซีนไขว้-บูสเตอร์ โดส ยันภูมิขึ้นสูง ต้านโควิดเดลต้าได้

เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงรายงานการติดตามผลการฉีดวัคซีนโควิด-19 สลับชนิด และการฉีดกระตุ้นเข้มที่ 3 ว่า ตามที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 ที่เกิดจากเชื้อไวรัสโคโรนา (Severe acute respiratory syndrome-related coronavirus-2; SARS-CoV-2) ซึ่งเป็นเชื้ออุบัติใหม่จัดอยู่ในกลุ่มที่มีอันตรายร้ายแรง และมีการแพร่ระบาดไปทั่วโลก ได้มีการผลิตวัคซีนและใช้เพื่อป้องกันโรคโควิด-19 ในขณะที่ไวรัส SARS-CoV-2 มีการปรับตัว เปลี่ยนแปลงรหัสพันธุกรรมจนเกิดการกลายพันธุ์ทำให้การติดเชื้อง่ายมีความรุนแรงมากขึ้น และสามารถหลบภูมิคุ้มกันจากวัคซีนได้ดี จนองค์การอนามัยโลกประกาศไวรัสที่มีการกลายพันธุ์ที่ต้องควบคุมป้องกันว่าเป็นกลุ่มสายพันธุ์ที่น่ากังวล (variants of concern, VOC) ซึ่งได้แก่ ไวรัสสายพันธุ์แอลฟ่า เดลต้า เบต้า และแกรมม่า

“ปัจจุบันประเทศไทยพยายามเร่งฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคโควิด-19 โดยมีวัคซีนที่ขึ้นทะเบียน และมีการนำมาใช้เป็นหลักในขณะนี้คือ วัคซีนโคโรนาแวค (CoronaVac ) ผลิตโดยบริษัท ซิโนแวค วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) ผลิตโดยบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ทำให้มีการตั้งคำถามเกิดขึ้นว่า วัคซีนเหล่านี้สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด ถ้ามีการสลับการให้วัคซีน (Mix and Match) รวมถึงการฉีดกระตุ้นเข็ม 3 แบบ heterologous prime-boost

กรมวิทยาศาสตร์ฯ จึงได้ร่วมกับศิริราชพยาบาล ทำการศึกษาระดับภูมิคุ้มกันในซีรั่มของคนที่ได้รับวัคซีน โดยใช้ไวรัสสายพันธุ์จริงที่กำลังระบาดในประเทศไทย คือ สายพันธุ์เดลต้า หรือสายพันธุ์อินเดีย (B.1.617.2) ซึ่งพบในการติดเชื้อกว่าร้อยละ 90 ทำการทดสอบโดยวิธีมาตรฐานที่ยอมรับกันทั่วไปคือวิธี Plaque Reduction Neutralization Test (PRNT) ซึ่งต้องปฏิบัติในห้องชีวนิรภัยระดับ 3 เพื่อความปลอดภัย ทั้งนี้ เพื่อหาค่าที่ไวรัสสายพันธุ์เดลต้าถูกทำลาย ร้อยละ 50 (Neutralizing Titer 50%, NT50) โดยแอนติบอดีที่เกิดขึ้นหลังฉีดวัคซีน

โดยทำการศึกษาในอาสาสมัคร 6 กลุ่ม ประกอบด้วย

กลุ่มที่ 1 ที่ได้รับวัคซีน CoronaVac 2 เข็ม (SV+SV)

กลุ่มที่ 2 ได้รับ วัคซีน AstraZeneca 2 เข็ม (AZ+AZ)

กลุ่มที่ 3 ได้รับ วัคซีน CoronaVac และตามด้วย AstraZeneca (SV+AZ)

กลุ่มที่ 4 ได้รับ วัคซีน AstraZeneca และตามด้วย CoronaVac (AZ+SV)

กลุ่มที่ 5 ได้รับ วัคซีน CoronaVac 2 เข็มและตามด้วย Covilo 1 เข็ม (SV+SV+Sinopharm)

กลุ่มที่ 6 ได้รับ วัคซีน CoronaVac 2 เข็มและตามด้วย AstraZeneca 1 เข็ม (SV+SV+AZ)

ผลการศึกษา พบว่า ระดับภูมิคุ้มกันในกลุ่มต่างๆ หลังการได้รับวัคซีนครบโดส 2 สัปดาห์ ต่อเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 สายพันธุ์เดลต้า มีค่าเฉลี่ยระดับภูมิคุ้มกันที่สามารถลบล้างฤทธิ์ไวรัส” อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ฯ กล่าว

นพ.ศุภกิจกล่าวว่า ผลการศึกษาการให้วัคซีนสลับแบบ (SV+AZ) มีภูมิคุ้มกันสูงกว่าการให้วัคซีน CoronaVac 2 เข็ม (SV+SV) และเทียบเท่ากับการให้ AstraZeneca 2 เข็ม (AZ+AZ) แต่ใช้เวลาสั้นลง แต่ไม่แนะนำให้ฉีดแอสตร้าฯ เข็มแรก และตามด้วย โคโรนาแวค (AZ+SV) ส่วนการกระตุ้นเข็มที่ 3 ด้วยแอสตร้าฯ (SV+SV+AZ) สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันเพิ่มมากขึ้นถึง 11 เท่า

ในขณะที่กระตุ้นเข็ม 3 ด้วย ซิโนฟาร์ม (Sinopharm) (SV+SV+Sinopharm) ที่เป็นวัคซีนเชื้อตายเหมือนกัน ให้ภูมิคุ้มกันสูงขึ้นเพียง 2.5 เท่า จากข้อมูลทั้งหมดแสดงให้เห็นว่านโยบายของรัฐบาลแผนการให้วัคซีนมีความเหมาะสม โดยให้ฉีดแบบสลับ (SV+AZ) และให้ฉีดเข็ม 3 ด้วยแอสตร้าฯ (SV+SV+AZ)

การศึกษาต่อไป กรมวิทยาศาสตร์ฯ จะทำการตรวจสอบระดับภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์เบต้า โดยใช้ไวรัสจริงเพื่อสร้างความมั่นใจต่อการใช้วัคซีนสลับและการฉีดกระตุ้นเข็ม 3 และเป็นข้อมูลประกอบการวางแผนการให้วัคซีนที่เหมาะสมโดยให้ประสิทธิภาพสูงสุดแก่ประชาชนต่อไป

“เนื่องด้วยมติของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2564 ที่แนะนำให้ฉีดวัคซีนสลับ (SV+AZ) กรมวิทยาศาสตร์ฯ ได้ทำการวิจัยในกลุ่มอาสาสมัครที่มารับวัคซีนในศูนย์ฉีดวัคซีนของ สธ. โดยได้ติดตามผู้ได้รับวัคซีน ทำการศึกษาผู้ที่ได้รับวัคซีนโคโรนาแวค 3 สัปดาห์ โดยได้รับเข็ม 2 เป็นแอสตร้าฯ ทั้งหมด 125 ราย (ชาย 61 หญิง 64 อายุเฉลี่ย 40 (18-60 ปี)

พบว่า มีระดับภูมิคุ้มกัน Quantitative Anti-S RBD เฉลี่ยที่ 716 (399-1127) สูงกว่ากลุ่มที่ได้รับ SS 117 (58-204), AA 207(123-338) และภายหลังการฉีดวัคซีนเข็ม 2 พบ มีไข้ ร้อยละ 66 ปวดศีรษะ ร้อยละ 33 อ่อนเพลีย ไม่มีแรง ง่วงซึม ร้อยละ 28 ใกล้เคียงกับอาการจากการฉีดแอสตร้าฯ 2 เข็ม เป็นการศึกษาที่สนับสนุนมติของคณะกรรมการโรคติดต่อฯ และ สธ.กำลังติดตามประสิทธิผลของการฉีดวัคซีนสูตรนี้อย่างใกล้ชิด” นพ.ศุภกิจกล่าว

20 August 2564

ที่มา มติชนรายวัน

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 1766

 

Preset Colors