02 149 5555 ถึง 60

 

นักวิจัยยืนยัน บริโภคอาหารได้อย่างปลอดภัย หมดห่วงโควิด-19

นักวิจัยยืนยัน บริโภคอาหารได้อย่างปลอดภัย หมดห่วงโควิด-19

โรคอุบัติใหม่โควิด-19 สร้างผลกระทบรุนแรงไปทั่วโลก หลังจากที่เราอยู่ร่วมกับเชื้อโควิด-19 มากว่า 1 ปี เรามีความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับการกระจายตัวของไวรัส สามารถปรับตัวสอดรับกับความปกติใหม่ (New Normal) ได้มากขึ้น แต่มีหนึ่งประเด็นสำคัญที่มักถูกเชื่อมโยงเมื่อเกิดเหตุการณ์แพร่ระบาดของโรคร้ายต่างๆ นั่นคือ ความปลอดภัยของอาหาร อย่างไรก็ดี หลายองค์กรทั้งในไทยและต่างประเทศได้มีการศึกษาและเผยข้อมูลวิจัยที่ได้รับการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ เพื่อไขข้อข้องใจเกี่ยวกับประเด็นเรื่องเชื้อโควิด-19 สามารถแพร่เชื้อจากอาหารหรือบรรจุภัณฑ์ได้หรือไม่

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (Food and Drug Administration – FDA) และศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา (CDC) เผยว่า อาหารและบรรจุภัณฑ์อาหารไม่ใช่แหล่งแพร่เชื้อโรคโควิด-19 และยังไม่พบหลักฐานว่าอาหารและบรรจุภัณฑ์เป็นแหล่งที่มาของการแพร่เชื้อสู่คน ขณะที่ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เผยว่า จากข้อมูลในปัจจุบันไม่พบว่าอาหาร หรือบรรจุภัณฑ์อาหารเป็นพาหะในการแพร่โรคที่เกี่ยวทางเดินหายใจ รวมถึงโควิด-19 และยืนยันว่าโควิด-19 ไม่สามารถติดต่อผ่านทางอาหารที่ปรุงสุกใหม่และอาหารที่ผ่านกระบวนการแปรรูปที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์อย่างดี เนื่องจากโควิด-19 จะถูกทำลายเมื่อผ่านความร้อนได้เหมือนไวรัสและแบคทีเรียทั่วไปในระหว่างการปรุงอาหาร

อาจกล่าวได้ว่า โควิด-19 ไม่ใช่ปัญหาด้านความปลอดภัยของอาหารอาหารโดยตรง นอกจากนี้ จากจำนวนผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 ประมาณ 200 ล้านคน ยังไม่มีรายงานว่ามีการติดเชื้อจากการรับประทานอาหารที่มีจากการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโควิด-19 และการได้รับเชื้อโควิด-19 จากการสัมผัสกับบรรจุภัณฑ์อาหารที่มีเชื้อไวรัสโควิด-19 มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมาก

ทางองค์กรอนามัยโลก (WHO) ยืนยันว่า เชื้อไวรัสโควิด-19 ไม่สามารถเพิ่มจำนวนในอาหารหรือบนบรรจุภัณฑ์ได้ ไวรัสต้องอาศัยอยู่ในร่างกายของสัตว์ที่มีชีวิตหรือมนุษย์เพื่อเพิ่มจำนวนและอยู่รอด และต้องการสภาวะที่เหมาะสมแก่การเจริญเติบโตและการเพิ่มจำนวน ดังนั้นเชื้อโควิด-19 ไม่สามารถรอดชีวิตในระบบทางเดินอาหารของมนุษย์ จึงไม่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 จากการบริโภคอาหาร รวมทั้งอาหารแช่แข็ง อย่างไรก็ตามเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ผู้บริโภคควรปฏิบัติตามหลัก 5 ประการเมื่อเตรียมหรือรับประทานอาหาร ดังนี้ 1) รักษาความสะอาดของมือและพื้นผิวที่สัมผัส 2) แยกอาหารดิบและปรุงสุกออกจากกัน 3) ปรุงอาหารให้สุก 4) เก็บอาหารไว้ในอุณหภูมิที่ปลอดภัย 5) การเลือกซื้ออาหารหรือเนื้อสัตว์จากแหล่งที่น่าเชื่อถือ นอกจากนี้ สิ่งสำคัญที่ทุกคนควรตระหนักและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดคือ การล้างมือให้สะอาดอย่างสม่ำเสมอ การรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล และการบริโภคอาหารที่มีประโยชน์เสริมระบบภูมิคุ้มกันร่างกายอย่างไรก็ดี ความปลอดภัยอาหารเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบ วิกฤตโควิด-19 ได้สร้าง

แรงสั่นสะเทือนในภาพใหญ่คือเรื่องของอาหารมั่นคง (Food Security) เช่น การมีอาหารเพียงพอและมีคุณภาพ การเข้าถึงอาหารได้อย่างเหมาะสม การใช้ประโยชน์จากอาหารในปริมาณที่เพียงพอ และการมีเสถียรภาพด้านอาหาร แม้ว่าประเทศไทยจะเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ แต่ยังคงได้รับผลกระทบสินค้าขาดแคลนจากการขนส่งสินค้าหยุดชะงัก เนื่องจากมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้น ดังนั้น การที่จะผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปได้คงไม่ใช่ความรับผิดชอบของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่นั่นหมายถึงทุกคนในประเทศไทยที่ต้องร่วมมือร่วมใจฝ่าวิกฤตครั้งนี้ด้วยกัน

1 September 2564

ที่มา ข่าวสด

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 9828

 

Preset Colors