02 149 5555 ถึง 60

 

พิษโควิด-19 นักดื่มเสี่ยงฆ่าตัวตายมากกว่าคนไม่ดื่ม 5.3 เท่า

พิษโควิด-19 นักดื่มเสี่ยงฆ่าตัวตายมากกว่าคนไม่ดื่ม 5.3 เท่า

การระบาดของ"โควิด" ทำให้เศรษฐกิจย่ำแย่ นำไปสู่ปัญหามากมาย ยิ่งทุกข์ยิ่งหาทางออกไม่ได้ก็หันไปดื่มเหล้า ขาดสติ นำไปสู่การคิดสั้นคือ "การฆ่าตัวตาย"

ในช่วงการระบาดของโควิด -19 ทำให้เศรษฐกิจย่ำแย่ คนมีปัญหาทั้งเรื่องทำมาหากินและปัญหาครอบครัว คนบางส่วนทุกข์หนักจึงหันไปดื่มแอลกอฮอล์

เมื่อดื่มสุรามากๆ ก็ขาดสติยั้งคิด มีสถิติยืนยันว่า คนไทยฆ่าตัวตายพุ่งเทียบเท่าช่วงต้มยำกุ้ง โดยเฉพาะนักดื่มเสี่ยงฆ่าตัวตายมากกว่าคนไม่ดื่ม5.3เท่า

ศ.พญ สุวรรณา อรุณพงค์ไพศาล อาจารย์ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ระบาดทั่วโลก มีการทบทวนสถานการณ์การฆ่าตัวตาย จากเดิมที่คาดว่าสถานการณ์จะเพิ่มขึ้นกลับพบว่าลดลง

สวนทางกับข้อมูลการฆ่าตัวตายในไทย ซึ่งเป็นข้อมูลจากใบมรณะบัตรพบว่าปี 2560 อัตราการฆ่าตัวตายอยู่ที่ 6.03ต่อแสนประชากร ปี 2561 อัตรา 6.6 ต่อแสนประชากร และมาที่ 7ต่อแสนประชากร

“จากการวิเคราะห์พบว่าส่วนใหญ่เกิดจาก1.ปัญหาเศรษฐกิจ มีหนี้สิน ไม่มีรายได้ 2.ปัญหาสารเสพติดและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 3.ปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ ของคนในครอบครัว คนรอบข้าง ทั้งการดุ ด่า นินทา เป็นต้น

โดยเฉพาะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีผลต่อการฆ่าตัวตายทั้งปัจจัยโดยตรง จะไปกดสมองส่วนการยับยั้งชั่งใจ ทำให้เวลาคิดเรื่องฆ่าตัวตาย ก็ลงมือทันที และส่วนใหญ่ใช้วิธีการที่รุนแรง

นอกจากนี้ยังเป็นปัจจัยทางอ้อมคือ การดื่มประจำจะทำให้เสียเงิน เสียงาน เสียไปทุกอย่างเหมือนคนสิ้นเนื้อประดาตัว ทำให้เกิดความเครียด ซึมเศร้า ก็ยิ่งดื่มเหล้ามากขึ้นและคิดฆ่าตัวตายตามมาได้

ทั้งนี้อัตราเสี่ยงสัมพันธ์กับการฆ่าตัวตายที่เชื่อมโยงกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่ที่5.3 เท่าเมื่อเทียบกับคนไม่ดื่ม "

ด้าน ภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.) กล่าวว่า ตามรายงานของกระทรวงสาธารณสุข พบเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นปัจจัยกระตุ้นสำคัญ ของการฆ่าตัวตาย เป็นอันดับ 3

และในภาคเหนือเคยมีรายงานว่า มีสถิติการฆ่าตัวตายสูงหลังไปร่วมงานศพ ที่มีการเลี้ยงเหล้าในงาน ซึ่งต่อมาคนในชุมชนจึงมติให้จัดงานศพปลอดเหล้า สถิติการฆ่าตัวตายก็ลดลงจริง

ยิ่งในสถานการณ์การระบาดของโควิด จะมีหลายปัจจัยเพิ่มที่ทำให้คนมีความเครียดมากยิ่งขึ้น เช่น การสูญเสียคนในครอบครัว รายได้ลดลงหรือตกงาน กลัวติดเชื้อ เป็นต้น ถ้าหันไปพึ่งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วย จะยิ่งเป็นเหตุสนับสนุนการฆ่าตัวตายมากยิ่งขึ้น

“ถ้าคิดใหม่ ใช้สถานการณ์วิกฤตนี้ ให้เป็นโอกาส ในการ ลด ละ เลิก การดื่มน้ำเมาทุกชนิด ไม่เป็นแหล่งกระจายเชื้อจากการขาดสติ และช่วยลดรายจ่าย เปลี่ยนค่าน้ำเมาไปใช้ในสิ่งที่จำเป็นกับครอบครัว ก็จะช่วยลดปัญหาต่างๆ ไปได้มาก”ภก.สงกรานต์ กล่าว

14 September 2564

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 1786

 

Preset Colors