02 149 5555 ถึง 60

 

หมอสถาบันประสาท ไขข้อสงสัย ผี-สิ่งลี้ลับ มีที่มาอย่างไร ?

หมอสถาบันประสาท ไขข้อสงสัย ผี-สิ่งลี้ลับ มีที่มาอย่างไร ?

สถาบันประสาทวิทยา ไขข้อสงสัยความเชื่อเรื่องผี แท้จริงแล้วมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับระบบประสาท และโรคทางจิตเวช ซึ่งสามารถรักษาได้

วันที่ 17 กันยายน 2564 สถาบันประสาทวิทยา โดยกรมการแพทย์ ชี้แจงประเด็นด้านความเชื่อเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องภูตผีปีศาจ สิ่งลี้ลับ ไสยศาสตร์ ที่คนทั่วไปเชื่อว่าไม่สามารถหาข้อพิสูจน์หรือคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ได้นั้น แท้จริงแล้วมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับระบบประสาท และโรคทางจิตเวช ซึ่งสามารถหาสาเหตุ และอธิบาย อันจะนำไปสู่แนวทางการบำบัดรักษาได้

นพ.ชลภิวัฒน์ ตรีพงษ์ นายแพทย์ชำนาญการ สถาบันประสาทวิทยา อธิบายถึงการทำงานของสมองว่า สมองของคนเรานั้นทำหน้าที่สลับซับซ้อนมาก บางส่วนทำหน้าที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับระบบประสาทสัมผัส การรับรู้ ซึ่งสามารถอธิบายสิ่งที่ผู้ป่วยรับรู้ผิดปกติไปได้ เช่น เห็นภาพ ได้ยินเสียง ได้กลิ่น สัมผัส ทั้งที่ไม่มีสิ่งกระตุ้นนั้นอยู่จริง เรียกรวมว่ากลุ่มอาการประสาทหลอน (Hallucination)

กล่าวคือ สมองที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการมองเห็นจะอยู่ด้านหลัง สมองส่วนที่ทำหน้าที่ได้ยินจะอยู่ที่ขมับ และสมองส่วนรับกลิ่นจะเหนือโพรงจมูกลึกเข้าไป เมื่อสมองส่วนใดก็ตามทำงานผิดปกติ แม้ไม่มีสิ่งกระตุ้นอยู่จริง สมองก็เกิดการแปลผลแบบผิดปกติ ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเสมือนได้เห็นภาพหรือมองเห็นภาพผิดปกติ เสมือนได้รับกลิ่นหรือได้กลิ่นแปลก เสมือนได้ยินเสียง เป็นต้น

แนวทางการตรวจวินิจฉัยก็จะพิจารณาจากการทำงานของสมองส่วนต่าง ๆ ตามอาการทางประสาทสัมผัสของคนไข้ ซึ่งสามารถมีได้มากกว่าหนึ่งอาการ ยกตัวอย่างเช่น เห็นภาพพร้อมกับได้ยินเสียง หรือได้กลิ่นร่วมด้วย ก็เป็นไปได้ว่าสมองทำงานผิดปกติมากกว่าหนึ่งส่วน เมื่อวินิจฉัยจนได้คำตอบว่าสมองส่วนใดที่ผิดปกติ ก็จะเป็นแนวทางในการรักษาต่อไป

อีกอาการที่น่าสนใจและเกี่ยวข้องกับความเชื่อเรื่องสิ่งลี้ลับ คืออาการเห็นผิด (Illusion) คือการเห็นสิ่งที่มีอยู่จริง แต่สมองแปลผลผิดจากความเป็นจริง เช่น เห็นสายยางเป็นงู หรือเห็นสุนัข เป็นเสือ กล่าวคือมองเห็นวัตถุ สิ่งของที่มีอยู่จริง แต่ภาพที่ผู้ป่วยเห็นนั้นไม่ตรงกับความเป็นจริง ซึ่งเนื่องมาจากสมอง และมีอีกอาการที่เรียกว่า อาการหลงผิด ที่เรียกว่า อาการหลงผิด (Delusion) โดยจะเห็นจากกรณีตัวอย่างคือข่าวเหตุฆาตกรรมในครอบครัว ซึ่งผู้ก่อเหตุอ้างว่างถูกผีสั่งให้ทำ ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มอาการทางจิตเวช

และอีกอาการที่ไม่ได้เกิดการรับรู้จากตัวผู้ป่วย แต่เป็นการตีความจากผู้พบเห็นที่บอกว่าผู้ป่วยคนนั้น ๆ มีอาการ “ผีเข้า” เช่น เมื่อเห็นผู้ป่วยมีอาการตาเหลือกขวาง ก็สรุปเอาว่าผู้ป่วยนั้นถูกผีเข้า ในขณะที่การ อุปทานหมู่ (Mass Hysteria) เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับจิตสังคมซึ่งเกิดขึ้นกับบุคคลตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป

ในกรณีที่กลุ่มบุคคลนั้นมีความคิดความเชื่อว่าตนเจ็บป่วยเป็นโรคเดียวกันหรือเผชิญปัญหาเดียวกัน จึงแสดงอาการออกมาแบบเดียวกัน เช่น หลายคนออกอาการเหมือนผีเข้า หลายคนส่งเสียงกรีดร้องโดยไม่มีเหตุผล บางรายเห็นภาพหลอน แสดงกิริยาก้าวร้าวออกมาเป็นต้น พบได้บ่อยจากการรวมตัวเพื่อทำกิจกรรมของกลุ่มเปราะบาง เช่นนักเรียน หรือวัยรุ่นหมู่มาก ที่สามารถส่งต่อความรู้สึกจนกระทั่งมีอารมณ์ร่วมได้ง่าย

อีกหนึ่งเรื่องที่พบได้บ่อย อย่างเช่น ข่าวของผู้ป่วยรายหนึ่ง ที่มีอาการปวดท้องและเข้ารับการรักษาโดยการผ่าตัด และปรากฏว่าพบเส้นผม เล็บ ฟัน ในช่องท้อง เหตุการณ์เหล่านี้อาจจะมีคนคิดว่าโดนคุณไสย แต่สามาถอธิบายได้จากความผิดปกติของการแบ่งเซลล์ที่มีมาตั้งแต่ปฏิสนธิเป็นตัวอ่อน แล้วเซลล์อวัยวะอย่าง ผิว ผม เล็บ ซึ่งควรจะเจริญเติบโตภายนอก กลับมีการเจริญเติบโตผิดที่ และสามารถพบอวัยวะเหล่านี้ในช่องท้องได้ โดยส่วนมากพบในคนไข้เพศหญิง ซึ่งโดยทั่วไปเรามักเรียกกันอย่างติดปากว่า “เนื้องอก” นั่นเอง

อีกอาการที่คนทั่วไปมักเข้าใจว่าเกี่ยวข้องกับการถูกผีเข้า คือภาวะสมองอักเสบเนื่องจากภูมิคุ้มกันผิดปกติ เช่น สมองอักเสบจากแอนติบอดี้ NMDA มักเริ่มจากอาการไข้ จากนั้นคือบุคลิกภาพเริ่มแปลกไปจากเดิม บางคนก้าวร้าว กรีดร้อง ตาเหลือก จนในที่สุดมีอาการซึม แน่นิ่งไป ซึ่งอาการที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ญาติหรือผู้พบเห็นคิดว่าผู้ป่วยถูกผีเข้า

แต่ในทางการแพทย์มีโรคชนิดนี้อยู่จริง สามารถให้การตรวจรักษาได้ จะรักษาด้วยวิธีการภูมิคุ้มกันบำบัด ให้ยากดภูมิคุ้มกัน ร่วมกับฟอกน้ำเหลืองเพื่อนำเอาภูมิคุ้มกันที่มีความผิดปกติออกไป โดยลักษณะของเครื่องฟอกน้ำเหลืองจะเหมือนกับเครื่องฟอกไต หรือบางคนมีอาการที่คล้าย ๆ กัน อาจจะเกิดจากสาเหตุที่แตกต่างกัน หากแพทย์ตรวจพบความผิดปกติที่หลอดเลือดสมอง ก็ให้การตรวจรักษาด้วยกระบวนการใส่สายสวนหลอดเลือด

หรือหากตรวจพบมีก้อนเนื้องอก ก็สามารถให้การรักษาด้วยการผ่าตัดได้ แต่ในบางรายไปพบแพทย์แล้วอาการปกติดี เนื่องจากอาการทางระบบประสาทสามารถเกิดขึ้นแบบชั่วคราว และเมื่ออาการหยุดไปผู้ป่วยก็จะเหมือนคนปกติได้ แพทย์จึงจำเป็นต้องซักประวัติเพื่อค้นหาสาเหตุและนำเข้าสู่กระบวนการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

เช่นอาการของ “โรคลมชัก” ผู้ป่วยอาจจะมีอาการชักเกร็งกระตุกทั้งตัว เกร็ง กระตุกบางส่วน หรือควบคุมร่างกายไม่ได้ พฤติกรรมเปลี่ยนแปลงช่วงสั้น ๆ เคี้ยวปาก ขย้ำมือ สวดมนต์ กรีดร้อง แลบลิ้น เลียริมฝีปาก ตาเหลือก ได้กลิ่นแปลก ๆ เช่นกลิ่นธูป กลิ่นศพ เป็นต้น อาจจะเป็นอาการของโรคลมชักที่คนส่วนใหญ่ไม่เคยเห็น จนทำให้เข้าใจผิดว่า เป็นอาการผีเข้าได้

ในขณะที่อาการขนลุก ซึ่งปกติเป็นการทำงานระบบประสาทอัตโนมัติ ซึ่งคนทั่วไปจะมีอาการเวลาอากาศเย็น เวลาปวดท้องเข้าห้องน้ำ หรือเวลากลัวจริง ๆ แต่ก็มีโรคทางระบบประสาทที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการขนลุกเป็นพัก ๆ โดยไม่มีเหตุได้ เช่น อาการขนลุกจากโรคลมชัก อาการขนลุกจากสมองอักเสบเนื่องจากภูมิคุ้มกันผิดปกิ เป็นต้น

นอกเหนือจากคำอธิบายจากโรคทางระบบประสาทและสมองแล้ว อาการแปลก ๆ เหล่านี้ทั้งหมดบางอย่างที่เป็นกลุ่มอาการทางจิตเวช ยังสามารถอธิบายจากโรคทางจิตเวชได้เช่นกัน ซึ่งยังมีกลุ่มโรคที่หลากหลาย ซึ่งในบางครั้งอาจจะแยกจากกันได้ยาก แพทย์เฉพาะทางด้านโรคสมองและระบบประสาท จึงอาจจะต้องประสานงานเพื่อร่วมในการรักษาด้วย

“สุดท้ายแล้ว สิ่งที่แพทย์มักจะแนะนำแก่ผู้ป่วยหรือคนรอบข้างคือ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนั้นพัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นและมีความผิดปกติ สามารถหาสาเหตุและสามารถอธิบายได้ด้วยวิทยาศาสตร์ หากผู้ป่วยหรือญาติเชื่อว่าความเจ็บป่วยนั้นเกิดจากภูตผีปีศาจ หรือสิ่งลี้ลับ แล้วละทิ้งการเข้าสู่กระบวนการรักษาด้วยการแพทย์สมัยใหม่ ยิ่งทิ้งระยะเวลาไปนานเท่าไร โอกาสในการรักษาให้หายหรือกลับมาเป็นปกติก็จะลดลงไปเรื่อย ๆ

แต่หากยังมีความกังวลว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องกับความเชื่อ ก็สามารถขออนุญาตจากแพทย์แผนปัจจุบันเพื่อให้พระ หมอผี ได้ร่วมคลายความทุกข์ความกังวลให้กับผู้ป่วยและญาติไปพร้อม ๆ กันได้ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะหากจะรักษาด้วยวิธีที่แปลกประหลาดอันอาจจะเป็นอันตราย ก็จะได้มีคนช่วยสอดส่องได้

ทั้งนี้ สิทธิของประชาชนไทย ไม่ว่าจะเป็นสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค ประกันสังคม สิทธิข้าราชการ สามารถนำมาใช้ในกระบวนการตรวจวินิจฉัยและรักษาได้ทั้งหมด นั่นหมายความว่าผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาด้วย ด้วยค่าใช้จ่ายที่ไม่เป็นภาระต่อฐานะทางเศรษฐกิจแน่นอน และฝากถึงสื่อมวลชนที่มีบทบาทอย่างมากในการนำเสนอประเด็นเหล่านี้

สามารถช่วยชี้นำครอบครัวและสังคม ให้ผู้ป่วยเข้าสู่กระบวนการรักษากับการแพทย์แผนปัจจุบันร่วมด้วยกับการรักษาตามความเชื่อได้ คำว่าโปรดใช้วิจารณญาณในการรับชม อาจจะไม่สามารถนำมาใช้ได้กับทุกกรณี เพราะบางครั้งผู้ป่วยหรือผู้ชม อาจจะไม่พร้อมสำหรับการใช้วิจารณญาณด้วยต้นเองได้ สื่อจึงมีบทบาทสำคัญที่จะสนับสนุนให้สังคมพบทางออกที่ดีได้ ” นพ.ชลภิวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย

20 September 2564

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 2274

 

Preset Colors