02 149 5555 ถึง 60

 

“ความเครียด” ส่งผลต่อร่างกายอย่างไรบ้าง

“ความเครียด” ส่งผลต่อร่างกายอย่างไรบ้าง

เรียกว่าชั่วโมงยามนี้ หลาย ๆ คนก็ต้องมีเรื่อง‘ความเครียด’ อยู่พอสมควร อาจจะมากบ้าง น้อยบ้าง แล้วแต่ปัญหาที่แต่ละคนพบเจอ ซึ่งแน่นอนว่าอาจจะทำให้บั่นทอนทั้งทางร่างกายและจิตใจไปบ้าง แต่หากสามารถควบคุมตัวเองได้ ก็น่าจะดีกว่าเพราะจะช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ไม่มากก็น้อย

สำหรับ ‘ความเครียด’ นั้น หากให้อธิบายแล้ว ย่อมหมายถึง การหดตัวของกล้ามเนื้อในส่วนหนึ่งหรือหลายส่วนของร่างกาย ซึ่งคนทุกคนมีความจำเป็นที่จะต้องมีอยู่เสมอในการดำรงชีวิต เช่น การทรงตัว เคลื่อนไหวทั่ว ๆ ไป โดยการศึกษาพบว่าทุกครั้งที่เราคิดหรือมีอารมณ์บางอย่างเกิดขึ้นจะต้องมีการหดตัว เคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อแห่งใดแห่งหนึ่ง ในร่างกายเกิดขึ้นควบคู่เสมอ

ถามว่า ‘ความเครียด’ นั้น มีคุณหรือมีโทษ ก็ต้องตอบว่าสามารถมีได้ทั้งคู่ แต่ในลักษณะหลังนั้น อาจจะเรียกว่ามีเกินความจำเป็นไปหน่อยจนกลายเป็นว่าเป็นอุปสรรคและอันตรายต่อชีวิต ซึ่งในส่วนของร่างกายนี้เอง จะมีภาวะในการสู้หรือหนี โดยแปรสภาพได้ดังนี้

-มีภาวะหัวใจเต้นแรงและเร็วขึ้น เพื่อฉีดเลือดซึ่งจะนำออกซิเจนและสารอาหารต่าง ๆ ไปเลี้ยงเซลล์ทั่วร่างกาย พร้อมกับขจัดของเสียออกจากกระแสเลือดอย่างเร็ว

-เรื่องการหายใจดีเร็วขึ้น แต่เป็นการหายใจตื้น ๆ

-มีการขับครีนาลีนและฮอร์โมนอื่น ๆ เข้าสู่กระแสเลือด

-ม่านตาขยายเพื่อให้ได้รับแสงมากขึ้น

-กล้ามเนื้อหดเกร็งเพื่อเตรียมการเคลื่อนไหว เตรียมสู้หรือหนี

-เส้นเลือดบริเวณอวัยวะย่อยอาหารหดตัว

-เกิดการเหงื่อออก เพราะมีการเผาผลาญอาหารมากขึ้น ทำให้อุณหภูมิของร่างกายเพิ่มขึ้น

ซึ่งในเรื่องของสภาวะของความเครียดของคนเรานั้น สามารถแบบระดับได้เป็น 3 ระดับ ได้แก่

1.ความเครียดเฉียบพลัน

ความเครียดในลักษณะนี้ เป็นปฏิกิริยาของคนที่อยู่ในสถานการณ์ที่กดดัน ท้าทาย หรือเกิดในสิ่งที่ไม่คาดคิดมาก่อน เป็นประเภทของความเครียดที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งที่สุด

2. ความเครียดเฉียบพลันเป็นช่วงเวลา

ความเครียดชนิดนี้อาจจะมาเป็นช่วงๆ เนื่องจากจะต้องเจอกับสถานการณ์ตึงเครียดอยู่บ่อย ๆ โดยอาการจะทำให้รู้สึกกดดันอยู่บ่อยครั้งหรือสิ่งต่างๆ ไม่เป็นแบบที่คิด ส่งผลให้เกิดความล้าทั้งร่างกายและจิตใจ

3. ความเครียดเรื้อรัง

ส่วนความเครียดที่เกิดขึ้นแบบกินเวลายาวนานจนส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว อาจจะเกิดมาจากปัญหาส่วนตัวในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ต้องทำงานภายใต้ความกดดัน, การที่ต้องอยู่ในครอบครัวที่ไม่มีความสุข หรือ ปัญหาเรื่องรายได้ไม่เพียงพอ เป็นต้น

จากสภาวะจำแนกที่ว่ามานี้ ถ้าหาก ’ความเครียด’ เข้าครอบงำแล้ว จะเกิดผลเสีย ดังต่อไปนี้

-นอนไม่หลับ

อาจเพราะความเครียดมีส่วนในการกระตุ้นร่างกายให้เกิดฮอร์โมนคอร์ติซอล หรือฮอร์โมนแห่งความเครียด หลั่งออกมา จึงทำให้ร่างกายตื่นตัวตลอดเวลาทำให้นอนไม่หลับได้

-เกิดภาวะกรดไหลย้อน

เนื่องจากความเครียดไปกระตุ้นให้กระเพาะสร้างและหลั่งกรดในกระเพาะอาหารมากขึ้น จนล้นออกมาถึงหลอดอาหาร เป็นเหตุให้เกิดอาการเเสบร้อนที่อกที่เป็นอาการของกรดไหลย้อนได้

-ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า

เมื่อเครียดติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจจะมีโอกาสเสี่ยงทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า นำไปสู่การทำร้ายร่างกายตนเอง ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้สามารถสังเกตได้ง่าย ๆ เช่น แยกตัวออกจากเพื่อน อ่อนไหวต่อคำติชม คิดว่าตนเองล้มเหลว เป็นต้น

-เกิดประจำเดือนมาไม่ปกติในผู้หญิง

สำหรับภาวะความเครียดในผู้หญิงนั้น ความเครียดเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ฮอร์โมนมีความเเปรปรวน ส่งผลให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ หรืออาจจะไม่มาเลยได้

-ภูมิคุ้มกันเสื่อมลง

การมีภูมิคุ้มกันในร่างกายนั้น ทำหน้าที่ดูแลและป้องกันไม่ให้ร่างกายเกิดการเจ็บป่วย แต่เมื่อร่างกายมีความเครียดสูงขึ้นจะทำให้ฮอร์โมนความเครียดไปกดภูมิคุ้มกันให้อ่อนเเอลง ตามไปด้วย จนอาจจะร่างกายเกิดการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น และป่วยในที่สุด

-มีความจำเเย่ลง

ถ้ามีความเครียดที่เกิดมาจากความกลัว จะส่งผลให้สมองในส่วนฮิปโปแคมปัส ซึ่งเป็นสมองที่อยู่บริเวณขมับ มีคุณสมบัติเก็บความทรงจำ มีขนาดเล็กลง ทำให้จำเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้ยากขึ้น

-เสี่ยงต่อโรคหัวใจ

เชื่อหรือไม่ว่า ‘ความเครียด’ นั้น ก็อาจจะเป็นปัจจัยของการเกิดโรคหัวใจได้ ซึ่งมีการวิจัยศึกษาอย่างละเอียดจากทาง Harvard University โดยการวิจัยนี้ ได้ทำการติดตามผลสุขภาพของกลุ่มตัวอย่างจำนวน 300 คน เป็นเวลา 5 ปี ซึ่งมีการพบว่า ผู้ที่มีอาการเครียด จะทำให้สมองที่มีหน้าที่ควบคุมอารมณ์ ทำงานหนักกว่าคนปกติ และส่งผลให้มีโอกาสไปกระตุ้นให้เกิดโรคหัวใจได้ง่ายขึ้น และมีผู้ที่ล้มป่วยด้วยอาการหัวใจวายและโรคเส้นเลือดในสมองอุดตัน อย่างน้อย 22 คน เลยทีเดียว

สำหรับการรับมือ หรือ ลดความเครียด นั้น อาจจะมีหลากหลายวิธีของแต่ละคนที่แตกต่างกันออกไป แต่ถ้าทำตามวิธีดังกล่าวนี้ อาจจะช่วยผ่อนคลายได้พอสมควรไม่มากก็น้อยลงได้ โดยทำทีละข้อ หรือ ทำได้หลายๆ ข้อ ไม่ว่ากัน ดังนี้

-ถ้าเป็นวิธีแก้ไขที่ปลายเหตุ อาจจะใช้วิธีการใช้ยาเข้าช่วย ได้แก่ ยาหม่อง ยาดม ยาแก้ปวด ยาลดกรดในกระเพาะ ยากล่อมประสาท แต่วิธีการดังกล่าวไม่ได้แก้ไขความเครียดที่ต้นเหตุ อาจทำให้ความเครียดนั้นเกิดขึ้นได้อีกจากการใช้ยาที่ว่านี้

-หากเป็นวิธีแก้ไขที่ต้นเหตุ ก็ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของแต่ละคน ได้แก่ มีงานอดิเรกที่ชอบ, ฝึกออกกำลังกาย หรือ บริหารร่างกายแบบง่าย ๆ เป็นต้น

-ลองลดการแข่งขัน ผ่อนปรน ลดความเข้มงวด ในเรื่องต่างๆ เพื่อลดความกดดันในการดำเนินชีวิตได้

-ในเรื่องอาหารนั้น ควรหาความรู้ในเรื่องนี้บ้าง เช่น รู้ว่าอาหาร เครื่องดื่มบางประเภท ช่วยส่งเสริมความเครียด

-มองตัวเองและมองผู้อื่นในแง่ดี หรือมองโลกในแง่ดีบ้างก็ได้

-ควรสำรวจและปรับปรุงในเรื่องของสัมพันธภาพต่อทั้งคนในครอบครัวและสังคมภายนอก

-ฝึกผ่อนคลายโดยตรง อาทิ เช่น การฝึกหายใจให้ถูกวิธี การฝึกสมาธิ การออกกำลังกายแบบง่าย ๆ การฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อ การนวด การสำรวจ ท่านั่ง นอน ยืน เดิน การใช้จินตนาการ เป็นต้น

21 September 2564

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 9535

 

Preset Colors