02 149 5555 ถึง 60

 

“โรคย้ำคิด ย้ำทำ (OCD)” มีความคิดซ้ำๆ ยิ่งคิดยิ่งกังวลใจ คุณเข้าข่ายหรือไม่

“โรคย้ำคิด ย้ำทำ (OCD)” มีความคิดซ้ำๆ ยิ่งคิดยิ่งกังวลใจ คุณเข้าข่ายหรือไม่

มีความคิดซ้ำๆ ที่ทำให้เกิดความกังวลใจ ย้ำแล้วย้ำอีก อาจเข้าข่ายโรคย้ำคิดย้ำทำ หรือ Obsessive-Compulsive Disorder (OCD) หรือเรียกกันสั้นๆ ว่าโรค OCD โดยมักมีพฤติกรรมทำซ้ำๆ เช่น ปิดน้ำหรือยัง ปิดไฟหรือยัง ปิดแอร์หรือยัง เป็นพฤติกรรมก่อนออกจากบ้านที่หลายคนต้องคอยตรวจเช็กความเรียบร้อย เพื่อลดความไม่สบายใจที่เกิดขึ้น ซึ่งเจ้าตัวเองก็รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ไม่มีเหตุผล แต่ถ้าหากมีอาการลักษณะนี้มากจนเกินไปจนรู้สึกไม่มีสมาธิจะทำงาน แม้ว่าจะตรวจสอบดีแล้ว ควรรีบตรวจเช็กตัวเองให้ดีเลยว่ากำลังเสี่ยงจะเป็น “โรคย้ำคิดย้ำทำ” หรือไม่เพื่อหาวิธีจัดการ

โรคย้ำคิด ย้ำทำ เกิดจากอะไร

ความจริงแล้วโรคโรคย้ำคิด ย้ำทำ (OCD) เกิดมาจากการทำงานผิดปกติในสมอง และระบบประสาทที่มีการทำงานบกพร่องอาจเกิดได้จาก 2 สาเหตุคือ มีการทำงานของสมองบางส่วนมากเกินปกติ สมองส่วน Orbitofrontal, Cingulate Cortex, Caudate และ Thalamus หรือเกิดความผิดปกติของสารเซโรโทนิน (Serotonin) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่ควบคุมภาวะอารมณ์ความรู้สึก ส่วนสาเหตุอื่นๆ ที่พบได้อาจเป็นการถ่ายทอดทางพันธุกรรม หรือปัจจัยสภาพแวดล้อมอย่างประสบการณ์เลวร้ายที่พบเจอในชีวิต เช่น ผู้ป่วยอาจเจอเหตุการรุนแรงในวัยเด็ก ถูกทารุณกรรมทั้งทางกาย และทางใจ หรือปัญหาชีวิตที่รุนแรงก็ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้ได้เช่นกัน

อาการโรคย้ำคิด ย้ำทำ ที่มักเกิดขึ้น

เป็นไปได้ที่ผู้ป่วยโรคย้ำคิด ย้ำทำ อาจมีแค่อาการย้ำคิด (Obsession) ซึ่งเป็นแค่ความคิดภายในสมองที่ผุดขึ้นมาซ้ำๆ ทำให้เกิดความกังวลใจ ไม่สบายใจ และไม่สามารถหยุดคิดได้ มีความคิดวิตกกังวลอยู่ตลอดเวลา บางครั้งก็เกิดจากการจินตนาการไปเองว่าจะเกิดเรื่องไม่ดีขึ้น หรืออาจมีอาการย้ำทำ (Compulsion) คือมีการตอบสนองความคิดความกังวลนั้นด้วยการทำสิ่งต่างๆ เพื่อให้ลดความไม่สบายใจ หรือความกลัวนั้นลง ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ทำเพื่อตอบสนองการย้ำคิด เช่น คิดว่ามือสกปรก เลยต้องล้างมือซ้ำๆ ล้างแล้วล้างอีก ส่วนใหญ่จะพบอาการย้ำคิดร่วมกับย้ำทำ โดยพบร้อยละ 80 โดยที่เหลืออีกร้อยละ 20 มีแต่อาการย้ำคิด 46 ซึ่งพฤติกรรมที่มักจะเป็นและสังเกตได้ชัดก็มีดังต่อไปนี้

อาการย้ำคิด

• กลัวความสกปรกมากกว่าปกติ กลัวติดเชื้อโรคจากการหยิบจับหรือสัมผัสสิ่งต่างๆ

• เกิดความไม่สบายใจทันทีถ้าเห็นความไม่เป็นระเบียบ สิ่งของที่จัดไม่เท่ากัน ไม่เรียบร้อย ไม่สมดุล

• วิตกกังวลถึงความปลอดภัยในการใช้ชีวิต เช่น คิดว่าลืมปิดเตาแก๊ส ลืมล็อกประตู หรือเรื่องต่างๆ ในชีวิตประจำวัน

• มีความคิดยึดติด หรือเชื่ออย่างรุนแรงเกี่ยวกับเรื่องศาสนาหรือเรื่องเพศ

อาการย้ำทำ

• ล้างมือบ่อยๆ แบบเกินความจำเป็น หรือทำความสะอาดสิ่งของต่างๆ แบบซ้ำๆ

• ตรวจความเรียบร้อยซ้ำๆ อย่างการไปปิดแก๊ส ล็อกประตู เดินไปดูแล้วดูอีก เดินเข้าเดินออก

• จัดระเบียบหรือจัดสิ่งของต่างๆ แบบที่มีลักษณะเฉพาะตัว เช่น ต้องหันไปทิศทางเดียวกันทั้งหมด

• มักจะต้องทำทุกสิ่งให้ครบตามจำนวนที่ตนเองกำหนดไว้

• ชอบเก็บสะสมสิ่งของมากเกินความจำเป็น

ถึงแม้ว่าโรคนี้ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ปัจจุบันนี้ก็มียาที่สามารถช่วยบรรเทา และควบคุมอาการอยู่เช่นกัน รวมถึงการรักษาโดยการบำบัดด้วย ซึ่งการใช้ยานั้นโดยปกติยาที่แพทย์มักใช้กับผู้ป่วยโรคย้ำคิด ย้ำทำนี้มักจะใช้ยาในกลุ่มแก้โรคซึมเศร้า ซึ่งก่อนรับยาจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ พูดคุยอย่างละเอียดเสียก่อน

เช็กตัวเองอย่างไร ใช่โรคย้ำคิด ย้ำทำ หรือไม่

ถ้าคุณคิดว่าไม่แน่ใจ ว่านิสัยชอบทำอะไรซ้ำๆ นี่ใช่โรค OCD หรือเปล่า ให้ลองพิจารณาดูว่า หากการย้ำคิดย้ำทำนั้นเริ่มกระทบกับชีวิตประจำวัน สร้างความวิตกกังวล ทำให้เกิดความทุกข์ทรมานและหยุดคิดไม่ได้ หรืออาจทำให้เกิดผลกระทบทางร่างกาย เช่น พฤติกรรมการกินเปลี่ยนไป หรือล้างมือบ่อยเกินไปจนเริ่มมีปัญหาทางผิวหนัง และที่สำคัญอาการย้ำคิด ย้ำทำมักจะทำให้ผู้ป่วยต้องเสียเวลาโดยไม่จำเป็นไปกับพฤติกรรมดังกล่าวมากกว่า 1 ชั่วโมงในหนึ่งวันด้วย

ป้องกันตนเองจากโรคย้ำคิด ย้ำทำ ได้อย่างไร

เบื้องต้นแนะนำรีบไปพบแพทย์และหาทางรักษา หากจำเป็นต้องรักษาควรมีความอดทนกับการเข้ารับการบำบัดและฝึกตัวเอง การรักษาไม่ควรใจร้อน เพราะอาการของโรคย้ำคิด ย้ำทำ มักจะค่อยๆ ดีขึ้น อาจไม่เร็วอย่างที่คิด แต่จำเป็นต้องบำบัดดูแลเพื่อช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ นอกจากนี้ ก็ยังมีวิธีการลดความรุนแรงที่สามารถทำเองได้ด้วย เช่น ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เลี่ยงสิ่งที่ทำให้เกิดความกลัวนั้นๆ รักษาสุขภาพให้แข็งแรง ทำกิจกรรมที่ผ่อนคลายความเครียด เช่น ดูหนัง ฟังเพลง อ่านหนังสือ

ถึงแม้โรคย้ำคิด ย้ำทำ จะไม่รุนแรงหรืออันตรายถึงชีวิต แต่ก็กระทบถึงการใช้ชีวิตประจำวัน การทำงาน หรือสร้างความรู้สึกรำคาญได้มากทีเดียว ผู้ป่วยโรคย้ำคิด ย้ำทำ สามารถเข้ารับการรักษาเพื่อลดความรุนแรงของโรคลงได้ ด้วยการรับประทานยาตามแพทย์สั่ง หรือรับการบำบัดจากนักจิตบำบัด อาการย้ำคิด ย้ำทำ ก็จะทุเลาลง และควบคุมได้

27 September 2564

ที่มา ไทยรัฐ

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 3533

 

Preset Colors