02 149 5555 ถึง 60

 

ยึดหลักองค์รวมดูแลร่างกาย ตัวช่วยอายุยืนแบบมีคุณภาพ

ยึดหลักองค์รวมดูแลร่างกาย ตัวช่วยอายุยืนแบบมีคุณภาพ

ท่ามกลางปัญหาโรคระบาดอย่างโควิด-19 รวมถึงปัญหามลภาวะต่างๆ เช่น ฝุ่นมลพิษ ที่กำลังจะมาพร้อมหน้าหนาว หรือสารเคมีที่มาจากเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานต่างๆ ปัจจัยเหล่านี้ย่อมสร้างผลกระทบให้กับสุขภาพ นั่นจึงทำให้หลายคนตั้งคำถามว่า ทำอย่างไรจึงจะทำให้เราอายุยืนยาวอย่างมีสุขภาพดี ภายใต้ปัจจัยก่อโรคเหล่านี้ที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมไทยอยู่บ่อยครั้ง เพราะการที่เราอายุยืน แต่สุขภาพไม่แข็งแรง อาจสร้างปัญหามากกว่าผลดี อาทิ คนแก่อายุ 90 ปี แต่ไม่สามารถเดินเหินไปไหนมาไหนได้ และกิจกรรมที่ทำเป็นประจำคือการนั่งดูทีวีและมองออกไปนอกหน้าต่างเท่านั้น

ผศ.สาวิตรี สิงหาด อาจารย์ประจำคณะพยาบาลศาสตร์ ม.อุบลราชธานี ให้ข้อมูลว่า “หลักสำคัญในการมีอายุยืนยาวที่แข็งแรงนั้น จะต้องประกอบไปด้วยการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม ทั้งการดูแลด้านร่างกาย, จิตใจ, จิตสังคม และจิตวิญญาณ เริ่มจาก “การดูแลด้านร่างกาย” โดยรวม แนะนำให้ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ คือตั้งแต่วัยเด็ก วัยรุ่น ไปจนกระทั่งถึงวัยสูงอายุ ที่อาจจะเป็นการออกกำลังกายเบาๆ เช่น การยืดเหยียดกล้ามเนื้อด้วยอุปกรณ์ต่างๆ เช่น ผ้าขาวม้า หากอยู่ในชนบท หรือเต้นแอโรบิกเบาๆ กระทั่งการเดินออกกำลังกาย ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่เหมาะกับผู้สูงวัย

ส่วนคนหนุ่มสาวก็สามารถเลือกการออกกำลังกายที่ชื่นชอบ ซึ่งปัจจุบันก็มีให้เลือกหลากหลาย ทั้งในฟิตเนส หรือการออกกำลังกายกลางแจ้งอย่าง ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน แตะตะกร้อ เล่นฟุตบอล ฯลฯ ขึ้นอยู่กับความชอบ และต้องไม่กระทบกับร่างกายหรือโรคประจำตัวที่เราเป็นอยู่ นอกจากนี้การกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ก็เป็นสิ่งที่ช่วยเสริมสร้างให้สุขภาพแข็งแรงได้เช่นกัน โดยให้ยึดหลักที่ว่า กินผักให้เกินครึ่งหนึ่งของจานอาหาร ที่ลืมไม่ได้ต้องมีการพักผ่อนอย่างเพียงพอ 6-12 ชั่วโมง

ส่วนการดูแลสุขภาพองค์รวมด้าน “จิตใจ” นั้น สิ่งที่ดีที่สุดคือการหาเวลาว่างเพื่อไปพักผ่อน หรือเลือกทำกิจกรรมนันทนาการที่เราชอบ เช่น ช่วงนี้ที่โควิดกำลังระบาด ก็ขอให้คิดว่ามันเป็นช่วงเวลาที่ดีอย่างหนึ่งที่ลูกหลานจะได้ทำกิจกรรมร่วมกับบุคคลอันเป็นที่รัก ไล่มาถึงการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมด้าน “จิตสังคม” หมายถึงการมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนหรือคนรอบข้าง เช่น ในช่วงที่โควิดกำลังระบาด ก็สามารถคุยกันผ่านทางออนไลน์ เช่น การวิดีโอคอลหากัน หรือการพูดคุยผ่านโปรแกรมซูม โดยที่ไม่ต้องออกไปเจอกัน ซึ่งเป็นการเว้นระยะห่างทางสังคมที่ดี

ส่วนการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมอันสุดท้ายคือ “จิตวิญญาณ” ซึ่งหมายถึงการดูแลจิตใจหรือจิตวิญญาณของเรา ซึ่งนอกจากการหมั่นทำสมาธิ ทำบุญตักบาตรแล้ว ส่วนตัวอาจารย์ก็ได้สวดมนต์ก่อนเข้านอน ซึ่งทำให้เราสงบมากขึ้น และเป็นการดูจิตวิญญาณของเราที่สามารถทำได้ง่ายๆ หากเราตั้งใจที่จะลงมือปฏิบัติให้ได้อย่างสม่ำเสมอ สำหรับผู้ที่พยายามสวดมนต์ไหว้พระแล้ว หากจิตใจของเรายังไม่สงบนั้น สิ่งที่ดีที่สุดคือการหันกลับมาฝึกจิตให้เข้มแข็ง ซึ่งในที่นี้คือการปล่อยวาง เช่น บางคนมีปัญหาเรื่องธุรกิจปิดกะทันหันในช่วงที่โควิดระบาดที่ผ่านมา ดังนั้นถ้าเรารู้จักการปล่อยวาง ประกอบกับการที่เรามีประสบการณ์ในการใช้ชีวิตอยู่แล้ว วิธีนี้จะยิ่งเป็นการฝึกจิตของเราให้เข้มแข็ง และเอาชนะปัญหาที่เกิดขึ้น กระทั่งหาทางออกเจอ หรือรู้จักการปรับแผนการดำเนินชีวิตรูปแบบใหม่ที่ดีกว่าเดิมได้.

27 October 2564

ที่มา ไทยโพสต์

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 396

 

Preset Colors