02 149 5555 ถึง 60

 

ผลวิจัยเผยยาต้านอาการซึมเศร้าราคาถูก ช่วยลดความเสี่ยงเข้า ร.พ.ในผู้ป่วยโควิด

ผลวิจัยเผยยาต้านอาการซึมเศร้าราคาถูก ช่วยลดความเสี่ยงเข้า ร.พ.ในผู้ป่วยโควิด

ผลการศึกษาเพื่อทดสอบว่ายาที่มีการใช้กันอยู่ในปัจจุบันจะสามารถนำมาใช้รักษาอาการผู้ป่วยเนื่องจากติดเชื้อไวรัสโคโรนาได้หรือไม่แสดงให้เห็นว่า ยารักษาอาการซึมเศร้าซึ่งมีราคาถูกช่วยลดความจำเป็นในการเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลในกลุ่มผู้ป่วยโควิด-19 ที่เป็นผู้ใหญ่ซึ่งมีความเสี่ยงสูงได้

นักวิจัยได้ทดสอบยาซึ่งใช้ในการรักษาโรคซึมเศร้าและโรคย้ำคิดย้ำทำกับผู้ป่วยโควิด-19 เนื่องจากเป็นที่ทราบกันว่ายาดังกล่าวสามารถช่วยลดอาการอักเสบ และดูเหมือนผลการทดสอบในกลุ่มเล็กจะทำให้เกิดความหวังที่ดี

นักวิจัยได้ทดสอบยารักษาอาการซึมเศร้ากับชาวบราซิลเกือบ 1,500 คนซึ่งติดเชื้อโควิด-19 และมีความเสี่ยงที่จะมีอาการป่วยหนักเนื่องจากปัญหาทางด้านสุขภาพอื่นๆ อาทิเป็นเบาหวาน โดยครึ่งหนึ่งได้รับยาต้านอาการซึมเศร้าที่บ้านเป็นเวลา 10 วัน ส่วนอีกครึ่งได้รับยาหลอก ก่อนจะติดตามผลหลังจากได้รับยาไปแล้ว 4 สัปดาห์

ผลการวิจัยพบว่ากลุ่มที่ได้รับยาจริง 11% จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลหรือขยายเวลาในการรักษาตัวในหอพักผู้ป่วยหนัก เมื่อเทียบกับผู้ที่ได้รับยาหลอกซึ่งสัดส่วนการรักษาตัวในโรงพยาบาลอยู่ที่ 16% โดยได้มีการตีพิมพ์ผลวิจัยดังกล่าวในวารสารการแพทย์แลนเซทเมื่อวันพุธที่ผ่านมา

คำถามที่ยังคงมีอยู่คือจำนวนโดสที่ดีที่สุดในการจ่ายยาให้กับคนไข้ รวมถึงกรณีของคนไข้ที่มีความเสี่ยงต่ำจะได้รับประโยชน์จากการทานยาชนิดนี้ด้วยหรือไม่ และยาดังกล่าวจะสามารถนำไปใช้ร่วมกับการรักษาอื่นๆ อย่างไร

ขณะนี้กลุ่มนักวิจัยดังกล่าวได้มีการแบ่งปันผลการทดสอบกับสถาบันสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐ ซึ่งทำหน้าที่ตีพิมพ์เผยแพร่คำแนะนำ้เกี่ยวกับการรักษาโรคต่างๆ และพวกเขายังหวังว่าองค์การอนามัยโลกจะให้คำแนะนำการใช้ยาชนิดนี้กับผู้ป่วยโควิด-19 ต่อไป

ดร.เอ็ดเวิร์ด มิลส์ จากมหาวิทยาลัยแมคมาสเตอร์ในฮามิลตัน รัฐออนแทรีโอ ประเทศแคนาดา หนึ่งในผู้ร่วมศึกษาวิจัยนี้กล่าวว่า หากองค์การอนามัยโลกให้การรับรองเชื่อว่าจะมีการใช้ยานี้อย่างแพร่หลาย เพราะปัจจุบันประเทศยากจนจำนวนมากมียาชนิดนี้อยู่แล้ว เราจึงหวังว่ามันจะนำไปสู่การช่วยรักษาชีวิตผู้คนจำนวนมากได้

ทั้งนี้หากนำยายาฟลูวอกซามีน (Fluvoxamine) ซึ่งเป็นยาที่ใช้ในการรักษาโรคซึมเศร้ามาใช้รักษาผู้ป่วยโควิด-19 จะคิดเป็นค่าใช่จ่ายเพียง 4 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 135 บาทเท่านั้น เมื่อเทียบกับการรักษาด้วยการให้ยาเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันผ่านสายน้ำเกลือ (Antibody IV treatment) ที่ค่าใช้จ่ายจะสูงถึง 2,000 ดอลลาร์ หรือราว 67,000 บาท ขณะที่การใช้ยาต้านไวรัสโมลนูพิราเวียร์ของบริษัทยาเมอร์คจะตกอยู่ที่ราว 700 ดอลลาร์ หรือ 23,450 บาทต่อคอร์ส อย่างไรก็ดีผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าจะต้องมีการใช้วิธีที่หลากหลายร่วมกันในการรับมือกับไวรัสดังกล่าว

28 October 2564

ที่มา มติชนรายวัน

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 3398

 

Preset Colors