02 149 5555 ถึง 60

 

พ่อแม่ควรรู้! "รักลูก" แสดงออกแบบไหนให้เหมาะสม?

พ่อแม่ควรรู้! "รักลูก" แสดงออกแบบไหนให้เหมาะสม?

ชวนดูวิธี "สอนลูก" ให้รู้จักป้องกันตัวเองจากการ "ล่วงละเมิดทางเพศ" พร้อมคำแนะนำแก่พ่อแม่ ผู้ปกครอง ถึงวิธีการแสดงความรักต่อลูกอย่างสร้างสรรค์

จากกรณีโปรดิวเซอร์เพลงชื่อดังของเมืองไทยถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นการแสดงออกความรักต่อลูกที่ดูไม่เหมาะสม โดยแม้ว่าล่าสุดวันนี้ (27 ต.ค. 64) เวลา 14.00 น. เจ้าตัวจะโพสต์ผ่านอินสตาแกรมส่วนตัว ชี้แจงว่า ขอบคุณทุกความคิดเห็นของสังคม อีกทั้งยังมองเหตุการณ์ครั้งนี้ให้เป็นอุทาหรณ์แก่สังคม เรียนรู้การเลี้ยงลูกอย่างเหมาะสมไปพร้อมๆ กัน เพื่อให้เด็กโตไปอย่างมีคุณภาพ โดยไม่มีอะไรติดค้างเป็นปมในใจ

อย่างไรก็ตาม กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนรู้วิธีสอนลูกให้เข้าใจ เมื่อโดนสัมผัสร่างกายที่ไม่เหมาะสม ควรมีวิธีป้องกันอย่างไร? พร้อมคำแนะนำวิธีการแสดงความรักต่อลูกอย่างสร้างสรรค์

1. สอนลูกให้รู้ โดนสัมผัสส่วนไหนของร่างกาย = คุกคามทางเพศ?

ก่อนอื่นขอชวนทำความเข้าใจก่อนว่า ทำอย่างไรให้ลูกรู้ว่า เมื่อโดนสัมผัสส่วนไหนของร่างกาย เท่ากับการถูกคุกคามทางเพศ?

โดยขอแบ่งระดับความปลอดภัย และระดับความอันตราย เป็น 3 สี ด้วยกัน ดังนี้

สีแดง = จุดที่ไม่ควรสัมผัส

ร่างกายโซนสีแดง: ปาก หน้าอก อวัยวะเพศ

คำแนะนำ: ควรบอกเด็กว่า หากโดนคนแปลกหน้าสัมผัสร่างกายส่วนต่างๆ นี้ ต้องเรียกร้อง ส่งเสียง ขอความช่วยเหลือโดยด่วนที่สุด

สีเหลือง = จุดที่อาจไม่ชอบ

ร่างกายโซนสีเหลือง: ศีรษะ หน้า คอและไหล่ ท้อง ต้นขา ขา

คำแนะนำ: ควรบอกเด็กว่า หากโดนคนแปลกหน้าสัมผัสร่างกายในส่วนนี้ หากตั้งสติได้และรู้สึกว่าไม่ชอบ ให้รีบเอาตัวออกห่างจากคนนั้น

สีเขียว = จุดที่สามารถสัมผัสได้

ร่างกายโซนสีเขียว: มือทั้งสองข้าง

คำแนะนำ: หากมีคนแปลกหน้ามีสัมผัสที่ร่างกายบริเวณนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นสัญญาณว่าไว้ใจได้ แต่หากเกิดความรู้สึกไม่แน่ใจก็ให้ออกห่างจากคนนั้น

พ่อแม่ควรรู้! "รักลูก" แสดงออกแบบไหนให้เหมาะสม?

2. วิธีสอนเด็ก ควรทำอย่างไร หากโดนล่วงละเมิด

หากพบว่าลูกของคุณถูกคุกคามทางเพศ พ่อแม่ควรตั้งสติให้ดี แล้วเรียนรู้วิธีรับมือจากเพจ "สารพันปัญหาการเลี้ยงลูก" ที่มีคำแนะนำเอาไว้ดังนี้

บอกเด็กว่า “ห้ามใครแตะต้อง” ส่วนที่อยู่ใต้เสื้อผ้า

ผู้ใหญ่หลายคนมักชอบใช้ความเอ็นดู ความรู้สึกว่าน่ารัก ในการจับ จูบ ลูบ คลำ โดยที่เด็กไม่ยินยอม หากรู้สึกว่ากำลังโดนทำเกินไปจนเป็นการคุกคาม ให้รีบหนีออกมาให้ไวที่สุด

หากถูกล่วงเกิน ต้อง “ไม่เก็บเป็นความลับ”

การโดนคุกคามโดยเฉพาะการคุกคามทางเพศ เป็นสิ่งที่ไม่ควรเก็บเป็นความลับ หากคนที่สัมผัสเราเป็นคนแปลกหน้า ต้องบอกพ่อแม่ให้รู้เสมอ ยิ่งถ้าคนนั้นเป็นคนแปลกหน้า และยื่นข้อเสนอให้รักษาความลับ ยิ่งต้องรีบบอกผู้ปกครองให้ไวที่สุด

ให้ใช้คำว่า “ไม่ หยุด ห้าม” ในการหยุดสถานการณ์

เมื่อถูกคุกคามจนรู้สึกไม่ปลอดภัย ให้เด็กใช้คำพูดเหล่านี้ในการหยุดยั้งสถานการณ์ “ไม่ได้ หยุดนะ ห้าม ไม่เล่นด้วยแล้ว” เพื่อให้สถานการณ์ที่เผชิญอยู่ไม่ดำเนินต่อไป

ห้ามบังคับลูกให้ “สัมผัส กอด จูบ” ใครโดยไม่เต็มใจ

หากต้องไปเจอญาติ ผู้ใหญ่ ลูกค้า หรือคนที่เด็กไม่คุ้นเคย อย่าบอกเด็กว่าให้ไปกอด จูบ สัมผัส หรือทำสิ่งต่างๆ กับคนที่เด็กรู้สึกว่าไม่เต็มใจจะแสดงออก ไม่อย่างนั้นอาจทำให้เด็กโตไปแล้วมีปมในใจ

สอนให้จำขึ้นใจว่า “การถูกล่วงละเมิด เป็นสิ่งที่อันตราย”

ไม่ว่าจะเป็นคนที่เห็นหน้าเห็นตากันบ่อยๆ หรือเป็นคนแปลกหน้า บางทีอาจเข้ามากับจุดความประสงค์ที่ไม่ดี หากเกิดความรู้สึกไม่มั่นใจ ให้รีบหนีออกมาจากตรงนั้นให้ไวที่สุด

สร้างความไว้วางใจให้ลูก “คุยได้ทุกเรื่อง”

หากเด็กรู้สึกว่ามีความสนิทชิดเชื้อ เกิดความไว้วางใจกับพ่อแม่ของตน ลูกจะอยากพูดคุยกับพ่อแม่ในทุกๆ เรื่อง รู้สึกปลอดภัย และไม่เกิดความกลัวเมื่อเล่าเรื่องต่างๆ ให้ฟัง

3. วิธีแสดงความรักต่อลูกอย่างสร้างสรรค์

จากประเด็นที่เกิดขึ้นในสังคมทำให้เข้าใจว่า พ่อแม่สมัยใหม่หลายคนอาจยังมีความเข้าใจไม่มากพอในการแสดงความรักกับลูกในช่วงวัยเด็ก

แล้วการแสดงออกซึ่งความรักต่อเด็กแบบไหนที่เหมาะสม? มีคำตอบจาก เกลล์ คอร์นวอลล์ นักเขียนผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเรื่องแม่และเด็กที่มีชื่อเสียงในสหรัฐฯ ได้ให้คำแนะนำไว้ ดังนี้

พูดคำที่แสดงออกถึงความรัก ด้วยความจริงใจ ชื่นชมเมื่อทำสิ่งที่ถูกต้อง ทำด้วยความพยายาม รับฟังด้วยคำพูดปลอบโยนอย่างเป็นกลาง

ใช้เวลาร่วมกันกับลูก เมื่อมีเวลาอยู่ด้วยกัน ต้องให้ความสนใจกิจกรรมที่ลูกทำ ไม่ว่าจะเป็นการทานข้าว อาบน้ำ อ่านนิทานก่อนนอน ดูการ์ตูน อีกทั้งเป็นที่ปรึกษาที่ดีเมื่อลูกมีปัญหา

ให้ความช่วยเหลือเมื่อลูกต้องการ หรือแบ่งให้ลูกช่วยเหลือภาระนิดหน่อย อาจเป็นความภูมิใจของลูกที่ทำให้พ่อแม่เหนื่อยน้อยลง ซึ่งจะทำให้ลูกรู้สึกสบายใจ และเมื่อลูกต้องการความช่วยเหลือ หากพ่อแม่ให้การรับฟังอย่างเต็มที่ ลูกก็จะรู้สึกว่าพ่อแม่เป็นห่วงเป็นใยอย่างแท้จริง

สัมผัสร่างกายอย่างเหมาะสม เพื่อให้ลูกรับรู้ถึงความรัก การกอด แสดงความเป็นห่วงด้วยการไม่ปล่อยปละละเลย และเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดไม่ให้พ้นไปจากสายตา

ให้ของขวัญเป็นบางโอกาส เพื่อเป็นรางวัลแก่จิตใจ เช่น ในวันพิเศษอย่างวันเกิด วันผลสอบออก หรือเมื่อลูกมีสิ่งดีๆ เกิดขึ้นกับตัวเอง

4. คำแนะนำสำหรับการโพสต์รูปลูกบนโซเชียล

ในยุคปัจจุบันพ่อแม่มือใหม่ก็เป็นคนรุ่นใหม่จำนวนมาก ซึ่งมีการใช้โซเชียลมีเดียอยู่เป็นประจำ ไม่ต่างกับคนทั่วไปที่จะชอบอัพรูปเพื่อบอกให้เพื่อนๆ รับรู้ถึงความเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวัน

แต่บางทีผู้เป็นพ่อแม่ก็อาจลืมไปว่า การโชว์ภาพลูกลงบนโซเชียลมีเดียนั้น เป็นดาบสองคม หลายกรณีทำให้เกิดผลเสียกับเด็ก ไม่ว่าจะเป็นความอันตราย ทำให้เด็กเติบโตมาอย่างไม่เป็นธรรมชาติจากการคุมความน่ารัก หรือกระทบกับจิตใจเด็ก เป็นต้น

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ให้คำแนะนำในประเด็นนี้ว่า วิธีการโพสต์ภาพเด็กที่ดี มีดังนี้

พ่อแม่ควรคิดไตร่ตรองก่อนว่าภาพนั้น เป็นกิริยาที่ดูแล้วเหมาะสม รวมถึงดูท่าทาง การสวมเสื้อผ้าให้มิดชิดเรียบร้อยด้วย

หากเด็กเริ่มรู้ความ ในช่วงอายุ 2-3 ขวบ ควรถามเด็กก่อนว่า ชอบหรือไม่ หากจะนำไปเผยแพร่ให้เพื่อนๆ ของพ่อแม่บนโซเชียลมีเดียรับรู้

ให้ลองคิดก่อนโพสต์ว่า ถ้าหากเป็นตัวเองในภาพนั้น ที่กำลังทำการกระทำนั้นอยู่ หากเป็นตัวเราจะชอบหรือไม่

ส่วนข้อมูลที่ไม่ควรเผยแพร่เลย ก็คือ ข้อมูลส่วนตัวที่สามารถระบุตัวตนได้อย่างชัดเจน ควรให้ครอบครัวหรือญาติเท่านั้นที่สามารถรับรู้สิ่งเหล่านี้ได้

28 October 2564

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 950

 

Preset Colors