02 149 5555 ถึง 60

 

หมอช่วยแนะ ไขทุกข้อสงสัย เมื่อวัยเรียน ลังเลกับ "วัคซีน mRNA"

หมอช่วยแนะ ไขทุกข้อสงสัย เมื่อวัยเรียน ลังเลกับ "วัคซีน mRNA"

หมอช่วยแนะ "วัคซีน mRNA" ได้มีการใช้ฉีดให้กลุ่มเด็กวัยรุ่น ในทุกทวีปทั่วโลก มีผลวิจัยรองรับลดความเสี่ยง ลดความรุนแรง แนะพ่อแม่ผู้ปกครองและเด็กควรติดตามข้อมูลงานวิจัยเกี่ยวกับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่อัพเดตใหม่อย่างสม่ำเสมอ

“วัคซีน mRNA” รัฐนำมาใช้ฉีดวัยเรียนตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคม ที่ผ่านมา แต่ยังมีพ่อแม่ผู้ปกครองนักเรียน เกิดข้อสงสัยในเรื่องความปลอดภัยของการรับวัคซีนโควิด19 ในกลุ่มเยาวชนวัย 12-18 ปี ที่กำลังทยอยได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิด "mRNA" อยู่ในขณะนี้

เพื่อเป็นตัวช่วยให้ผู้ปกครองและเยาวชนที่กำลังลังเลในการเข้ารับ “วัคซีน mRNA” เราได้นำเสนอข้อมูลหลากหลายแง่มุมเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 ในกลุ่มเยาวชนอายุ 12-18 ปี จากกิจกรรมเสวนาออนไลน์ “One Health in the Virtual Park” ของเครือข่ายมหาวิทยาลัยสุขภาพหนึ่งเดียวแห่งประเทศไทย (THOHUN) ที่จัดขึ้นมาเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นด้านสุขภาพอย่างต่อเนื่อง โดยในครั้งนี้เป็นการเสวนาวาระพิเศษร่วมกับสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เพื่อแบ่งปันข้อมูลในหัวข้อ “วัคซีน mRNA ในเด็ก ดีจริงไหม อันตรายหรือไม่ ตัดสินใจยังไงดี"

ฉีดให้เด็ก ทำไมต้องวัคซีน mRNA

หลาย ๆ คนอาจสงสัยว่า ทำไมเยาวชนวัย 12 - 18 ปี จึงต้องฉีดวัคซีนป้องกันโควิด19 ชนิด mRNA ของไฟเซอร์ แทนที่จะเป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย (inactivated vaccine) อย่างซิโนแวค หรือวัคซีนชนิดใช้ไวรัสเป็นพาหะ (recombinant viral vector vaccine) อย่างแอสตร้าเซนเนก้า เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และกลุ่มผู้สูงอายุ

ศ.พญ.ธันยวีร์ ภูธนกิจ กุมารแพทย์จากภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวขยายความประเด็นนี้ในการเสวนาออนไลน์ว่า "วัคซีน mRNA" ได้มีการใช้ฉีดให้กลุ่มเด็กวัยรุ่นในทุกทวีปทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นในอเมริกา ละตินอเมริกา ยุโรป หรือในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์แล้ว ดังนั้นเราจะพบว่ามีข้อมูลมากเพียงพอต่อการตัดสินใจให้ใช้วัคซีน mRNA ในกลุ่มเด็กวัยรุ่น ส่วนการฉีดวัคซีนชนิดอื่น ๆ ในเด็ก ยังต้องรอต้องมีผลวิจัยและมีข้อมูลที่ชัดเจนมารองรับเสียก่อนศ.พญ.ธันยวีร์ ภูธนกิจศ.พญ.ธันยวีร์ ภูธนกิจ

โดยขณะนี้ ในประเทศไทยมีเพียงวัคซีนชนิด mRNA เท่านั้น ที่ได้รับอนุมัติจากอย.ให้สามารถใช้ในเด็กอายุ 12-17 ปีได้ และสาเหตุที่ยังไม่มีการขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 ชนิดอื่น ๆ นอกจากวัคซีนชนิด mRNA ให้ใช้กับเด็กอายุระหว่าง 12-17 ปี เป็นเพราะว่ายังไม่มีผลการวิจัย และหลักฐานเชิงประจักษ์สนับสนุนมากเพียงพอ

นอกจากนี้ ยังมีผลการศึกษาวิจัยเชิงประจักษ์ในกลุ่มเด็กวัยรุ่นในสหรัฐอเมริกา พบว่าเด็กที่ต้องเข้าโรงพยาบาลด้วยอาการของโรคโควิด-19 รุนแรง ล้วนเป็นเด็กที่ไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน ซึ่งเป็นสิ่งที่ยืนยันว่าการรับ "วัคซีน mRNA" ช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด 19 และการเกิดอาการป่วยรุนแรงจนต้องเข้าโรงพยาบาลได้ด้วย

วัคซีน mRNA กับภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ/เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ

แม้จะมีข้อมูลที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่าง ๆ ออกมายืนยันว่าวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิด mRNA มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อได้มากกว่าวัคซีนชนิดอื่น ๆ แต่ก็มีข้อมูลหลายกระแสเกี่ยวกับอาการข้างเคียงรุนแรงของผู้ที่ได้รับวัคซีนชนิดนี้ โดยมีบางรายที่พบว่าเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กและผู้ปกครองจำนวนไม่น้อย เกิดความลังเลที่จะพาบุตรหลานเข้ารับ "วัคซีน mRNA" ที่ถูกจัดสรรให้

ทั้งที่จริง ๆ แล้ว ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบนั้น สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ และการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เองก็เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้ออักเสบได้

โดยมีอัตราการเกิดอยู่ที่ 450 ใน 1,000,000 ราย ซึ่งนับเป็นอัตราที่มากกว่าการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบที่สูงกว่า ที่เกิดจากการฉีด "วัคซีน mRNA" ถึง 9 เท่า ซึ่งภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบที่เกิดจาก "วัคซีน mRNA" สามารถสังเกตได้ โดยมักจะเกิดหลังจากที่รับวัคซีนโดสที่สองไปแล้ว 3 - 7 วัน และมักมีอาการในเพศชายมากกว่า

อาจารย์ นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์อาจารย์ นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์

แม้จะมีโอกาสเกิดภาวะดังกล่าวขึ้นจริง แต่ อ.นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ อาจารย์และที่ปรึกษาด้านโรคหัวใจ ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ชี้แจงเกี่ยวกับประเด็นนี้ไว้ว่า ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบที่หลังจากการรับ "วัคซีน mRNA" นี้มีความรุนแรงน้อยกว่าภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากการติดเชื้อโควิด-19 และมีอาการที่แตกต่างจากหลอดเลือดหัวใจอุดตันในกลุ่มผู้ใหญ่ โดยจะมีอาการเจ็บหน้าอกและคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่ผิดปกติ และ 95 % ของผู้ป่วยจะเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงต่ำ มีอาการแล้วไม่รุนแรง หรือสามารถหายได้เอง

นอกจากนี้ ในช่วงการตอบคำถามจากทางบ้าน ศ.พญ.ธันยวีร์ และ อ.นพ.รังสฤษฎ์ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า วัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA เป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันการติดเชื้อและการเจ็บป่วยรุนแรงจากการติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งอาจมีส่วนป้องกันการเกิดอาการหลังจากติดเชื้อโควิด-19 (Post-COVID condition) เช่น กลุ่มอาการอักเสบหลายระบบในเด็ก (Multisystem Inflammatory Syndrome in Children, MIS-C), ภาวะที่พบผลกระทบระยะยาวของการติดเชื้อโควิด 19 (Long COVID) รวมทั้งสามารถป้องกันการติดเชื้อจากเชื้อกลายพันธุ์สายพันธุ์ต่าง ๆ รวมทั้งสายพันธุ์เดลตาได้ดี

หากเทียบกันแล้ว ประโยชน์ของการรับ "วัคซีน mRNA" ในกลุ่มเด็กอายุ 12-18 ปี ในเชิงการป้องกันการติดเชื้อ ลดอาการรุนแรงของโรค และลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 นั้น ถือว่ามีมากกว่าอัตราการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้น พ่อแม่ผู้ปกครอง และเด็กที่กำลังจะเข้ารับวัคซีนควรพิจารณาให้รอบคอบ

หากตัดสินใจแล้วว่าจะรับวัคซีน mRNA ต้องฉีดอย่างไรให้ปลอดภัย

สำหรับเยาวชนอายุ 12-18 ปีที่จะตัดสินใจรับ "วัคซีน mRNA" ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยมีคำแนะนำว่า เด็กชายและหญิงอายุ 16-18 ปี ทุกราย รวมถึงเด็กชายและเด็กหญิงอายุ 12-16 ปี ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรังที่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดโรคโควิด-19 รุนแรงอาจถึงเสียชีวิต ควรได้รับวัคซีนทั้ง 2 เข็ม สำหรับเด็กหญิงอายุ 12 - 16 ปี ควรได้รับวัคซีนทั้ง 2 เข็ม

ส่วนเด็กชายอายุ 12-16 ปีให้ฉีดเพียงเข็มเดียวก่อนแล้วให้พิจารณาตามอาการว่าจะฉีดเข็มที่ 2 หรือไม่ เนื่องจากเป็นช่วงอายุที่พบความเสี่ยงเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ/เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบมากที่สุด

ในขณะเดียวกัน ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค และผู้เชี่ยวชาญในคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2564 ระบุว่า เด็กชายอายุ 12 - 16 ปี สามารถฉีดวัคซีน mRNA ทั้ง 2 เข็มได้

ศ.พญ.ธันยวีร์ ภูธนกิจ ได้กล่าวถึงแนวทางการดำเนินการฉีด "วัคซีน mRNA" ในเด็กไว้ว่า ในประเทศไทย เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ควรฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 เพราะจะช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อเชื้อได้สูงกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่ป่วยหรือมีโรคประจำตัว ควรรับวัคซีน 2 เข็ม เนื่องจากหากเด็กกลุ่มนี้ หากติดเชื้อโควิด-19 จะมีโอกาสเข้าโรงพยาบาลและมีอาการรุนแรงมากกว่าเด็กปกติทั่วไป เราจึงแนะนำให้เด็กกลุ่มนี้วัคซีนเข็มที่ 2

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลและงานวิจัยเกี่ยวกับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ใหม่ ๆ มีการเผยแพร่ออกมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น พ่อแม่ผู้ปกครอง และเด็กควรติดตามข้อมูลที่อัพเดตใหม่อย่างสม่ำเสมอ

2 November 2564

ที่มา คม-ชัด-ลึก

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 4474

 

Preset Colors