02 149 5555 ถึง 60

 

DO & DON’T สร้าง Critical Thinking ให้เด็กในวัยเริ่มเรียนรู้

DO & DON’T สร้าง Critical Thinking ให้เด็กในวัยเริ่มเรียนรู้

ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์ เผยแนวทาง Do & Don’t ในการช่วยสร้าง Critical Thinking ให้กับเด็กไทยในวัยเริ่มเรียนรู้

“การคิดเชิงวิพากษ์” (Critical Thinking) หรือถ้าจะพูดให้เข้าใจง่ายคือ คิดอย่างมีวิจารณญาณ คิดอย่างเป็นขั้นเป็นตอน อยู่บนพื้นฐานของเหตุและผล เพื่อนำไปใช้ในการตัดสินใจ ประเมิน หรือแก้ปัญหาต่างๆ ถือเป็นอีกหนึ่งทักษะที่จำเป็นสำหรับการดำเนินชีวิตของเด็กยุคใหม่ แต่การเลี้ยงดูแบบเดิมๆ ที่ปิดกั้นทางความคิด การตีกรอบ การใส่ชุดข้อมูลสำเร็จรูป จากผู้ปกครองหรือแม้แต่ในระบบการเรียนการสอนในโรงเรียน ส่งผลให้เกิดปัญหาที่เรามักจะได้ยินมาโดยตลอด คือเด็กไทยไม่กล้าแสดงออก ไม่กล้าถามในเรื่องที่ตัวเองไม่เข้าใจ ขาดทักษะในการเชื่อมโยงเหตุผลอย่างถูกต้อง ซึ่งทัศนคติที่ปิดกั้นเหล่านี้ ส่งผลกระทบอย่างมากต่อกระบวนการเรียนรู้ของเด็กๆ

ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และประธานกรรมการ โรงเรียนนานาชาติเวลลิงตันคอลเลจ กรุงเทพฯ กล่าวว่า Critical Thinking มีความสำคัญและเป็นอีกทักษะที่จำเป็นสำหรับเด็ก สามารถฝึกฝนได้ และควรปลูกฝังตั้งแต่ยังเด็ก เพราะเป็นพื้นฐานด้านความคิดที่สำคัญ ซึ่งจะนำไปสู่การเรียนรู้แบบ Active Learning หัวใจของการเรียนรู้ในยุคที่ต้องทำงานร่วมกับปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งการปลูกฝังเรื่อง Critical Thinking ควรเกิดจากความร่วมมือของทุกฝ่ายทั้งจากที่บ้านและโรงเรียน โดย ดร.ดาริกา ในฐานะนักบริหารการศึกษาที่มีประสบการณ์ด้านการเรียนรู้ทั้งในระดับปฐมวัยและมหาวิทยาลัย ได้ให้แนวทาง Do & Don’t ในการช่วยสร้าง Critical Thinking ให้กับเด็กไทยไว้ดังนี้

DO - ปล่อยให้ทำ - ฝึกตั้งคำถาม - ทำซ้ำบ่อยๆ

“ปล่อยให้ทำ” เพราะการได้ทำด้วยตัวเองจะทำให้เกิดการเรียนรู้และเป็นประสบการณ์อันล้ำค่า แต่พ่อแม่หรือผู้ปกครองต้องประเมินแล้วว่าสิ่งนั้นไม่เป็นอันตราย ลูกสามารถทำได้ เช่น ถ้าลูกอยากใช้มือหยิบจับอาหารแทนการใช้ช้อน ถ้าลองแล้วร้อนก็จะเกิดการเรียนรู้ว่าควรใช้ช้อนตักแทน พ่อแม่มีหน้าที่ให้เหตุผลถึงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในรูปแบบการอธิบาย

“ฝึกตั้งคำถาม” การไม่กล้าถามในสิ่งที่ไม่เข้าใจ จะกลายเป็นปัญหาสำคัญต่อการเรียนรู้ในอนาคตของเด็กๆ ดังนั้นพ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือคุณครู ต้องปลูกฝังให้เด็กกล้าที่จะถามคำถาม หรือสอนว่าการยกมือถามในเรื่องที่ไม่เข้าใจไม่ใช่เรื่องผิด โดยอาจจะกล่าวชื่นชมเมื่อเด็กมีคำถาม ซึ่งจะสร้างความมั่นใจในการตั้งคำถามครั้งต่อไปให้กับเด็กๆ และกระตุ้นให้เด็กคนอื่นได้เห็นว่าการรู้จักตั้งคำถามไม่ใช่เรื่องน่าอาย

“ขอเหตุผล” ฝึกให้ลูกเริ่มใช้ความคิด เช่น ถ้าลูกอยากได้ของเล่น พ่อแม่ลองตั้งคำถามกลับไปว่า ขอเหตุผลสัก 3 ข้อ ว่าทำไมต้องซื้อของเล่นชิ้นนี้ หรือของเล่นชิ้นนี้ข้อดีอย่างไร เด็กก็จะเริ่มใช้ความคิดของตัวเองในการนำเสนอออกมา ทำให้พ่อแม่เห็นความคิดที่ลูกคิดอยู่

“ชวนแลกเปลี่ยน” เริ่มฝึกการคิดวิเคราะห์ด้วยการที่พ่อแม่หรือคุณครูลองหยิบยกเรื่องราวที่เกิดขึ้นในข่าวหรือสิ่งแวดล้อมรอบตัวมาพูดคุยร่วมกัน แล้วให้เด็กๆ ได้แสดงความคิดของตัวเอง วิธีนี้ฝึกให้เด็กๆ รู้จักการหาเหตุผลมาประกอบการพูดคุยถกเถียง และประเมินตัวเองว่าเหตุผลที่นำมาประกอบนั้นมีความน่าเชื่อถือในมุมมองของผู้อื่นหรือไม่

“ฝึกให้วิเคราะห์ด้วยตัวเอง” เด็กๆ ควรถูกปลูกฝังไม่ให้ปักใจเชื่ออะไรง่ายๆ แต่ต้องรู้จักหาข้อมูลประกอบ รับฟังจากหลายๆ ด้าน หรือทดลองลงมือทำด้วยตัวเอง เปิดใจกว้างรับความคิดเห็นที่หลากหลายจากผู้อื่น คิดตามอย่างวิเคราะห์ และใช้เหตุผลแยกแยะได้ว่าอันไหนเป็นข้อเท็จจริง

“ทำสม่ำเสมอ” การฝึกทักษะ Critical Thinking ให้ลูกน้อย ไม่จำเป็นต้องรอให้ลูกโตก่อน แต่สามารถเริ่มฝึกได้ตั้งแต่ลูกสามารถสื่อสารกับพ่อแม่ได้ และต้องฝึกบ่อยๆ ทำซ้ำๆ สม่ำเสมอ เพื่อให้เกิดเป็นทักษะที่ติดตัวเด็กๆ ที่จะส่งผลดีต่อการเรียนรู้ในอนาคต

DON’T : ห้ามทำ-ชี้นำ-คิดลบ อุปสรรคการพัฒนาทักษะเพื่ออนาคต

“ห้ามไปหมดทุกอย่าง” การออกคำสั่งให้หยุดการกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เด็กยังไม่ได้ลงมือทำ หรือการแสดงกิริยาไม่พอใจ อย่างการสั่งห้ามไม่ให้ใช้มือหยิบข้าวเพราะมันจะร้อน ถือเป็นการปิดกั้นความคิดเห็นของเด็ก และอาจจะทำให้เด็กไม่กล้าที่จะคิด ไม่กล้าที่จะทำ หรืออาจเกิดความอยากลองและกระทำลับหลังไม่ให้พ่อแม่รู้ ซึ่งอาจจะเกิดเหตุร้ายแรงตามมา

“ชี้นำ” เพราะการชี้นำเป็นการนำความคิดหรือเอาประสบการณ์ของตนเองในอดีตมาใส่ในชุดความคิดของเด็ก ซึ่งบางความคิดบางอย่างอาจใช้ไม่ได้ในยุคปัจจุบัน ทำให้เด็กไม่กล้าแสดงความคิดที่คิดอยู่นั้นออกไป และอาจนำไปสู่ความเข้าใจว่าสิ่งที่คิดนั้นผิด

“คิดลบ” การปลูกฝังให้เด็กไม่เชื่อในความคิดของผู้อื่น หรือมองว่าความคิดนั้นผิดและเป็นไปไม่ได้ เป็นสิ่งที่จะปิดกั้นความคิดและมุมมองใหม่ ๆ ดังนั้นพ่อแม่จึงควรปลูกฝังให้ลูกคิด วิเคราะห์ และหาเหตุผลว่าสิ่งต่าง ๆ ที่ได้ยินมานั้น มีความถูกต้องหรือไม่ก่อนการตัดสินใจ

การปลูกฝังการคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) เป็นชุดเครื่องมือทางความคิดที่สำคัญมากของเด็กไทยยุคปัจจุบันที่มีข้อมูลต่างๆ ให้เสพอยู่ในโลกออนไลน์มากมาย ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่สามารถนำเอาเทคนิคการปลูกฝังลูกน้อยให้มีหลักความคิดเชิงวิพากษ์ไปเพิ่มเป็นอีกหนึ่งทักษะเพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับลูกนำไปสู่การเรียนรู้แบบ Active Learning ที่มีความจำเป็นอย่างมากในการเรียนระดับที่สูงขึ้น

10 November 2564

ที่มา โพสต์ทูเดย์

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 438

 

Preset Colors