02 149 5555 ถึง 60

 

ไฟเซอร์เปิดตัวยาเม็ดโควิดเป็นค่ายที่ 2 เพิ่มความหวังสกัดไวรัสมรณะ

ไฟเซอร์เปิดตัวยาเม็ดโควิดเป็นค่ายที่ 2 เพิ่มความหวังสกัดไวรัสมรณะ

ไฟเซอร์เปิดตัว แพกซ์โลวิด ยาเม็ดรักษาโควิดตัวที่ 2 ต่อจากยาเม็ดรักษาโควิด โมลนูพิราเวียร์ ของบริษัทเมอร์ค ที่มีการยื่นขออนุมัติใช้ฉุกเฉินจากสำนักงานจัดการอาหารและยาของสหรัฐฯ ก่อนหน้านี้

ผลการทดลองพบว่า ยาแพกซ์โลวิด มีประสิทธิภาพดี สามารถลดโอกาสที่ผู้ป่วยความเสี่ยงสูงจะเข้าโรงพยาบาล หรือเสียชีวิตได้ 89% เมื่อใช้ยากับผู้ป่วยหลังจากติดเชื้อเพียง 3 วัน

ยาของทั้งสองค่ายเป็นยาที่ต้องรับประทานหลังพบว่าติดเชื้อในระยะแรกๆ โดยถูกออกแบบมาเพื่อใช้ลดอาการป่วยรุนแรงเช่นกัน แต่จะมีกลไกในการทำงานที่ต่างกัน

ในขณะที่สหรัฐฯ กำลังเตรียมรับมือกับการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ในฤดูหนาวนี้ ก็มีข่าวดีที่น่าจะช่วยให้ชาวสหรัฐฯ อุ่นใจขึ้น เมื่อบริษัทไฟเซอร์เผยผลการทดลองยาเม็ดรักษาโควิด-19 "แพกซ์โลวิด" ที่พบว่ามีประสิทธิภาพดี สามารถลดโอกาสที่ผู้ป่วยความเสี่ยงสูงจะเข้าโรงพยาบาล หรือเสียชีวิตได้ 89% เมื่อใช้ยากับผู้ป่วยหลังจากติดเชื้อเพียง 3 วัน แถมแง้มข่าวดีว่า อาจจะได้เริ่มใช้งานภายในสิ้นปีนี้ โดยอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลเตรียมยื่นขอให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐฯ อนุมัติใช้งานในกรณีฉุกเฉิน และหวังว่ายาตัวนี้ซึ่งควรใช้ร่วมกับยาต้านไวรัสที่มีอยู่ก่อนแล้วอย่าง ริโตนาเวียร์ จะถูกส่งถึงประชาชนให้สามารถใช้ได้ที่บ้าน ก่อนที่พวกเขาจะป่วยหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาล

นับว่า แพกซ์โลวิด เป็นยาเม็ดรักษาโควิดตัวที่ 2 ต่อจากยาเม็ดรักษาโควิด โมลนูพิราเวียร์ ของบริษัทเมอร์ค ที่มีการยื่นขออนุมัติใช้ฉุกเฉินจากสำนักงานจัดการอาหารและยาของสหรัฐฯ ก่อนหน้านี้ โดยทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐฯ มีกำหนดที่จะประชุมกันในวันที่ 30 พฤศจิกายน เพื่อประเมินความจำเป็นในการขึ้นทะเบียนเพื่อใช้งานฉุกเฉินของยาเม็ดรักษาโควิด โมลนูพิราเวียร์ ของบริษัทเมอร์ค และริดจ์แบ็ค ที่เป็นเจ้าแรกของโลกที่เปิดตัวยารักษาโควิด-19 โดยสหราชอาณาจักรเป็นประเทศแรกของโลกที่อนุมัติใช้ยาโมลนูพิราเวียร์สำหรับรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยเมอร์คระบุว่า ยาโมลนูพิราเวียร์ สามารถลดความเสี่ยงของผู้ป่วยในกลุ่มผู้ใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีโรคประจำตัว ในการเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล รวมทั้งลดความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตลง

ชาวอเมริกันจะได้เริ่มใช้ยาเม็ดต้านโควิด-19 เร็วที่สุดเมื่อไหร่

สำหรับยาเม็ดโมลนูพิราเวียร์ ของบริษัทเมอร์ค คาดว่า FDA ของสหรัฐฯ น่าจะอนุมัติการใช้งานหลังมีการประชุมหารือกันในคณะกรรมาธิการที่ปรึกษายาต้านจุลชีพในช่วงสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้ แต่ยังไม่แน่ชัดว่าจะมีการพิจารณารวมไปถึงยาเม็ดจากไฟเซอร์ด้วยหรือไม่

แพทย์หญิง แพทริเซีย คาวาซโซนี ผู้อำนวยการศูนย์ประเมินผลและวิจัยทางชีววิทยาของสำนักงานอาหารและยา ระบุในแถลงการณ์เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมาว่า ทางคณะกรรมาธิการจะนำข้อมูลทั้งหมดที่ได้มา มาประเมินความจำเป็นในการอนุมัติใช้งานในกรณีฉุกเฉิน โดยจะมีการรับฟังความเห็นของสาธารณชนต่อประเด็นนี้ รวมทั้งชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์ที่ได้รับจากยาเม็ดที่แสดงให้เห็นในการทดลองทางคลินิก กับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น

ขณะที่หน่วยงานสาธารณสุขของสหราชอาณาจักร ระบุว่า จากการทบทวนและพิจารณาอย่างเข้มงวด ได้ข้อสรุปว่า ยาเม็ดต้านโควิดของบริษัทเมอร์ค มีความปลอดภัย และมีประสิทธิภาพสำหรับคนที่มีความเสี่ยงที่จะมีอาการของโรคโควิดอย่างรุนแรง จนนำมาสู่การอนุมัติใช้งานในกลุ่มผู้ใหญ่ที่มีความเสี่ยง

ผลข้างเคียงของยา

บริษัทเมอร์ค เคยชี้แจงเกี่ยวกับผลข้างเคียงของยาเม็ดรักษาโควิดว่า จากการศึกษาผลข้างเคียงของยาเม็ดจริงเทียบกับยาหลอกที่ให้กลุ่มทดลอง พบว่า แทบจะไม่แตกต่างกัน โดยผลข้างเคียงที่พบมีทั้ง ท้องเสีย คลื่นไส้ วิงเวียนศีรษะ รวมทั้งปวดหัว ซึ่งเป็นผลข้างเคียงที่พบได้ทั่วไป ในอัตราส่วนราว 1 ต่อ 10 คน

นอกจากนี้จากการทดลองยากับสัตว์ในห้องแล็บเป็นเวลานาน และได้ให้ยาในปริมาณสูง ก็ไม่พบการกลายพันธุ์ หรือก่อให้เกิดความเป็นพิษต่อยีนของสัตว์เช่นกัน ดังนั้นจึงไม่มีแนวโน้มที่ยาตัวดังกล่าวจะสร้างความเสียหายให้แก่ดีเอ็นเอของผู้ป่วย

ขณะที่ บริษัทไฟเซอร์ ก็กล่าวถึงผลข้างเคียงของยาเม็ดที่บริษัทพัฒนาขึ้น ว่ามีผลข้างเคียงคล้ายคลึงกับยาหลอกที่ให้แก่ผู้ร่วมทดลองเช่นกัน ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีอาการรุนแรง โดยไฟเซอร์เตรียมที่จะตีพิมพ์ข้อมูลการทดลองอย่างละเอียดในเร็วๆ นี้ และมั่นใจในผลลัพธ์ที่ปลอดภัยของยา

ยาเม็ดของเมอร์ค และไฟเซอร์ แตกต่างกันหรือไม่

ยาเม็ดต้านโควิดจากทั้งของเมอร์ค และไฟเซอร์ เป็นยาแคปซูลที่ต้องรับประทานหลังจากผู้ป่วยตรวจพบว่าติดเชื้อได้ราว 3- 5 วัน และต้องกินยาวันละ 2 ครั้งติดต่อกัน 5 วัน โดยยาของทั้งสองค่ายถูกออกแบบมาเพื่อใช้ลดอาการป่วยรุนแรง ตั้งแต่พบการติดเชื้อในระยะแรกเช่นกัน แต่อาจจะมีกลไกในการทำงานต่างกัน

โดยยาต้านโควิดโมลนูพิราเวียร์ของบริษัทเมอร์ค ถูกพัฒนาขึ้นครั้งแรกโดยมหาวิทยาลัยอีโมรี ซึ่งมุ่งเป้าที่จะเจาะเข้าระบบของเชื้อไวรัสซาร์ส-โควี-2 ที่ก่อโรคโควิด-19 ในมนุษย์ จากนั้นจะมีการทำสำเนาโดยใช้เซลล์ในร่างกาย โดยตัวยาจะแฝงตัวในกระบวนการเพิ่มจำนวนของไวรัส ทำให้เกิดการสร้างสารพันธุกรรมชนิดกลายพันธุ์ทำให้ไวรัสไม่สามารถเพิ่มจำนวนได้ จนอาการของโรคไม่รุนแรงมาก

ส่วน ยาเม็ดแพกซ์โลวิด ของไฟเซอร์ ที่มีจุดประสงค์ในการเอาชนะการแพร่กระจายของไวรัสในร่างกาย โดยจะเพิ่มสารประกอบใหม่ที่แทรกตัวไปกับเอนไซม์ของไวรัส และปิดกั้นการเพิ่มจำนวนภายในเซลล์ที่ติดเชื้อ มุ่งเป้าไปที่ตัวไวรัสโดยเฉพาะ ซึ่งทางบริษัทระบุว่า ยาตัวนี้นับว่ามีศักยภาพสูงสุดในการจัดการกับไวรัสโควิด โดยยาตัวนี้มีส่วนผสมของยาริโตนาเวียร์ ซึ่งเป็นยารักษาเอชไอวีเอดส์ด้วยเล็กน้อย ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของยาในร่างกายให้ยาวนานขึ้น

โดยแม้ในเบื้องต้นทั้ง 2 บริษัทจะมุ่งเป้าไปที่การใช้ยาเม็ดเพื่อรักษาผู้ป่วยเสี่ยงสูง หลังจากติดเชื้อโควิดแล้ว แต่ในอนาคตทั้ง 2 บริษัทนี้ก็กำลังเดินหน้าทดลองใช้ยาเม็ดนี้เพื่อใช้เป็นยาป้องกันอาการป่วย สำหรับคนที่ได้ใกล้ชิดกับผู้ป่วยไวรัสโควิดด้วย

จะเข้าถึงยารักษาโควิดตัวนี้ได้อย่างไร

สำหรับประเทศอื่นๆ อาจจะต้องรออีกสักระยะ โดยจะมีสหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ที่จะนำร่องได้ใช้งานก่อน โดยทันทีที่ FDA ของสหรัฐฯ ได้อนุมัติใช้งาน แพทย์จะสามารถสั่งยาตัวนี้จากผู้ผลิต และจำหน่ายยาให้แก่คนไข้ได้โดยตรง โดยหน่วยงานสาธารณสุขส่วนกลางของสหรัฐฯ มีแผนที่จะควบคุมการแจกจ่ายยาของบริษัทเมอร์ค เพื่อให้หน่วยงานสาธารณสุขจะสามารถสั่งยากระจายไปยังแต่ละรัฐได้

โดยเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา รัฐบาลของนายไบเดน ประกาศว่า มีการเซ็นสัญญาตกลงสั่งซื้อยาโมลนูพิราเวียร์ของบริษัทเมอร์คในปริมาณที่เพียงพอที่จะรักษาชาวอเมริกัน 1.7 ล้านคนแล้ว ขณะที่ทางบริษัทเมอร์คระบุว่า จะสามารถผลิตยาสำหรับการรักษาต่อเนื่อง 5 วัน ได้จำนวน 10 ล้านชุด ภายในสิ้นปีนี้ และจะผลิตได้ถึง 20 ล้านชุดภายในปีหน้า

ขณะเดียวกันมีข่าวว่าทางการสหรัฐฯ ได้สั่งซื้อยาเม็ดจากไฟเซอร์เพิ่มเติมอีกหลายล้านชุด ซึ่งถ้าหากยาแพกซ์โลวิดได้รับการอนุมัติโดย FDA แล้ว ทางการสหรัฐฯ อาจจะนำยาเม็ดต้านโควิด แพกซ์โลวิดนี้มาใช้ในการรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทันที โดยโฆษกของไฟเซอร์ระบุว่า ทางบริษัทได้ทุ่มงบถึง 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อขยายโรงงานผลิตยา โดยคาดว่าจะสามารถผลิตยาต้านโควิดได้มากกว่า 180,000 แพ็กภายในสิ้นปีนี้ และผลิตได้ถึง 21 ล้านแพ็ก ในครึ่งแรกของปีหน้า

คาดว่าความต้องการของยาต้านไวรัสน่าจะพุ่งสูงในช่วงที่เกิดการระบาดระลอกใหม่ในฤดูหนาวนี้ โดยในเวลานี้มีหลายรัฐในสหรัฐอเมริกาที่เริ่มพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น และทำให้มีผู้เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลเพิ่มมากขึ้น

นายแพทย์ไมเคิล แอนเดอร์สัน ที่ปรึกษาอาวุโสของทีมบริหารของนายโจ ไบเดน ระบุว่า ยาเม็ดต้านโควิด-19 น่าจะเป็นตัวเปลี่ยนเกมของแพทย์และหน่วยงานสาธารณสุข เพราะตัวยาจะเข้าไปแทรกซึมถึงภายในตัวคนไข้ ซึ่งจะช่วยในการรักษาได้ดีเยี่ยมมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ยอดเยี่ยมมาก.

10 November 2564

ที่มา ไทยรัฐ

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 321

 

Preset Colors