02 149 5555 ถึง 60

 

ลองโควิด (Long COVID) ผลกระทบระยะยาวจากโรคโควิด-19

ลองโควิด (Long COVID) ผลกระทบระยะยาวจากโรคโควิด-19

ภาวะ ‘โพสต์โควิด’ (Post-COVID Conditions) หรือ ‘ลองโควิด’ (Long COVID) คือ อาการที่ยังพบหลังจากติดเชื้อโควิด-19 ไปแล้ว 4 สัปดาห์ เกิดขึ้นได้กับทุกคนที่ติดเชื้อโควิด-19 แม้การเจ็บป่วยครั้งแรกจะไม่รุนแรง หรือไม่มีอาการเลยก็ตาม

ภาวะลองโควิดอาจส่งผล ทำให้เกิดการอักเสบของอวัยวะหลายระบบ (Multisystem Inflammatory Syndrome: MIS) มีอาการไข้ ถ่ายเหลว ช็อก และไตวาย ซึ่งมักพบอาการหลังหายป่วยโรคโควิด-19 แล้วประมาณ 2-4 สัปดาห์

ผู้ป่วยที่หายจากโรคโควิด-19 ควรออกกำลังกายเบาๆ ให้ร่างกายค่อยๆ ฟื้นตัวและกลับสู่สภาวะที่แข็งแรง พบแพทย์หลังจากป่วยแล้วภายใน 1-2 เดือน และตรวจสุขภาพอย่างละเอียด เพื่อป้องกันตัวเองจากภาวะลองโควิด

แม้คนส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อโควิด-19 จะดีขึ้นภายในไม่กี่สัปดาห์ แต่บางคนก็ประสบกับภาวะหลังโควิด-19 ด้วยอาการที่ต่อเนื่องยาวนานหลายเดือนนับจากการติดเชื้อครั้งแรก บางกรณีอาจเป็นอาการที่เกิดขึ้นใหม่ รวมไปถึงอาการเดิมที่กลับกำเริบขึ้นมาอีกภายหลัง ภาวะหลังโควิดเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนที่เคยติดเชื้อโควิด-19 แม้การเจ็บป่วยครั้งแรกจะไม่รุนแรงหรือไม่มีอาการเลยก็ตาม

ลองโควิด (Long COVID) คืออะไร

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค สหรัฐอเมริกา เรียกอาการที่ยังพบหลังจากติดเชื้อไปแล้ว 4 สัปดาห์ว่าภาวะ ‘โพสต์โควิด’ (Post-COVID Conditions) หรือ ‘ลองโควิด’ (Long COVID) โดยประกาศให้ เป็นความทุพพลภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจ ภายใต้พระราชบัญญัติผู้ทุพพลภาพชาวอเมริกัน (ADA) เมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2021 ที่ผ่านมา

ซึ่งผู้ป่วยลองโควิด พบว่ามีความผิดปกติทางสรีรวิทยาและระบบประสาท ระบบทางเดินหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือด และระบบไหลเวียนโลหิต สำหรับความบกพร่องทางจิตนั้น รวมไปถึงความเครียด สะเทือนใจ และความผิดปกติทางจิตใจและอารมณ์

อาการลองโควิด (Long COVID)

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของภาวะลองโควิด แต่ในส่วนของลักษณะอาการแสดงนั้น มีดังนี้

หายใจลำบากหรือหายใจถี่

อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย

อาการแย่ลงหลังจากทำกิจกรรมต่างๆ

มีปัญหาในการคิด ขาดสมาธิ

ไอ เจ็บหน้าอก

ปวดท้อง ท้องเสีย

ปวดศีรษะ วิงเวียน

ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว

ปวดข้อหรือกล้ามเนื้อ

นอนไม่หลับ

มีไข้

ผื่นขึ้น

อารมณ์แปรปรวน

การได้กลิ่นหรือรับรสผิดเพี้ยน

ประจำเดือนไม่ปกติ

ผลข้างเคียงต่ออวัยวะและผลกระทบจากการรักษาโรคโควิด-19

ผู้ป่วยบางรายที่มีอาการรุนแรงจากโรคโควิด-19 จะส่งผลข้างเคียงต่ออวัยวะต่างๆ ในร่างกาย รวมถึงภูมิต้านทานด้วยเช่นกัน ซึ่งอาจมีอาการนานหลายสัปดาห์หรือหลายเดือนหลังจากเจ็บป่วยจากโรคโควิด-19 ผลกระทบสามารถส่งผลแทรกซ้อนต่อระบบต่างๆ ของร่างกาย ทั้งหัวใจ ปอด ไต ผิวหนัง และสมอง ทั้งนี้ยังส่งผลให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานขึ้นโจมตีเซลล์ที่มีสุขภาพดีในร่างกายโดยไม่ได้ตั้งใจ เกิดภาวะอักเสบของอวัยวะหลายระบบ (Multisystem Inflammatory Syndrome: MIS) ทำให้มีอาการไข้ ถ่ายเหลว ช็อก และไตวาย ซึ่งมักพบอาการหลังหายป่วยจากโรคโควิด-19 แล้วประมาณ 2-4 สัปดาห์

นอกจากนี้การเจ็บป่วยหรือการรักษาตัวในโรงพยาบาล โดยเฉพาะผู้ป่วยรุนแรงที่ต้องรักษาในห้องผู้ป่วยหนัก หรือห้องไอซียู (ICU) อาจเกิดภาวะ ‘หลัง ICU’ (Post-Intensive Care Syndrome: PICS) กระทบต่อสุขภาพ เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง มีปัญหาเกี่ยวกับการคิดและการตัดสินใจ รวมถึงภาวะเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนใจ (PTSD) ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการเยียวยาและฟื้นฟู

การรักษาภาวะลองโควิด

อาการจากผลกระทบหลังการรักษาตัวในโรงพยาบาลมีความคล้ายคลึงกับอาการของผู้ป่วยเนื่องจากไวรัส หรือทั้งสองอย่างรวมกัน ดังนั้น ผู้ป่วยจึงควรสังเกตตัวเองหลังกลับจากโรงพยาบาล โดยปรึกษาแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยแยกออกจากโรคอื่นๆ ซึ่งแพทย์จะทำการซักประวัติ สอบถามอาการและผลกระทบที่มีต่อชีวิต ตรวจร่างกาย อาจมีการส่งตรวจเพิ่มเติม เช่น การตรวจเลือด ตรวจความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจ ตรวจการทำงานของหัวใจ เอกซเรย์ปอด ตรวจสมรรถภาพปอด ตรวจหาค่าการอักเสบของร่างกาย และอื่นๆ เพื่อทำการรักษาตามอาการอย่างถูกวิธีและมีประสิทธิภาพที่สุด

กรณีอาการเจ็บป่วยส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต แพทย์อาจพิจารณาส่งต่อไปยังแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการฟื้นฟูสภาพจิตใจ

การป้องกันภาวะลองโควิด

วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันภาวะหลังโควิด-19 คือ การป้องกันโรคโควิด-19 โดยเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยเร็วที่สุด ซึ่งนอกจากจะช่วยป้องกันการติดเชื้อแล้ว ยังช่วยปกป้องคนรอบข้างได้อีกด้วย รวมถึงการที่ต้องระมัดระวังตัวเองด้วยเช่นกัน ทั้งการเว้นระยะห่างทางสังคม การล้างมือบ่อยๆ และการสวมหน้ากากอนามัยอยู่เสมอ

ทั้งนี้ ยังมีคำแนะนำสำหรับผู้ป่วยที่หายจากโรคโควิด-19 ให้ออกกำลังกายเบาๆ ไม่ออกกำลังกายจนเหนื่อยเกินไป เพื่อป้องกันไม่ให้ปอดทำงานหนัก ควรให้ร่างกายค่อยๆ ฟื้นตัวและมีสุขภาพที่แข็งแรง ทั้งนี้ ขณะออกกำลังกายควรสังเกต อาการผิดปกติ เช่น เหนื่อยมากเกินไป แน่นหน้าอก ใจสั่น เวียนศีรษะ เหงื่อออกมากเกินปกติ หากมีอาการเหล่านี้ ควรหยุดออกกำลังกายทันที สำหรับผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปี หรือมีโรคประจำตัว ควรปรึกษาแพทย์ที่ดูแลอย่างใกล้ชิดก่อนออกกำลังกาย

11 November 2564

ที่มา ไทยรัฐ

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 1528

 

Preset Colors