02 149 5555 ถึง 60

 

วัยทอง: ชายอังกฤษแนะผู้ชายรู้จักสังเกตปัญหาสุขภาพจิตในวัยหมดประจำเดือน หลังสูญเสียภรรยาจากการฆ่าตัวตาย

วัยทอง: ชายอังกฤษแนะผู้ชายรู้จักสังเกตปัญหาสุขภาพจิตในวัยหมดประจำเดือน หลังสูญเสียภรรยาจากการฆ่าตัวตาย

สามีชาวอังกฤษที่สูญเสียภรรยาจากการฆ่าตัวตาย เรียกร้องให้ผู้ชายรู้จักสังเกตสัญญาณของปัญหาสุขภาพจิตที่เชื่อมโยงกับภาวะวัยทองของสตรี

ลินดา ซัลมอน วัย 56 ปี ฆ่าตัวตายเมื่อเดือน เม.ย. ปี 2020 หลังจากป่วยเป็นโรควิตกกังวลขั้นรุนแรงในช่วงการระบาดของโควิด-19

เดวิด สามีของเธอไม่เคยทราบมาก่อนว่า ภาวะวัยทองอาจกระตุ้นให้ภรรยาเกิดความคิดที่จะปลิดชีพตัวเองได้

เขากล่าวว่า “อาการทางกายเป็นสิ่งที่คุณอาจสังเกตเห็นได้ แต่อาการทางจิตใจเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น”

เดวิด ซัลมอน บอกว่า การได้เข้าใจเกี่ยวกับภาวะวัยทองมากขึ้น อาจช่วยรักษาชีวิตภรรยาของเขาเอาไว้ได้

วัยทองส่งผลอย่างไรต่อร่างกายผู้หญิง

ภาวะสมองล้าช่วงวัยหมดประจำเดือน คืออะไร

ความจริงเรื่องวัยทอง มนุษย์เมนส์ และการกีดกันทางเพศ

เดวิด จากมณฑลเวสต์ยอร์กเชียร์ เล่าว่า หลังจากภรรยาเสียชีวิตไปแล้ว เขาได้ดูรายการ Look North ของบีบีซี แล้วจึงตระหนักได้ว่าภาวะวัยทองอาจส่งผลต่อสุขภาพจิตได้

“ผมไม่รู้เลยว่ามันมีอาการอื่นพวกนี้ร่วมด้วย” เขาบอก

“ด้วยความสัตย์จริง ผมคิดว่าวัยทองจะทำให้มีแค่อาการร้อนวูบวาบ หรืออารมณ์แปรปรวนนิดหน่อย แล้วตอนที่ผมได้ดูรายการที่เน้นให้เห็นถึงเรื่องการฆ่าตัวตาย ผมก็ได้เข้าใจในตอนนั้น”

เดวิดเชื่อว่า หากเขาได้รู้เรื่องนี้มาก่อน เขาและภรรยาก็คงจะขอความช่วยเหลือที่จะช่วยรักษาชีวิตของเธอเอาไว้ได้

เดวิด เชื่อว่า ภาวะวัยทองเป็น “ปัจจัยสำคัญ” ที่ทำให้สุขภาพจิตของภรรยาเลวร้ายลง บวกกับความวิตกกังวลเกี่ยวกับโควิดที่ผลักดันให้เธอคิดสั้น

เรื่องน่าเศร้านี้เกิดขึ้นตอนที่อังกฤษเข้าสู่การล็อกดาวน์ทั่วประเทศ ตอนนั้นลินดา ซึ่งเป็นคุณแม่ลูกสอง ทำงานที่ซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่ง แต่เธอรู้สึกวิตกกังวลว่าอาจติดโควิดจากการไปทำงาน

เธอหยุดพักงานชั่วคราวจากโรควิตกกังวลที่ทวีความรุนแรงขึ้น ก่อนที่จะตัดสินใจจบชีวิตตัวเองในอีกหลายวันต่อมา

เดวิด ซึ่งใช้ชีวิตคู่กับภรรยามา 41 ปี บอกว่า เขาเชื่อว่า ภาวะวัยทองเป็น “ปัจจัยสำคัญ” ที่ทำให้สุขภาพจิตของเธอเลวร้ายลง บวกกับความวิตกกังวลเกี่ยวกับโควิดที่ผลักดันให้เธอคิดสั้น

รู้จักภาวะวัยทอง

วัยทอง (Menopause) คือ ภาวะที่สตรีเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน โดยรังไข่หยุดการผลิตไข่ ส่งผลให้ไม่มีประจำเดือนอีกต่อไป ผู้หญิงที่เข้าสู่วัยทองจะมีอายุเฉลี่ยประมาณ 45-55 ปี

การที่รังไข่หยุดทำงานทำให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนเพศหญิงที่เรียกว่า “เอสโตรเจน” ได้น้อยลง ซึ่งส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายและจิตใจ โดยที่อาการไม่พึงประสงค์ช่วงวัยทองอาจหายไปเมื่อเริ่มเข้าสู่วัยชรา หรืออาจคงอยู่ไปตลอดจนสิ้นอายุขัยก็ได้

ข้อมูลจากเว็บไซต์คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า สัญญาณที่บ่งบอกว่าผู้หญิงกำลังย่างเข้าสู่วัยทองนั้น อาจจะแสดงอาการล่วงหน้าประมาณ 3-4 ปี คือก่อนที่รังไข่จะหยุดทำงาน และหยุดผลิตฮอร์โมน นั่นคือ ประจำเดือนจะเริ่มมาผิดปกติ เช่น จะมาเดือนละ 2-3 ครั้ง หรือมาบ้างไม่มาบ้าง ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่ารังไข่ทำงานน้อยลง

แต่หากประจำเดือนขาดหายไปนาน 1 ปีเต็ม ก็แสดงว่ารังไข่ได้หยุดทำงานแล้ว และถือว่าได้เข้าสู่วัยทองอย่างสมบูรณ์ โดยเฉลี่ยผู้หญิงไทยจะหมดประจำเดือน เมื่ออายุประมาณ 48-50 ปี

อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างทางร่างกายของผู้หญิงทำให้ภาวะหมดประจำเดือนของแต่ละคนไม่เหมือนกัน โดยผู้หญิงประมาณ 15-20% จะไม่มีอาการไม่พึงประสงค์ใด ๆ นอกจากประจำเดือนหมดไปเฉย ๆ

อาการที่คนวัยทองพบบ่อย ได้แก่

ร้อนวูบวาบ หนาว ๆ ร้อน ๆ

ชาตามปลายมือ ปลายเท้า

หงุดหงิดง่าย โมโหง่าย ใจน้อย ซึมเศร้า

ช่องคลอดแห้ง แสบ บางรายมีอารมณ์ทางเพศลดลง

ปัสสาวะบ่อย และกลั้นปัสสาวะไม่อยู่

ผิวหนังแห้ง หนังศีรษะบาง ผมร่วง

มีปัญหาเรื่องการนอน นอนน้อย นอนไม่หลับ

อ้วนขึ้น เพราะระบบเผาผลาญในร่างกายทำงานได้น้อยลง

ผู้หญิงที่หมดประจำเดือนไปนานแล้ว มักพบปัญหากระดูกพรุน โรคหลอดเลือดหัวใจ และสมองเสื่อม

ไดแอน เดนซ์บริงค์ จากองค์กร Menopause Support ที่ให้ความช่วยเหลือสตรีที่มีภาวะวัยทอง ระบุว่า กรณีของลินดา “ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ” เพราะข้อมูลจากสมาคมสะมาริตันส์ (Samaritans) ในอังกฤษเผยให้เห็นว่า อัตราการฆ่าตัวตายสูงสุดในหมู่ผู้หญิง คือกลุ่มหญิงอายุระหว่าง 45 – 54 ปี

“ผู้หญิงส่วนใหญ่จะเข้าสู้วัยใกล้หมดประจำเดือนภายในอายุ 45 ปี และอายุเฉลี่ยของการเข้าสู่ภาวะวัยทองคือ 51 ปี”

ไดแอน ซึ่งปัจจุบันอายุ 55 ปี ได้ก่อตั้งองค์กร Menopause Support หลังจากเผชิญปัญหาหนักจากภาวะวัยทอง และไม่ได้รับความช่วยเหลือเท่าที่ควร

เธอเล่าว่า ปัญหาสุขภาพจิตของเธอเลวร้ายลงอย่างรวดเร็ว และต้องทนทุกข์กับโรควิตกกังวลอย่างรุนแรง ถึงขั้นที่เธอไม่สามารถออกจากบ้านได้

“ฉันเลิกรับโทรศัพท์ ฉันไม่กล้าเปิดซองจดหมาย เพราะในหัวฉันคิดว่าจดหมายทุกฉบับจะมีแต่ข่าวร้าย” ไดแอนเล่าถึงอาการในตอนนั้น

เธอเล่าว่าช่วงนั้นเธอมักตื่นขึ้นกลางดึกด้วยอาการแพนิก (panic attacks) แต่ก็รู้สึกหวาดกลัวเกินกว่าจะไปหาหมอ เพราะเธอคิดว่าตัวเองกำลังจะเป็นบ้า

ไดแอน บอกว่า หลังจากทนทุกข์มาได้ระยะหนึ่ง “ก็ถึงจุดหนึ่งที่ฉันจำได้ว่าตัวเองยืนอยู่ในห้องนอน แล้วคิดว่าถ้านี่คือชีวิตของฉัน ฉันก็ไม่อยากมีชีวิตอยู่อีกต่อไป”

การมีความคิดอยากฆ่าตัวตายผุดขึ้นมา ทำให้ไดแอนตัดสินใจไปพบแพทย์

หมอของไดแอนรู้ทันทีว่าพฤติกรรมของเธอเป็นผลมาจากภาวะวัยทอง และเริ่มรักษาเธอด้วยการให้ฮอร์โมนทดแทน (Hormone replacement therapy หรือ HRT)

ไดแอนบอกว่า องค์กรของเธอประสบความสำเร็จในการรณรงค์ให้บรรจุเรื่องภาวะวัยทองในหลักสูตรการเรียนในโรงเรียน เพื่อให้คนหนุ่มสาวมีความรู้ขั้นพื้นฐานเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งจะมีประโยชน์กับพวกเขาเมื่ออายุมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม เธอชี้ว่ายังมีความจำเป็นที่ต้องให้ความรู้เรื่องนี้กับคนทุกกลุ่มเพื่อให้พวกเขาสามารถช่วยเหลือตัวเอง คู่ครอง สมาชิกครอบครัว หรือเพื่อนฝูง และคนใกล้ตัวได้

เดวิดบอกว่า เขาอยากช่วยให้คู่รักและครอบครัวอื่น ๆ ได้รู้จักสังเกตอาการ เพื่อไม่ให้พวกเขาต้องเผชิญการสูญเสียแบบเดียวกับเขา

“เราต้องพูดคุยกันและทำให้ผู้คนตระหนักถึงเรื่องนี้ มันไม่ใช่แค่ด้านร่างกาย แต่เป็นเรื่องของจิตใจด้วย” เขากล่าว

“ถ้าคุณกำลังอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน ผมอยากบอกว่าจงช่วยภรรยาของคุณ กุมมือเธอไว้ และช่วยให้เธอผ่านพ้นมันไปให้ได้”

“คุณคงไม่อยากตกที่นั่งเดียวกับผม ไม่มีใครสมควรต้องเป็นแบบนี้”

16 November 2564

ที่มา ข่าวสด

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 798

 

Preset Colors