02 149 5555 ถึง 60

 

เมื่อวิถีชีวิตแบบ "มินิมอล" กลายเป็น “โรคจิต” เสพติดการทิ้ง

เมื่อวิถีชีวิตแบบ "มินิมอล" กลายเป็น “โรคจิต” เสพติดการทิ้ง

สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน แนวคิดแบบ "มินิมอล" หรือการมีข้าวของน้อยชิ้นเท่าที่จำเป็น ดูจะเป็นกระแสที่นิยมกันมากขึ้นเรื่อย ๆ นะคะ บ้านที่โล่งโปร่งจากข้าวของรกรุงรังอาจชวนให้รู้สึกสบายตาสบายใจ แถมยังทำให้ได้คิดด้วยว่าที่ผ่านมาเรามีภาระทางใจมากแค่ไหนจากการยึดสิ่งนั้นสิ่งนี้ไว้ในชีวิต แต่ในอีกทางหนึ่งญี่ปุ่นก็มีคนที่ “ป่วย” เพิ่มมากขึ้นเพราะเสพติดการทิ้งข้าวของจนถึงกับทิ้งสิ่งจำเป็นในชีวิตไปด้วยเช่นกัน

เพื่อนผู้อ่านเคยเป็นไหมคะ เวลาเดินทางไปไหนไกล ๆ แล้วพักในโรงแรม ได้เห็นห้องที่ไม่มีอะไรรกรุงรัง ดูโล่ง ๆ โปร่ง ๆ สบายตา แล้วคิดอยากให้บ้านเรามีบรรยากาศเช่นนี้บ้าง

ถ้ารู้สึกอย่างนี้ก็อาจเป็นไปได้ว่าเรากำลังสะสมข้าวของที่มากมายเกินจำเป็นอยู่ก็ได้ เช่น มีเสื้อผ้าเยอะจนไม่รู้ว่าจะใส่ตัวไหนดี ถ้าให้เลือกตัวที่ชอบที่สุดก็อาจจะเลือกไม่ได้ หรือบางคนอาจจะถ่ายรูปไว้เยอะมากจนไฟล์ภาพถ่ายล้นมือถือหรือคอมพิวเตอร์ แต่ถ้าให้เลือกรูปที่เป็นความทรงจำประทับใจ ก็อาจจะเลือกไม่ถูก หรือไม่รู้ว่ารูปที่ว่าไปอยู่ไหนแล้วท่ามกลางกองรูปถ่ายมหาศาล

ถ้าการ “มี” ทำให้เรามีความสุขจริง เราก็น่าจะหยุดแสวงหาเพิ่มได้แล้ว แต่ทำไมเราจึงยังแสวงหาโน่นนั่นนี่ไม่หยุดหย่อนอยู่อีก? คนที่มีข้าวของน้อยอธิบายว่า การมีมากเกินจำเป็นทำให้เราไม่รู้แล้วว่าอะไรคือสิ่งที่สำคัญจริง ๆ สำหรับเรา อีกทั้งใจเราก็แบกอะไรไว้เต็มไปหมดโดยไม่รู้ตัวแบบเดียวกับที่เราสะสมข้าวของ

ในขณะที่ชีวิตแบบมินิมอลคือ การลดข้าวของที่มีลงให้มากที่สุด เหลือไว้เพียงของที่จำเป็นจริง ๆ ซึ่งการมีของเท่าที่จำเป็นนี้เองจะทำให้ได้ใช้ชีวิตอย่างมีความหมายมากขึ้น เพราะการที่เราจะสามารถให้ความสำคัญกับอะไรได้จริง ๆ อยู่ที่การ “ลด” บางสิ่งลงไป ไม่ใช่ “เพิ่ม” บางสิ่งเข้ามา

คนญี่ปุ่นเมื่อพูดถึงมินิมอลแล้ว มักจะพูดถึงคำว่า “断捨離” (ดัน-ชา-หริ) สลับกันไปด้วย คำนี้หมายถึง ไม่เพิ่มข้าวของใหม่ ทิ้งของไม่จำเป็น และไม่ยึดติดกับข้าวของ แต่บางคนก็ว่า “มินิมอล” กับ “ดันชาหริ” เป็นคนละอย่างกัน เพราะ “มินิมอล” หมายถึงใช้ชีวิตแบบมีข้าวของให้น้อยที่สุด ส่วน “ดันชาหริ” หมายถึงลดของที่ไม่จำเป็นลง ซึ่งอย่างหลังนี้ถ้าทำมากเข้า ๆ สุดท้ายก็กลายเป็นมินิมอลได้เหมือนกัน

หนึ่งในมินิมอลลิสต์ชาวญี่ปุ่นที่โด่งดังก็คือ คุณซาซากิ ฟุมิโอะ ผู้เขียนหนังสือ “อะไรไม่จำเป็นก็ทิ้งไป ” เป็นหนังสือที่อ่านเพลินและจุดประกายเล่มหนึ่ง คุณซาซากิเองเคยเป็นคนที่บ้านรกมาก เคยคิดว่าข้าวของที่มีสะท้อนคุณค่าของตัวเองและทำให้มีความสุข แต่ในความเป็นจริงเขาไม่มีความสุขและคอยเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นอยู่เสมอ จนกระทั่งเขาลดปริมาณข้าวของลงและพบว่าชีวิตมีความสุขมากขึ้น และได้หันมาทบทวนว่าความสุขคืออะไรกันแน่

อีกคนหนึ่งที่หลายคนนึกถึงคงเป็นคุณคนโด มาริเอะ สาวผู้เขียนหนังสือขายดี “ชีวิตดีขึ้นในทุก ๆ ด้านด้วยการจัดบ้านแค่ครั้งเดียว” เธอยังมีซีรียส์จัดบ้านเปลี่ยนชีวิต (Tidying Up) ใน Netflix ด้วย แม้วิธีของคุณคนโดจะเกี่ยวกับการทิ้งข้าวของมากมายเกินจำเป็นออกไปจากบ้าน แต่เธอก็แนะให้เลือกเก็บของที่ชอบจริง ๆ ไว้ด้วย เธอจึงบอกว่าแนวทางของเธอต่างจากมินิมอล เพราะไม่ได้เกี่ยวกับการพยายามมีข้าวของให้น้อยที่สุด แต่เกี่ยวกับการใช้ชีวิตอยู่กับสิ่งที่ดีต่อใจเราจริง ๆ มากกว่า

ข้อดีของการมีข้าวของน้อยชิ้นมีหลายอย่าง เช่น ทำความสะอาดบ้านง่าย รู้สึกโล่งใจ มีเวลาเพิ่มขึ้น ไม่เอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่น ให้ความสำคัญกับสิ่งที่สำคัญจริง ๆ ได้ ไม่รอคอยความสุขแต่รู้สึกถึงความสุขที่มี และอื่น ๆ อีกมากมาย

ถ้าใครนึกอยากจัดบ้านให้หายรก อยากกวาดข้าวของมหาศาลออกไปจากบ้าน หรืออยากรู้ว่าถ้าบ้านรกน้อยลงแล้วชีวิตจะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นจริงไหม ลองหาหนังสือของกูรูสองท่านนี้มาอ่านดู น่าจะไม่ผิดหวัง

ระหว่างที่ฉันค้นข้อมูลมาเขียนเรื่องนี้อยู่ บังเอิญไปเจอเรื่องราวของผู้ชายคนหนึ่งที่เล่าว่า ตัวเขาเองก็อินกับการทิ้งข้าวของอยู่ช่วงหนึ่งเหมือนกัน จนปัจจุบันกลายมาเป็นมินิมอลลิสต์ไปด้วย ระหว่างคัดแยกสิ่งของเขาจะถามตัวเองว่า “อันนี้จำเป็นมั้ย?” “อันนี้จำเป็นต้องมีจริงรึเปล่า?” แล้วเหลือไว้เฉพาะของที่เขาคิดว่าจำเป็นสำหรับตัวเองจริง ๆ

ผลจากการเลือกเฟ้นของจำเป็นและไม่จำเป็นอย่างเข้มงวด ในที่สุดเขาก็เหลือเสื้อผ้าเพียงไม่กี่ตัวและห้องโล่ง ๆ ที่เต็มไปด้วยฟิเกอร์ตัวการ์ตูนที่เขาชอบ 105 ชิ้นเรียงรายราวกับพิพิธภัณฑ์…

เจ้าตัวเขาก็บอกว่าสงสัยจะเลยเถิดกว่าชาวบ้านเขาไปหน่อย รายการทีวีแห่งหนึ่งเลยเชิญไปออกรายการเสียเลยในฐานะมินิมอลลิสต์โอตาคุที่ไม่เหมือนใคร อันนี้ก็เล่าสู่กันฟังขำ ๆ นะคะ

ในทางจิตวิทยามองว่า หากทิ้งข้าวของที่ไม่จำเป็นแล้วสามารถใช้ชีวิตแบบปลอดโปร่งได้จริงก็ถือเป็นเรื่องดี แต่ปัญหาที่เกิดเพิ่มขึ้นในญี่ปุ่นพร้อมกับกระแสมินิมอลและดันชาหริก็คือ มีหลายคนที่เสพติดการทิ้งมากเกินไปจนไม่สบายใจหากไม่ได้ทิ้ง เลยถึงกับทิ้งสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวัน และสิ่งที่สร้างความสุขแก่คนในบ้านไปด้วย

อาการของคนที่เข้าข่ายเสพติดการทิ้งขนาดหนักมีด้วยกันหลัก ๆ สามอย่าง คือ 1) ทิ้งข้าวของของคนอื่น 2) ทิ้งกระทั่งสิ่งจำเป็น และ 3) มีเป้าหมายอยู่ที่การทิ้ง ว่ากันว่าหากเข้าข่ายข้อใดข้อหนึ่งก็เรียกได้ว่าเริ่มน่าเป็นห่วงแล้ว

ที่น่าสนใจคือ คนที่เกิดอาการเหล่านี้ส่วนใหญ่เคยเป็นคนที่ทิ้งไม่เป็นมาก่อน พวกเขาเอาแต่ปล่อยให้ห้องรกรุงรังจนไม่มีที่จะเดินหรือไม่ก็เต็มไปด้วยขยะ แม้ต่อมาจะกลับตาลปัตรกลายเป็นคน “ทิ้งแหลก” ได้ แต่นักจิตวิทยามองว่าสภาพจิตใจของพวกเขาตอน “ทิ้งไม่เป็น” กับ “ทิ้งแหลก” ไม่ได้ต่างกันเลย นั่นคือพวกเขามีความสามารถในการตัดสินใจต่ำมากว่ามีแค่ไหนถึงพอดีและเหมาะสมกับตัวเอง

ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น? นักจิตวิทยาอธิบายว่าสาเหตุเกิดจากการเป็นโรคซึมเศร้าหรือมีความโกรธลึก ๆ ในใจที่พัฒนามาจากความเครียด ทีนี้พอคนเหล่านี้เริ่มทิ้งข้าวของเป็น ก็พบว่าความไม่สบายใจหรือไม่พอใจที่เคยมีเพราะยึดติดหรือเพราะตัดสินใจไม่ได้มลายหายไป ความรู้สึกเป็นอิสระนั้นเองทำให้เกิดการหลั่งสารโดพามีนหรือเอ็นโดรฟิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนแห่งความสุขขึ้นมา

ยิ่งคนไหนมีความยึดติดในข้าวของรุนแรงหรือมีความสามารถในการตัดสินใจต่ำเท่าไหร่ ก็จะยิ่งรู้สึกถึง “ความสบายใจที่ได้ทิ้ง” รุนแรงตามไปด้วย และจะยิ่งอยากทิ้งโน่นทิ้งนี่มากขึ้นเรื่อย ๆ กลายเป็นเสพติดการทิ้งและหวาดกลัวการมีข้าวของไปแทน

คนที่พลอยทิ้งข้าวของของคนในบ้านไปด้วยนั้น มีแนวโน้มที่แต่เดิมจะมีความโกรธ ขัดเคือง หรือไม่สบายใจอยู่ก่อน อย่างเช่น คนเป็นแม่บ้านมักถูกคาดหวังให้เป็นคนทำความสะอาดหรือดูแลบ้านอยู่คนเดียว หรือบางคนก็อยากมีภาพลักษณ์เป็นแม่ที่ดีและเป็นที่รักของลูก ในบ้านเลยมีแต่ของใช้เด็กหรือตกแต่งบ้านแบบเน้นลูกเป็นศูนย์กลาง แต่ลึก ๆ แล้วตัวเองไม่ชอบ หรือบางคนก็กังวลเรื่องรายได้ เลยหาทางออกจากความเครียดหรือความต้องการลึก ๆ ในใจด้วยการทิ้งให้หมดทุกสิ่งอย่าง ว่ากันว่าคนที่เคยอาศัยอยู่กับพ่อแม่หรือปู่ยาตายายในบ้านที่รกรุงรังหรือเต็มไปด้วยขยะ ก็มีแนวโน้มจะเสพติดการทิ้งด้วยเช่นกัน

ยิ่งคนที่เคยห้องรกมากหรือไม่สามารถทิ้งข้าวของได้ จะยิ่งกลัวว่าถ้า “มี” ขึ้นมาเมื่อไหร่ ก็จะทำให้ตัวเอง “กลับไปเป็นแบบเดิม” อีก จึงฝังใจอยู่กับการ “ไม่มี” และทิ้งกระทั่งข้าวของที่จำเป็นไปด้วย แม้ว่าสิ่งเหล่านั้นจะกระทบต่อชีวิตครอบครัวและชีวิตสังคมของตนก็ตาม บางคนสูญเสียงานอดิเรกและชีวิตความเป็นอยู่ที่เคยดี กลายเป็นโรคซึมเศร้าก็มี หรือบางคนติดใจความรู้สึกโล่งใจจากการได้ทิ้งอยู่ช่วงหนึ่ง พอรู้สึกตัวอีกทีก็พบว่าทิ้งของจำเป็นไปเสียแล้ว ก็มานั่งเสียดายเสียใจทีหลัง

ถ้าเข้าข่ายว่าเป็นลักษณะนี้ก็คงต้องปรึกษากับจิตแพทย์ เพื่อหาสาเหตุและเยียวยาปมปัญหาที่อยู่ในใจ ซึ่งน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด แต่ก็ไม่ได้แปลว่าคนที่เป็นมินิมอลลิสต์หรือมีข้าวของน้อยชิ้นจะเป็นโรคเสพติดการทิ้งหมดทุกคนนะคะ ที่มีคาดว่าน่าจะเป็นส่วนน้อย

อย่างไรก็ตาม หลายคนพบว่าการใช้ชีวิตแบบพอเพียงและตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไป ทำให้ชีวิตลงตัวขึ้นมาก ถ้าเพื่อนผู้อ่านสนใจอาจลองศึกษาดูจากหนังสือสองเล่มที่แนะนำข้างต้น หรือค้นเพิ่มเติมทางอินเทอร์เน็ตดู น่าจะได้ไอเดียดี ๆ เยอะเลยค่ะ

แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีค่ะ.

22 November 2564

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 1321

 

Preset Colors