02 149 5555 ถึง 60

 

เปิด 3 งานวิจัย ชี้พิษสง “โอมิครอน”

เปิด 3 งานวิจัย ชี้พิษสง “โอมิครอน”

เมื่อเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์ตัวใหม่อย่าง “โอมิครอน” อุบัติขึ้น โดยที่มีตำแหน่งการกลายพันธุ์มากถึง 50 ตำแหน่ง และ พบการกลายพันธุ์เฉพาะในบริเวณ โปรตีนหนาม ถึง 32 ตำแหน่ง นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกพากันตระหนก ส่งผลให้เกิดกระบวนการศึกษาวิจัย เพื่อหาคำตอบที่เชื่อถือได้ว่า การกลายพันธุ์เหล่านั้น ส่งผลให้พฤติกรรมของไวรัสร้ายนี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง

ยิ่ง โอมิครอน แสดงให้เห็นถึงขีดความสามารถที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจนว่าสามารถแพร่ระบาดได้เร็วกว่า เชื้อกลายพันธุ์เดลต้า ที่แพร่ระบาดรุนแรงครอบงำไปทั่วโลกนับตั้งแต่กลางปีนี้ ความจำเป็นในการหาคำตอบว่า โอมิครอน ก่อให้เกิดอาการป่วยร้ายแรงได้สูงกว่าเชื้อเดลต้าหรือไม่ ก็ทวีความสำคัญตามไปด้วย

เมื่อเร็วๆ นี้ มีงานวิจัย 3 ชิ้นจากทีมวิจัย 3 ทีมใน 2 ประเทศเผยแพร่ออกสู่สาธารณะ แม้จะยังคงเป็นผลการศึกษาวิจัยเบื้องต้น ที่นักวิจัยในทีมย้ำเตือนเหมือนกันว่า ยังคงต้องมีการศึกษาต่อเนื่องอีกไม่น้อยจึงสามารถสรุปภาพรวมได้ชัดเจน แต่ผลลัพธ์ของงานวิจัยทั้ง 3 ชิ้นก็บ่งชี้ตรงกันว่า โอมิครอน มีความร้ายแรงในตัวมันเองน้อยกว่า เชื้อกลายพันธุ์เดลต้า

งานวิจัยสำคัญชิ้นแรก เป็นของ กลุ่มนักวิทยาศาสตร์จาก สถาบันโรคติดต่อแห่งชาติ (เอ็นไอซีดี) ของแอฟริกาใต้ ร่วมกับ นักวิชาการ จากมหาวิทยาลัย วิทวอเทอร์สแรนด์ และมหา วิทยาลัย ควาซูลู-นาทาล โดยมี ศาสตราจารย์ เชอริล โคเฮน เป็นหัวหน้าทีมวิจัย

งานวิจัยดังกล่าวพบว่า ผู้ที่ถูกวินิจฉัยว่า ติดเชื้อโอมิครอนในแอฟริกาใต้ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคมจนถึง 30 พฤศจิกายน มีแนวโน้มที่จะเกิดอาการป่วยหนักจนต้องเข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยในของโรงพยาบาลน้อยกว่า ผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่า ติดเชื้อกลายพันธุ์อื่นๆ ถึง 80 เปอร์เซ็นต์

ที่น่าสนใจยิ่งขึ้นก็คือ ผู้ที่เข้าโรงพยาบาลเพราะโอมิครอน ในช่วงเวลาดังกล่าว มีแนวโน้มที่จะมีอาการรุนแรงมากขึ้นน้อยกว่า ผู้ป่วยที่เข้าโรงพยาบาลเพราะติดเชื้อเดลต้า ในระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนพฤศจิกายน ถึง 70 เปอร์เซ็นต์

รายงานผลการวิจัยชิ้นที่สอง ตีพิมพ์เผยแพร่ในอีก 1 วันถัดมา เป็นของ อิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน โดยทีมวิจัยใช้วิธีวิเคราะห์ผลการตรวจหาเชื้อแบบพีซีอาร์ ในอังกฤษ ระหว่าง วันที่ 1-14 ธันวาคม ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือ ผู้ที่ได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อโอมิครอนจนต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลในช่วงเวลาดังกล่าว มีอัตราส่วนต่ำเพียง 20 เปอร์เซ็นต์ถึง 25 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น โดยเมื่อเทียบกับกลุ่มผู้ที่ติดเชื้อเดลต้าแล้ว ความเสี่ยงที่จะเข้าโรงพยาบาลของผู้ติดเชื้อโอมิครอนต่ำกว่า ผู้ติดเชื้อเดลต้า ระหว่าง 40-45 เปอร์เซ็นต์

งานวิจัยชิ้นที่สาม เป็นของมหาวิทยาลัยเอดินบะระ ในสกอตแลนด์ ซึ่งใช้วิธีการติดตามผู้ป่วย 125,500 คนที่ถูกวินิจฉัยว่าติดเชื้อโควิด-19 โดยในจำนวนนั้น มีผู้ติดเชื้อโอมิครอนอยู่ด้วย 22,205 คน โดยราวครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้ติดเชื้อโอมิครอนทั้งหมด เป็นประชากรอายุต่ำกว่า 40 ปี เมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนของผู้ที่ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลของกลุ่มที่ติดเชื้อกลายพันธุ์อื่นและกลุ่มที่ติดเชื้อโอมิครอนแล้ว พบว่า ผู้ที่ติดเชื้อโอมิครอนซึ่งจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลมีอัตราส่วนต่ำกว่าถึง 68 เปอร์เซ็นต์

ข้อสังเกตที่น่าสนใจก็คือ นักวิจัยทั้งในแอฟริกาใต้และในประเทศอังกฤษ ตรวจสอบพบตรงกันว่า มีข้อบ่งชี้ที่แสดงให้เห็นว่า วัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ใช้กันอยู่ ยังคงมีประสิทธิภาพในการป้องกันไม่ให้เกิดอาการป่วยหนัก นอกจากนั้น วัคซีนเข็มที่ 3 หรือบูสเตอร์ ก็ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันในเชิงป้องกันการติดเชื้อที่เคยลดต่ำลง กลับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งนำไปสู่คำเตือนของผู้เชี่ยวชาญที่เห็นว่า ผลการศึกษาวิจัยทั้ง 3 ชิ้นนี้ยังคงไม่สามารถชี้ขาดได้ว่า โอมิครอน มีความรุนแรงน้อยกว่าเชื้อเดลต้าจริงๆ ด้วยเหตุที่ว่า ความรุนแรงของเชื้อโอมิครอน อาจถูกบั่นทอนลงเนื่องจากวัคซีนที่ได้รับก่อนหน้านี้ ในกรณีของประเทศอังกฤษ หรือเนื่องจากภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการติดเชื้อโควิด-19 มาแล้วก่อนหน้านี้ ในกรณีของประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งมีสถิติการติดเชื้อโควิด-19 สูงถึงราว 70 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งประเทศ ในขณะที่ราว 30 เปอร์เซ็นต์ของประชากร ผ่านการฉีดวัคซีนครบแล้ว

ทีมวิจัยของเอ็นไอซีดี แห่งแอฟริกาใต้ เตือนด้วยว่า ช่วงเวลาในการเก็บข้อมูลของทีม เป็นช่วงเริ่มต้นของการแพร่ระบาด จำนวนผู้ติดเชื้อโอมิครอน ที่ได้รับการยืนยันแล้วยังอยู่ในระดับต่ำมาก ทั้งยังไม่มีการติดตามทุกกรณีอย่างต่อเนื่อง เพื่อดูว่า ผู้ป่วยโอมิครอนที่เคยแสดงอาการเพียงเล็กน้อย จะมีอาการหนักมากขึ้นจนต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลในภายหลังหรือไม่และเป็นจำนวนเท่าใด

ในขณะที่ มาร์ค วูลเฮาส์ ศาสตราจารย์ด้านโรคติดเชื้อของมหาวิทยาเอดินบะระ ซึ่งร่วมอยู่ในทีมวิจัยครั้งนี้ ชี้ว่า ถึงแม้อัตราส่วนที่ได้จากการวิจัยครั้งนี้จะได้รับการยืนยันว่าถูกต้องในภายหลัง แต่การที่โอมิครอน แพร่ระบาดเร็วมาก จนยอดติดเชื้อรวมพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ก็จะส่งผลให้มีผู้คนเป็นจำนวนมากต้องเข้าโรงพยาบาลในระยะเวลาอันสั้น

ทีมวิจัยทั้งของมหาวิทยาลัยเอดินบะระ และอิมพีเรียล คอลเลจ เตือนเอาไว้ตรงกันว่า ผลการวิจัยครั้งนี้ยังคงเป็นผลจากการวิจัยเบื้องต้น และขณะทำวิจัย โอมิครอน เพิ่งแพร่ระบาดได้ไม่นานในประเทศอังกฤษ ยังไม่ได้แพร่เข้าไปในประชากรทุกกลุ่มอายุ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงสุดที่จะเกิดอาการป่วยหนักและเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19

วิลเลียม ฮานาจ นักระบาดวิทยาจากสำนักสาธารณสุขที.เอช. ชานในสังกัดมหาวิทยาลัย ฮาร์วาร์ด ตั้งข้อสังเกตถึงผลการวิจัยทั้ง 3 ชิ้น เอาไว้ว่า แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ผู้ที่กลายเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงสุด คือ ผู้ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนมาเลยก่อนหน้านี้ เนื่องเพราะโอมิครอน แพร่ระบาดเร็วมาก ทำให้โอกาสที่ผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนจะติดเชื้อมีอยู่สูงมาก ในขณะเดียวกัน หากติดเชื้อก็จะไม่มีภูมิคุ้มกัน สำหรับบรรเทาอาการป่วยเหมือนคนกลุ่มอื่น ข้อสังเกตของนายแพทย์ ฮานาจ ก็คือ ถ้าหากใครไม่เคยได้รับวัคซีน และไม่เคยติดเชื้อมาก่อน ระดับความร้ายแรงของโอมิครอน เมื่อเทียบกับเดลต้า อยู่ในระดับต่ำกว่าเพียงเล็กน้อยเท่านั้นเอง

27 December 2564

ที่มา มติชนรายวัน

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 339

 

Preset Colors