02 149 5555 ถึง 60

 

ยุคโควิดโรคซึมเศร้าใกล้ตัวกว่าที่คิด

ยุคโควิดโรคซึมเศร้าใกล้ตัวกว่าที่คิด/ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

โรคซึมเศร้าไม่ใช่โรคใหม่ แต่เป็นโรคที่เข้ามาใกล้ตัวผู้คนมากขึ้นเรื่อยๆ และด้วยสภาพการณ์และวิถีชีวิตในยุคปัจจุบันก็เป็นตัวปลุกเร้าทำให้ผู้คนมีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้าได้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงวิกฤตโควิด-19 ส่งผลให้เด็กและเยาวชนจำนวนมากต้องเผชิญกับความเครียด ความกังวล และกลายเป็น "โรคซึมเศร้า"

ผลการประเมินสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นไทยโดยกรมสุขภาพจิต พบว่า ร้อยละ 28 ของเด็กและวัยรุ่นมีภาวะเครียดสูง ร้อยละ 32 มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้า ในขณะที่ร้อยละ 22 มีความเสี่ยงที่จะฆ่าตัวตาย โดยเป็นการเก็บข้อมูลจากเด็กและวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปีจำนวน 183,974 คน ที่เข้ารับการประเมินสุขภาพจิตตนเองผ่านแอปพลิเคชัน Mental Health Check-in ของกรมสุขภาพจิตในช่วง 18 เดือนของการระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ถึง 30 กันยายน 2564

ยังไม่นับเด็กและเยาวชนที่ไม่ได้เข้ารับการประเมินอีกจำนวนมาก

ในขณะที่องค์การยูนิเซฟได้ทำการสำรวจเมื่อปีที่แล้วยังพบว่า เด็กและเยาวชนมีสุขภาพจิตที่ย่ำแย่ลง ซึ่งเป็นผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยเด็กและเยาวชนส่วนใหญ่กังวลกับรายได้ของครอบครัว การเรียน การศึกษาและการจ้างงานในอนาคต

จากรายงาน The State of the World’s Children 2021; On My Mind: promoting, protecting and caring for children’s mental health ระบุว่า เด็กอย่างน้อย 1 ใน 7 คนทั่วโลกได้รับผลกระทบจากมาตรการ ล็อกดาวน์ ในขณะที่เด็กอีกมากกว่า 1,600 ล้านคนต้องเผชิญกับการเรียนรู้ที่หยุดชะงักลง ทั้งยังเตือนว่าเด็กและเยาวชนอาจจะต้องเผชิญกับผลกระทบด้านสุขภาพจิตจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อไปอีกหลายปี

เราต้องยอมรับว่าการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทำให้วิถีชีวิตของเด็กและวัยรุ่นต้องเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เด็กจำนวนหนึ่งไม่สามารถปรับตัวกับการเรียนรู้และวิถีชีวิตใหม่ได้ จนเกิดผลกระทบต่อการเรียนและพัฒนาการในหลายด้าน การงดกิจกรรมนอกบ้าน การไม่ได้พบปะเพื่อน ความกังวลเรื่องเรียน เรื่องความปลอดภัย ฯลฯ และเมื่อเข้าสังคมลดลง ก็มีปัญหาติดจอและเล่นเกมออนไลน์มากขึ้น ซึ่งนำไปสู่ปัญหาทะเลาะเบาะแว้งในครอบครัว มีความรุนแรง จนกลายเป็นปัญหาสุขภาพจิตและการฆ่าตัวตายในบางรายอีกด้วย

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกลุ่มผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตเป็นทุนเดิม

ในขณะผู้ที่เป็นพ่อแม่บางรายก็ไม่เข้าใจว่าลูกเป็นอะไร คิดว่าเครียดแต่คงไม่เป็นไรเพราะลูกโตแล้ว จึงมองข้ามเรื่องพฤติกรรมบางอย่างที่ส่งสัญญาณว่าอาจเป็นโรคซึมเศร้าได้ จนกระทั่งอาการของลูกมากขึ้นเรื่อยๆ และกว่าจะถึงมือหมอก็เกือบสายเกินไป

ปัจจุบันนี้โรคซึมเศร้าเป็นที่แพร่หลาย ข้อมูลข่าวสารที่ผู้คนสามารถเข้าถึงได้ง่าย แต่ดูเหมือนกลับพบคนที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามากขึ้นเรื่อยๆ !

ช่วงปีที่ผ่านมา คนใกล้ตัวที่ประสบปัญหาลูกเป็นโรคซึมเศร้าหลายคนทีเดียว ยกตัวอย่าง เด็กคนหนึ่งวัย 16 ปี บอกพ่อแม่เองว่าอยากไปพบแพทย์ รู้สึกไม่อยากทำอะไร ไม่สนใจสิ่งรอบข้าง เบื่อหน่าย ประกอบกับพ่อแม่ก็สังเกตเห็นได้ จึงพาลูกไปพบจิตแพทย์ ซึ่งกรณีของคุณแม่ท่านนี้ตกใจมากเพราะไม่คิดว่าจะเกิดกับลูกชายตัวเอง เพราะต้องถือว่าเป็นครอบครัวที่ใกล้ชิดกันมาก แต่ในขณะที่มีพ่อแม่อีกจำนวนมากไม่รู้ว่าลูกกำลังประสบปัญหา จนบางคนถึงขั้นลูกอยากฆ่าตัวตายจึงจะรู้ปัญหา และรีบพาไปพบแพทย์

นั่นแสดงให้เห็นว่า แม้คุณอาจเป็นพ่อแม่ที่ใกล้ชิดลูก หรืออยู่ด้วยกันทุกวัน อย่าคิดว่าลูกไม่มีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้า แต่เป็นเรื่องที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องหมั่นสังเกตพฤติกรรม และวิถีชีวิตในแต่ละวันของลูกแบบห่วงอยู่ห่างๆ มิใช่ไปก้าวก่ายทุกเรื่อง

จากนั้นต้องพยายามใช้เวลาอย่างมีคุณภาพ ใช้เวลากับตัวเองและคนรอบข้าง พยายามสื่อสารสร้างความรู้สึกเชิงบวกในครอบครัว อย่าอยู่ร่วมกันหรือนั่งด้วยกันแต่ต่างคนต่างอยู่กับโทรศัพท์มือถือ ควรใช้เวลาพูดคุยซึ่งกันและกัน

อาจถือโอกาสช่วงเริ่มปีใหม่ในการชวนกันพูดคุยเชิงบวกประเมินสมาชิกในครอบครัวในปีที่ผ่านมา และปีนี้ เพื่อจะได้เข้าใจวิธีคิดของกันและกันด้วย

สำหรับคนที่มีความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า การปรึกษาหารือพูดคุยเป็นเรื่องสำคัญมาก โดยเฉพาะคนใกล้ชิด การได้ระบายอารมณ์ความรู้สึกทั้งด้านลบและบวก จะทำให้ไม่รู้สึกโดดเดี่ยวมีคนพร้อมรับฟัง

โรคนี้ไม่ใช่เรื่องธรรมดาอีกต่อไปแล้ว เพราะนับวันปัญหาเหล่านี้ยิ่งเพิ่มมากขึ้นทุกที และกำลังกลายเป็นปัญหาสังคมในระดับรุนแรงได้ หากไม่ได้รับการแก้ไข ยิ่งในสภาวะสังคมที่เต็มไปด้วยสภาพปัญหาหลายอย่างรุมเร้า เรายิ่งต้องเหลียวมองดูคนรอบข้างด้วยว่ามีใครบ้างหรือเปล่าที่กำลังเข้าข่ายอาการที่ว่านี้

และอย่าคิดว่า เด็กไม่มีทางเป็นโรคซึมเศร้าได้ เพราะในความเป็นจริงเด็กยุคนี้มีความเสี่ยงสูง

สิ่งสำคัญคือ กำลังใจและคำพูดด้านบวกมีพลังเสมอที่จะช่วยให้จิตใจของลูกเข้มแข็ง ที่สำคัญต้องสอนให้ลูกมีความยืดหยุ่น เพราะความยืดหยุ่นสามารถปรับตัวได้ทุกสถานการณ์ ควรทำให้เขาเรียนรู้ว่าทุกเรื่องมีทางออกเสมอ ต้องไม่ยึดติดหรือคิดว่าชีวิตหมดหนทาง

14 January 2565

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 1593

 

Preset Colors