02 149 5555 ถึง 60

 

อัพเดต ซึมเศร้า จับตา‘4 พฤติกรรม ป้องกันสูญเสีย

อัพเดต ซึมเศร้า จับตา‘4 พฤติกรรม ป้องกันสูญเสีย

โรคซึมเศร้า ถือเป็นโรคหนึ่งซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ในช่วงชีวิตของมนุษย์ อาจเกิดจากปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลต่อความเครียด สภาพจิตใจ หากดูจากข่าวที่เกิดขึ้นในบ้านเรา และการเก็บสถิติจะได้เห็นว่า มีคนไทยนับไม่น้อยที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าทั้งที่รู้ตัวหรือไม่รู้ตัว หากร้ายแรงอาจไปถึงขั้นพยายามฆ่าตัวตาย ในอดีตมีดารานักแสดง นักร้องในเมืองไทยหลายคน อาทิ เหม ภูมิภาฑิต นิตยารสŽ อดีตดาราช่อง 7, เคนโด้ กุลภัทร นายแบบดัง ขณะที่นักร้องมี สิงห์ Sqweez AnimalŽ และ โจ้ วงพอสŽ เมื่อหลายปีก่อน ฯลฯ ล่าสุดอดีตพระเอกรุ่นใหญ่ลูกครึ่งแห่งยุค 90 ไมเคิล พูพาร์ต หรือ มิเชล ชัยโรจน์ พูพาร์ต อายุ 52 ปี ตัดสินใจจบชีวิตลง

ทั้งนี้ หากพูดถึงปมปัญหาที่เกี่ยวข้องกับ สุขภาพจิตŽ นั้น ย้อนกลับไปก่อนเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั่วโลก มีรายงานจาก Our World in Data โดย Institute for Health Metrics and Evaluation ที่ศึกษาภาระโรคระดับโลก ประเมินว่า ในปี 2017 พบกว่า 792 ล้านคน ที่ประสบปัญหาสุขภาพจิต คิดเป็น ร้อยละ 10.7 ของประชากรทั้งหมด ในจำนวนนี้ ป่วยเป็นโรคซึมเศร้ากว่าร้อยละ 32.7 ถือเป็นอันดับ 2 รองจาก ภาวะวิตกกังวล ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 35.5

ข้อมูลจากโรงพยาบาล (รพ.) มนารมย์ ระบุว่า โรคซึมเศร้าŽ ถือเป็นโรคทางด้านจิตเวชที่พบมากเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศไทย เกิดจาก 2 สาเหตุหลัก คือ 1.ปัจจัยทางชีวภาพหรือพันธุกรรม เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงของสารสื่อประสาทในสมอง หรือความผันผวนของระดับฮอร์โมนที่สำคัญ และ 2.ปัจจัยด้านจิตใจหรือสิ่งแวดล้อม ที่เรียกว่า ปัจจัยทางอารมณ์ เป็นผลมาจากสถานการณ์ความตึงเครียดทางอารมณ์ เช่น หากเป็นภาวะซึมเศร้าในวัยเด็ก อาจมีสาเหตุจากความตึงเครียดในครอบครัว เหตุการณ์สะเทือนใจอย่างรุนแรง ภาวะซึมเศร้าในโรคประสาทซึ่งอาจพบร่องรอยว่า

ถูกบีบคั้นอย่างมากในวัยเด็ก แล้วปะทุออกมาในช่วงชีวิตภายหลัง อีกทั้งภาวะซึมเศร้าเพราะความชรา เนื่องจากความสามารถในการปรับตัวลดน้อยลง มีชีวิตโดดเดี่ยว มีปัญหาช่องว่างระหว่างวัย หรือปัญหาที่เรียกว่า ภาวะสะเทือนใจหลังเกษียณ (สูญเสียคุณค่าในตน ไม่มีงาน มีความรู้สึกว่าไร้สมรรถภาพ)

นอกจากนี้ ยังรวมถึงภาวะซึมเศร้าจากปฏิกิริยาทางใจ เช่น อาการซึมเศร้าหลังจากคู่แต่งงานเสียชีวิต ตกงาน หย่าร้าง สภาพจิตใจอ่อนล้าเนื่องจากความเครียดเรื้อรัง เช่น ชีวิตสมรสมีปัญหาขัดแย้งไม่รู้จบ ความกดดันจากงานที่ต้องรับผิดชอบ การเปลี่ยนงาน ภาระมากเกินไป เป็นต้น

ขณะที่ พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์Ž อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยสถิติคนไทยที่ฆ่าตัวตาย ตัวเลขย้อนหลังล่าสุด เมื่อปี 2563 เฉลี่ย 7 ราย ต่อประชากร 100,000 ราย

พญ.อัมพร บอกว่า สถิติดังกล่าวเป็นสถิติย้อนหลังของปี 2563 ต่อมาที่ปี 2564 ได้มีการประมาณการสูงขึ้นใกล้ๆ กับ 8 ราย ต่อประชากร 100,000 ราย และมีแนวโน้มจะเป็นเช่นนั้น โดยอ้างอิงจากข้อมูลความถี่ และวิกฤตที่เกิดขึ้นทั่วโลก ก็เลยเป็นเป้าหมายของประเทศไทยที่จะต้องป้องกันไม่ให้อัตราการฆ่าตัวตายเกินไปกว่า 8 ราย ต่อ 100,000 ราย

จะมีการวิเคราะห์ถึงสาเหตุเสมอๆ ในแต่ละปี เพราะว่าช่วงเวลาที่เปลี่ยนไป สาเหตุในการฆ่าตัวตายก็จะเปลี่ยนแปลงไปด้วย รูปแบบก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย กลุ่มอายุประชากรที่มีการฆ่าตัวตายเยอะก็เปลี่ยนไปด้วย อย่างเอาของล่าสุด แน่นอนว่าเราปฏิเสธไม่ได้ว่า เรื่องของวิกฤตการแพร่ระบาดของโรค

โควิด-19 มีผลกระทบแน่นอน ซึ่งผลกระทบในที่นี้อาจจะเป็นผลกระทบโดยตรง แบบตรงไปตรงมาเลย เพราะโรคโควิด-19 เลยรู้สึกแย่และกดดันให้ฆ่าตัวตายง่ายขึ้นในกลุ่มที่มีความเสี่ยงเดิม หรือบางทีก็เป็นผลโดยอ้อมวิกฤตนี้ทำให้คนมีความตึงเครียด เมื่อเครียดแล้ว จิตใจของคนเหล่านั้น อาจจะถูกกระทบให้แย่ลงไปอีก และกระทบไปจนถึงคนที่อาจจะมีเงินทอง ไม่ได้จนลงเพราะโควิด-19 ไม่ได้สูญเสียใครในครอบครัว แต่ด้วยสิ่งที่กระทบอย่างต่อเนื่อง ทำให้สิ่งแวดล้อมรอบตัวกดดันสูงขึ้น จนทำให้เขาทำร้ายตัวเอง หรือฆ่าตัวตายได้ เพราะฉะนั้น มันอาจจะมีอะไรที่ต่อเนื่อง และมีอะไรมากกว่านั้นŽ พญ.อัมพรกล่าว

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ถ้าเราจะมองเป็นเหตุออกมาอีก คือ การเปลี่ยนแปลงในสังคมโลก ซึ่งเกิดขึ้นเร็วมากหลายเรื่อง จากอะไรที่เคยเสถียร อยู่มานานๆ เช่น ระบบการเงิน การคลัง หรือกระแส ณ ขณะนี้ จำพวกการเงินออนไลน์ มีบิทคอยน์ เหล่านี้มันก็กระทบใจของผู้คน ทำให้ปรับตัวยากขึ้น เรื่องของสื่อโซเชียลมีเดียที่เข้ามาแทรกกลางระหว่างผู้คนมากขึ้น เหมือนมีการสื่อสาร แต่ก็เป็นการสื่อสารที่เป็นพิษได้ง่ายขึ้น คัดกรองได้ยากขึ้น อาจจะเพิ่มความเครียด เพิ่มความกดดันของผู้คน เพิ่มความเปรียบเทียบ และทำให้คนรู้สึกด้อยค่าขึ้นได้

บางเรื่อง อาจจะทำให้จิตใจของคนแข็งแกร่งขึ้น ทุกชีวิตมันต้องผ่านอุปสรรค ผ่านวิกฤตอยู่แล้ว แต่อีกมุมหนึ่ง คนจำนวนหนึ่งจะแกร่งขึ้น จะเก่งขึ้นกว่าเดิม แต่อีกเรื่องหนึ่งคือ อย่าปล่อยให้ความเป็นวิกฤตนี้มาทำร้ายให้คนอ่อนแอ หรือว่าบาดเจ็บ หรือทำร้ายตัวเองจากวิกฤต เพราะฉะนั้น แนวโน้มนี้ในความคิดเห็นมองว่ามันมีทั้งแนวโน้มที่ดีในการพัฒนาตัวเอง และสังคม และต้องคอยระมัดระวังที่จะป้องกันปัญหาต่างๆ มาทำร้ายคนของเราด้วย จึงขอให้สังคมมองทั้งสองด้านเพื่อความสมดุลŽ พญ.อัมพรกล่าว

อย่างไรก็ตาม พญ.อัมพรกล่าวว่า ในส่วนของกรมสุขภาพจิตนั้น ได้พยายามส่งเสริมให้วิกฤตเหล่านี้เป็น อาหารŽ ที่ดีในการเสริมสร้างการเจริญเติบโตทาง จิตใจŽ เช่น เรามีโปรแกรมที่ให้ทุกคนได้สำรวจพลังสุขภาพจิตของตัวเอง ส่งเสริมให้ทุกคนได้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน ทำให้ชุมชน ครอบครัว ตัวบุคคล เข้มแข็งขึ้น โดยเป็นการเสริมสร้างพลังใจให้แก่ประชาชน ทุกคนสามารถเข้าไปในเว็บไซต์ www.วัดใจ.com เพื่อวัดใจตัวเอง และมีกลไกผ่านออกไปกับหน่วยงานต่างๆ

โดยเรากำลังจะร่วมมือกับกระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ และอีกหลายๆ องค์กร เพื่อส่งเสริมพลังใจของประชาชนชาวไทยให้เข้มแข็งขึ้น ส่วนคนที่รู้สึกว่ากำลังแย่ลง เราก็จะส่งเสริมให้เข้าถึงที่ปรึกษา หรือการรักษาได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการโทรศัพท์ไปที่สายด่วน 1323 และประสานถึงหน่วยงานให้มีคนที่เข้าไปช่วยเหลือเบื้องต้น เพื่อดูแล รักษา และส่งต่อเข้าสู่ระบบการรักษาตามระดับอาการ และเตรียมความพร้อมกับ สธ.เพื่อรองรับผู้ป่วยจิตเวช ผู้ติดยาเสพติด และผู้ป่วยซึมเศร้า ได้ดียิ่งขึ้นŽ พญ.อัมพรกล่าว

สำหรับวิธีสังเกตอาการ 1.พฤติกรรมที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางความคิด มักมีความคิดไปในทางลบ (Negative Thinking) ตลอดเวลา มักรู้สึกสิ้นหวัง มองโลกในแง่ร้าย รู้สึกผิด รู้สึกตัวเองไร้ค่าไม่มีความหมาย และคิดว่าไม่มีทางเยียวยาได้ ในที่สุดก็จะคิดทำร้ายตัวเอง คิดถึงแต่เรื่องความตาย และพยายามที่จะฆ่าตัวตาย 2.พฤติกรรมที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางการเรียนรู้หรือการทำงาน ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม ความสนุก งานอดิเรก หรือกิจกรรมที่เพิ่มความสนุก รวมทั้งกิจกรรมทางเพศ รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่มีพลัง ทำงานช้าลง การงานแย่ลง ไม่มีสมาธิ ความจำเสื่อม การตัดสินใจแย่ลง

3.พฤติกรรมที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ คือ มักมีความรู้สึกซึมเศร้า กังวลอยู่ตลอดเวลา มักหงุดหงิดฉุนเฉียว โกรธง่าย อยู่ไม่สุข กระวนกระวาย เป็นต้น และ 4.พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างเด่นชัด เช่น นอนไม่หลับ ตื่นเร็ว หรือบางรายหลับมากเกินไป บางคนเบื่ออาหารทำให้น้ำหนักลด บางคนรับประทานอาหารมากทำให้น้ำหนักเพิ่ม มีอาการทางกายรักษาด้วยยาธรรมดาไม่หาย เช่น อาการปวดศีรษะ แน่นท้อง ปวดเรื้อรัง ความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นแย่ลง

จงเฝ้าสังเกต 4 พฤติกรรมของตัวเอง คนใกล้ชิด หรือสมาชิกในครอบครัวเข้าข่ายซึมเศร้าหรือไม่

19 January 2565

ที่มา มติชนรายวัน

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 1772

 

Preset Colors