02 149 5555 ถึง 60

 

ทำอย่างไรไม่เครียด กับ 3 เทคนิคพิชิตเรียนออนไลน์ ฉบับพ่อแม่รุ่นใหม่

ทำอย่างไรไม่เครียด กับ 3 เทคนิคพิชิตเรียนออนไลน์ ฉบับพ่อแม่รุ่นใหม่

ปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าพ่อแม่หลายๆ บ้าน ใช้ชีวิตที่ต้องแข่งกับเวลา ยิ่งพ่อแม่ที่ต้องทำงานนอกบ้านด้วยแล้ว ทำให้บางครั้งอาจใช้เวลาไม่เพียงพอสำหรับลูก แล้วจะทำอย่างไรจึงจะใช้เวลาที่มีอยู่อย่างจำกัดนั้นให้เกิดประโยชน์สูงสุด หนึ่งในปัญหาที่คุณพ่อคุณแม่พบบ่อยที่สุด ก็คือการที่ลูกไม่ฟังคำพูดที่เราสอน ซึ่งจริงๆ แล้วอยากให้คุณพ่อคุณแม่ลองกลับมาคิดทวนกันดูก่อนว่า “เราที่เป็นพ่อแม่รับฟังลูกอย่างเพียงพอหรือยัง?”

ในยุคสมัยนี้ ยิ่งในช่วงที่ลูกต้องเรียนออนไลน์ โอกาสในการพูดคุยกับเพื่อนๆ ลดลงไป แต่ถูกแทนที่ด้วยพ่อแม่ หรือผู้ปกครอง ที่จะเป็น Social Support ให้ลูกในช่วงที่ต้องเรียนออนไลน์ ซึ่งหากเรายังปรับตัวกับการเรียนแบบนี้ไม่ทัน ก็อาจจะทำให้การเรียนออนไลน์ไม่เกิดประสิทธิภาพตามที่มุ่งหวัง วันนี้ก็เลยมีเทคนิคดีๆ มาแชร์ให้คุณพ่อคุณแม่รุ่นใหม่ได้รู้ ว่าควรทำอย่างไร ถ้าอยากให้การเรียนออนไลน์ได้คุณภาพอย่างที่ควร

การรับฟังอย่างตั้งใจ และการพูดคุยแบบเปิด (Active-Open)

การฟัง และการพูดอาจดูเป็นเรื่องเล็ก แต่การฟังและการพูด คือรากฐานของความสัมพันธ์ และการสร้างความไว้วางใจระหว่างพ่อแม่และลูก หากเราอยากให้ลูกๆ ฟังและปฏิบัติตามสิ่งที่เราสอน ก่อนอื่นเราต้องทำให้ลูกรู้สึกไว้ใจ และกล้าที่จะเข้ามาพูดคุยปรึกษากับเรา การฟังลูกอย่างตั้งใจ จึงเป็นหนึ่งในวิธีที่เราจะสามารถแสดงออกให้ลูกรับรู้ว่าเราเข้าใจและเราพร้อมเสมอที่จะช่วยเหลือลูกๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านอะไร ซึ่งการฟังที่ดีนั้น พ่อแม่ต้องให้ความใส่ใจ ความสำคัญ ความเข้าใจ กับทุกการสื่อสารของลูก ไม่ว่าจะเป็น คำพูด น้ำเสียง สายตา สีหน้า หรือ ท่าทาง การฟังที่ดีนั้นไม่ใช่การฟังลูกไปดูทีวีไป อ่านไลน์เพื่อนไป ล้างจานไป เป็นต้น

ตัวอย่างคำพูดที่พ่อแม่ควรใช้

เพื่อให้โอกาสลูกในการบรรยายอารมณ์ และความรู้สึก โดยการให้ความเข้าใจ เช่น

“ขอบคุณนะที่ไว้ใจแม่/พ่อแล้วเล่าเรื่องพวกนี้ให้ฟัง”

“แม่/พ่อเข้าใจนะว่าเรื่องที่ลูกเจออยู่ตอนนี้มันน่าโมโหขนาดไหน”

และการใช้คำถามแบบเปิด เพื่อให้ลูกๆ นั้นสามารถเล่าเรื่องราวของเขาได้มากขึ้น เช่น

“แล้วตอนนั้นลูกทำไงต่อเหรอ”

“ลูกคิดว่ามีอะไรที่พ่อ/แม่ช่วยลูกได้ตอนนี้บ้าง”

“ลูกตั้งใจจะทำอะไรต่อจากนี้เหรอ”

“ลูกเจอปัญหานี้มาตั้งแต่เมื่อไหร่เหรอ”

“มีใครรู้เรื่องนี้บ้างนอกจากพ่อ/แม่?”

ตัวอย่างคำพูดที่ควรระวัง!!!

“เรื่องเล็กๆ แค่นี้ ไม่เห็นมีอะไรให้ต้องคิด”

“หยุดคิดได้แล้ว”

“ไม่เข้าใจ ร้องไห้ทำไม”

“ไม่จริง”

“ลูกต้องห้ามคิดแบบนั้น”

เพราะคำพูดเหล่านี้ คือ การปฏิเสธความรู้สึกและประสบการณ์ของเด็ก ซึ่งจะส่งผลให้เด็กไม่อยากเข้าหาหรือฟังคำสอนจากเรา

นอกจากนี้ การรับฟังอย่างตั้งใจและการพูดคุยแบบเปิดนั้น ยังสามารถปลูกฝังให้เด็กไม่เก็บกด และยังป้องกันไม่ให้เด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าวและรุนแรงได้อีกด้วย นอกจากนี้การฟังอย่าง Active และการพูดคุยแบบเปิด ยังสามารถทำให้อีก 2 วิธีที่เหลือนั้นได้ผลยิ่งขึ้นตามไปด้วย

การสร้างวินัยไปด้วยกัน (Routine)

เมื่อลูกต้องเรียนออนไลน์จากที่บ้าน สิ่งแรกที่พ่อแม่สามารถทำได้ ก็คือการสร้างสิ่งแวดล้อม (Environment) ในห้องที่ลูกใช้เรียน Online เพื่อให้ลูกมีอารมณ์ในการเรียนให้ได้มากที่สุด หนึ่งในวิธีนั้นคือการสร้างวินัย หรือ กิจวัตร (Routine) ประจำวันในแต่ละสัปดาห์นั่นเอง

งานวิจัยหลายฉบับได้พิสูจน์มาแล้วว่าเด็กๆ จะทำงานหรือกิจกรรมใดๆ ได้ดีเมื่อมีวินัยหรือ เป็นกิจวัตรที่สามารถทำตามได้ (Routine) และโอกาสที่เด็กๆ จะทำตาม Routine นั้นจะมีอัตราสูงขึ้น หากเด็กมีส่วนร่วมในการสร้าง Routine หรือกิจวัตรนั้น จึงเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้การคุยแบบเปิดนั้นสำคัญมาก เพราะคุณพ่อคุณแม่จะได้ตกลงกับลูกอย่างเปิดใจว่า เวลาไหนคือเวลาที่ลูกจะไม่เล่นโทรศัพท์ ไม่เล่นเกม ไม่ดู YouTube หรือดูทีวี หากลูกเชื่อว่าข้อกำหนดต่างๆ นั้นไม่เกินความสามารถของเขา โอกาสที่ลูกจะทำตามกฎที่เราร่วมกันสร้างก็จะสูงขึ้น

อีกสิ่งที่ควรมีในกิจวัตร คือการจัดสรรเวลา ประมาณ 10 - 15 นาที สำหรับการเตรียมความพร้อมก่อนเวลาเรียนออนไลน์ เช่น การตรวจหรือเตรียมอุปกรณ์ คอมพิวเตอร์ หูฟัง ที่ชาร์จ รวมไปถึงการปิดทีวี การเก็บโทรศัพท์มือถือ และการเข้าห้องน้ำ ก่อนเริ่มเรียน

สุดท้าย คุณพ่อคุณแม่ต้องไม่ลืมที่จะอัปเดต กิจวัตร หรือ Routine นั้นกับลูกทุกอาทิตย์ โดยลูกควรมีส่วนร่วมในการออกความคิดเห็นหากมีอะไรยากไปหรือง่ายไป ซึ่งวิธีนี้เหมาะสำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ไม่ค่อยมี Quality time หรือช่วงเวลาคุณภาพกับลูกเพียงพอ เพราะการสร้าง Routine เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ดีที่คุณพ่อคุณแม่สามารถทำร่วมกับลูกได้โดยใช้เวลาไม่มาก และไม่กระทบกับกิจกรรมอื่นของครอบครัว

การดูแลการเรียนของลูกอย่างมีขอบเขต (Boundary)

เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่ทุกท่านให้ความสำคัญกับการเรียนของลูก แต่สิ่งที่เราทุกคนต้องระวังคือการไม่ฝ่าขอบเขตของลูกจนทำให้ลูกเกิดความรู้สึกว่ากำลังถูกจับผิด ความรู้สึกของการถูกจับผิดหลายครั้งอาจทำให้เด็กรู้สึกเหมือนกำลังถูกทำโทษอยู่ เด็กบางคนอาจจะมีความรู้สึกกลัว เช่น การกลัวว่าพ่อแม่จะไม่ภูมิใจ หรือกลัวว่าตัวเองจะไม่ดีพอในสายตาพ่อแม่ เมื่อความรู้สึกเหล่านี้เกิดขึ้นกับการเรียนบ่อยๆ ความพยายาม และแรงจูงใจในการเรียนของเด็กอาจจะลดลง ซึ่งย่อมส่งผลต่อผลการเรียนของเด็กตามไปด้วย

ตัวอย่างคำพูดที่ควรระวัง!!!

“ลูกคนอื่นไม่เห็นขี้เกียจแบบนี้”

“ทำไมไม่ตั้งใจเรียนเหมือนเพื่อนคนนี้”

“ก็เล่นแต่เกมอะสิ คะแนนถึงเป็นแบบนี้”

“ถ้าเพื่อนทำได้ดีกว่าเราก็แปลว่าเราพยายามไม่พอ”

ถึงแม้ว่าทุกการกระทำที่พ่อแม่ทำจะมาจากความเป็นห่วงลูก อยากให้ลูกได้ดี แต่ก็ควรต้องรอบคอบคำนึงถึงมุมมองของลูกด้วยเช่นกัน เพราะมีเพียงเส้นบางๆ ที่กั้นระหว่าง การที่ลูกจะมองว่า สิ่งที่เราทำ “คือความหวังดี” หรือ “คือการจับผิด” ซึ่งขึ้นอยู่กับทัศนคติ (Attitude) และวิธีการสื่อสารของคุณพ่อคุณแม่นั่นเอง.

19 January 2565

ที่มา ไทยรัฐ

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 441

 

Preset Colors