02 149 5555 ถึง 60

 

“อภัยภูเบศร” ยก 4 สมุนไพรไทย มีผลวิจัยต้านซึมเศร้า

“อภัยภูเบศร” ยก 4 สมุนไพรไทย มีผลวิจัยต้านซึมเศร้า

โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ให้ความรู้เรื่องสมุนไพรต้านซึมเศร้า โดย ภญ.อาสาฬา เชาวน์เจริญ เภสัชกรชำนาญการ กล่าวว่า โรคซึมเศร้า กำลังเป็นปัญหาสำคัญในสังคมยุคปัจจุบันมากขึ้น และทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ สมุนไพรจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือก ที่สามารถใช้ป้องกันหรือบรรเทาอาการดังกล่าวได้ จึงขอยก 4 สมุนไพร ที่มีข้อมูลว่าสามารถช่วยต้านโรคซึมเศร้า และหาได้ง่ายคือ

1. ขมิ้นชัน มีการศึกษาทางคลินิกในผู้ป่วยซึมเศร้า เปรียบเทียบการใช้สารสกัดขมิ้นชัน 500 มก. หลังอาหารเช้าและเย็น และยาต้านซึมเศร้า (Fluoxetine 20 mg) เป็นเวลา 6 สัปดาห์ เปอร์เซ็นต์การตอบสนองผลการรักษาของผู้ป่วย ยาต้านซึมเศร้า 64.7% สารสกัดขมิ้นชัน 62.5% และเมื่อใช้ร่วมกันทั้ง ยาต้านซึมเศร้า และสารสกัดขมิ้นชัน จะให้ผลตอบสนอง 77.8%

ปัจจุบันขมิ้นชันจะมีทั้งแบบสกัดและแบบผงแห้ง โดยขนาดการรับประทานแบบผงแห้งคือ ยาแคปซูลขมิ้นชัน 2 แคปซูล หลังอาหาร เช้า กลางวัน เย็นและก่อนนอน อย่างไรก็ตามมีข้อควรระวังในการใช้ในผู้ป่วยโรคนิ่วในถุงน้ำดี หญิงตั้งครรภ์ ยกเว้นภายใต้การดูแลของแพทย์ และควรระวังการใช้ในเด็กเนื่องจากยังไม่มีข้อมูลด้านประสิทธิผลและความปลอดภัย นอกจากนี้ยังควรระวังการใช้ร่วมกับสารกันเลือดลิ่ม (anticoagulants) และยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด (antiplatelets)

2. บัวบก มีการใช้บัวบกเป็นยามาแต่โบราณ ทั้งในศาสตร์อายุรเวท และการแพทย์แผนจีน บัวบกสามารถบรรเทาอาการโรควิตกกังวลได้ จากการศึกษาการใช้สารสกัดบัวบก 500 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง หลังอาหาร ในผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรควิตกกังวล อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 33 คน พบว่า..เริ่มเห็นผลการรักษาที่ 1 เดือน และเห็นผลชัดเจนขึ้นที่ 2 เดือน จากผลการศึกษาดังกล่าวจะเห็นได้ว่าสารสกัดบัวบกช่วยลดความผิดปกติที่เกิดจากความกังวล ลดความเครียดและลดอาการซึมเศร้าได้ ทำให้ความเต็มใจที่จะปรับตัวและเรียนรู้ดีขึ้น บัวบกจึงมีศักยภาพที่จะนำมาใช้ในผู้ป่วยโรควิตกกังวล ขนาดการรับประทาน สำหรับผู้ที่สะดวกจะใช้ใบบัวสด ก็สามารถคั้นน้ำจากใบบัวบกสดที่ล้างสะอาด รับประทานแบบเข้มข้น วันละ 1-2 ช้อนชา ส่วนการใช้ใบบัวบกแห้ง เป็นยารับประทานใบแห้ง ใช้ครั้งละ 1-2 ช้อนชา (5-10 กรัม) ชงกับน้ำเดือด 150 ซีซี รอจนอุ่นหรือประมาณ 10-15 นาที แล้วจิบดื่ม สามารถรับประทานได้วันละ 2-3 เวลา ส่วนบัวบกชนิดแคปซูล รับประทานวันละ 2-3 แคปซูล ทั้งนี้ หากหวังผลบำรุงสมองคลายเครียด ควรรับประทานต่อเนื่องอย่างน้อย 2 เดือน ขึ้นไป

สำหรับข้อควรระวัง คือ บัวบกเป็นยาเย็น ไม่ควรรับประทานทีละเยอะๆ ทุกวัน อย่างกรณีที่รับประทานเป็นกําๆ จะต้องทานบ้างหยุดบ้าง ถ้ารับประทานสดทุกวัน ควรรับประทานแต่น้อย ประมาณ 3-6 ใบก็พอ คนที่อ่อนเพลีย หรือร่างกายอ่อนแอมากไม่ควรรับประทาน ถ้ารับประทานแล้วมีอาการเวียนหัว ใจสั่น ให้หยุดทันที คนที่ม้ามเย็นพร่อง มีอาการท้องอืดแน่นเป็นประจําไม่ควรรับประทาน และหลีกเลี่ยงการรับประทานในหญิงที่ให้นมบุตร หญิงตั้งครรภ์ หรือผู้ที่วางแผนจะตั้งครรภ์ เพราะมีการศึกษาพบว่าการรับประทานต่อเนื่องติดต่อกันนานๆ พบว่าอาจยับยั้งการตั้งครรภ์ได้

3. น้ำมันรำข้าวและจมูกข้าว มีสารสำคัญที่ช่วยทำให้นอนหลับได้ คือ ฤทธิ์ผ่อนคลาย คลายกังวล ช่วยให้นอนหลับ ด้วยสาร GABA (Gamma-aminobutyric acid) เป็นสารสื่อประสาท พบในระบบประสาทส่วนกลาง คือ สมอง และไขสันหลัง มีฤทธิ์ช่วยให้ร่างกายผ่อนคลาย คลายกังวล และทำให้หลับสบาย ซึ่งยานอนหลับส่วนใหญ่ที่ใช้ในแผนปัจจุบันก็ออกฤทธิ์โดยจับกับตัวรับ GABA และสาร N-Acetylserotonin เป็นสารที่พบตามธรรมชาติของน้ำมันรำข้าว เป็นสารตั้งต้นในการสร้างสารเมลาโทนิน ซึ่งมีหน้าที่ในการควบคุมวงจรการนอนของคนเรามีส่วนช่วยในการนอนหลับ สารตัวนี้ยังมีฤทธิ์คลายความเครียด คลายกังวล ต้านซึมเศร้า ต้านอนุมูลอิสระ ปกป้องสมอง และปกป้องเซลล์รับแสงจากจอประสาทตาอีกด้วย ขนาดการรับประทาน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารน้ำมันรำข้าว-จมูกข้าว ชนิดแคปซูล ทาน 1 แคปซูลหลังอาหาร เช้า เย็น ในหญิงตั้งครรภ์ให้นมบุตร ไม่ควรรับประทาน

4. ฟักทอง มีการศึกษาพบว่า ฟักทอง ช่วยบรรเทาอาการซึมเศร้าได้ โดยทำการสังเกตพฤติกรรมถูกบังคับให้ว่ายน้ำในหนูทดลองที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดภาวะซึมเศร้า ซึ่งจะมีพฤติกรรมลอยตัวนิ่งเสมือนว่าอยากตาย แต่การให้ฟักทองอบและสารเบต้าแคโรทีน มีผลทำให้ระยะเวลาลอยตัวนิ่งลดลง และยังมีผลเพิ่มระดับเซโรโทนิน (serotonin) และนอร์อิพิเนฟริน (norepinephrine: NE) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทในสมอง ซึ่งจะลดลงเนื่องจากภาวะซึมเศร้าให้กลับสู่ระดับปกติ นอกจากนี้ ทั้งฟักทองและเบต้าแคโรทีน ยังช่วยลดสารก่อการอักเสบในสมองได้อย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมการศึกษาดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของฟักทองและเบต้าแคโรทีนซึ่งเป็นสารสำคัญในฟักทอง ในการช่วยรักษาภาวะซึมเศร้า ฟักทองจึงเป็น “อาหารเป็นยา” ที่เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการซึมเศร้า ขนาดการรับประทาน แนะนำทานเป็นผัก หรือประกอบในมื้ออาหาร

24 January 2565

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 5633

 

Preset Colors