02 149 5555 ถึง 60

 

Emotional Hysteria?

Meth vs. Crack Cocaine มายาคติ?

ประวัติศาสตร์หรือตำนานหน้าหนึ่งกับเหตุการณ์ ภาวะหวาดผวาทางอารมณ์จาก Meth vs. Crack Cocaine เป็นมายาคติหรือส่วนหนึ่งของข้อเท็จจริงทางวิชาการ?

ภาวะหวาดผวาทางอารมณ์ (Emotional Hysteria) ที่เกิดจากการให้ข้อมูลผิดเพี้ยนไม่ครบถ้วน (ข้อมูลแบบเอียงๆ) เกี่ยวกับยาผิดกฎหมาย (Illegal drugs) ซึ่งโดยความเป็นจริงแล้ว ผลกระทบที่เกิดขึ้น มักก่อให้เกิดโทษมากกว่าผลจากยานั้นโดยตรงเสียอีก มีเหตุการณ์อุทาหรณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นช่วงกลางทศวรรษที่ 1980s ในสหรัฐ ซึ่งช่วงดังกล่าวเป็นที่เชื่อกันอย่างกว้างขวางว่า โคเคนผลึก (Crack Cocaine, Crack) เป็นสารที่เสพติดอันตรายที่ติดง่ายมาก ขนาดผู้เสพเป็นครั้งแรก ก็สามารถติดได้ ภาพลักษณ์ของโคเคนผลึก ถูกทำให้เข้าใจว่าก่อให้เกิดผลที่ไม่อาจประเมินได้ถึงขั้นเป็นอันตรายต่อชีวิต โดยเฉพาะในช่วงก่อนปี ค.ศ. 1986 ซึ่งถือเป็นช่วงที่จะมีการเลือกตั้งใหญ่ในสหรัฐ แม้จะยังขาดหลักฐานพิสูจน์คำกล่าวอ้างดังกล่าว รัฐสภาสหรัฐก็ได้ออกกฎหมายบัญญัติต่อต้านพฤติกรรมการใช้ยาในทางที่ผิด โดยกำหนดให้โทษของโคเคนผลึกแรงกว่าเกลือโคเคนหรือโคเคนผง (Powder Cocaine) เป็นร้อยเท่า ถือเป็นหน้าประวัติศาสตร์ที่เป็นตำนานให้ถูกกล่าวถึงอย่างกว้างขวางเหตุการณ์หนึ่งของสหรัฐเลยทีเดียว โดยกฎหมายกำหนดว่า ผู้ที่ถูกพิพากษาลงโทษจากการขายโคเคนผลึกปริมาณ 5 กรัมต้องระวางโทษจำคุกอย่างต่ำ 5 ปี และปริมาณ 50 กรัม ระวางโทษจำคุกอย่างต่ำ 10 ปี ในขณะที่การรับโทษจากการขายโคเคนผง บุคคลนั้นต้องขายถึง 500 กรัม (ซึ่งแปลว่าตามตัวบทกฎหมายแล้ว ผู้นั้นมีเจตนาขายถึง 5 กิโลกรัมทีเดียว!!!)

บทลงโทษจากกฎหมายปี 1986 ได้เพิ่มข้อกังวลเกี่ยวกับยาดังกล่าวต่อประชาชนเพิ่มขึ้นมากในช่วงปี 1988 ได้ขยายไปถึง กำหนดขอบเขตผู้เพียงมีสารนั้นในครอบครอง แม้จะเป็นความผิดครั้งแรกก็ตาม ในขณะที่การครอบครองยาเสพติดอื่นของผู้ทำผิดครั้งแรก อย่างเช่น โคเคนผง หรือเฮโรอีน มีโทษสูงสุดอยู่ที่ระวางโทษจำคุกเพียง 1 ปีเท่านั้น!!!!

แรงขับเคลื่อนเบื้องหลังที่ทำให้มีกฎหมายต่อต้านโคเคนผลึก เกิดขึ้นไม่กี่เดือนก่อนการเลือกตั้งในปี 1986 ยังเกิดมาจากข้อเรียกร้องเกินจริง ที่พบตามสื่อแทบทุกวันได้สร้างภาพลักษณ์กล่าวเตือนเกี่ยวกับผู้ติดยาด้วยภาษาที่รุนแรง เช่น “เสพติดบ้าระห่ำ” (crack-crazed addicts) นอกจากนี้ยังมีเรื่องราวและประเด็นนำเสนอข่าวเกี่ยวกับโคเคนมากกว่าพันเรื่อง พบเห็นได้ตามสื่อใหญ่ระดับประเทศ รวมถึง 5 เรื่องจากปก ที่ลงในนิตยสารไทม์และนิวส์วีค โดยที่ไทม์จัดให้หัวข้อโคเคนผลึกเป็นหัวข้อประจำปีเลยทีเดียว

เมื่อเวลาผ่านไป ความโกรธเกรี้ยวจากโคเคนผลึกบรรเทาเบาบางลง ได้เกิดปรากฎการณ์ที่น่าสนใจหลายประเด็น ซึ่งมีสองสิ่งที่ชัดเจนและถูกเผยแพร่ต่อประชาชน คือ 1. รายงานของสื่อเรื่องผลกระทบของยาขัดแย้งกับข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ พบว่าจากผลการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา ไม่มีความแตกต่างกันระหว่างโคเคนรูปผลึกและโคเคนผงอย่างมีนัยสำคัญ โคเคนทั้งสองรูปแบบก่อให้เกิดผลอย่างเดียวกัน (Hatukami and Fischman 1996) นั่นคือ ผลการเสพเข้าร่างกายจะออกฤทธิ์เพิ่มตามขนาดยา ไม่ว่าจะเป็น ความดันโลหิต อัตราการเต้นของหัวใจ หรือโอกาสติดยา วิธีการใช้ยาต่างกันตามรูปแบบของยา โคเคนรูปผลึกใช้สูบในขณะที่โคเคนผงใช้กิน สูด หรือฉีด ฤทธิ์จะแรงขึ้นหากสูบหรือฉีดเข้าหลอดเลือดดำ ทั้งที่ตัวยาเองมีคุณสมบัติเหมือนเดิม แต่การลงโทษผู้ใช้โคเคนผลึกหนักกว่าผู้ใช้โคเคนผง

นอกจากนี้ 2. ยังมีการตั้งข้อสังเกตุในประเด็นหนึ่งที่สำคัญคือ ความแตกต่างระหว่างกฎหมายโคเคนผลึกกับผง มุ่งเป้าไปที่คนผิวดำอย่างลำเอียงถึงกว่าร้อยละ 85 ของผู้ที่ถูกพิพากษาลงโทษ (USSC 1995, 1997, 2002, 2007) ความสับสนจากผู้บัญญัติกฎหมายอย่างไม่เท่าเทียมกันของบทลงโทษนี้ ได้มีประเด็นที่น่าสนใจคือ ในปี 2007 ได้มีผู้สมัครลงแข่งขันเลือกตั้งประธานาธิบดี นายบารัค โอบามา ออกมาแสดงความเห็นว่า “...มาร่วมกัน อย่าทำให้บทลงโทษต่อโคเคนผลึกแรงกว่าโคเคนผง ที่แตกต่างกันที่แท้จริงแล้วคือสีผิวของผู้ใช้ สิ่งเหล่านี้จะหมดไปถ้าผมเป็นประธานาธิบดี...” ต่อมาหลังจากผลการเลือกตั้งประกาศเป็นทางการ ในวันที่ 3 สิงหาคม 2010 ประธานาธิบดีโอบามาได้ลงนามบนกฎหมาย โดยสาระสำคัญคือ คือลดความไม่เท่าเทียมกันของบทลงโทษจาก 100:1 เป็น 18:1 ถือเป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งต่อนโยบายการแก้ปัญหายาเสพติดที่สำคัญของสหรัฐเลยทีเดียว

เมทแอมเฟตามีน: โคเคนรูปผลึกตัวใหม่ (Methamphetamine: the new crack)

มีสัญญาณหลายอย่างที่ประวัติศาสตร์ที่กล่าวมาจะหันกลับมาอีกครั้ง นั่นคือ ได้เริ่มมีประเด็นบ่งชี้ว่า เมทแอมเฟตามีนเป็นยาที่กำลังมีการกล่าวอ้างเกินจริงจากสื่อในขณะนี้ ดังเช่น “การปล่อยข่าวให้กลัวโคเคนรูปผลึก (Crack scare) ในช่วงทศวรรษที่ 1980s ในอดีต ปัญหาในศตวรรษที่ 19 นี้ได้หวนกลับมาหลอนโลกยุคศตวรรษที่ 20 คือเรื่องที่ร่ำลือกันเกี่ยวกับเมทได้ปรากฏในสื่อทั่วโลก เช่น วันที่ 8 สิงหาคม 2005 นิตยสารนิวสวีคตีพิมพ์เรื่องจากปก ด้วยหัวข้อที่มีการถกเถียงเป็นวงกว้างในหมู่นักวิชาการว่าเกินจริง คือหัวข้อ “ระบาดวิทยาโรคเมท (The Meth Epidermic” โดยในเนื้อหาบทความกล่าวถึงการใช้ยานี้มาถึงจุดที่นับว่าเป็นโรคระบาดอย่างรุนแรง ทั้งที่ในรายงานนั้นกลับกล่าวถึงข้อมูลตัวเลข ที่แสดงเพียงว่ามีผู้เสพเมทในสหรัฐเพิ่มขึ้นมากจากในอดีตอย่างน่าอัศจรรย์และน่ากลัว นั่นคือมีตัวเลขผู้ใช้กว่า 2.25 ล้านคน ซึ่งหากจะเปรียบเทียบกับข้อมูลตัวเลขผู้เสพสารเสพติดตัวอื่นๆ โดยข้อมูลการใช้สารสกัดจากฝิ่น 4.4 ล้านคน หรือข้อมูลผู้เสพกัญชาที่มีถึง 15 ล้านคน ณ ช่วงเวลาเดียวกัน นั่นคือ มีข้อมูลบ่งชี้ว่ามีผู้ใช้เมทมีไม่ถึงจำนวนผู้ใช้ยาประเภทอื่นอย่างมีนัยสำคัญ (SAMHSA 2012)

การรายงานข่าวของสื่อ ยังได้บรรยายภาพลักษณ์ของเมทว่า มีปัญหาต่อการก่ออาชญากรรมเพิ่มขึ้นจากผู้ที่สิ้นหวังการเข้าถึงยาเพื่อให้ได้เข้าถึงยา มีการรายงานกล่าวถึงการเสพติดที่อย่างรุนแรงว่า เข้าขั้น “ติดอย่างอันตราย Dangerous addictive) นอกจากนี้ยังมีหลายบทความโฟกัสไปถึงผลกระทบที่กว้างขึ้น นั่นคือ ผลต่อ “เหยื่อที่เป็นเด็ก” เช่น นิวยอร์คไทม์พาดหัวข่าวว่า “หายนะของยาเสพติดสร้างเด็กกำพร้ารูปแบบใหม่” หรือ ที่ในบทความหนึ่งได้อ้างคำกล่าวของตำรวจท่านหนึ่งว่า “เมทแอมเฟตามีนทำให้โคเคนผลึกกลายเป็นเรื่องเล็กน้อย เนื่องจากเมทได้ส่งผลกระทบต่อเด็กอย่างน่ากลัว โดยเฉพาะผลกระทบต่อ ความยากที่จะหลุดพ้นจากการต้องการยา” (Butterfield 2004) และยังกล่าวต่อว่า “...เพราะผู้ใช้มีความต้องการทางเพศสูงทำให้เด็กๆที่เกิดจากพ่อแม่เสพยาต้องเจอสื่อลามกอนาจาร...” หรือการทำผิดทางเพศของเด็กที่เห็นมารดาขายตัว (Zernike 2005)

จากการนำเสนอบทความที่ถูกเผยแพร่ต่อเนื่องและครึกโครมนี้ มีผลต่อนโยบายที่ตามมาของรัฐบาลสหรัฐคือ นายอัลเบอร์โต กอนซาเลซ รัฐมนตรียุติธรรมของสหรัฐในขณะนั้น ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อว่า “เมทแอมเฟตามีนเป็นยาอันตรายที่สุดในอเมริกา” และประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช ได้มีประกาศในปี 2006 ให้วันที่ 30 พฤศจิกายน ของทุกปี เป็นวันรณรงค์เมทแอมเฟตามีนแห่งชาติ เหตุการณ์ดังกล่าวนี้เหมือนได้ถูกย้อนกลับไปในช่วงปลายทศวรรษที่ 19 ปี 1986 ที่ประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ของสหรัฐอีกท่านหนึ่ง ได้ประกาศให้เดือนตุลาคมเป็นเดือนรณรงค์เรื่องโคเคน

เหตุการณ์ที่คล้ายกันทั้งสองแสดงให้เห็นชัดเจนว่า กงล้อประวัติศาสตร์ ที่ทำให้ความซ้ำรอยการเบี่ยงเบนของข้อมูลและความผิดพลาดอย่างรุนแรง (Fatal error) ต่างๆนั้น มีความเกี่ยวโยงโลจิกของทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องกัน ไม่ว่าจะเป็น ความเห็น ความเชื่อ ข้อเท็จจริงทางวิชาการ การเผยแพร่ข้อมูลวิชาการต่อสาธารณะจากสื่อ การเมืองเรื่องนโยบายรัฐ ฯลฯ จึงเป็นเสมือนกับ “ภาวะความหวาดผวาทางอารมณ์ หรือ มายาคติ” ที่เกิดขึ้นในสังคมสหรัฐ ถูกกำหนดให้เป็นตัวขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ จึงทำให้เรื่องเมทแอมเฟตามีน ได้ถูกจัดให้เป็นภัยอันใหญ่หลวงที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เป็นตราบาปภาพลักษณ์ (Image stigma) จากนโยบายสาธารณะและการให้ข้อมูลที่ผิดเพี้ยนไปไม่ครบถ้วน มากกว่าผลของเมทที่เคยถูกนำมาใช้ทางการแพทย์อย่างเหมาะสม

การนำเสนอรายงานนี้ ถือเป็นการนำเสนอวิเคราะห์เชิงวิจารณ์จากนโยบายการแก้ปัญหายาเสพติดของสหรัฐ ซึ่งเป็นหลักฐานที่มีอยู่จริงในประวัติศาสตร์หรือตำนานการดำเนินนโยบายแก้ปัญหายาเสพติด (ที่มีการกล่าวถึงว่ากำลังระบาดในช่วงเวลานั้นๆ) รวมถึงการใช้เมทแอมเฟตามีน ผลกระทบที่เกิดขึ้นในสหรัฐ เป็นเพียงการนำเสนอข้อมูลเพื่อการขจัดความเชื่อ (Myths) เกี่ยวกับผลกระทบเรื่องเมทและยาที่ผิดกฎหมายตัวอื่นๆ เพื่อให้ใช้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์อย่างเที่ยงตรง ยิ่งไปกว่านั้น หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การวิเคราะห์วิจารณ์ที่จะนำมาซึ่งนโยบายสาธารณะที่เป็นเหตุเป็นผลต่อการจัดการแอมเฟตามีนทั้งที่ถูกและผิดกฎหมาย

แหล่งข้อมูล: ขอบเขตการใช้เมทแอมเฟตามีนทั่วโลก (Global Extent of Methamphetamine use); เมทแอมเฟตามีน. โครงการกำลังใจ. พิมพ์ครั้งที่ 1, 2559. หน้า 60-65.

12 June 2561

By Mongkol N.

Views, 3978

 

Preset Colors