02 149 5555 ถึง 60

 

ชีวิตบนโลกโซเชียล (social network life's style)

ความฮิตของโซเชียลไซเบอร์/โซเชียลเนทเวอร์ค (social cyber/ social network) เป็นคำเรียกสังคมยุค 3G/4G/5G ในปัจจุบัน อย่างเฟสบุคและทวิตเตอร์หรือไลน์ กำลังขยายและตีแผ่บางสิ่งที่มนุษย์โหยหาในยุคนี้ออกมาชัดเจนมากขึ้น เริ่มมีจำนวนผู้ใช้งานเฟสบุคเกือบ 600 ล้านคนทั่วโลก และมีราวๆ 10 ล้านคนในไทย สถิตการใช้ทุกๆ 20 นาทีมีการอัพโหลดรูปถ่ายมากกว่า 3.7 ล้านรูป แชร์ ลิงก์ และอัฟเดทสเตตัส มากว่าล้านข้อความ จะเห็นความสนใจของผู้คนและเกิดนักข่าวหน้าใหม่มากมายในโลกโซเชียลค่ะ อย่างล่าสุดกรณี 13 นักเตะทีมหมูป่าติดในถ้ำ ในอีกด้านหนึ่งของข่าวสารที่ถูกแชร์อย่างมากมายในขณะนี้คือ มีความน่าสนใจว่าผู้คนที่กำลังติดตามและแชร์นั้น มีแรงจูงใจเช่นใด เรามาหาคำตอบดูกันค่ะ

ในทางการตลาด มีงานวิจัยเมื่อปี 2010 โดยแซดวิค มาร์ตัน และคณะ จาก iMoerates Research Technologies พบว่า 67% ของผู้ที่ติดตามแบรนด์สินค้าที่ตัวเองสนใจผ่านทวิตเตอร์ มีแนวโน้มจะซื้อสินค้าแบรนด์นั้น เช่นเดียวกับ 51% ของผู้ที่ติดตามแบรนด์สินค้าทางเฟสบุค ก็มีแนวโน้มจะซื้อสินนั้นเช่นกัน

ในอีกด้านหนึ่ง จากรายงานการศึกษาของ Tang CS และ Koh YY ในประเทศสิงคโปร์ เผยแพร่ใน AJP (Asian Journal Psychiatry) ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2017 ในฐานข้อมูล PubMed ได้รายงานผลกระทบจากการใช้เครือข่ายโซเชียล (SNS: social networking sites) ในกลุ่มตัวอย่างนักศึกษาระดับอุดมศึกษาจำนวน 1110 ตัวอย่าง อายุเฉลี่ย 21 ปี พบว่ามีความชุกที่จะเสพติดอาหารและช้อปปิ้ง คิดเป็นร้อยละ 29.5 ปัญหาสุขภาพจิต โดยเฉพาะภาวะซึมเศร้ามากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 27.7 รองลงมาปัญหาวิตกกังวล และภาวะอารมณ์แปรปรวน คิดเป็นร้อยละ 21.1

หรือในกรณีหนังสือพิมพ์ USA Today รายงานว่า facebook กลายเป็นหลักฐานออนไลน์อันดับหนึ่งที่ถูกนำมาใช้ในคดีหย่าร้าง....เหตุการณ์ชุมนุมขับไล่ประธานาธิบดีตูนิเซีย มีการใช้เฟสบุคและทวิตเตอร์ในการส่งข่าวสารร่วมแสดงพลังต่อเนื่องลุกลามไปถึงอียิปต์ ส่งผลให้รัฐบาลต้องสั่งปิดบริการอินเตอร์เน็ท เป็นต้น

4 เหตุผลที่ทำให้มนุษย์เรามีแนวโน้มจะติดโลกโซเชียล พอสรุปได้คร่าวๆดังนี้ค่ะ

1.Connection: มนุษย์ไม่อยากอยู่อย่างโดดเดี่ยว

นอกจากการติดต่อสื่อสารระหว่างบุคคลแล้ว การมีเพื่อนในโซเชียลทำให้ช่องว่างทางชนชั้นระหว่างเจ้านายลูกน้อง ลูกศิษย์กับอาจารย์ คนดังกับแฟนคลับ มาเป็นเพื่อนและทำให้เสมือนอยู่ในระดับเดียวกัน ใน facebook ผู้คนจะรับรู้สึกถึงความเท่าเทียมและใกล้ชิดกันมากขึ้น ในชีวิตจริงเราไม่สามารถเป็นเพื่อนกับทอมครุย์ส หรือจีชางอุค หรือซงจุงกิ บอยแบนด์จากเกาหลี / ซงเฮเคโย ดาราคู่ขวัญจากซีรีย์เกาหลีอันโด่งดัง Descendants of the sun เพียงเราคลิก like ในหน้าแฟนเพจ หรือ follow ในทวิตเตอร์ของเขาเหล่านั้น ก็เท่ากับว่า เสื้อผ้า ชื่อสุนัข มื้อเที่ยง เสาร์อาทิตย์ไปเที่ยวไหนมา เข้ากรมไปรับใช้ชาติ อะไรประมาณนั้น อารมณ์ดีใจที่ได้เลื่อนขั้น หรือหงุดหงิดที่โดนคนนิสัยไม่ดีขับรถปาดหน้ากระชั้นชิด ฯลฯ เพียงเท่านี้เราก็จะรู้จักและเป็นเพื่อนได้ทันที ขณะเดียวกันหากเราต้องการความสัมพันธ์ที่มากกว่านี้ เพียงขอ add เป็นเพื่อนคนดัง และเขา accept เท่านี้ก็สามารถประกาศกับใครต่อใครได้ว่า “จีชางอุคเป็นเพื่อนฉัน” แล้ว

เฟสบุค /ทวิตเตอร์/ไลน์ จึงเป็นเครื่องมือชั้นดีเยี่ยมที่ย่นระยะเวลาและง่ายต่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเรากับสังคมและผู้คน เพื่อนในโลกไซเบอร์ไม่ได้ดีหรือด้อยกว่าเพื่อนในโลกความเป็นจริง แต่บางครั้งทำให้เราให้ความสำคัญกับเพื่อนในโลกจริงน้อยลง อาจจะเพราะว่า การคบเพื่อนในชีวิตจริงต้องใช้พลังงานมากกว่า ขณะที่เพื่อนในโลกไซเบอร์ไม่ต้องเหนื่อยมากนักในการทักทายหรือใส่ใจ แถมยังคุยคอเดียวกันเป็นส่วนใหญ่ เรื่องไหนที่ขัดกันก็ไม่พิมพ์ให้ขัดตา ถ้าไม่ชอบความคิดที่เขาโพสท์ ก็แค่กดปุ่ม hide หรือ unfollow/remove ออกไปจากหน้าจอ แต่ในชีวิตจริงถึงจะไม่ชอบคำพูดหรือพฤติกรรมของเพื่อน ถ้าคิดจะคบกันต่อก็ต้องทนฟังหรือไม่ก็ต้องปรับตัวที่จะอยู่ร่วมกัน อาจเป็นเรื่องยากและซับซ้อน แต่ถ้าสามารถทำได้จะเป็นสิ่งที่มีค่า คงทนมากกว่า บางทีการมีเพื่อนหลักแสนในโลกไซเบอร์ก็ไม่อาจแทนเพื่อนไม่กี่คนในโลกความเป็นจริงได้ เพราะความรู้สึกบางอย่างไม่สามารถสร้างหรือแทนที่ได้ด้วยการคลิกปุ่มและดูผ่านหน้าจอค่ะ

2. Identity creation: มนุษย์อยากมีตัวตนมากกว่าที่เป็นอยู่มากกว่าที่คิด

“In the future, everyone will be world-famous in 15 minutes” เป็นคำกล่าวของแอนดี้ วอร์ฮอล เมื่อปี 1968 ใน blog ของเขายุคแรกเริ่มของโซเชียลไซเบอร์

ในชีวิตจริงเราอาจจะไม่ใช่คนสำคัญและเสียงเล็กๆของเรา อาจถูกกลบจนเงียบในที่ทำงาน หรือเป็นเสียงที่ไร้ความหมาย แต่ในโลกโซเชียล เสียงของเราอาจกลายเป็นเสียงที่มีคนสนใจตามอ่านและตอบสนองกลับ ยิ่งถ้าเป็นเรื่องดีๆอาจถูกแชร์หรือส่งต่อให้คนอื่นได้รับรู้ การที่ได้เป็นผู้ส่งข่าวสารหรือเหตุการณ์ในวิกฤติการเมือง น้ำท่วม ไฟไหม้ หรือล่าสุดคือกรณีการแชร์ข่าว 13 นักเตะทีมหมูป่าที่ติดอยู่ในถ้ำ ล้วนได้รับความสนใจจากผู้คนแชร์ข่าวสาร อันเป็นผลมาจากความรู้สึกว่ากำลังเป็นผู้ให้และได้ช่วยเหลือผู้คนในสังคมค่ะ ขณะเดียวกัน facebook /twitter ก็สามารถทำให้เราเป็นคนแบบไหน ยังไงก็ได้อย่างที่เราต้องการให้คนอื่นรับรู้ผ่าน status/ภาพถ่าย/notes ที่เขียนขึ้น ไม่ว่าจะเป็น info, comment, หรือ status ล้วนแต่เป็นการสร้างตัวตนในแง่มุมใดมุมหนึ่งได้ ซึ่งมีทั้งส่วนตัวตนจริงและปรุงแต่งขึ้น โดยเฉพาะส่วนปรุงแต่งนี้อาจจะสร้างปรากฏการณ์ halo effect หลอกคนได้เสมอ เพราะในโลกไซเบอร์เปิดโอกาสให้เราเลือกและนำเสนอตัวเองอย่างไรให้โลกเห็น และแน่นอนคนส่วนใหญ่ก็จะนำเสนอภาพดีมากกว่าภาพเลวร้ายนั่นเองค่ะ

3. Public and Private: มนุษย์มีความอยากรู้อยากเห็นเรื่องคนอื่น พอๆกับต้องการให้คนอื่นรู้เรื่องของตน

การใช้ชีวิตในยุคโซเชียล ทำให้เห็นว่าถ้าเราไม่แก้ผ้าโชว์ส่วนสัดความงามหรือบาดแผลชีวิตของตนเองให้คนอื่นได้เห็น ด้วยตัวของเราเองใน facebook ก็จะมีคนหาทางแก้ผ้าเราให้สาธารณชนรับรู้ได้ดังกรณี wikileaks (เป็นเวปป์ที่รวบรวมข้อมูลความลับต่างๆ ปัญหาความไม่ชอบธรรม เรื่องราวการคอร์รัปชั่น หรือเรื่องที่สาธารณชนควรรับรู้ โดยอาจเป็นข้อมูลของรัฐบาล ภาคธุรกิจ ความลับทางการทหาร องค์กรทางศาสนา ความลับของบุคคล การปล่อยไวรัสเจาะระบบ ฯลฯ) อันโด่งดังไปทั่วโลก ได้เช่นกันค่ะ ดังนั้น ในโลกความเป็นจริงพึงมีสติในการเข้าสู่โลกโซเชียลทุกๆครั้ง การควบคุมความลับและความเป็นส่วนตัวยังสามารถอยู่ในมือเราได้ แต่ยอมรับข้อหนึ่งค่ะว่า ความลับที่อยู่ในโลกโซเชียล กำลังค่อยๆหมดลงไปเรื่อยๆค่ะ วันหนึ่งข้อมูลที่เราแชร์ในโลกโซเชียล อาจจะสร้างปัญหาในอนาคต และถึงขั้นเป็นข้อมูลในชั้นศาลได้ค่ะ ดังนั้น “มีสติตลอดเวลาเมื่อโพสท์” จะช่วยลดผลกระทบที่ตามมาได้

ดังที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามาเคยกล่าวไว้ “Be careful what your post on facebook. Whatever you do, it will be pulled up again later somewhere in your life.” “จงระวังสิ่งที่นำเสนอในเฟสบุค เพราะทุกสิ่งที่โพสท์ในวันนี้ จะถูกยกมาพูดถึงในวันหน้าไม่วันใดก็วันหนึ่ง”

4. Social Support: มนุษย์โหยหาแรงสนับสนุนและการยอมรับจากสังคม

ปัจจัยข้อนี้นักวิจัยเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ทำให้คนติด facebook มากที่สุด เพราะการเขียนหรือระบายความทุกข์ เหงา เศร้า แล้วมีคนมากด like หรือ comment ให้กำลังใจ เหมือนได้รับแรงสนับสนุนและกำลังใจจากผู้คน ถือเป็น social support ที่สะดวกรวดเร็วกว่าการไปหาจิตแพทย์หรือกดโทรศัพท์ไปคุยกับเพื่อน เป็นต้น ผู้เขียนพอจะเข้าใจในประเด็นดังกล่าว เนื่องจากแนวคิดทางจิตวิทยา การได้รับยอมรับจากสังคมเป็นความต้องการพื้นฐานขั้นสูงสุดของมนุษย์ หลังจากความต้องการพื้นฐานอื่นได้รับการตอบสนองเป็นลำดับแล้ว ตามแนวทฤษฏีทางจิตวิทยาบันได 5 ขั้นของ Maslow "A Theory of Human Motivation" ขั้นที่ 5 คือการเป็นส่วนหนึ่งและได้รับการยอมรับจากสังคม นอกจากนี้ จากการศึกษาวิจัยของ อภิชัย มงคลและคณะ ปี 2550 ในการศึกษาเพื่อสร้างเครื่องมือดัชนีชี้วัดความสุขคนไทย พบว่า ปัจจัยสนับสนุนทางสังคม (Supporting factor) เป็น 1 ใน 4 ข้อหลัก (Mental state, Mental quality, Mental capacity, Supporting factor) ที่สำคัญที่ยืนยันได้ตามหลักวิทยาศาสตร์ว่ามนุษย์ประสบความสุขอย่างแท้จริง

----------------------------------------------------------------------------------------------

แหล่งข้อมูล: ขอบคุณข้อมูลดีๆจากหนังสือ “ความสุขที่ท่านเรียกไม่สามารถติดต่อได้ในขณะนี้ สุข เศร้า เหงา คิด และการใช้ชีวิตในโลกโซเชียลไซเบอร์. เจ้าของรางวัล Thailand blog award สาขา Best Writing 2010. พิมพ์ครั้งที่ 2. พฤษภาคม 2554.

27 August 2561

By nitayaporn.m

Views, 6140

 

Preset Colors