02 149 5555 ถึง 60

 

กล้วยหอมทำให้อารมณ์ดี?

ปัจจุบันนี้ไม่มีใครตั้งข้อสงสัยค่ะว่ากล้วยนั้นมีคุณสมบัติชั้นเยี่ยม ต่อการสร้างสารเคมีในสมองตัวหนึ่งที่จำเป็นต่อการปรับอารมณ์และการเรียนรู้ (mood stabilizer ad cognition) ของมนุษย์ นั่นคือ serotonin และ cortisol ที่เกี่ยวข้องกับภาวะซึมเศร้าและความเครียด กล้วยนั้นมีมากมายหลายชนิดในท้องตลาด วันนี้เรามาหาข้อมูลว่ากล้วยอะไรกันแน่ที่เกี่ยวข้องกันค่ะ

จากข้อมูลสารานุกรมไทย กล่าวว่า นักวิชาการชาวตะวันตก ชื่อ เออเนส์ต ชีสแมน (Ernest Cheesman), นอร์แมน ซิมมอนด์ (Norman Simmonds), และ เคน เชปเฟิด (Ken Shepherd) ได้เริ่มจำแนกชนิดของกล้วยตามลักษณะทางพันธุกรรม โดยใช้จีโนมของกล้วยเป็นตัวกำหนดในการแยกชนิด กล้วยที่บริโภคกันอยู่ในปัจจุบันมีบรรพบุรุษอยู่เพียง 2 ชนิดเท่านั้น คือ กล้วยป่า (Musa acuminate) และกล้วยตานี (Musa balbisiana) กล้วยที่มีกำเนิดจากกล้วยป่ามีจีโนมทางพันธุกรรมเป็น AA ส่วนกล้วยที่มีกำเนิดจากกล้วยตานีมีจีโนม เป็น BB และกล้วยลูกผสมของทั้ง 2 ชนิด มีจีโนมเป็น AAB, ABB, AABB และ ABBB นอกจากนี้ ซิมมอนดส์ยังได้จำแนกชนิดของกล้วยในประเทศไทยว่ามีอยู่ 15 พันธุ์ โดยกล้วยน้ำหอมทองจัดอยู่ในกลุ่มจีโนม AAA กล้วยกลุ่มนี้มีจำนวน โครโมโซม 2n = 33 ผลจึงมีขนาดใหญ่ รูปร่างผลเรียวยาว มีเนื้อนุ่ม รสหวาน กลิ่นหอม รับประทานสด ส่วนกล้วยน้ำว้า (ที่ปลูกมากที่สุดในบ้านเรา) จัดอยู่ในกลุ่มลูกผสม ABB เกิดจากการผสมระหว่างกล้วยป่ากับกล้วยตานี มีแป้งมาก ขนาดผลใหญ่ เมื่อสุกรสไม่หวานมาก ผลดิบไม่นิยมรับประทานเพราะมีรสฝาด เมื่อนำมาต้ม ปิ้ง ย่าง และเชื่อม จะทำให้รสชาติดีขึ้น

กล้วยป่าชนิดกล้วยหอม (Musa acuminate)

ในกล้วยหอมมีสารน้ำตาลอยู่ 3 ชนิด คือ ซูโครส (sucrose) ฟรักโทส (fructose) และกลูโคส (glucose) ให้พลังงานแก่ร่างกายพร้อมนำไปใช้ทันที โดยมีรายงานวิจัยยืนยันว่า กล้วยหอมขนาดธรรมดา 2 ลูกให้พลังงานเพียงพอต่อการทำงานถึง 90 นาที กล้วยหอมเป็นผลไม้ที่มีสารทริปโตแฟน (Tryptophan) ซึ่งถือเป็นกรดอะมิโนชนิดหนึ่ง ซึ่งร่างกายสามารถเปลี่ยนให้เป็นสารเซโรโทนิน (Serotonin) ที่จะทำให้คุณผ่อนคลาย มีความสุข หายจากความกังวลทั้งปวง ในกล้วยหอมยังถือเป็นแหล่งรวมวิตามินบี ช่วยการทำงานของระบบประสาท หากคุณต้องนั่งเครื่องบินหรือขับรถเป็นเวลานาน มักทำให้กล้ามเนื้อบริเวณใดบริเวณหนึ่งล้า กล้วยหอมช่วยได้ เพราะว่ามีโพแทสเซียมช่วยป้องกันตะคริว

ข้อมูลอ้างอิงทางวิทยาศาสตร์กล้วยหอมกับสารเคมีในสมอง

กล้วยหอม จีโนมอยู่ในกลุ่มกล้วยป่า (Musa acuminate) คือ AAA ดีต่อสมองและระบบประสาท

ในรายงานการศึกษาวิจัยเพื่อหาสารที่ออกฤทธิ์ต่อสมองนั้น การศึกษาส่วนมากเน้นเพื่อศึกษากล้วยที่มีจีโนมในกลุ่มกล้วยป่าจีโนม AA ซึ่งก็คือกล้วยหอม (ทั้งหอมทอง หอมเขียว เล็บมือนาง) เป็นหลัก

ข้อมูลทางการแพทย์จากฐานข้อมูล pubmed ของสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐ (US National Libray of Medicine; National Institue of Health) เผยแพร่ผลการศึกษาประสิทธิภาพกล้วยหอมต่อการลดปัญหาด้านสุขภาพจิต จากการทบทวนงานวิจัยอย่างเป็นระบบในช่วงอดีตที่ผ่านมา โดย Balwinder Singh และคณะ รายงานการศึกษาเรื่อง Bioactive compounds in banana and their associated health benefits – A systemic review เผยแพร่ในปี 2015 พบว่า มีการศึกษาประสิทธิภาพของกล้วยหอม Musa acuminate เพื่อนำมาใช้ทางการแพทย์มาตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 1900s แล้ว โดยสามารถนำมาใช้ในการรักษาเพื่อลดปัญหาจากความผิดปรกติทางจิต (Psyhiatric disorder) โดยเฉพาะภาวะอารมณ์ซึมเศร้าได้ และจากการศึกษาของ Firk C. และคณะในปี 2009 จากฐานข้อมูลเดียวกัน ทำการศึกษาเรื่อง L-Tryptophan: Basic Metabolic Functions, Behavioral Research and Therapeutic Indications พบว่าแอลทริปโตแฟนซึ่งเป็นกรมอะมิโนที่ได้จากการเมตตาโบไลท์ ผลไม้ชนิดกล้วยหอม ช่วยลดการหลั่งคอร์ติซอล ซึ่งเป็นฮอร์โมนแห่งความเครียดในสมองได้

นอกจากนี้ได้มีศึกษาการนำผลิตภัณฑ์แปรรูปกล้วยหอมในรูปยาบรรจุเสร็จในปี 2010 เผยแพร่ในวารสาร Food Chemistry โดย Rafaela Gonzalez และคณะทำการศึกษา Antioxidant activity in banana peel extracts: Testing extraction conditions and related bioactive compounds ในกล้วยหอม (Banana; Musa acuminata Colla; AAA)) พบว่าสามารถรักษาโรคไม่ติดต่อได้หลายอย่าง รวมทั้งปัญหาโรคติดเชื้อในกระเพาะอาหาร คลายอารมณ์เศร้า ลดความเครียด ฯลฯ เป็นการยืนยันทางวิทยาศาสตร์ว่า ประสิทธิภาพในการช่วยให้ระบบประสาทของมนุษย์ดีขึ้น นั่นคือ เกี่ยวข้องกับการทำงานของสารเคมีในสมองที่ชื่อซีโรโทนิน ที่เป็นต้นเหตุของภาวะอารมณ์เศร้า โดยปรับความสมดุลของอารมณ์ พูดง่ายๆคือทำให้อารมณ์ดีขึ้นนั่นเอง

กล่าวโดยสรุป แม้จะมีกล้วยหลากหลายชนิดในท้องตลาด และยังเป็นผลไม้ที่ทรงคุณค่าทางโภชนาการและสุขภาพของมนุษย์ แต่ถ้าจะโฟกัสเพื่อยืนยันข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่มีการศึกษาเรื่องนี้มาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1900s แล้ว คงจะพอกล่าวได้ว่า กล้วยชนิดกล้วยหอมทองที่รู้จักกันดีในบ้านเรานั้น มีผลต่อสุขภาพจิตและสมองของมนุษย์ เราจึงเห็นกล้วยหอมเป็นผลไม้ที่ถูกจัดเป็นอาหารเช้าให้กับแขกตามโรงแรมเสมอ ไม่ว่าทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะในโรงแรมใหญ่ๆหรูหราตามแหล่งท่องเที่ยวสำคัญๆมักจะมีผลไม้ชนิดนี้เสมอ อย่าได้แปลกใจค่ะ คงเป็นกุสโลบายที่ทางโรงแรมต้องการให้แขกที่มาพักอารมณ์ดี คลายความกังวลในการปฏิบัติภารกิจและมาพักผ่อน ให้เกิดความประทับใจในบริการค่ะ ส่วนท่านจะเลือกรับประทานกล้วยชนิดใดเพื่อสุขภาพนั้น กล้วยทุกชนิดมีผลดีทั้งนั้นค่ะ ถ้าให้เน้นเรื่องสุขภาพจิตคงขอแนะนำกล้วยหอมนะคะ

แหล่งข้อมูล:

ข้อมูลเอกสารอ้างอิงทางวิทยาศาสตร์จาก ฐานข้อมูล Pubmed [https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/] และข้อมูลชนิดของกล้วย จากเวปป์ไซท์สารานุกรมไทย

12 July 2561

By nitayaporn.m

Views, 8065

 

Preset Colors