02 149 5555 ถึง 60

 

The psychology of body language: จิตวิทยาภาษากาย

The psychology of body language: จิตวิทยาภาษากาย

What everybody is saying: ร่างกายไม่เคยโกหก

ภาษากายเป็นปฏิกิริยาตอบสนองของสมองมนุษย์ส่วนลิมบิกเป็นสำคัญ ซึ่งประกอบไปด้วยส่วนหลักๆคือ อะมิกดาลาและฮิบโปแคมปัส ที่สามารถเก็บความจำไปเจ็ดชั่วโคตรเลยทีเดียว ทำงานเชื่อมต่อส่วนอื่นเพื่อสั่งการผ่านมาทางสีหน้า แขน ขา ลำตัว ปรากฏต่อภายนอกที่คนอื่นสามารถสังเกตเห็นได้ และเป็นปฏิกิริยาตอบสนองที่ซื่อตรง อันเนื่องมาจากการตอบสนองจากสัญชาตญาณ จึงมีความน่าเชื่อถือมากกว่าคำพูด ซึ่งถูกปรุงแต่งจากความคิดและการเรียนรู้ของสมองส่วนที่เรียกว่า นีโอคอร์เท็กซ์ ซึ่งมีความน่าเชื่อถือน้อยที่สุด ซึ่งเป็นสิ่งเป็นส่วนหนึ่งที่หน่วยสืบสวนเอฟบีไอเรียนรู้และจับโกหกพฤติกรรมมนุษย์กันค่ะ.....

เร็วๆนี้มีหนังสือเล่มหนึ่งออกวางขาย และถูกจัดให้เป็น The New York Times Bestseller โดยนักเขียนชื่อว่า Jo Navarro ชาวอเมริกันเชื้อสายคิวบา ที่อพยพมาตั้งรกรากที่สหรัฐตั้งแต่อายุ 8 ขวบ เขาเริ่มต้นเรียนรู้ภาษากายในการสื่อสารเพื่อความอยู่รอดในการดำรงชีวิตในสหรัฐในฐานะผู้อพยพ ต่อมาได้กลายเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยสืบราชการลับและผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารที่ไม่ใช้คำพูดของหน่วยงานสืบสวนเอฟบีไอกว่า 25 ปี ปัจจุบันเขาเป็นอาจารย์อยู่มหาวิทยาลัยเซนต์ลีโอ รัฐฟลอริดา สหรัฐ และเป็นวิทยากรบรรยายตามหน่วยงาน องค์กรต่างๆ ฯลฯ

จิตวิทยาภาษากาย เป็นข้อเขียนที่โด่งดัง โดยโจได้อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างสมองและภาษากาย เป็นการสื่อสารโดยไม่ต้องใช้คำพูด เพื่อให้เข้าถึง ความต้องการ ความกังวลใจ ความตั้งใจ ของบุคคล ทั้งนี้ผู้เขียนได้อธิบายด้วยภาษาง่ายๆเพื่อความเข้าใจ บนพื้นฐานวิชาการด้านกายวิภาค จิตวิทยา ประสาทวิทยา และชีววิทยา

ภาษากายเป็นกุญแจนำไปสู่ความลับของมนุษย์ ช่วยเปิดเผยถึงความคิด ความรู้สึก และเจตนาที่แท้จริงได้ ด้วยเหตุนี้จึงมีคนเรียกว่า เบาะแส ซึ่งจะนำทางให้เราค้นหาความจริงๆที่ซ่อนอยู่ต่อไป เนื่องจากคนเรามักไม่ตระหนักว่าตัวเองกำลังสื่อสารโดยปราศจากคำพูดอยู่ ภาษากาย จึงมีความน่าเชื่อถือมากกว่าคำพูดจากปาก ที่มักจะเกิดจากการปรุงแต่งเพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมาย

ท่านผู้อ่านเคยลองสังเกตพฤติกรรมของมนุษย์ที่แสดงออกมา อาทิ เช่น “การกัดริมฝีปาก /เอามือลูบหน้าผาก หรือใช้มือแตะ/ลูบด้านหลังคอ” ฯลฯ เหล่านี้เป็นสิ่งที่คนเราส่วนใหญ่ทำอยู่บ่อยๆ ท่านผู้อ่านเคยสงสัยตั้งคำถามกับตัวเองหรือคนอื่นหรือไม่ว่า เหตุใดคนเราจึงมีพฤติกรรมเช่นนั้น คำตอบก็ซุกซ่อนอยู่ในที่มิดชิดในร่างกายของคนเรานี่เอง

ความลับในสมองที่จะนำไปสู่จิตวิทยาภาษากายที่จะเชื่อถือได้หรือไม่น่าเชื่อถือ

ย้อนกลับไปปี 1952 นักวิทยาศาสตร์ชื่อ พอล แมคลีน ได้เริ่มแบ่งสมองมนุษย์ออกเป็นสามส่วน ซึ่งประกอบด้วย 1. ก้านสมอง (Stem brain/ brainstem ซึ่งเป็นส่วนมีหน้าที่สำคัญคือ เป็นทางผ่านของวิถีประสาทขาขึ้นและขาลงที่ติดต่อระหว่าง spinal cord และส่วนต่างๆของสมอง เป็นศูนย์กลาง reflex center ที่ควบคุมระบบหายใจและหัวใจ) ผู้เขียนกล่าวว่าเป็นสมองของสัตว์ชั้นต่ำ 2. สมองส่วนลิมบิก (limbic brain) หมายถึงสมองสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และ 3. neocortex brain หมายถึงสมองมนุษย์ ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะระบบลิมบิก เพราะเป็นส่วนที่พอล นิวแมน บอกว่าเป็นสมองของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ซึ่งมีความสำคัญที่สุดในภาษากาย อย่างไรก็ตามเราต้องใช้สมองส่วนนีโอคอร์เท็กซ์ (ส่วนที่เป็นสมองมนุษย์หรือส่วนที่ใช้ในการคิด) ด้วย เพื่อวิเคราะห์โดยละเอียดถึงปฏิกิริยาตอบสนองต่อระบบลิมบิกของผู้คนรอบตัว จะได้สามารถถอดรหัสออกได้ว่า คนอื่นกำลังคิด รู้สึก ต้องการ หรือมีเจตนาอะไร

สมองส่วนลิมบิก

จากการศึกษาวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ (โดยเฉพาะด้านอาชญจิตวิิทยา) พบว่า การกระทำของมนุษย์นั้นเกิดขึ้นที่สมองส่วนลิมบิก ประกอบด้วยศูนย์ประสาทที่กระจัดกระจายอยู่รอบๆจำนวนมากมาย ทำงานเป็นระบบที่ซับซ้อนและเชื่อมต่อไปยังส่วนอื่นๆ ซึ่งมีส่วนหลักๆที่สำคัญคือ อมิกดาลา (Amygdala) และฮิบโปแคมปัส (Hippocampus) ซึ่งเป็นส่วนที่ควบคุมความจำโดยเฉพาะความจำระยะยาว พฤติกรรมที่ตอบสนองต่ออารมณ์ ความรู้สึก ถือเป็นส่วนสำคัญที่ตอบสนองต่อสิ่งต่างๆรอบตัวเราฉับพลันทันใดโดยปราศจากการคิดและไตร่ตรอง การทำลายสมองส่วนอมิกดาลาในสัตว์ที่ดุร้ายจะทำให้มันกลายเป็นสัตว์เซื่องซึมไม่สู้อีกเลย

ด้วยเหตุนี้ นักวิทยาศาสตร์จึงเชื่อว่าเป็นส่วนที่ตอบสนองที่แท้จริงต่อสภาพแวดล้อมของมนุษย์ เนื่องจากสมองส่วนลิมบิกนี้มีหน้าที่รับผิดชอบต่อการอยู่รอดของมนุษย์โดยเฉพาะ มันจึงไม่เคยหยุดพัก มีแต่จะ “เดินเครื่อง” อยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้บริเวณนี้ยังเป็นศูนย์กลางอารมณ์ความรู้สึก ซึ่งเชื่อมต่อไปยังส่วนอื่นๆของสมองเพื่อควบคุมพฤติกรรมให้สอดคล้องกับอารมณ์ความรู้สึกและความอยู่รอดของคนเรา ผ่านมาทางสีหน้า ลำตัว แขน ขา เนื่องจากปฏิกิริยาตอบสนองเหล่านี้เกิดขึ้นโดยไม่ผ่านกระบวนการคิด จึงมีความซื่อตรงมากกว่าคำพูด ดังนั้น ในแง่ภาษากาย สมองส่วนลิมบิกนี้จึงมีชื่อเรียกว่า “สมองที่ซื่อสัตย์”

สัญชาตญานเพื่อความอยู่รอดของพฤติกรรมคนเรา สามารถย้อนไปไกลถึงกว่าตอนที่เรายังเป็นเด็กทารกเสียอีกโดยย้อนไปไกลถึงบรรพบุรุษของมนุษยชาติเลยทีเดียว ซึ่งปฏิกิริยาตอบสนองเหล่านี้ฝังลึกอยู่ในระบบประสาทของเรา (บางคนให้นิยามการเก็บความจำของสมองส่วนอมิกดาลาว่าเป็นการเก็บ “ความจำเจ็ดชั่วโคตร” เลยทีเดียว) จึงยากที่จะปกปิดหรือกำจัดทิ้งให้ลบเลือนไปได้ เช่น แม้เรารู้ว่าจะมีเสียงดังเกิดขึ้น เราก็ยังกลบเกลื่อนอาการสะดุ้งตกใจไม่ได้เลย ดังนั้น จึงเห็นได้ชัดว่า พฤติกรรมที่เกิดจากปฏิกิริยาตอบสนองสมองส่วนลิมบิกเป็นพฤติกรรมที่ซื่อสัตย์และเชื่อถือได้ โดยถือว่าเป็นการแสดงออกที่แท้จริงของความคิด ความรู้สึก และเจตนาของคนเรา

สมองส่วนนีโอคอร์เท็กซ์

เป็นส่วนที่ค่อนข้างใหม่กว่าสมองส่วนอื่นๆ โดยมีวิวัฒนาการขึ้นมาในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมยุคหลังๆ จึงมีชื่อว่า “นีโอคอร์เท็กซ์” ซึ่งแปลว่าสมองใหม่ อีกทั้งยังเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “สมองมนุษย์” “สมองส่วนที่ใช้ความคิด” หรือ “สมองส่วนปัญญา” ด้วย เพราะมันรับผิดชอบต่อการคิด การเรียนรู้ และการจำขั้นสูง สมองส่วนนี้ทำให้มนุษย์เราแตกต่างจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นๆ เนื่องจากเราใช้พื้นที่ส่วนใหญ่ของมันไปกับการคิดเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ จึงเป็นที่ที่ทำให้มนุษย์เราไปถึงดวงจันทร์ได้ ด้วยความสามารถในการคิดคำนวณ วิเคราะห์ แปลความ และรับรู้ด้วยสัญชาติญาณในระดับที่มนุษย์เท่านั้นที่ทำได้ นีโอคอร์เท็กซ์จึงเป็นสมองส่วนสำคัญและเปี่ยมไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ แต่ขณะเดียวกันมันก็มีความหมายว่า มีความซือสัตย์น้อยที่สุดด้วย จึงได้ชื่อว่าเป็น “สมองที่เชี่ยวชาญในการหลอกลวง” เนื่องจากมีความสามารถในการคิดที่ซับซ้อน (ขณะที่ส่วนลิมบิกทำไม่ได้) จึงทำให้พฤติกรรมที่ตอบสนองจากปฏิกิริยาสมองส่วนนี้มีความเชื่อถือได้น้อยที่สุดในบรรดาสมองสามส่วน (เป็นสมองส่วนที่สามารถหลอกลวงทำให้ได้ข้อมูล/หรือการแปลพฤติกรรม ที่ห่างไกลจากความเป็นจริงมากถึงมากที่สุด) ดังนั้น ภาษากายจึงให้ความสำคัญกับปฏิกิริยาตอบสนองต่อระบบลิมบิกให้เป็นหัวใจสำคัญของภาษากาย

ปฏิกิริยาตอบสนองของภาษากาย

หนึ่งในวิธีที่สมองส่วนลิมบิกช่วยให้เผ่าพันธุ์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเช่น มนุษย์ อยู่รอดได้คือการควบคุมพฤติกรรมของเราขณะเผชิญอันตราย ซึ่งมีมานับหมื่นปีมาแล้วที่เรายังสามารถรักษาไว้ได้ เรารักษาปฏิกิริยาตอบสนองแบบเดียวกับสัญชาตญาณเอาตัวรอดของสัตว์เอาไว้ ทั้งนี้เพื่อความอยู่รอด สมองส่วนลิมบิกจะแสดงปฏิกิริยาตอบสนองเพื่อเผชิญกับความยุ่งยากหรือภัยอันตราย ซึ่งมีด้วยกันสามแบบ ได้ นิ่ง (freeze) หนี (flight) และ สู้ (fight) เช่นเดียวกับสัตว์อื่นๆ หลายท่านโดยเฉพาะวงการจิตวิทยา/กายวิภาคศาสตร์ อาจจะคุ้นเคยกับคำว่า “ปฏิกิริยาตอบสนองแบบสู้หรือหนี (Fight-or flight responds) กันมาบ้างแล้ว เพราะมันเป็นคำอธิบายวิธีที่เราตอบสนองต่อสถานการณ์ภยันอันตรายหรือภัยคุกคาม น่าเสียดายที่มีความถูกต้องเพียงสองในสาม แถมยังสลับที่กันอีก (ในความเห็นผู้เขียน) ถ้าต้องอธิบายด้านมานุษยวิทยาว่าด้วยพฤติกรรมมนุษย์ สัตว์ต่างๆรวมถึงมนุษย์เราจะตอบสนองต่ออันตรายตามลำดับดังนี้ 1. นิ่ง 2. หนี 3. สู้ ถ้าหากปฏิกิริยาตอบสนองมีเพียงสู้หรือหนี พวกเราส่วนใหญ่ก็คงจะฟกช้ำดำเขียวและเหนื่อยล้าไปตามๆกัน

เนื่องจากมนุษย์เรารับมือกับความเครียดและภัยอันตรายตามกระบวนการนี้มาโดยตลอดและปฏิกิริยาตอบสนองที่ตามมาจะก่อให้เกิดภาษากาย ซึ่งช่วยให้เราเข้าใจความคิด ความรู้สึก และเจตนาของคนคนหนึ่งได้ ตัวอย่างการอยู่ตอบสนองต่อความกลัวด้วยการอยู่นิ่ง เห็นได้จากกรณีโศกนาฎกรรมกราดยิงนักเรียนนักศึกษาที่เวอร์จิเนียเทคในสหรัฐเมื่อหลายปีก่อน พบว่ามีนักเรียนกลุ่มหนึ่งอยู่นิ่งๆและแกล้งตายทั้งๆที่พวกเขาอยู่ห่างจากมือปืนไม่กี่ก้าวเท่านั้น สัญชาติญาณของพวกเขาสั่งการให้นำพฤติกรรมดึกดำบรรพ์ที่ได้ผลดียิ่งมาใช้ (พฤติกรรมของสัตว์นักล่าผู้เชี่ยวชาญในการอยู่รอดและดำรงอยู่ได้ ซึ่งเป็นเป็นแบบ “นิ่งจับตาเฝ้ามอง ไล่ล่า/ตะครุบ และกัดกิน”) การหยุดอยู่นิ่งทำให้ไม่เป็นจุดสังเกต ดังนั้นในการฝึกความอยู่รอดของทหารและกองกำลังในหน่วยสวาท (SWAT) ก็เรียนรู้วิธีนี้เช่นเดียวกัน

ขอขอบคุณข้อมูลจากผู้เขียนหนังสือดีๆมาให้ลับสมองมา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ ........หากท่านผู้อ่านสนใจสามารถหาอ่านรายละเอียดได้จากหนังสือ “ร่างกายไม่เคยโกหก คู่มืออ่านคนฉบับเอฟบีไอ” ซึ่งมีแปลเป็นภาษาไทยวางขายในประเทศ และหนังสือ The psychology of body language ตามตลาดหนังสือหรือ amazon.com ได้ค่ะ

21 September 2561

By nitayaporn.m

Views, 13079

 

Preset Colors