02 149 5555 ถึง 60

 

Selfitis: คลั่งไคล้เซลฟี่

Selfitis: คลั่งไคล้เซลฟี่

บ้านเราช่วงนี้กำลังเข้าสู่ฤดูหนาว ซึ่งเป็นหน้าท่องเที่ยวที่สวยงาม อากาศดี การมีภาพสวยๆท่ามกลางบรรยากาศที่ดี อาหาร (เย็น) ที่ดูจะอร่อย (มากๆ) จึงกลายเป็นภาพ (การเคลื่อนไหวล่าสุด) ที่ปรากฏตามสังคมออนโลน์ยอดฮิตอย่างอินสตาแกรม หรือเฟสบุค เป็นสิ่งกระตุ้นให้เพื่อนและผู้ติดตามได้กดไลท์และแชร์ต่อ เป็นพฤติกรรมที่ฮิตติดกันทั่วโลกเอาทีเดียว

ปรากฏการณ์ดังกล่าวมานี้ได้มีอิทธิพลให้เหล่านักวิทยาศาสตร์ทั้งหลาย ได้ทำการศึกษาและวิเคราะห์ (ไปต่างๆนานา) หนึ่งในนั้นคือ ประเด็นทางสุขภาพจิต ถึงกับได้บัญญัติคำศัพท์ให้เป็นที่ฮือฮากันสื่อพอสมควรว่า “Selfitis”

เป็นความเจ็บป่วยทางจิตเวชจริงๆหรือแค่ข้อมูลลวง

จากรายงานการเผยแพร่ของสื่อวิชาการอย่าง Psychology Today ซึ่งเป็นสื่อชื่อดังด้านจิตวิทยา ให้ข้อมูลว่า จากการเปิดเผยของเวปป์ไซท์ของเอพีเอ หรือ สมาคมจิตแพทย์อเมริกา หรือ American Psychiatric Association เมื่อ 31 มีนาคม 2014 ได้จัดให้พฤติกรรมย้ำคิดย้ำทำการถ่ายภาพเซลฟี่ว่า เป็นภาวะความเจ็บป่วยทางจิต ที่เรียกว่า Selfitis (Vincent 2014) โดยในบทความดังกล่าวได้แบ่งความรุนแรงเป็นสามระดับคือ พฤติกรรมมากกว่าปกติที่ยังไม่เข้าขั้นเจ็บป่วย (Borderline), เฉียบพลัน (Acute) และ เรื้อรัง (Chronic) ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้คนในสังคมออนไลน์และสื่อทั่วโลกอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันก็ถูกตอบโต้ทันทีทันใด (จากบรรดาผู้ไม่เห็นด้วย) ว่า เป็นข่าวลวง (hoax) เป็นเรื่องที่ปราศจากการศึกษาทางวิชาการสนับสนุนที่ออกมากล่าวเช่นนั้นต่อสังคมโลก

งานวิจัยล่าสุดบ่งชี้เป็นความผิดปกติทางจิตใจ

อย่างไรก็ตาม ต่อมาไม่นาน ก็ได้มีรายการศึกษาวิจัยเพื่อหาข้อเท็จจริงให้กับสังคม โดย นักวิจัยชื่อ Janarthanan Balakrishna และ Mark Griffiths (จากมหาวิทยาลัย Nottingham Trent University ของอังกฤษ) ได้จัดประเภทพฤติกรรมที่นิยมหลงใหลถ่ายภาพเซลฟี่ว่า เป็นปัญหาด้านสุขภาพจิต (Mental Health Disorder) ที่เรียกว่า Selfitis ซึ่งได้ทำการตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติด้านสุขภาพจิตและการติดสารเสพติด (International Journal of Mental Health and Addiction) เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2017 และเผยแพร่ออนไลน์เมื่อปี 2018 นี้เอง

ผลการศึกษาพบ 6 ปัจจัยสำคัญล้วนส่งผลกระทบต่อจิตใจ

ซึ่งการศึกษาครั้งนี้ได้ทำการสัมภาษณ์เชิงลึกกลุ่มตัวอย่าง ที่เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยในอินเดียจำนวน 225 ราย อายุเฉลี่ยราวๆ 21 ปี จากสองมหาวิทยาลัย โดยทีมผู้วิจัยได้พัฒนาเครื่องมือทดสอบเพื่อแบ่งระดับพฤติกรรมเซฟฟี่ทิส (Selfitis Behavior Scale; SBS) ผลการศึกษาพบว่า มี 6 ปัจจัยสำคัญ คือ สภาพแวดล้อมที่ส่งผลต่อจิตใจของบุคคล, การแข่งขันทางสังคม, ความสนใจของบุคคล, ทักษะด้านอารมณ์, ความมั่นใจในตนเอง และ การยอมรับของผู้คนในสังคม

ซึ่งทำให้อาการเซลฟีทิสหรือการเสพติดเซลฟี่ มีระดับความรุนแรงแตกต่างกันออกไปตามวัตถุประสงค์ของแต่ละบุคคล ผู้วิจัยได้ทำการศึกษากลุ่มคนที่มีความหลงใหลในการถ่ายภาพตนเองในลักษณะต่างๆ และพบว่าพฤติกรรมดังกล่าวสะท้อนถึงสภาพจิตใจของผู้ถ่ายเซลฟี่อย่างชัดเจน เช่น การถ่ายเซลฟี่ ทำให้รู้สึกดี และสนุกกับสิ่งรอบข้าง การถ่ายเซลฟี่และโพสต์ภาพลงโซเชียลมีเดียช่วยเพิ่มสถานะทางสังคม การถ่ายเซลฟี่และแชร์ภาพลงโซเชียลมีเดียทำให้ได้รับความสนใจอย่างมากที่จะทำให้รู้สึกมั่นใจมากขึ้น และบางคนรู้สึกว่าการถ่ายเซลฟี่ช่วยลดระดับความเครียดลงได้ มีการสำรวจระดับพฤติกรรมของการเซลฟี่ และพบว่าคนที่ชอบถ่ายเซลฟี่ มีด้วยกัน 3 ระดับ ตามข้อบ่งชี้ของเอพีเอ คือ พฤติกรรมมากกว่าปกติ เจ็บป่วยเฉียบพลัน และป่วยเรื้อรังโดยคนที่เสพติดเซลฟี่มากๆ มีการถ่ายเซลฟี่มากกว่า 8 ภาพต่อวันและแชร์ภาพในโซเชียลมีเดีย มากกว่า 3 ภาพต่อวัน

การเซลฟี่ในระดับปกติ อาจไม่เป็นปัญหาอะไรมากนัก แต่หากเซลฟี่จนเกิดอาการเสพติด รวมถึงการโพสต์ แชร์ ในโซเชียลมีเดีย โดยหมกมุ่นย้ำคิดย้ำทำเพื่อให้ได้รับการยอมรับ จากการกดไลค์ กดแชร์ จนนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิต ขาดความมั่นใจในตนเอง รู้สึกตนไม่มีค่า (Low self esteem) นำไปสู่ความเจ็บป่วยทางจิตรุนแรงอย่างเช่น ซึมเศร้าและฆ่าตัวตาย เป็นเรื่องที่น่าห่วง โดยเฉพาะปัญหาฆ่าตัวตาย จัดเป็นปัญหาที่องค์การอนามัยโลกได้ออกมารณรงค์เนื่องในวันสุขภาพจิตโลกที่ผ่านมาของปีนี้ว่า เป็นสาเหตุการตายอันดับต้นๆของวัยรุ่นจนถึงวัยผู้ใหญ่ตอนต้นที่ทั่วโลกต้องตระหนักและให้ความสำคัญในการป้องกันปัญหา

Janarthanan Balakrishnan หนึ่งในผู้วิจัยอาการเซลฟีทิส บอกว่า การเซลฟี่ที่มีความถี่มากๆเพื่อโพสต์และแชร์ในเฟซบุ๊กหรือไอจี โดยคาดหวังการตอบรับ เช่น ไลค์หรือแชร์อยู่ตลอดเวลา นั่นอาจเป็นพฤติกรรมที่สะท้อนถึงการขาดความเชื่อมั่นในตัวเองและพยายามมองจุดยืนในสังคม

“เมื่อโพสต์รูปไปแล้วได้รับการตอบรับน้อยคนกดไลค์น้อย ไม่เป็นอย่างที่คาดหวังไว้ พวกเขาจะพยายามทำมันอีกซ้ำๆ และถ้ายังไม่เป็นไปตามที่ต้องการ สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือ คนคนนั้นจะเริ่มสูญเสียความมั่นใจที่มีผลต่อทัศนคติด้านลบ ที่อาจทำให้เกิดการไม่ชอบตัวเอง ไม่พอใจรูปลักษณ์ตัวเอง”

กล่าวโดยสรุป

Selfitis พฤติกรรมชอบถ่ายภาพแบบย้ำคิดย้ำทำ ชนิดคลั่งไคล้ไหลหลงเซลฟี่และลงในสื่อโซเชียลมีเดียนั้น ได้มีนักวิชาการได้ออกมาจัดระดับความผิดปกติให้เห็นชัดเจน โดยมีการศึกษาวิจัยเป็นข้อมูลสนับสนุนว่า พฤติกรรมดังกล่าวเข้าขั้นการเจ็บป่วยทางจิตเวช โดยมีระดับความรุนรแงสามระดับด้วยกัน คือ พฤติกรรมมากกว่าปกติ เฉียบพลัน และเรื้อรัง แต่อย่างไรก็ตามยังมีข้อโต้แย้งจากนักวิชาการตะวันตกได้วิจารณ์การศึกษาวิจัยชิ้นนี้ว่า ไม่ใช่คำตอบทั้งหมดของพฤติกรรมเซลฟี่ที่ผิดปกติ เพราะยังมีข้อจำกัดเรื่องวัฒนธรรม การยอมรับของสังคม ซึ่งในการศึกษาวิจัยครั้งนี้ อินเดียเป็นประเทศที่มีผู้ใช้สื่อ FB และIG มากที่สุดในโลก การสร้างความมั่นใจในตนเองของบุคคลจากจำนวนกดไลท์หรือแชร์จึงมีอิทธิพลสูง ขณะเดียวกันอินเดียเป็นประเทศที่เพศหญิงมีข้อจำกัดด้านการถูกยอมรับทางสังคมและพื้นที่สาธารณะน้อย อินเตอร์เน็ทจึงเป็นพื้นที่ทางสังคมที่ผู้คนโหยหามากที่สุด โดยเฉพาะในหมู่สังคมวัยรุ่นเพศหญิงของอินเดีย…..คงต้องตามติดเรื่องนี้กันต่อไปค่ะ.........ส่วนพวกเราจะถ่ายหรือแชร์ภาพบรรยากาศหน้าหนาวประเทศไทยสวยๆลงไอจีบ้างครั้งคราวก็ไม่เข้าขั้นป่วยทางจิตหรอกนะคะ

แหล่งข้อมูล

1. Jonarthan Balakrishman, Mark D. Griffiths. “An Exploratory Study of Selfitis and the Development of the Selfitis Behavior Scale”: Int J Ment Health Addiction p 722-736; 2018. https//doi.org/10.1007/s11496-017-9844-x.

2. https://www.psychologytoday.com/selfitis-fake-news-or-mental-illness

7 November 2561

By nitayaporn.m

Views, 4132

 

Preset Colors