02 149 5555 ถึง 60

 

The Psyochology of Money

The Psyochology of Money -; Behavioral Economics

ในสถานการณ์ที่ประเทศไทยในขณะนี้กำลังจะเข้าสู่โหมดเลือกตั้ง ข้อมูลข่าวสารจากสื่อแทบจะทุกประเภทล้วนเป็นข่าวเลือกตั้ง รวมทั้งมีของแถม hate speech ได้มามากมายท้วมท้น ที่ใครได้ยินแล้วจิตตกไปหลายวัน จะหลบในทีวีก็ไปเจอโทรโข่งวิ่งตามซอยถึงบ้าน (ห้องนอน) เลยทีเดียว วันนี้เรามาหลบวาทะแห่งความเกลียดชังมาสนใจเรื่องเงินๆทองๆกันบ้าง

อย่างไรก็ตาม จะว่าไปแล้ว ศาสตร์เรื่องเงินๆทองๆนั้นเกี่ยวอะไรกับกรมสุขภาพจิต หลายท่านคงตั้งคำถามขึ้นมาในใจ คำตอบคือ จริงๆแล้ว ศาสตร์เรื่องจิตวิทยานั้นเกี่ยวข้องกับตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ เพราะว่าด้วยเรื่องพฤติกรรมมนุษย์ จึงไม่น่าแปลกใจที่จะเกี่ยวข้องได้ทุกเรื่อง แม้แต่เรื่องเงินๆทองqค่ะ

ข้อมูลบทความวันนี้ได้มาจากส่วนหนึ่งของหนังสือ Coined : The Rich Life of Money and How Its History Has Shaped Us ที่เขียนโดย Kabir Sehgal ซึ่งเป็นชาวอเมริกันเชื้อสายซีเนกัล ในโปรไฟล์ของเขานั้นน่าสนใจมากค่ะ จบการศึกษาจาก Dartmouth College รวมทั้ง London business school ปัจจุบันเขามียศร้อยโทในกองทัพสหรัฐ (The United States Navy (USN)) เขาทำหน้าที่ประจำการกับหน่วยปฏิบัติการพิเศษในตะวันออกกลาง และได้รับเหรียญรางวัลการป้องกันประเทศมาแล้ว ขณะเดียวกันเขาก็เป็นนักเขียนชื่อดังของนิวยอร์คไทม์ วอลลสรีทเจอร์นัล โดยในหนังสือเล่มนี้ได้รับรางวัล bestselling ในเดือนมีนาคม ปี 2015 นอกจากนี้ เขาเคยเป็นรองประธานบริษัทชื่อดังเจพี มอร์แกน อีกทั้งเขายังสนใจในเพลงแจส จนได้รับรางวัลแกรมมีในปี 2017 (https://en.wikipedia.org/wiki/Kabir_Sehgal)

The Psyochology of Money

“เงิน” ถือกำเนิดขึ้นจากความคิดของมนุษย์ แล้วมนุษย์ใช้ความคิดในการตัดสินใจทางการเงินอย่างไร ท่ามกลางสภาวะฟองสบู่ของตลาดบ้านของสหรัฐ ก่อนช่วงวิกฤติ subprime crisis เหล่านายธนาคารและนักเศรษฐศาสตร์เกือบทั้งหมดในโลกมองไม่ออกเลยว่าหายนะทางการเงินครั้งใหญ่กำลังจะมาถึง … แนวทางการพยากรณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของพวกเขาตั้งอยู่บนข้อสันนิษฐานที่ว่า “มนุษย์เป็นสัตว์ที่มีเหตุผล” … การที่คนอเมริกันจำนวนมากจำนองซื้อบ้านทั้งๆที่พวกเขาไม่สามารถจ่ายเงินได้ และการที่ธนาคารต่างๆเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่อิงกับมูลค่าของตราสารหนี้จำนองบ้านเหล่านั้น แสดงให้เห็นชัดเจนว่ามนุษย์ไม่ได้ทำตัวมีเหตุผลตลอดเวลา

การศึกษาด้าน Behavioral Economics หรือเศรษฐศาสตร์ที่ว่าด้วยพฤติกรรมของมนุษย์ได้แบ่งความคิดของมนุษย์ออกเป็น 2 ระบบได้แก่ ระบบความคิดอัติโนมัติ (System 1) และระบบความคิดแบบรับรู้ (System 2) ซึ่งพวกเขาพบว่าในหลายๆครั้งมนุษย์ได้ตัดสินใจให้ System 1 ที่เป็นเหมือนการใช้สัญชาตญาณดำเนินการทางความคิดแทน System 2 ที่ต้องอาศัยพลังในการคิดวิเคราะห์มากกว่า

ระบบความคิดอัติโนมัติ สามารถสร้างความโน้มเอียง (Bias) ทางด้านการตัดสินใจทางการเงินของมนุษย์มากมาย อาทิ เช่น กรณีที่คนที่ตัดสินใจซื้อลอตเตอรี่โดยคิดว่าพวกเขามีโอกาสถูกรางวัลค่อนข้างสูงกว่าความเป็นจริง เนื่องจากพวกเขาได้รับรู้ข่าวสารของคนที่ถูกรางวัลอยู่เป็นประจำ หรือในภาวการณ์คาดการณ์แบบหลงผิดที่เรียกว่า the money illusion ที่ส่งผลให้มนุษย์มองมูลค่าของเงินเป็นจำนวนตัวเลข โดยไม่คิดถึงผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อ คนที่ได้รับเงินเดือนขึ้นต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อ มักจะยินดีมากกว่าคนที่ไม่ได้รับการขึ้นเงินเดือนในภาวะเงินฝืด

Bias หรือความโน้มเอียงที่สำคัญอีกข้อของมนุษย์คือ loss aversion หรือความกลัวต่อการสูญเสีย … ในการทดลองให้ผู้ร่วมทดลองเลือกที่จะเสี่ยงดวงว่าจะได้รับเงิน 22 ดอลลาร์ หรือเสียเงิน 20 ดอลลาร์ในอัตราส่วนเท่าๆกัน ผู้ร่วมทดลองส่วนใหญ่มักกลับเลือกที่จะไม่เสี่ยงดวง ทั้งๆที่โดยเฉลี่ยแล้วพวกเขาจะได้กำไรจากการเสี่ยงครั้งนี้

เช่นปัจจัยที่นำไปสู่ผู้บริโภคที่ซื้อผลิตภัณฑ์หนึ่งแทนที่จะเป็นอีกผลิตภัณฑ์หนึ่ง ได้คิดค้น bias ของมนุษย์อีกข้อที่สำคัญคือ Mental Accounting หรือการที่มนุษย์แบ่งเงินออกเป็นก้อนๆเพื่อแยกในการใช้จ่าย ทั้งๆที่เงินในแต่ละก้อนก็เป็นเงินเหมือนกันทั้งหมด

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2002 Daniel Kahneman เป็นนักจิตวิทยาที่เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกเศรษฐศาสตร์สาขานี้ (เป็นหนึ่งในทีมวิจัยของ ดร.ริชาร์ด เทเลอร์ ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ปี 2017) ไอเดียหลักของเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมก็คือ มนุษย์นั้นขาดเหตุขาดผล (irrational) ในการตัดสินใจ โดยไม่เป็นไปตามสมมติฐานของวิชาเศรษฐศาสตร์ที่เล่าเรียนกันมา การเข้าใจพฤติกรรมของมนุษย์ที่แท้จริงในระดับย่อย จะทำให้การวิเคราะห์มีความแม่นยำมากขึ้น อีกทั้งทำให้เกิดผลในทางปฏิบัติ จากการใช้นโยบายมากขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา

แนวคิดทฤษฏี Nude เศรษฐศาสตร์สมัยใหม่ที่อธิบายพฤติกรรมมนุษย์โดยอ้างอิงแนวคิดทางจิตวิทยา

ศาสตราจารย์ ดร.ริชาร์ด เทเลอร์ แห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก ผู้เชี่ยวชาญสาขาวิทยาศาสตร์พฤติกรรมมนุษย์และเศรษฐศาสตร์ (Behavioral Science and Economics) ผู้ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ปี 2017 เป็นนักเศรษฐศาสตร์เชิงพฤติกรรม ซึ่งเป็นแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่ ที่ใช้แนวคิดเรื่องจิตวิทยามาอธิบายพฤติกรรมมนุษย์ ในการวิเคราะห์การตัดสินใจ โดยเฉพาะแนวคิดเรื่อง “nudge theory” หรือบางทีก็เรียกว่า Nudge Concept ซึ่งเป็นผลงานสำคัญชิ้นหนึ่งที่ทำให้เขาได้รับรางวัล เป็นหนึ่งในสมาชิกของกลุ่มผู้บุกเบิกเศรษฐศาสตร์สาขาใหม่คือ เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมมาเมื่อกว่า 20 ปีมาแล้ว

หลังจากที่หนังสือ Nudge : Improving Decisions About Health, Wealth, and Happiness (2008) ของ ศ.ดร.ริชาร์ด เทเลอร์ และคณะออกวางแผง ก็มีผู้นำของอังกฤษทดลองนำไปใช้ โดย David Cameron ตั้งหน่วยงานพิเศษชื่อ Behavioral Insights Team นอกจากนั้น ประธานาธิบดี Barack Obama แห่งสหรัฐอเมริกา ก็ยังตั้งหน่วยงานพิเศษในทำเนียบขาว เพื่อพิจารณาหามาตรการจากเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมมาใช้งานเชิงนโยบาย ข้อเขียนนี้จะกล่าวถึงแนวคิด nudge เป็นการเฉพาะ เพื่อชี้ให้เห็นถึงศักยภาพในการนำไปประยุกต์ในเบื้องต้น ซึ่งในงานศึกษาวิจัยพบว่า ในใจมนุษย์นั้นเสมือนมี 2 ตัวละครอยู่ในคนๆเดียวกัน คนแรกหรือระบบแรก คือการคิดแนวอัตโนมัติตามสัญชาตญาณ และกระทำไปตามแรงผลักดันธรรมชาติ ส่วนคนที่สองหรือระบบที่สอง คือการขบคิดอย่างตั้งใจและคาดหวังผล ทั้งสองระบบจะต่อสู้กันตลอดเวลา ผลของปฏิสัมพันธ์จะเป็นตัวกำหนดว่าบุคคลหนึ่งมีวิจารณญาณการตัดสินใจและการกระทำอย่างไร

ระบบแรกที่กล่าวถึงนี้มาจากส่วนหนึ่งของสมองซึ่งทำงานตามสัญชาตญาณ บ่อยครั้งไม่มีสติควบคุม ดังเช่น เวลาเราได้ยินเสียงดังก็สะดุ้งและหันเหไปให้ความสนใจทันที ส่วนนี้เป็นผลพวงจากสัญชาตญาณของมนุษย์ ซึ่งช่วยให้มนุษย์สามารถตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว และช่วยให้อยู่รอดมาได้จนถึงทุกวันนี้ ส่วนระบบสองคือส่วนของสมองซึ่งมีการตัดสินใจที่ผ่านกระบวนการคิด ไตร่ตรอง มีการใช้เหตุใช้ผลและความเชื่อ โดยเกี่ยวพันกับการตระหนักถึงสิ่งที่กำลังทำอยู่ การควบคุมตนเอง การเลือก การเพ่งพินิจ และการให้ความสนใจ

โดยทั้งสองระบบถูกนำมาอธิบายเพิ่มเติมผ่านงานเขียนของเซกัลในหนังสือ Coined : The Rich Life of Money and How Its History Has Shaped Us บทที่สอง ที่ว่าด้วยเรื่อง A Piece of My Mind – The Psyochology of Money

Neuroeconomics ประสาทวิทยาเศรษฐศาสตร์

นอกจากนี้ แนวคิดด้านประสาทวิทยา ถูกนำมาอธิบายวิธีคิดของมนุษย์ ซึ่งเป็นศาสตร์แขนงใหม่ที่กำลังเริ่มมีบทบาทในวงการนักเศรษฐศาสตร์ คือ Neuroeconomics หรือการศึกษาการตอบสนองของสมองส่วนต่างๆ เพื่อทำความเข้าใจถึงการตัดสินใจของมนุษย์ให้มากขึ้น … เบื้องต้น Brian Knutson ศาสตราจารย์ Neuroeconomics คนสำคัญได้ค้นพบว่า “อารมณ์” ของมนุษย์มีผลต่อการกระตุ้นสมองในส่วนที่แตกต่างกัน ซึ่งส่งผลต่อไปถึงการตัดสินใจอีกทอดหนึ่ง ตัวอย่างเช่น อารมณ์ “มีความสุข” ของมนุษย์เป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการตัดสินใจแบบกล้าเสี่ยงมากยิ่งขึ้น การรับรู้ราคาสินค้าที่แพงเกินไป กระตุ้นการทำงานของสมองในส่วนที่แสดงอารมณ์ “รังเกียจ” หรือ “ช็อค” และการมองเห็นโอกาสในการได้เงินปริมาณมากของมนุษย์จะสร้างอารมณ์ที่ไม่ต่างจากการเสพกัญชาเลยทีเดียว

ในอนาคต เราจะเห็นการนำศาสตร์ของ Neuroeconomics มาใช้งานด้านการพยากรณ์ทางเศรษฐศาสตร์มากยิ่งขึ้น และไม่แน่ว่าในที่สุดมนุษย์จะสามารถพยากรณ์การตัดสินใจของมนุษย์ได้ล่วงหน้าอย่างแม่นยำก็เป็นได้

แหล่งข้อมูล

1. จากบางส่วนในหนังสือ Coined : The Rich Life of Money and How Its History Has Shaped Us เผยแพร่เดือนมีนาคม ปี 2015 เขียนโดย Kabir Sehgal

2. https://www.theguardian.com/world/2017/oct/09/what-is-behavioural-economics-richard-thaler-nobel-prize

3. https://www.the101.world/nudge-richard-thaler/

27 February 2562

By nitayaporn.m

Views, 3219

 

Preset Colors