02 149 5555 ถึง 60

 

ความสุขสากล 2019 ไทยรั้งอันดับ 52 ของโลก

ความสุขสากล 2019 ไทยรั้งอันดับ 52 ของโลก

อย่างที่ได้สัญญากันไว้ค่ะว่า ในวันที่ 19 มีนาคมที่ผ่านมานี้ กรมสุขภาพจิตได้จัดนิทรรศการเนื่องในวันความสุขสากล คือจัดก่อน 1 วัน ทำให้ไม่สามารถนำข้อมูลความสุขปี 2019 มานำเสนอ อย่างไรก็ตามทางกรมสุขภาพจิตได้ติดตามข้อมูลคืบหน้ามานำเสนอ หลังจากเจ้าของผลงานได้ทำการเผยแพร่ข้อมูล

ซึ่งข้อมูลความสุขสากลประจำปี 2019 ของประชากรโลกนี้ เป็นผลการศึกษาของ John F. Helliwell และคณะ อันประกอบไปด้วยกลุ่มนักวิชาการอิสระ ที่ได้ติดตามรายงานความสุขของประชากรโลก โดยเป็นการวิเคราะห์ความสุขของประชากรโลกจากข้อมูลการสำรวจของ Gallop Poll โดยในปี 2019 นี้รายงานดังกล่าวได้เผยแพร่ออกมาแล้ว โดยข้อมูลประเทศที่ประชากรมีความสุขมากที่สุดในโลกยังอยู่ในกลุ่มประเทศแถบสแกนดิเนเวียเช่นเดิม ไทยอยู่ในอันดับที่ 52 ของกลุ่มประเทศในโลกกว่า 156 ประเทศ โดยมีข้อมูลบางส่วนที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

รายงานค่าคะแนนความสุขสากล ประจำปี 2019

ประเทศที่มีค่าคะแนนความสุขสูงสุด 10 อันดับแรกของโลกประกอบด้วย ฟินแลนด์ มีค่าคะแนน 7.769 (จากคะแนนเต็ม 10) รองลงมาคือ เดนมาร์ค มีค่าคะแนน 7.600 อันดับสาม นอร์เวย์ มีค่าคะแนน 7.554 อันดับสี่ ไอซ์แลนด์ มีค่าคะแนน 7.494 อันดับห้า เนเธอร์แลนด์ มีค่าคะแนน 7.488 อันดับหก สวิตท์เซอร์แลนด์ มีค่าคะแนน 7.480 อันดับเจ็ด สวีเดน มีค่าคะแนน 7.343 อันดับแปด นิวซีแลนด์ มีค่าคะแนน 7.037 อันดับเก้า คานาดา มีค่าคะแนน 7.278 และอันดับสิบ คือ ออสเตรีย มีค่าคะแนน 7.246

ในขณะที่ประเทศที่มีความสุขน้อยที่สุดท้ายตาราง 5 ประเทศ ประกอบด้วย อันดับที่ 152 ประเทศระวันดา มีค่าคะแนน 3.334 อันดับที่ 153 ประเทศแทนซาเนีย มีค่าคะแนน 3.231 อันดับ 154 ประเทศอัฟกานิสถาน มีค่าคะแนน 3.203 อันดับที่ 155 ประเทศสาธารณรัฐอาฟริกากลาง มีค่าคะแนน 3.083 และประเทศซูดานใต้คือประเทศที่มีความสุขน้อยที่สุดในโลก มีค่าคะแนน 2.853 ตามลำดับ

ไทยอยู่อันดับที่ 52 ของโลก และอยู่ใน 5 อันดับแรกของประเทศกลุ่มเอเชียด้วยกัน

หันมามองประเทศไทย ข้อมูลเดิม ในปี 2018 ของการจัดอันดับความสุขสากล จัดลำดับค่าคะแนนจาก 0 ถึง 10 คะแนน คือความค่าคะแนนน้อย หมายถึงประชาชนมีความสุขน้อย ในขณะที่ค่าคะแนนสูง หมายถึง ประชาชนมีความสุขมาก คะแนนความสุขในปี 2019 นี้เป็นข้อมูลสำรวจระหว่างปี ค.ศ. 2015-2017 ใน 6 ปัจจัยดังที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้ (20 มีนาคม วันความสุขสากล) โดยในปี 2018 ไทยอยู่ในอันดับที่ 46 มีค่าคะแนนเท่ากับ 6.072 ในขณะที่ข้อมูลล่าสุดของปี 2019 ไทยอยู่ในอันดับที่ 52 มีค่าคะแนนเท่ากับ 6.008 โดยในภาพรวมไทยมีอันดับลดลง ในขณะที่ประเทศในกลุ่มเอเชีย ที่น่าสนใจคือประเทศไต้หวัน อยู่ในอันดับที่ 25 มีค่าคะแนนเท่ากับ 6.446 ประเทศซาอุดิอาราเบียอยู่ในอันดับที่ 28 มีค่าคะแนนเท่ากับ 6.375 ประเทศกาตาร์อยู่ในอันดับที่ 29 มีค่าคะแนนเท่า 6.374 ประเทศสิงคโปร์อยู่ในอันดับที่ 34 มีคะแนนเท่ากับ 6.262 อันดับที่ 51 ประเทศคูเวต มีค่าคะแนนเท่ากับ 6.021 เหล่านี้คือประเทศเอเชียที่มีค่าคะแนนอยู่ในอันดับที่มีความสุขสูงกว่าประเทศไทย

รายได้ประเทศ หรือ GDP เป็นแฟกเตอร์หนึ่งที่ทำให้ประเทศภูฐานมีค่าคะแนนความสุขต่ำ

เป็นที่น่าสังเกตุว่า การวัดค่าคะแนนความสุข หนึ่งในแฟกเตอร์ที่ John F. Helliwell และคณะ ได้ทำการสำรวจ มีแฟกเตอร์ด้านรายได้ประชาชาติคือ GDP เป็นส่วนสำคัญ จึงน่าจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ประเทศร่ำรวยน้ำมันอย่างตะวันออกกลาง จะมีค่าคะแนนรวมสูง ซึ่งในแฟตเตอร์ดังกล่าวทำให้ประเทศภูฐาน ซึ่งถือว่าเป็นผู้นำด้านความสุขของโลกประเทศหนึ่ง และยังถือเป็นประเทศผู้นำความคิดด้านการวัดความสุขของประชากรโลกของสหประชาชาติ (เป็นประเทศผู้ร่วมริเริ่มการวัดคุณภาพชีวิตประชากรโลกด้วยประเด็นความสุขประชากรโลก) มีค่าคะแนนอยู่ในอันดับที่ 95 นั่นคือมีค่าคะแนนเท่ากับ 5.082 ในขณะที่ประเทศไต้หวันซึ่งมีค่าคะแนนสูงสุดของกลุ่มประเทศในเอเชียนั้น เมื่อดูข้อมูลรายละเอียด ที่กลุ่มนักวิชาการอิสระได้ทำการสำรวจกลับพบว่า ประเทศไต้หวันขาดข้อมูลในส่วนสองประเด็นสำคัญคือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP per capital) และข้อมูลด้านการคาดการณ์อายุขัย การที่มีอายุยืนและแข็งแรง (Healthy life expectancy)

กล่าวโดยสรุป

การวัดค่าความสุขของประชาการโลกของ John F. Helliwell และคณะ ครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยงานวิจัยของแคนาดา เผยแพร่สาธารณะในเวปป์ไซท์ http://worldhappiness.report/ เป็นข้อมูลการสำรวจความสุขใน 6 ประเด็นหลัก ซึ่งได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้ ใน 156 ประเทศในโลก อย่างไรก็ตาม หากจะมองอีกมุมหนึ่งของการวัดความสุขจากปัญหาฆ่าตัวตายในโลกขององค์การอนามัยโลก ซึ่งถือเป็นหน่วยงานสำคัญในการติดตามเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพและความเป็นอยู่ดีของประชากรโลก ซึ่งเป็นข้อมูลที่น่าเชื่อถือและอ้างอิงได้กลับพบว่า ประเทศที่มีค่าคะแนนความสุขสูงมากๆเช่นประเทศแถบสแกนดิเนเวีย มีอัตราฆ่าตัวตายสูงเช่นกัน นั่นคือ มีอัตราฆ่าตัวตาย ตั้งแต่ 10.0-15.0 เช่นเดียวกัน ซึ่งทั้งนี้และทั้งนั้น การวัดค่าคะแนนความสุข โดยการประเมินแต่ละด้านไม่ได้บ่งชี้สถานะจริงๆของความสุขประชากรได้เช่นกัน

แหล่งข้อมูล

1. http://worldhappiness.report/

2. https://www.who.int/mental_health/suicide-prevention/Global_AS_suicide_rates_bothsexes_2016.png?ua=1

26 March 2562

By nitayaporn.m

Views, 2908

 

Preset Colors