02 149 5555 ถึง 60

 

ความหลากหลายทางเพศ (sexual diversity)

ความหลากหลายทางเพศ (sexual diversity)

ความหลากหลายทางเพศ เอกลักษณ์ทางเพศ เพศสภาพ เพศวีถี ฯลฯ เหล่านี้คือศัพท์ที่ถูกบัญญัติขึ้นมาในโลกยุคดิจิตอล หลายท่านคงจะเคยผ่านตามาบ้าง ความเป็นมาอย่างไรนั้นวันนี้ทีมงานกรมสุขภาพจิตมีข้อมูลบางส่วนมานำเสนอ ทั้งนี้และทั้งนั้นเป็นความเห็นทางวิชาการที่ไม่เกี่ยวข้องกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ โดยข้อมูลที่นำเสนอเป็นผลการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ทั้งในและต่างประเทศมาให้ท่านผู้อ่านได้อัพเดทข้อมูลกันค่ะ

WHO; Health and sexual diversity (สุขภาพและความหลากหลายทางเพศ)

ปี ค.ศ. 2016 องค์การอนามัยโลกได้กำหนดวาระการพัฒนาสุขภาพที่ยั่งยืนของประชากรโลก โดยกำหนดว่าภายในปี 2030 ผู้คนทั่วโลกกำลังดำเนินการไปสู่เป้าหมายโลกที่สะท้อนความยุติธรรมสากลทางด้านสุขภาพ ที่เคารพต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยให้คำมั่นว่าจะไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง เลสเบี้ยน เกย์ กะเทยแปลงเพศ/ไม่แปลงเพศ และกลุ่ม intersex หรือที่เรียกรวมกันว่า LGBTQI โดยประชากรกลุ่มนี้จะไม่ต้องเผชิญกับภาวะปัญหาสุขภาพกายและสุขภาพจิตอย่างโดดเดี่ยวอีกต่อไป เพื่อที่จะต่อสู้กับความแตกต่างด้านกายภาพสรีระและจิตใจ มีผลต่อภาวะสุขภาพอย่างมากที่ประชากร LGBTQI ต้องเผชิญ โดยที่ประชากรทุกกลุ่มในโลกจะต้องเข้าใจถึงแนวคิดหลัก ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและความหลากหลายทางเพศ เพื่อตอกย้ำความมุ่งมั่นของสหประชาชาติ ในการคงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีความเท่าเทียมกันของมวลมนุษยชาติในโลก ต่อเอกลักษณ์ทางเพศและความหลากหลายทางเพศ (1)

Out of DSM: การถอดพฤติกรรมรักร่วมเพศจากคู่มือวินิจฉัยโรค

จากรายงานการศึกษาของ Jack Drescher ที่เผยแพร่ในวารสาร Behavioral Science ฉบับเดือนธันวาคม ปี ค.ศ. 2015 จากฐานข้อมูลสุขภาพแห่งชาติสหรัฐ (NIH) กล่าวว่า ในปี 1973 สมาคมจิตแพทย์อเมริกัน (American Psychiatric Association; APA) ได้ยกเลิกการวินิจฉัย "รักร่วมเพศ" จากคู่มือการวินิจฉัยปัญหาทางจิตเวช (Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders ; DSM) โดยปรากฏการณ์นี้ได้เกิดขึ้นหลังจากการเผยแพร่รายงานการศึกษาพยาธิสภาพที่เกิดขึ้นในกลุ่มที่มีภาวะรักร่วมเพศ พบว่ามีภาวะปกติดังเช่นบุคคลทั่วไป ซึ่งรายงานการศึกษาดังกล่าวและอีกหลายรานการศึกษา นำมาซึ่งการทบทวนแนวคิดทางทฤษฎีที่มีต่อกลุ่มรักร่วมเพศ ผลการศึกษาในอดีต ที่ได้มีการกำหนดแนวคิดทางทฤษฏีเพื่อระบุภาวะสุขภาพเพื่อการวินิจฉัยโรค DSM-I และ DSM-II ซึ่งนำไปสู่การวิพากย์ทางวิชาการและการตัดสินใจเพื่อถอดถอนแนวทางการวินิจฉัยโรคของสมาคมจิตแพทย์อเมริกันจาก DSM III ในปี ค.ศ. 1973 ในที่สุด(2)

รายการการศึกษา วิวัฒนาการความหลากหลายทางเพศที่เกิดขึ้นในสังคมไทย

มีรายงานการศึกษาหนึ่งที่น่าสนใจ ที่ได้ศึกษาในบริบทที่แสดงถึงวิวัฒนาการทางด้านสังคมศาสตร์ โดยเป็นบทความวิจัย ที่มีวัตถุประสงค์ที่จะศึกษาและแสดงให้เห็นทัศนคติในด้านการยอมรับความหลากหลายทางเพศของกลุ่มบุคคลที่มีรุ่นวัยต่างกันว่า เหมือนหรือต่างกันอย่างไร มีปัจจัยใดที่มีผลต่อทัศนคตินั้น โดยใช้ข้อมูลทุติยภูมิจากโครงการ สำรวจสภาวะทางสังคม วัฒนธรรม และสุขภาพจิต พ.ศ. 2551 และโครงการสำรวจสภาวะทางสังคมและวัฒนธรรม พ.ศ. 2554 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ และใช้แนวคิดการแบ่งกลุ่มอายุตามรุ่นวัย (Generation) ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ยอมรับไม่ได้กับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ 4 ลักษณะ คือ ผู้ชายทำตัวเป็นผู้หญิง ผู้หญิงทำตัวเป็นชาย ชายรักชาย หญิงรักหญิง การยอมรับคนที่ทำตัวข้ามเพศมีมากกว่าคนรักร่วมเพศ และทัศนคติของกลุ่มตัวอย่าง มีความแตกต่างกันในแต่ละรุ่นวัย โดยกลุ่มที่มีอายุน้อยจะมีการยอมรับมากกว่ากลุ่มที่มีอายุมากกว่า คือ กลุ่ม Gen Y มีการยอมรับมากที่สุด และกลุ่มที่มีอายุมากสุดมีการยอมรับน้อยที่สุด คือกลุ่ม Silent Gen/Greatest Gen แสดงให้เห็นถึงการเติบโตมาในช่วงเวลาที่ต่างกัน การขัดเกลาทางสังคมและวัฒนธรรม ประสบการณ์ การเรียนรู้จาก สังคม ข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความแตกต่างของทัศนคติของแต่ละรุ่นวัย ตัวแปรสำคัญอื่นๆที่มีผลต่อการยอมรับความหลากหลายทางเพศอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ คือ เพศ สถานภาพสมรส การศึกษา ศาสนา ภาคและเขตที่อยู่อาศัย รวมทั้งทัศนคติที่ยอมรับได้กับความหลากหลายทางเพศในปี 2554 มีมากขึ้นกว่าการสำรวจในปี 2551 (3)

กล่าวโดยสรุป

ทิศทางวิชาการด้านสุขภาพจิตและจิตเวช ที่เปิดกว้างมากขึ้นในโลกยุคปัจจุบัน ทำให้มีการศึกษาเพื่อทำความเข้าใจปัญหาด้านสุขภาพจิตและจิตเวชที่เคยมีต่อกลุ่มรักร่วมเพศ ปัจจุบันถือว่าได้ถูกถอดจากแนวทางการวินิจฉัยโรคของสมาคมจิตแพทย์อเมริกัน เพื่อให้สอดคล้องกับผลการศึกษาของกลุ่มนักวิชาการที่เกี่ยวข้องด้านพฤติกรรมศาสตร์ ที่แนะนำว่า กลุ่มดังกล่าวถือว่าเป็นพฤติกรรมปกติ ซึ่งส่งผลให้องค์การอนามัยโลกได้ทำการรณรงค์ในปี ค.ศ. 2016 เพื่อให้ประชากรทั่วโลกตระหนักว่า กลุ่มบุคคลดังกล่าวจะไม่ถูกโดดเดี่ยวและตีตราอีกต่อไป ตามมติสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิพื้นฐานและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยในปี ค.ศ. 2030 จะเป็นปีที่มีการพัฒนาสุขภาพยั่งยืนบนความหลากหลายทางเพศ ข้อมูลที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ คงจะเป็นตัวอย่างการอัพเดทข้อมูลวิชาการที่เกี่ยวข้อง ให้ท่านผู้อ่านได้ตระหนักและทบทวนศึกษารายละเอียดจากแหล่งข้อมูลอ้างอิงด้านล่างค่ะ

แหล่งข้อมูล

1. https://www.who.int/gender-equity-rights/news/health-sexual-diversity/en/

2. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4695779/

3. http://www.ms.ipsr.mahidol.ac.th/ConferenceXI/article2558_detail.php?article_id=20

28 March 2562

By nitayaporn.m

Views, 25497

 

Preset Colors