02 149 5555 ถึง 60

 

คิดเร็ว.....คิดช้า.....

Thinking; Fast and Slow

คิดเร็ว....คิดช้า มีกระบวนการทำงานเป็นอย่างไร

Thinking; Fast and Slow คือ สุดยอดคัมภีร์จิตวิทยาที่เล่าเรื่องราวของ “ความบกพร่อง” ของระบบการตัดสินใจของมนุษย์ โดยฝีมือของนักจิตวิทยาเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ที่ได้รับฉายาว่าเป็น “บิดาแห่งเศรษฐศาสตร์เชิงพฤติกรรม”

เรามักจะมีความเชื่อว่าคนปกติส่วนใหญ่จะมีการตัดสินใจที่มีเหตุมีผล เช่น เราอยากจะซื้อของที่ดีในราคาที่ถูก ไม่มีใครอยากที่จะซื้อของที่ไม่มีคุณภาพในราคาที่แพง แต่สมมุติฐานในข้อนี้ไม่เป็นจริงเสมอไป การตัดสินใจของบุคคลในบ้างครั้งมีความผิดพลาด โดยแม้แต่ผู้ที่ทำการตัดสินใจก็ยังไม่ได้สังเกตเห็น

Thinking, fast and slow เป็นหนังสือที่แต่งขึ้นโดย Daniel Kahneman ซึ่งเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงเป็นอย่างมากในการศึกษาเรื่องที่เกี่ยวกับการตัดสินใจของมนุษย์ Kahneman เป็นศาสตราจารย์ที่สอนทางด้านจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัย Princeton ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำแห่งหนึ่งของโลก นอกจากนี้ยังได้รับรางวัลโนเบลในสาขาเศรษฐศาสตร์ในปี 2002 โดยผลงานได้ทำขึ้นร่วมกันกับ Amos Tversky ซึ่งเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงอย่างมากในสาขานี้เช่นกัน หนังสือตีพิมพ์ในปี 2011 และได้เป็นหนังสือที่มียอดขายดีมากในหลายประเทศ มีความหนาทั้งสิ้น 499 หน้า แค่ได้ยินชื่อหนังสือ ก็พลันทำให้เกิดความสงสัยและอยากรู้แล้วว่า หนังสือ Thinking Fast and Slow ที่ว่ากันว่าเป็นหนังสือที่สามารถอธิบายกระบวนการทำงานของสมองมนุษย์ได้อย่างละเอียดและเข้าใจง่ายที่สุดเล่มหนึ่งนั้น จะมีวิธีอธิบายเรื่องยากๆแบบนี้ให้เข้าใจง่ายได้อย่างไร โดยเนื้อหาในเล่มสรุปมาจากการรวบรวมผลการศึกษาวิจัยตลอด 40 ปี ของ Daniel Kahneman ที่ตั้งใจถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องนี้สู่ผู้อ่านด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย มีตัวอย่างทำให้เห็นภาพชัดเจน

Kahneman ได้แยกระบบประสาทของมนุษย์ออกเป็น 2 ระบบ ได้แก่ ระบบอัตโนมัติ System 1 (รวดเร็ว, อัตโนมัติ, ขึ้นกับอารมณ์, จิตใต้สำนึก, เต็มไปด้วยข้อบกพร่อง) และระบบควบคุม System 2 (ช้า, ใช้พลังงานสูง, มีเหตุมีผล, คำนวณ, ตระหนักรู้ถึงการตัดสินใจในแต่ละครั้ง)

นอกจากนี้ Kahneman ยังได้แยกประเภทของมนุษย์จากระบบการตัดสินใจออกเป็น Econs หรือคนที่มีเหตุผลสูงสุดและตัดสินใจตามหลักเศรษฐศาสตร์เป้ะๆ กับ Human ที่เต็มไปด้วย Systemic Error เช่น การเลือกให้น้ำหนักของ Loss (ความสูญเสีย) มากกว่า Gain (การได้รับ) และแยกระบบการรับรู้ออกเป็น Experiencing Self หรือการรับรู้จริงๆตลอดช่วงระยะเวลาที่ประสบกับประสบการณ์ต่างๆ กับ Remembering Self หรือความทรงจำจากสิ่งที่ได้รับรู้มาซึ่งจะให้น้ำหนักกับช่วงสูงสุดและตอนจบโดยไม่ค่อยสนใจระยะเวลา (เช่น คนมักจะให้น้ำหนักตอนจบของหนังมากกว่าตอนกลางๆของเรื่อง)

กระบวนการคิดแบ่งเป็น 2 ระบบ คือ SYSTEM 1 ระบบคิดเร็ว และ SYSTEM 2 ระบบคิดช้า

สมองของเราถูกโปรแกรมมาให้ใช้พลังงานน้อยที่สุด System 1 จึงมักถูกใช้งานมากกว่า ซึ่ง System 1 มักทำให้เกิดความผิดพลาดจากการตัดสินใจด้วยอคติ (bias) ถูกทำให้ไขว้เขวได้ง่าย ในขณะที่ System 2 จะใช้คิดเรื่องสำคัญโดยเฉพาะ หรือมีหน้าที่คอยตรวจสอบความถูกต้องของ System 1 แต่เมื่อเรารู้สึกเหนื่อย System 2 จะไม่ถูกใช้งาน

ระบบ 1 ความคิดเร็ว (System 1) เรียกว่าคิดแบบ Heuristic (Human)

ระบบกระบวนการคิดของ System 1 จะทำงานผ่าน Heuristic หมายถึง ระบบการคิดแก้ปัญหาหรือตัดสินใจ เป็นวิธีลัดทางความคิด โดยเพ่งความสนใจไปยังสวนหนึ่งของปัญหาที่ซับซ้อนแล้วไม่ใส่ใจส่วนอื่นๆ ซึ่งมักคิดอย่างรวดเร็ว รวบรัด มีความน่าเชื่อถือต่ำ นำไปสู่ความผิดพลาดอย่างเป็นระบบ ซึ่งอาจเป็นความผิดพลาดแบบ ตรรกะ ความเป็นไปได้ ความสมเหตุผล ความผิดพลาดเหล่านี้เกิดจากความโน้มเอียง (bias) เราจะมีการกระทำและความคิดที่เอนเอียง ไปกับความคิดที่ผ่านเข้ามา ไม่ว่าจะรู้สึกตัวหรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น

• หนังแนวคอมเมดี้ ทำให้หัวเราะได้มากกว่าปกติ

• เราจะเดินช้าลงอย่างไม่รู้สึกตัว เมื่อกำลังนึกถึงผู้สูงอายุ

• สินค้าลดราคา 50% ทำให้เราสนใจซื้อ ทั้งที่ราคาปกติอาจเป็นราคาที่ตั้งเผื่อไว้ (สร้าง prime idea ให้เราคิดว่าราคาสูง)

ระบบ 2 (System 2; Cognitive)

ระบบคิด 2 (System 2) หรือการคิดผ่าน Cognitive เป็นการคิดผ่านประสบการณ์ ความรู้ ความจำพร้อมใช้งาน (Working memory) การหาเหตุผล ความเข้าใจ ซึ่งขั้นตอนการคิดในระบบนี้ของมนุษย์ทำได้ทั้งในระดับจิตสำนึกและจิตใต้สำนึก ทั้งเรื่องที่เป็นรูปธรรม นามธรรม เป็น conceptual ที่อาศัยภาพการทำหน้าที่ของจิตใจ (Mental capacity) ขณะเดียวกันเมื่อเราอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปกติหรือรู้สึกผ่อนคลายเราจะใช้ความคิดไตร่ตรองน้อยลง

• ความคิดจากคนที่ดูน่าเชื่อถือ หรือคนที่เราชอบมักมีน้ำหนักมากกว่า

• เราอาจเชื่อเรื่องโกหก ถ้าได้ยินมันบ่อยพอ

Characters of the Story

“24 x 17 เท่ากับเท่าไหร่?”

ไม่น่ามีใครตอบได้ทันที แต่ที่แน่ๆ System 1 น่าจะรู้ว่ามันต้องมีค่ามากกว่า 200 หรือ น้อยกว่า 5000 แน่ๆ

ส่วนการจะหาคำตอบจริงๆนั้นเป็นหน้าที่ของ System 2 ที่จะต้องใช้พลังงานในการคิด สังเกตได้จากการเกร็งก้ามเนื้อหรือม่านตาขยาย

System 1 เป็นระบบอัตโนมัติที่ไม่ต้องใช้ Mental Effort (การใช้พลังงานในการคิด) ใดๆ และมักจะไม่สามารถต่อต้านได้ เช่น เห็นหน้าคนแล้วมองว่าสวย เห็นตักอักษรแล้วคิดเป็นคำ ส่วน System 2 เป็นระบบที่ต้องทำการจัดสรร Mental Effort เพื่อนำมาใช้นึก คิด วิเคราะห์ สังเกต ตัดสินใจ และสามารถโปรแกรมให้ควบคุม System 1 ได้ เช่น คอยเตือนตัวเองให้มองซ้ายขวาก่อนข้ามถนน ควบคุมให้พูดจาสุภาพต่อหน้าผู้ใหญ่

การทดลอง Gorilla Test ที่เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัย ได้ให้คนนั่งดูคลิปการแข่งขันกีฬาระหว่างผู้เล่นสองทีมโดยมีกติกาให้ผู้ชมต้องคอยนับแต้มของแต่ละทีมให้แม่นยำที่สุด ซึ่งในระหว่างการแข่งขันตอนหนึ่งของคลิป กอริลล่าตัวใหญ่ได้ค่อยๆเดินมากลางสนามอย่างช้าๆจนแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่ผู้ชมจะไม่สังเกตเห็น (ถ้าเราบอกพวกเขาว่ามีกอริลล่านะ) แต่ผู้ทดลองกว่าครึ่ง ไม่เห็นและยืนยันตามความเชื่อของตัวเองว่าไม่มีกอริลล่าแน่ๆเพราะว่าพวกเขาได้ใช้ Mental Effort ทั้งหมดไปกับการตั้งสมาธินับคะแนนโดยไม่สนใจสิ่งอื่นๆรอบข้าง

Attention and Effort

การทำงานที่ต้องคิดวิเคราะห์หรือคำนวณมีความจำเป็นในการดึง Mental Effort จาก System 2 มาใช้

แต่ System 2 เองก็มี Capacity (ขีดจำกัด) ของตัวเองอยู่ เช่น คนเราไม่สามารถขับรถและคำนวณเลขยากๆพร้อมๆกันได้ เป็นต้น

ซึ่งการทดลองทางวิทยาศาสตร์ก็ยังค้นพบด้วยว่าเวลามนุษย์เลือกใช้ Mental Effort ปริมาณมากๆ รูม่านตาของเขาจะขยายมากกว่าปกติ

และแน่นอนว่า Mental Effort เป็นสิ่งที่ทำให้สมองต้องใช้พลังงานซึ่งขัดกับความเป็นจริงที่ว่า “สมองขี้เกียจมาก” จึงเกิดทฤษฎี Law of Least Effort ที่บอกว่าสมองจะพยายามทำงานน้อยที่สุดหรือใช้งาน System 1 ให้มากที่สุด แต่บางเหตุการณ์ที่สำคัญมากๆสิ่งที่สมองตอบโต้อย่างทันทีจาก System 1 อาจไม่ได้ผลดีเสมอไป คนจึงต้องเตือนตัวเองให้คิดดีๆก่อน

นอกจากนั้นยังพบว่าคนที่อารมณ์ดีมักจะปล่อยให้ System 1 ทำงานมากกว่าคนที่อารมณ์เสีย กลัวหรือเศร้าโศกอยู่ ซึ่งก็ตรงกับสัญชาติญาณการอยู่รอดของสัตว์เวลาเจอเหตุการณ์ร้ายๆ สัตว์จะระวังตัวมากกว่า

กล่าวโดยสรุป

กล่าวโดยสรุปคือ ณ ขณะช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง สมองของคนจะเปิดใช้งาน System 1 ตลอดเวลา ตั้งแต่การมอง เดิน ดม ได้ยิน ขับรถ เป็นต้น หรือถ้าบางคนชำนาญอะไรบางอย่างมากๆ System 1 จะทำงานให้แทนได้ เช่น การเดินหมากรุกโดยไม่ต้องคิดเพราะจำแพทเทิร์นได้ การแยกของแท้ออกด้วยตาเปล่า หรือ การฟังภาษาต่างประเทศรู้เรื่องเข้าใจโดยไม่ต้องแปล (ประมวลผล) เป็นต้น รวมถึงการกระทำต่างๆที่เป็นแบบอัตโนมัติโดยไม่รู้ตัว อาทิเช่น การวิ่งหนีโดยอัตโนมัติเมื่อเผชิญสิ่งที่คิดว่ากำลังจะเป็นอันตราย การตอบคำถามง่ายๆ การตัดสินคนจากภาพแรกที่เห็น....ฯลฯ.... ซึ่งระบบนี้มีความรวดเร็วสูง แต่อาจเกิด Systemic Error (ข้อบกพร่องจากระบบ) ที่มาจากความลำเอียง (Bias) ต่างๆได้ ส่วน System 2 จะถูกกระตุ้นเมื่อเกิดความจำเป็น เช่น เดินเร็ว การคิด การตัดสินใจ ที่ต้องใช้ความคิดอย่างจริงจังต่างๆ ซึ่ง System 2 จะได้รับผลกระทบจาก Bias ของ System 1 ได้ด้วยหากไม่ระมัดระวัง ซึ่งรายละเอียดหนังสือ มียาวกว่านี้ หากท่านผู้อ่านสนใจอย่าลืมไปหาหนังสือฉบับเต็มมาอ่านค่ะ

ขอบขอบคุณข้อมูลบางส่วนจากเวปป์ไซท์ PANASM.com ที่เผยแพร่หนังสือขายดีและน่าอ่าน เพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูล ที่ได้สรุปเนื้อหาบางส่วนให้กับท่านผู้อ่านที่สนใจหนังสือขายดีค่ะ

11 June 2562

By nitayaporn.m

Views, 7575

 

Preset Colors