02 149 5555 ถึง 60

 

กัญชง (Hemp)

กัญชง (Hemp)

เฮมพ์ (Hemp) หรือ กัญชงเป็นเหมือนญาติสนิทกับกัญชา เนื่องจากกัญชา (Drug plant) และกัญชง (Hemp plant) เป็นพืชที่อยู่ในบัญชียาเสพติดประเภทที่ 5 เป็นสาเหตุทำให้การปลูกตลอดจนการนำมาใช้ประโยชน์ทำได้น้อยและมีขีดจำกัด

กัญชงเป็นพืชที่มีแหล่งกำเนิดในเขตเอเชียกลาง มีการกระจายแพร่ไปทั่วเอเชียตะวันออก อินเดีย ตลอดจนทวีปยุโรป มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Cannabis sativa L. และเป็นพืชในวงศ์ CANNABACEAE คือวงศ์เดียวกับ กัญชา หรือ Marijuana (Cannabis indica Lam.) ซึ่งมีลักษณะบางอย่างคล้ายคลึงกัน ทำให้สับสนเข้าใจว่ากัญชงมีสรรพคุณเป็นสารเสพติดเหมือนกัญชาในการเสพ การจำแนกพืชสดทั้งสองชนิดจากลักษณะภายนอกที่มองเห็นสามารถนำมาจำแนกได้บางส่วน แต่อย่างไรก็ตาม การจำแนกด้วยองค์ประกอบของสารเคมี สามารถจำแนกได้ชัดเจนดีกว่า ในประเทศไทย โดยมูลนิธิโครงการหลวง และสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (สวพส.) มีการศึกษาและพัฒนาสายพันธุ์ของกัญชง และขึ้นทะเบียนพันธุ์กับกรมวิชาการเกษตรได้ถึง 4 สายพันธุ์ (1)

องค์ประกอบสำคัญ

องค์ประกอบสำคัญหลัก ๆ ที่พบในพืชตระกูลนี้ คือสารในกลุ่มคานนาบินอยด์ (Cannabinoids) โดยมีโครงสร้างหลักในรูปของเทอร์พีนอยด์ (Terpenoids) มีสารเคมีที่เป็นองค์ประกอบสำคัญ ได้แก่ (δ-9-tetrahydrocannabinol หรือ Δ9-THC) คานนาบิไดออล (Cannabidiol, CBD) คานนาบินอล (Cannabinol, CBN) และอนุพันธ์ของคานาบินอยด์รูปแบบอื่นๆนิยมใช้การตรวจวัด Δ9- THC เป็นการตรวจเอกลักษณ์ (Identification) กัญชงแยกจากกัญชาได้

กัญชงและกัญชาจึงมีบางส่วนแตกต่างกันที่สำคัญๆคือ กัญชานั้นจะมีปริมาณสาร THC สูง (ประมาณ 1-10%) แต่กัญชงมีสาร THC ต่่ำ

เนื่องจากสาร THC เป็นสารที่มีฤทธิ์ต่อจิตประสาท (Psychoactive) กับตัวรับคาร์นาบินอยด์ชนิดที่ 1 (Carnabinoid receptor I, CB1) ในระบบประสาทส่วนกลาง ส่งผลแบบเฉียบพลัน ทำให้ร่างกายผ่อนคลายและมีความรู้สึกสนุก แต่มีอาการข้างเคียงต่อจิตประสาท กระวนกระวาย ซึมเศร้า มีความบกพร่องในความจำและการเรียนรู้ ตลอดจนการทำงานของระบบเคลื่อนไหว การพูดและการใช้ศัพท์ มีผลต่อการเต้นของหัวใจและความดันโลหิต ในขณะที่สาร CBD เมื่อเข้าสู่ระบบประสาทส่วนกลางสามารถจับกับ CB1 ได้ไม่ค่อยดี (Non-psychoactive) พบว่า มีฤทธิ์ต้านการชัก ทำให้ง่วง และลดการกระวนกระวายได้ (2)

คำว่า เฮมพ์ มีที่มีอย่างไร และในปริมาณความเข้มข้นที่ไม่เกิน 1% ตามกฎหมาย ปี 2559

เดิมทีนั้น ข้อความนิยามยาเสพติดให้โทษประเทภ 5 นั้น ไม่มีคำว่า "กัญชง" ปรากฎอยู่ในกฎหมายยาเสพติดฉบับอื่นใด ทำให้เกิดปัญหาควรพิจารณาคือ กัญชงเป็นยาเสพติดหรือไม่? จึงทำให้ใมีการออกประกาศกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึงยาเสพติดให้โทษประเภท 5 เฉพาะ เฮมพ์ พ.ศ. 2559 ขึ้น (3)

ดังนั้น คำว่า เฮมพ์ จึงได้ปรากฎอยู่ในกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภทที่ 5 เฉพาะเฮมพ์ พ.ศ. 2559 อาศัยอำนาจกฎหมายแม่ คือ พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ได้มีนิยามข้อความว่า "เฮมพ์ (Hemp) หมายความว่า พืชที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Canabis sativa L.subsp.sativa อันเป็นชนิดย่อยของพืชกัญชา (Cannabissativa L.) ที่มีปริมาณสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (Tetrahydrocannabinol, THC) ไม่เกินร้อยละ 1.0 ต่อน้ำหนักแห้ง..." (3)

โดยกฎกระทรวงดังกล่าว ได้ประกาศในราชกิจจาฯ วันที่ 6 มกราคม 2560 และมีผลบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม 2561 ที่ผ่านมานั่นเอง

ข้อมูลพื้นฐานจากหน่วยงานด้านการวิจัยนโยบายสาธารณะ สภาคองเกรสสหรัฐ รับรองความเข้มข้นของ Thc

จายรายงานของหน่วยงานด้านการวิจัยประกอบนโยบายสาธารณะเพื่อกำหนดแนวทางกฎหมาย สภาคองเกรสหสรัฐ (Congrssional Research service) ได้ออก fact shhet เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2019 ที่ผ่านมาว่า ความเข้มข้นของปริมาณสาร Thc อย่างน้อย 0.3% ของ delta-9 tetrahydrocannabinol (delta-9 THC) เป็นระดับที่ปลอดภัยต่อร่างกายมนุษย์ และที่ระดับไม่เกิน 1% ที่ร่างกายมนุษย์จะทนรับอาการข้างเคียงด้านจิตประสาท (psychotropic effect) ได้ (4)

โทษทางอาญาเกี่ยวกับกัญชง

ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า กัญชงเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 เช่นเดียวกับ กัญชา พืชกระท่อม พืชฝิ่น เพราะมีสารเสพติดชื่อ เตตราไอโดรแคนนาบินอล หรือ THC ซึ่งออกฤทธิ์ต่อสมอง ตามสนธิสัญญาสหประชาชาติ ที่กำหนดให้แต่ละประเทศมีมาตรการป้องกันการใช้กัญชงทางที่ผิด

ข้อหา ผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย โทษจำคุก 15 ปี ปรับสูงสุด 1.500.000 บาท ข้อหาครอบครอง จำคุกสูงสุด 5 ปี ปรับสูงสุด 100,000 บาท ข้อหาเสพ จำคุกสูงสุด 1 ปี ปรับสูงสุด 20,000 บาท อย่างไรก็ตาม สำหรับกัญชง (Hemp) ที่มีสาร THC ไม่เกิน 1% สามารถขออนุญาต ผลิต (ปลูก) ครอบครอง จำหน่าย ได้ โดยขออนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ประกอบการขอนุญาตเฉพาะกัญชง (Hemp) พ.ศ. 2559 รัฐบาลมีจุดประสงค์พัฒนากัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจ จากครัวเรือน ไปสู่อุตสาหกรรม สิ่งทอ เสื้อผ้า ก่อสร้าง ฉนวนกันความร้อนสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์

กัญชงถูกควบคุมตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ดังนี้คือ กัญชง (Hemp) ในนิยามของกัญชา กำหนดให้กัญชา (Cannabis) หมายรวมถึงทุกส่วนของพืชกัญชา (Cannabis sativa L และ Canabis indica Auth) และวัตถุหรือสารต่างๆที่มีอยู่ในพืชกัญชา ยกเว้นเปลือกแห้ง แกนลำต้นแห้ง เส้นใยแห้ง และผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากเปลือกแห้ง แกนลำต้นแห้ง เส้นใยแห้ง ดังนั้น กัญชา (Cannabis) จึงมีความหมายรวมไปถึงกัญชง (Hemp) อันเป็นชนิดย่อยของกัญชาที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Cannabis sativa L. subsp.sativa นั่นเอง กัญชงจึงเป็นยาเสพติดให้โทษของสหประชาชาติปี ค.ศ. 1961 โดยกำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องมีมาตรการป้องกันการใช้กัญชา กัญชงในทางที่ผิด

บทเฉพาะกาลแนบท้ายกฎหมายฉบับปี พ.ศ. 2559 กำหนดให้เฉพาะหน่วยงานรัฐผลิต จำหน่าย ครอบครองได้

บทเฉพาะกาลกำหนดให้ภายในระยะเวลา 3 ปีนับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้บังคับ นั่นคือ 1 มกราคม 2561 ถึง 31 ธันวาคม 2563 กำหนดให้เฉพาะหน่วยงานของรัฐเป็นผู้ขออนุญาตผลิต จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท 5 เฉพาะเฮมพ์ ตามกฎกระทรวงนี้ และอาจจะขยายระยะเวลาต่อไปอีก หากคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษประเมินการดำเนินงานพิจารณาทบทวนตามความเหมาะสม ในการอนุญาตให้บุคคลทั่วไปมาขออนุญาตได้

โดยวัตถุประสงค์ในการอนุญาต มีดังต่อไปนี้

1. ปลูกเพื่อประโยชน์ในครัวเรือน

2. ปลูกเพื่อใช้ประโยชน์ด้านอุตสาหกรรมเชิงพาณิชย์

3. ปลูกสำหรับการศึกษาวิจัย

4. ผลิตเมล็ดพันธุ์สำหรับปลูกตามข้อ 1 และ 3

5. เพื่อจำหน่ายเมล็ดพันธ์ลำต้นสด

6. เพื่อใช้ประโยชน์อื่นตามที่คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษกำหนด โดยกำหนดให้ผู้ได้รับอนุญาต ต้องมีแผนการผลิต การจำหน่าย การใช้ประโยชน์ตามขั้นตอนที่ไรดับอนุญาต พร้อมทั้งมีสถานที่รักษาเมล็ดพันธุ์

ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 (5)

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 6 วรรคหนึ่ง และมาตรา 8 (1) และ (2) แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษออกประกาศไว้

โดยมีสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับกัญชง ซึ่งมีรายละเอียดในข้อ 2 ตามที่ได้ประกาศในราชกิจจาเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562 ดังต่อไปนี้

ข้อ 2 ให้เพิ่มความต่อไปนี้ เป็นลำดับที่ 5 ของชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ในบัญชีท้ายประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2561 ลงวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

ชื่อยาเสพติดให้โทษ กัญชง (Hemp)

เงื่อนไข

ซึ่งมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Cannabis sativa L. subsp. sativa อันเป็นชนิดย่อยของพืชกัญชา (Cannabis sativa L.) ทั้งนี้ ให้หมายความรวมถึง ทุกส่วนของพืชกัญชง เช่น ใบ ดอก ยอด ผล ลำต้น ที่มีปริมาณสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (tetrahydrocannabinol, THC) และลักษณะเป็นไปตามที่ คณะกรรมการประกาศกำหนด

ยกเว้น

1. แคนนาบิไดออล (cannabidiol, CBD) ที่สกัดจากกัญชง ซึ่งมีความบริสุทธิ์มากกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 99 โดยมีปริมาณ สารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (tetrahydrocannabinol, THC) ไม่เกินร้อยละ 0.01 โดยน้ำหนัก

2. สารสกัดหรือผลิตภัณฑ์จากสารสกัด ที่มีสารแคนนาบิไดออล (cannabidiol, CBD) เป็นส่วนประกอบหลัก และมีสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (tetrahydrocannabinol, THC) ไม่เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก ซึ่งเป็นยาหรือผลิตภัณฑ์ สมุนไพร ตามกฎหมายว่าด้วยยาหรือผลิตภัณฑ์สมุนไพร และต้องใช้ตามวัตถุประสงค์ทางยาหรือผลิตภัณฑ์สมุนไพร เท่านั้น

3. เมล็ดกัญชง (hemp seed ) หรือน้ำมันจากเมล็ดกัญชง (hemp seed oil) ซึ่งเป็นอาหารตามกฎหมายว่าด้วยอาหาร และต้องใช้ตามวัตถุประสงค์ทางอาหารเท่านั้น

4. น้ำมันจากเมล็ดกัญชง (hemp seed oil ) หรือสารสกัดจาก เมล็ดกัญชง ซึ่งเป็นเครื่องสำอางตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องสำอาง และต้องใช้ตามวัตถุประสงค์ทางเครื่องสำอางเท่านั้น ทั้งนี้ เมล็ดกัญชงที่นำไปเป็นอาหาร หรือเครื่องสำอางต้องเป็นเมล็ด ที่ไม่สามารถนำไปเพาะพันธุ์ได้ (non -viable seed) หรือถูกทำให้ ไม่มีชีวิต ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

กล่าวโดยสรุป

จะเห็นได้ว่าวิวัฒนาการของกัญชง (Hemp) ในประเทศไทยนั้น มีความเป็นมาอย่างไร ทั้งในแง่กฎหมายและวิชาการ ซึ่งแรกเริ่มเดิมดีนั้น กัญชง แม้จะถือว่าเป็นพืชเศรษฐกิจที่ประชาชนทั่วไปรู้จักกันดีและถูกนำมาใช้ประโยบน์มายาวนาน แต่องค์ประกอบในกัญชงมีสารต้องห้ามและเป็นอันตรายปนอยู่ จึงต้องมีการควบคุมตามกฎหมายเพื่อปกป้องประชาชนให้มีสุขภาพที่ดี อย่างไรก็ตาม วิวัฒนาการที่เกิดขึ้นยังยืนอยู่บนพื้นฐาน การส่งเสริมให้มีการเข้าถึงอย่างปลอดภัยต่อสุขภาพและการใช้ประโยชน์สูงสุด ซึ่งในช่วงหลายวันที่ผ่านมา กัญชงได้กลายเป็นหัวข้อที่ประชาชนและสื่อมวลชนให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่ง ข้อมูลที่ได้นำเสนอในวันนี้ หวังเพื่อให้ผู้อ่านที่ไม่มีโอกาสได้ติดตามข่าวสารได้อัพเดทข้อมูลกันค่ะ ซึ่งหากท่านใดมีความสงสัยหรือต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมโปรดศึกษาจากแหล่งข้อมูลอ้างอิงได้ค่ะ

แหล่งข้อมูล

1. http://www.ej.eric.chula.ac.th/content/6131/253

2. องค์การเภสัชกรรม และภาคีเครือข่าย. 2561. รายงานสรุปผลการประชุมวิชาการ เรื่อง การวิจัยและพัฒนาสารสกัดจากกัญชาและกัญชงทางการแพทย์เพื่อการพัฒนาประเทศ. [ออนไลน์]. 2562. https://www.gpo.or.th/ LinkClick.aspx?fileticket=IfSuh2BT-FA%3D&tabid=388&mid=1186&language=th-TH.(3 กันยายน 2562).

3. http://www.stabundamrong.go.th/thainiyom/thai14/4.pdf

4. https://fas.org/sgp/crs/misc/R44742.pdf

5. ประกาศกฎกระทรวงสาธารณสุข 27 สิงหาคม 2562 http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2562/E/218/T_0001.PDF

5 September 2562

By nitayaporn.m

Views, 51814

 

Preset Colors