02 149 5555 ถึง 60

 

โรคซึมเศร้ากับเหล่าเซเลป

โรคซึมเศร้ากับเหล่าเซเลป

ปัญหาโรคซึมเศร้า และการฆ่าตัวตายในวัยหนุ่มสาว เป็นปัญหาที่ทั่วโลกเผชิญอยู่ การเปิดเผยของเหล่าเซเลป (Celebrity; คนดัง ผู้มีชื่อเสียงฃในสังคม) ถึงปัญหาการเจ็บป่วยและการมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมผ่านทางแฟนคลับทั่วโลก ทำให้สังคมรับรู้และเพิ่มความเข้าใจต่อปัญหาทางด้านสุขภาพจิตและจิตเวชเป็นอย่างดี ถือเป็นวิทยาทานทางด้านองค์ความรู้ ผ่านประสบการณ์จริงของเหล่าคนดังที่ประสบและได้เปิดเผยตนเองที่สามารถก้าวผ่านช่วงวัยที่ทุกข์ระทมมาได้ ทำให้ประชนชนทั่วโลกได้ตระหนัก วันนี้มีข้อมูลมาอัพเดทไม่ให้ตกเทรนดังต่อไปนี้

เซเลปป่วยโรคซึมเศร้า เป็นข่าวดังส่งท้ายปี 2562 ขึ้นปีใหม่ 2563 โดยสำนักข่าวบีบีซีประเทศไทยกล่าวว่า โรคซึมเศร้าเป็นประเด็นหนึ่งที่คนพูดถึงมากที่สุดในปี 2562 ในประเด็นสุขภาพจิตด้วยกัน ส่วนหนึ่งมาจากการเปิดเผยการเจ็บป่วยของเขาเหล่านั้นต่อแฟนคลับผ่านอินสตาแกรม

สื่อใหญ่ระดับโลกนำเสนอข่าวนักร้องดังป่วยด้วยโรคซึมเศร้า

เป็นข่าวดังอีกครั้งของนักร้องดังระดับโลกชาวคานาดา จัสติน บีเบอร์ ซึ่งสำนักข่าวดังระดับโลกอย่างบีบีซี และเดอะการ์เดียน ได้นำมาเปิดเผย จนเป็นข่าวดังเมื่อปลายปีที่ผ่านมา (3 กันยายน 2562) โดยเขาได้เขียนข้อความส่วนตัวบอกเล่าถึงความทุกข์ทรมานจิตใจในช่วงวัย 20 ของเขา ผ่านอินสตาแกรมที่มีแฟนคลับติดตามกว่า 125 ล้านคนทั่วโลก โดยเขาได้เขียนข้อความที่สะเทือนอารมณ์จนกลายเป็น “บุคคลที่ผู้คนเกลียดชังมากที่สุดในโลก” จากการตัดสินใจแย่ๆครั้งแล้วครั้งเล่าในช่วงวัย 20 ของเขา

บีเบอร์มักจะถูกสื่อตามรายงานเรื่องปัญหาสุขภาพจิตที่เขาเผชิญอยู่ เขาเล่าว่า เขามาจากเด็กชายวัยเพียง 13 ปีจากเมืองเล็กๆไปสู่การได้รับเสียงชื่นชมจากทั่วโลก ตอนอายุ 18 ปี เขามีเงินล้านดอลลาร์ในบัญชี เขากล่าวต่ออีกว่า เขาสามารถเข้าถึงทุกสิ่งอะไรก็ได้ตามที่ต้องการ ทว่ากลับไม่มีทักษะโลกแห่งความเป็นจริง ตอนอายุ 19 ปี เขากลายเป็นผู้เสพยาอย่างหนัก เขาถูกตำรวจจับหลายครั้ง จนนำไปสู่การใช้ชีวิตอย่างทุกข์ทรมาน จนบางครั้งที่เขารู้สึกว่าไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อไป กลายเป็นความเจ็บป่วยทางจิตด้วยโรคซึมเศร้า ครอบครัวทำให้เขาผ่านความทุกข์เหล่านั้นมาได้ การเปิดเผยครั้งนี้ของบีเบอร์ ได้รับความเห็นใจมากมายจากแฟนเพลงทั่วโลกที่มาให้กำลังใจ อีกทั้งชื่นชมที่เขาผ่านความทุกข์นั้นมาได้ และเปิดเผยสิ่งที่เขาเผชิญอยู่ให้สังคมได้รับทราบ ทำให้กระแสความไม่ชอบพฤติกรรมด้านลบของบีเบอร์เปลี่ยนไป กลายเป็นเข้าอกเข้าใจ และสนับสนุน ให้กำลังใจกับเขา

ซึ่งนอกจากจัสติน บีเบอร์จะป่วยเป็นโรคนี้แล้ว ยังมีเซเลปหลายคนซึ่งก่อนหน้านี้ ราวๆเดือนกรกฎาคม ปี 2017 Chester Bennington นักร้องนำวง Linking Park ที่จบชีวิตตนเองจากภาวะซึมเศร้า (สำนักข่าววีโอเอประเทศไทย, กรกฎาคม 2017) เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ปัญหาการฆ่าตัวตายที่ถูกเผยแพร่ในสื่อนั้น เป็นที่ทราบดีว่าอาจจะมีแฟนคลับหรือคนทั่วไปลอกเลียนแบบได้ ซึ่งการเปิดเผยตนเองเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลกับเหล่าแฟนคลับและประชาชนทั่วโลกครั้งนี้ของบีเบอร์ ได้สร้างความตระหนักเชิงป้องกันเป็นวงกว้าง เพราะความดังและจำนวนแฟนคลับที่มีมากมายทั่วโลก ถือเป็นการส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตเป็นอย่างดี

ปัญหาฆ่าตัวตายและโรคซึมเศร้ากับเหล่าเซเลปเกาหลี

ขณะเดียวกันฝั่งเอเชียเรา โดยเฉพาะศิลปินเคป้อบที่ต้องเผชิญกับความทุกข์ทรมานจากโรคซึมเศร้าขั้นรุนแรง ซึ่งจากการเปิดเผยข้อมูลผ่านสื่อดังในหลายค่ายในเกาหลี อาทิเช่น จี-ดรากอนจากวงบิ๊กแบง ซึ่งถือเป็นราชาแห่งเคป้อบ ซูจี จากวง Miss A หรือแทยอนจากวงเกิร์ลเจนเนอเรชั่น หรือจะเป็น ซอลลี่ หรือ ชเวจินรี อดีตสมาชิกวงเกิลร์กรุฟอย่าง F(x) คิมจองฮยอนจากวง Shinee และล่าสุดคือ คูฮารา ศิลปินสาวสวยที่เพิ่งเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมานี้เอง เป็นต้น เหล่าไอดอลคนแล้วคนเล่าดังกล่าวนี้ ประชาชนเกาหลีมองว่า พวกเขาต่างก็เผชิญกับภาวะเครียดเรื้อรังและกลายเป็นโรคซึมเศร้า หลายรายจบชีวิตตัวเองก่อนวัยอันควรด้วยการฆ่าตัวตาย อันเนื่องมาจากสังคมวัฒนธรรมเกาหลีที่เป็นแรงกดดัน ค่ายฝึกที่เข้มงวด รวมไปถึงการแข่งขันในตลาดเพลงที่รุนแรง ล้วนเป็นปัจจัยกระตุ้นที่มองไม่เห็นว่าใครจะเป็นผู้แก้ปัญหา

ข้อมูลสำรวจพบคนรุ่นใหม่เกาหลีเผชิญแรงกดดันจากสังคมจนไม่ต้องการใช้ชีวิตในประเทศ

เมื่อ 31 ธันวาคม 2019 เดือนที่แล้วนี่เอง มีข่าวที่น่าตกใจในเอเชียไทม์ได้เผยแพร่ถึงปัญหาทางสังคมวัฒนธรรมเกาหลี นั่นคือ จากผลการสำรวจประชากรคนหนุ่มสาวเกาหลี พบว่า กว่า 75% ของคนรุ่นใหม่วัย 19-34 ปีต้องการหนีจากเกาหลี (ไปอยู่ต่างประเทศ) ทั้งๆที่เกาหลีจัดเป็นประเทศประชาธิปไตยที่มีฐานะร่ำรวยอันดับ 11 ในโลก แต่ประชาชนคนหนุ่มสาวกลับมีชีวิตที่เผชิญกับแรงกดดันรอบด้าน การแข่งขันที่รุนแรง ความแตกต่างทางชนชั้น ฯลฯ ที่กล่าวมาข้างต้น อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่ใช่สาเหตุที่นำวัยรุ่นเซเลปเกาหลีไปสู่การป่วยเป็นโรคซึมเศร้าและฆ่าตัวตาย แต่ที่ปฏิเสธไม่ได้คือ ปัจจัยทางสังคมวัฒนธรรมสิ่งแวดล้อมเหล่านั้น เป็นตัวกระตุ้นชั้นดีที่จะนำวัยหนุ่มสาว ซึ่งเป็นวัยที่เปราะบาง อันมาจากการพัฒนาทางร่างกายและสมองที่ยังไม่เจริญเติบโตเต็มที่นัก บวกกับประสบการณ์ชีวิตไม่มากพอ เหล่านี้นำไปสู่ภาวะเครียดได้ง่าย และเรื้อรังจนกลายเป็นโรคซึมเศร้า และมีพฤติกรรมฆ่าตัวตายเป็นใบไม้ร่วง มีอัตราฆ่าตัวตายสูงเป็นอันดับต้นๆของโลกเลยทีเดียว

ข้อมูลองค์การอนามัยโลกบ่งชี้ ปัญหาการเสียชีวิตในวัยรุ่นพบมากช่วง 15-29 ปี

ข้อมูลองค์การอนามัยโลกที่เผยแพร่ล่าสุด 4 ธันวาคม 2019 กล่าวว่า ปัญหาภาวะซึมเศร้าเป็นปัญหาด้านสุขภาพจิตที่สามารถเป็นได้ทั่วไป มีประชากรที่เผชิญกับความทุกข์จากการป่วยด้วยโรคนี้กว่า 264 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งทำให้ปัญหาภาวะซึมเศร้ากลายเป็นภาระโรคของโลกในปัจจุบัน ผู้ที่เผชิญภาวะซึมเศร้านอกจากจะต้องดำเนินชีวิตประจำวันอยู่กับความผันผวนของอารมณ์ในแต่ละวัน ที่สำคัญยังต้องเผชิญกับปัญหาของโรคเรื้อรังอื่นๆ อันเป็นผลจาการทำหน้าที่ของร่างกายเปลี่ยนไป โดยมักจะพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ซึ่งปัญหาซึมเศร้าที่น่าห่วงที่สุดคือการนำไปสู่ภาวะฆ่าตัวตาย (พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง) ซึ่งเป็นการตายก่อนวัยอันควรที่สามารถป้องกันได้ โดยทั่วโลกมีผู้ที่เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายกว่า 800,000 คน ในแต่ละปี ขณะเดียวกันการฆ่าตัวตายเป็นสาเหตุอันดับสองของการเสียชีวิตในกลุ่มวัย 15-29 ปี ผู้ที่ป่วยด้วยโรคนี้สามารถรักษาให้หายได้ด้วยยาและการดูแลทางด้านจิตใจ ซึ่งได้การรักษาได้ผลดีแม้จะป่วยตั้งแต่ระดับปานกลางถึงรุนแรงก็ตาม

แนวทางป้องกัน

1. ปรับพฤติกรรมเพิ่มการออกกำลังกาย อย่างน้อยวันละ 30 นาที สามวันต่อสัปดาห์ สามารถป้องกันโรคซึมเศร้าได้

2. ลด ละ เลิก สูบบุหรี่ ดื่มเหล้าให้น้อยลงได้ ดีต่อสุขภาพใจแน่นอน

3. ให้ความสำคัญกับการพักผ่อนมากขึ้น ก่อนเข้านอนสัก 1-2 ชั่วโมง ควรวางทุกเครื่องมือการสื่อสารทุกชนิดให้ไกลตัว กำหนดเวลาการเข้านอนไม่ให้ดึกจนเกินไปในแต่ละวัน และตั้งนาฬิกาปลุกให้ตื่นในตอนเช้าในเวลาเดียวกันทุกเช้าให้ได้

3. ปรับชีวิตให้ใกล้ชิดกับธรรมชาติ ทำสิ่งที่รัก ชอบ อย่างสัตว์เลี้ยงที่ชอบ หรืองานอดิเรกที่ชอบ ก็เป็นเกราะป้องกันความเครียด ภาวะซึมเศร้า

4. ระบายออกมาบ้าง ขอความช่วยเหลือบ้าง เมื่อรู้สึกเครียด

5. ปรับพฤติกรรมการกิน ผักใบเขียว เนื้อไม่ติดมัน อาหารซีฟู้ด ล้วนมีสารอาหารที่จำเป็นซึ่งส่งผลดีต่อการทำงานของสมอง อย่าง แมกนีเซียม โฟเลต ซิงค์ และกรดไขมันที่ดีต่อร่างกายและสมอง ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ ดาร์คช็อคโกแลต กล้วยหอม (อุดมไปด้วยสารทริปโตแฟน) ก็ดีต่อการทำงานของสมองเช่นกัน รู้อย่างนี้แล้ว อย่ารอช้า เริ่มปรับพฤติกรรม แล้วหันมารับประทานอาหารเหล่านี้ให้มากขึ้น

แหล่งข้อมูล

1.https://www.bbc.com/news/entertainment-arts-49562637

2. https://www.theguardian.com/music/2019/sep/03/justin-bieber-drug-use-depression-delinquency-instagram

3.https://www.voathai.com/a/chester-bennington-death/3953220.html

4. www.who.int

5. https://www.asiatimes.com/2019/12/article/75-of-young-want-to-escape-south-korean-hell/

22 January 2563

By nitayaporn.m

Views, 6693

 

Preset Colors