02 149 5555 ถึง 60

 

Coping with COVID19

Coping with COVID19 วิธีจัดการชีวิตเมื่อต้องเผชิญกับการระบาดโควิด19 "สังคมไทยจะก้าวเดินต่อไปได้ ถ้าใจไม่ป่วย"

ผ่านเข้ามาหลายเดือนแล้ว กับการมาเยี่ยมเยือนโลกนี้ของไวรัสโควิด 19 ทำให้การดำเนินชีวิตของผู้คนในโลกนี้ ต้องเผชิญกับความกลัว (fear) และภาวะวิตกกังวล (Anxiety) มากบ้างน้อยบ้างตามต้นทุนชีวิตที่มีอยู่ในแต่ละคน จะทำอย่างไรเราจึงจะทำให้ไทยเป็น สังคมที่ก้าวเดินต่อไปได้ถ้าใจไม่ป่วย

จากข้อมูลการสำรวจผลการคัดกรองความวิตกกังวลผ่านแพลทฟอร์ม https://dmh.go.th/covid19 เป็นการสำรวจออนไลน์ของผู้เยี่ยมชมเพจกรมสุขภาพจิตที่มีต่อไวรัสโควิด 19 ช่วงระหว่างวันที่ 24-26 ม่ีนาคม 2563 ที่ผ่านมาพบว่า มีผู้ตอบแบบสอบถามทั้งสิ้น 15,838 คน มีความกังวลต่ำ 900 ราย คิดเป็นร้อยละ 5.68 มีความกังวลปานกลาง จำนวน 12,036 ราย คิดเป็นร้อยละ 76.17 และมีความกังวลสูง จำนวน 2,875 ราย คิดเป็นร้อยละ 18.15

จะเห็นว่าประชาชนคนไทยนั้นมีความสามารถจัดการกับชีวิตได้ดีระดับหนึ่ง ซึ่งดูจากจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามและมีความกังวลในระดับปานกลางมากที่สุด อย่างไรก็ตาม ความวิตกกังวลนี้ยังไม่ถึงขึ้นเจ็บป่วย ยังสามารถที่จะจัดการได้ แต่อย่างไรก็ตามถือว่า เป็นภาวะความยากลำบากที่จำต้องผ่านไปให้ได้ ทั้งนี้ผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายต่างได้พยายามที่จะงัดทุกกลวิธีที่จะจัดการกับเจ้าไวรัสตัวร้ายนี้ เหมือนคล้ายกับว่าเรากำลังดำเนินชีวิตอยู่ท่ามกลางสงคราม (เชื้อโรค) ฉันใดฉันนั้น เพื่อให้วิกฤตินี้ผ่านไป เราอาจจะต้องเผชิญกับความสูญเสีย ความเจ็บป่วย และใช้ชีวิตบนข้อจำกัด ไม่ว่าจะเผชิญกับความยากลำบากขนาดไหน ทุกปัญหาล้วนมีทางออก หากเราก้าวไปพร้อมกับสติ วันนี้มีข้อมูลทางเลือกหนึ่งที่จะให้ท่านทั้งหลายใช้จัดการกับความยากลำบากที่เป็นอยู่ในขณะนี้ เพื่อให้คนไทยในสังคมก้าวเดินไปข้างหน้าได้โดยที่ปราศจากการป่วยใจ หรือป่วยก็ป่วยพอทนที่จะสามารถสร้างความตื่นตัวให้ตระหนักเพื่อป้องกันตนเอง

Coping with COVID19 จัดการชีวิตอย่าไรเมื่อต้องดำเนินชีวิตท่ามกลางการระบาดไวรัสโควิด 19

เหลียวแลมองไปที่ชาติตะวันตก ดูเหมือนจะยังอยู่ในช่วงเลวร้ายที่สุดช่วงหนึ่งของชีวิตผู้คน ตัวเลขการระบาดที่พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกับจำนวนผู้เสียชีวิตก็พุ่งตามเช่นกัน โดยเฉพาะสหรัฐ ขณะนี้ก็ได้แซงหน้าเอเชียไปเป็นที่เรียบร้อย ไม่กี่วันมานี้ สถานบันสุขภาพจิตแห่งชาติสหรัฐจึงได้ออกมาเสนอทางออกให้กับผู้คนที่กำลังเผชิญกับสถานการณ์เลวร้าย ได้เป็นทางเลือกให้กับท่านผู้อ่านได้นำไปพิจารณาปฏิบัติ ยิ่งในช่วงที่รัฐบาลกำลังรณรงค์ให้ผู้คนอยู่บ้านเพื่อลดการติดและแพร่กระจายเชื้อ ทางเลือกดังกล่าวมีดังนี้คือ

covid infoภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ท

1. Takes breaks from the news

อย่างที่พวกเราทราบกันดี ที่ทางกระทรวงสาธารณสุข และกรมสุขภาพจิตเองได้พยายามสื่อสารมาตลอดเวลาตั้งแต่เริ่มมีการระบาดว่า เพื่อลดและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตที่จะเกิดขึ้น ข้อแรกนั้นคือ พักการฟังข่าวบ้าง ไม่ต้องฟังทุกวัน ฟังสรุปจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือจากกระทรวงสาธารณสุขหรือหน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องก็เพียงพอ การฟังข่าวร้ายด้านลบบ่อยๆทุกวันเหมือนกับการฝังข้อมูลลบลงไปในสมองๆก็คงทำงานรวนเรไป (ดังที่กล่าวมาในบทความก่อนนี้)

2. Take care of your body

ดูแลสุขภาพของตัวเอง แยกข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นเช่น แก้วน้ำ ช้อน ฯลฯ หมั่นออกกำลังกาย ล้างมือบ่อยๆ ถ้าจำเป็นต้องออกไปในที่ชุมชนหรือจับจ่ายสิ่งของยังชีพ ต้องสวมมาส ป้องกันตัวเองตลอดเวลาที่อยู่นอกบ้าน อาจต้องพกแอลกอฮอล์ขณะจับต้องสิ่งของ เดินห่างรักษาระยะให้อยู่อย่างน้อย 2 เมตร กลับมาถึงบ้านอาบน้ำสระผมเปลี่ยนเสื้อผ้า เป็นต้น

3. Make time to unwind

กำหนดเวลาผ่อนคลายให้ตัวเอง เมื่อต้องกักตัวอยู่ในบ้าน หาสิ่งที่ชอบทำ เช่น ดูหนัง ฟังเพลง หรือหางานอดิเรกทำ เป็นโอกาสอันดีที่หลายคนมัวแต่ทำงาน ไม่มีโอกาสได้พักผ่อนหรือทำสิ่งที่อยากทำ

4. Connect with others

พยายามไม่อยู่อย่างโดดเดี่ยว การกักตัวเองอยู่บ้านไม่ใช่ว่าคือการขังตัวเองคนเดียวแยกจากโลกอย่างสิ้นเชิง การพูดคุยผ่านสื่อมีเดีย เช่น ไลน์ กับเพื่อนๆ หรือคนในครอบครัวเป็นทางเลือกหนึ่งที่เหมาะในเวลานี้ ในช่วงที่เรากังวลหรือเครียด การมีเพื่อนได้พูดคุยระบายบ้าง จะช่วยลดความกังวลไปได้มากทีเดียว หากประสบปัญหาก็สามารถติดต่อหาแหล่งขอความช่วยเหลือได้ทันท่วงที

5. Set goals and priorities

การกักตัวเองอยู่บ้านไม่ใช่ว่าจะปล่อยเวลาให้ผ่านไปแบบเลื่อนลอยไร้จุดหมาย การกำหนดเป้าหมายจัดลำดับความสำคัญอะไรก่อนหลังที่จะทำ จะทำให้เราได้ดำเนินชีวิตแบบมีเป้าหมาย และสามารถพบกับความสำเร็จได้ไม่ยาก เป็นการสร้างแรงเสริมทางบวกให้กับชีวิต เพิ่มทางเลือกให้กับชีวิต เท่านี้ก็จะห่างไกลจากปัญหาสุขภาพจิตได้

6. Focus on the facts

ในช่วงเวลาสถานการณ์ตึงเครียดรอบด้านเช่นนี้ ข่าวลือ ข่าวปล่อย จะหลั่งไหลพรั่งพรูมาไม่ขาดสาย แทบจะทุกช่วงทางสื่อสาร แม้กระทั่งในไลน์ที่เราจำเป็นต้องสื่อสารกับเพื่อนๆ ยังต้องเผชิญกับข้อมูลอันท่วมทั้น ดังนั้น การให้ความสนใจเฉพาะข้อมูลจริงเท่านั้น จะทำให้เราลดการเสพสื่อที่บั่นทอนจิตใจเราได้มากทีเดียว

แหล่งข้อมูล

National Institute of Mental Health; fan page, 27 มีนาคม 2563 7.36pm.

10 April 2563

By nitayaporn.m

Views, 2851

 

Preset Colors