02 149 5555 ถึง 60

 

ปัญหาพฤติกรรมการฆ่าตัวตาย

ปัญหาพฤติกรรมการฆ่าตัวตาย

พฤติกรรมการฆ่าตัวตายและการพยายามฆ่าตัวตายที่ไม่ถึงตาย เป็นปัญหาสาธารณสุขที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ หลายครั้งที่มีข่าวเกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย ต่างได้รับความสนใจจากสื่อสารมวลชนและผู้คนให้ติดตาม ข้อมูลทางวิชาการองค์การอนามัยโลกอธิบายว่า ในผู้ที่มีความคิดอยากตาย จะมีพฤติกรรมพยายามฆ่าตัวตาย (Attempt suicide) กว่า 20 ครั้ง ถึงจะตายสำเร็จ (Completed suicide) (1) นั่นเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายจึงได้หาวิธีป้องกัน และถือว่าพฤติกรรมการฆ่าตัวตายนั้น เป็นการตายก่อนวัยอันควรที่สามารถป้องกันได้ อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมการฆ่าตัวตายในทางวิชาการด้านสุขภาพจิตและจิตเวช จัดเป็นปัญหาวิกฤติสุขภาพจิต ที่กระทรวงสาธารณสุขโดยกรมสุขภาพจิตและผู้เกี่ยวข้อง ได้ติดตามเฝ้าระวังปัญหาอย่างต่อเนื่องมาตลอดกว่า 20 ปี และยังถูกกำหนดให้เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดที่มีการติดตามเฝ้าระวังปัญหาโดยหน่วยงานกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ

องค์การอนามัยโลกชี้ โรคทางจิตเวชของเป็นความเสี่ยงสำคัญของพฤติกรรมการฆ่าตัวตายของบุคคล(2)

เป็นที่ทราบกันดีว่า ปัญหาการฆ่าตัวตายไม่ใช่เรื่องใหม่ของสังคม ในปีหนึ่งจะมีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จทั่วโลกเป็นจำนวนกว่าล้านคน เมื่อคิดเฉลี่ยพบว่ามีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จ 1 คน ทุก 40 วินาที ทางองค์การอนามัยโลกพบว่า การฆ่าตัวตายติด 10 อันดับแรกของสาเหตุการตายของประชากรโลก ผู้ชายฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่าผู้หญิงถึง 3 เท่า โดยพบความเสี่ยงที่สำคัญคือ การเจ็บป่วยด้วยโรคซึมเศร้าและการใช้สารเสพติด โดยเฉพาะแอลกอฮอล์ ซึ่งโรคซึมเศร้าเป็นความเจ็บป่วยทางจิตเวชที่สามารถรักษาได้ (1)

ข้อมูลอัตราฆ่าตัวตายโลกขององค์การอนามัยโลก

ในเวปป์ไซท์องค์การอนามัยโลก ได้ปรับปรุงข้อมูลอัตราฆ่าตัวตายล่าสุดคือปี 2016 ซึ่งทางองค์การอนามัยโลกคาดหมายว่าจะมีคนตายจากปัญหาฆ่าตัวตายทั่วโลกราวๆ 739,000 ราย โดยมีค่าเฉลี่ยโลกทุกช่วงวัย (Global-age standardized) อยู่ที่ 10.5 ต่อประชากรแสนคน (2)

ข้อมูลอัตราฆ่าตัวตายของประเทศไทย

กรมสุขภาพจิต ในฐานะหน่วยงานหลักด้านสุขภาพจิตและจิตเวชของประเทศไทย ได้เฝ้าระวังป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตายต่อเนื่องเกาะติดปัญหามาตลอดกว่า 20 ปีตั้งแต่ทศวรรษ 2000s เป็นต้นมา อัตราฆ่าตัวตายจากรายงานการเฝ้าระวังปัญหาปี พ.ศ. 2549 เป็นปีที่อัตราฆ่าตัวตายของประเทศลดต่ำสุดคือ 5.77 ต่อประชากรแสนคน หลังจากนั้นอัตราฆ่าตัวตายอยู่ระดับ 5.97-6.2 มาต่อเนื่อง อัตราขึ้นไปสูงสุดในปี พ.ศ. 2558 อัตราอยู่ที่ 6.47 และข้อมูลล่าสุดคือ 2561 อัตราฆ่าตัวตายอยู่ที่ 6.32 ต่อประชากรแสนคน

ดูจากตัวเลขแล้ว อัตราฆ่าตัวตายของประเทศไทย เปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยในระดับโลก ณ.ช่วงเวลาเดียวกัน นั่นคือ ปี 2016 ไทยมีอัตราฆ่าตัวตายอยู่ที่ 6.35 ต่อประชากรแสนคน ถือได้ว่าประเทศไทยอยู่กลุ่มประเทศที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก และข้อมูลปี 2561 อัตราฆ่าตัวตายลงต่ำไปอีกเล็กน้อย เท่่ากับ 6.32 ต่อประชากรแสนคน

การเข้าถึงการใช้แอลกอฮอล์ เป็นตัวกระตุ้นที่น่ากลัวที่สุดที่จะนำบุคคลไปสู่พฤติกรรมการฆ่าตัวตาย

เป็นที่ทราบกันดีว่าพฤติกรรมการฆ่าตัวตายนั้น เกี่ยวข้องกับหลายสาเหตุ มีความสลับซับซ้อน ไม่ว่าปัจจัยทางด้านชีวภาพ คือการเจ็บป่วยทางจิตของบุคคล เช่น ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ติดสารเสพติด ฯลฯ ยังเกี่ยวข้องกับปัจจัยทางด้านสังคม จิตวิทยา (Psychosocial factors) โดยเฉพาะภาวะเครียดเรื้อรัง จากหลายสาเหตุ เช่น จากปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำ ไม่พออยู่พอกิน ปัญหาส่วนตัว เช่น อกหักรักคุด จนหาทางออกไม่ได้ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ปัจจัยทั้งหลายนี้ หากไม่มีสิ่งกระตุ้นที่มีน้ำหนักพอ อาทิ พฤติกรรมการดื่มสุรา ดังที่องค์การอนามัยโลกได้ออกมาให้ข้อมูลเพื่อเตือนให้ผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายได้ตระหนัก นั่นคือปัญหาการเข้าถึงแอลกอฮอล์อย่างไม่ปลอดภัย (harmful use of alcohol) ดังนั้น ยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สุดที่องค์การอนามัยโลกแนะนำให้เหล่าประเทศต่างๆได้ตระหนักเพื่อการป้องกันคือ การลดการเข้าถึงการใช้แอลกอฮอล์ของประชาชนนั่นเอง (3)

แนวทางการช่วยเหลือและป้องกัน

1. มีข้อมูลวิจัยยืนยันว่า พฤติกรรมการฆ่าตัวตายเลียนแบบกันได้ (4) การนำเสนอข่าวและแจงรายละเอียดถึงวิธีฆ่าตัวตายจะทำให้เกิดการเลียนแบบได้ ผู้เกี่ยวข้องพึงระวังในการให้ข้อมูลและนำเสนอข่าวผ่านสื่อมวลชน

2. เมื่อพบว่าบุคคลในครอบครัวเจ็บป่วยด้วยโรคซึมเศร้า การรักษาด้วยการมาขอรับบริการด้านสุขภาพจิตและจิตเวช จากสถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน หรือโรงพยาบาลสังกัดกรมสุขภาพจิตทั่วประเทศ เป็นแนวทางที่ดีที่สามารถป้องกันปัญหาไปสู่วิกฤติสุขภาพจิต อันเป็นความรุนแรงทางจิตเวชอย่างปัญหาฆ่าตัวตาย เมื่อพวกเราคนในครอบครัวและสังคม ร่วมด้วยช่วยกันดูแลบุคคลในครอบครัวให้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ตัวเลขอัตราฆ่าตัวตายคงไม่ขึ้นไปสู่จัดอันตรายแน่นอน

3. ความสัมพันธ์อันดีในครอบครัว การพูดคุยระบายกับคนใกล้ชิดเพียงรับฟังและระบายเมื่อเผชิญปัญหา เป็นทางออกที่จะช่วยลดความรุนแรงของปัญหาได้

การเฝ้าระวังภาวะเครียดวิตกกังวลของประชาชนไทยช่วงระบาดของโควิด19

ในช่วงนี้เป็นช่วงที่มีการระบาดของไวรัสโควิด19ไปทั่วโลก ความรุนแรงของปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นจึงมีมากพอสมควร เพราะเป็นโรคอุบัติใหม่ ไม่เว้นแม้กระทั่งผลกระทบทางสุขภาพจิตและจิตเวช จึงทำให้มีรายงานข่าวถึงพฤติกรรมการฆ่าตัวตายบุคคลทั้งในสื่อไทยและต่างประเทศ บางประเด็นก็มีความคลาดเคลื่อนหากจะระบุว่าสาเหตุการตายมาจากเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ เพราะได้กล่าวมาตอนต้นแล้วว่า มีรายงานการศึกษายืนยันชัดเจน และองค์การอนมายโลกเองให้ข้อมูลว่า สาเหตุที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการฆ่าตัวตายมีความสลับซับซ้อนเกี่ยวข้องกับหลายปัจจัย (1)(2) ดังที่กล่าวมาแล้วตอนต้น

อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้ระบาดของไวรัสโควิด กรมสุขภาพจิตเอง นอกจากการเป็นแหล่งข้อมูลทางวิชาการทั้งเพื่อการอ้างอิงและเพื่อการส่งเสริมสุขภาพจิตทั้งหมดแล้ว มีสิ่งหนึ่งที่ขอกล่าวถึงวันนี้คือ การเฝ้าระวังติดตามปัญหาความเครียดของประชาชนผ่านระบบออนไลน์ ผลการคัดกรองภาวะวิตกกังวลผ่านแบบสอบถามออไลน์ ช่วงระหว่างวันที่ 24 มค.-23 เมย. 2563 (5) พบว่า ประชาชนสนใจตอบแบบสอบถามจำนวนทั้งสิ้น 1500 คน เป็นเพศชาย 347 คน คิดเป็นร้อยละ 21.73 เพศหญิง 1153 คน คิดเป็นร้อยละ 76.87 พบว่า ประชาชนมีความวิตกกังวลปานกลางคิดเป็นร้อยละ 72.87 วิตกกังวลต่ำ คิดเป็นร้อยละ 10.63 และวิตกกังวลสูงคิดเป็นร้อยละ 8.66 แม้จะมีข้อมูลไม่มากนัก แต่ก็ถือเป็นตัวเลขเบื้องต้นที่ทำให้มองเห็นภาพความวิตกกังวลของประชาชนไทยต่อปัญหาโควิด19

จึงพอจะสรุปได้ว่า ปัญหาฆ่าตัวตายนั้น เป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับหลายสาเหตุ ทั้งการเจ็บป่วยด้วยโรคทางจิต อาทิ โรคซึมเศร้า ติดสารเสพติด หรือปัจจัยทางสังคมจิตวิทยา ที่ก่อให้เกิดความเครียดเรื้อรังจนหาทางออกไม่ได้นำไปสู่พฤติกรรมฆ่าตัวตายในที่สุดนั้น แม้ในช่วงระบาดรุนแรงของไวรัสโควิด19 จะสร้างความวิตกกังวลให้ประชาชน แต่ไม่ได้หมายความว่า ความวิตกกังวลนี้จะเป็นสาเหตุเดียวที่จะนำไปสู่พฤติกรรมการฆ่าตัวตาย ข้อมูลที่นำเสนอวันนี้จึงหวังให้ท่านผู้อ่านได้ตระหนักหาสาเหตุที่แท้จริง และป้องกันพฤติกรรมเสี่ยง โดยเฉพาะการเจ็บป่วยด้วยโรคซึมเศร้านั้น สามารถรักษาได้ และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งองค์การอนามัยโลกยืนยันว่าเป็นตัวกระตุ้นที่จะนำบุคคลไปสู่พฤติกรรมฆ่าตัวตายมากที่สุด

แหล่งข้อมูล

1. WHO-MSD-MER-19.pdf

2.https://www.who.int/gho/mental_health/suicide_rates/en/

3.https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/suicide

4. https://jech.bmj.com/content/57/4/238

5. https://www.dmh.go.th/report/suicide/stat_prov.asp

29 April 2563

By nitayaporn mongkol

Views, 19214

 

Preset Colors